Microsoft Azure by Ingram Micro (Thailand)

รู้จักกับ Pepper หุ่นยนต์อัจฉริยะที่จะช่วย “สร้างความสุข” ให้กับคนรอบตัว

หลายคนคงเคยเจอ Pepper หุ่นยนต์ Humanoid สีขาวที่เข้ามาช่วยสร้างสีสันและความบันเทิงในงานสัมมนาหรือในสถานศึกษามาบ้างแล้ว บทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับหุ่นยนต์ตัวนี้กันว่ามีความพิเศษอย่างไร สามารถช่วย “สร้างความสุข” และยกระดับ Customer Experience ให้ดีขึ้นได้อย่างไร และภาคธุรกิจสามารถนำหุ่นยนต์ Pepper ไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง

รู้จักกับหุ่นยนต์ Pepper กันก่อน

Pepper ถือกำเนิดขึ้นใน 2014 เป็นหุ่นยนต์แบบ Humanoid ที่มีการออกแบบมาให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับมนุษย์ ถูกพัฒนาโดย Softbank Robotics Group ในเครือของ Softbank Group จากประเทศญี่ปุ่น โดยมีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นหุ่นยนต์ที่คอยอยู่เคียงข้างมนุษย์ รวมไปถึงเป็นพี่เลี้ยงที่คอยให้ความช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน

Pepper ถูกออกแบบมาโดยเน้นการมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์เป็นหลัก สร้างความสุขและสีสันให้กับคนรอบตัว สร้างบรรยากาศที่ดีให้เกิดขึ้น ช่วยให้คนรอบข้างมีรอยยิ้มและรู้สึกสนุกสนาน จุดเด่นสำคัญของ Pepper คือความสามารถในการความและรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของคู่สนทนาจากใบหน้า น้ำเสียง และการแสดงออก แล้วตอบสนองกลับอย่างเหมาะสมผ่านทางสีของดวงตา น้ำเสียงที่ใช้โต้ตอบ  และหน้าจอแท็บเล็ตตรงหน้าอก ทำให้รู้สึกเหมือนกำลังคุยกับมนุษย์อยู่จริงๆ

คุณสมบัติที่น่าสนใจของ Pepper ได้แก่

  • ไมโครโฟน 4 ตัวที่ส่วนหัวสำหรับตรวจสอบทิศทางของแหล่งกำเนิด ช่วยให้ Pepper สามารถหันหน้าไปสนทนากับผู้พูดโดยอย่างแม่นยำ
  • กล้อง 2D และ 3D สำหรับวิเคราะห์สีหน้าและความเคลื่อนไหวของคู่สนทนา ช่วยให้ Pepper รับรู้อารมณ์และสามารถโต้ตอบได้อย่างเหมาะสม
  • แท็บเล็ตบนหน้าอกขนาด 10.1 นิ้ว ช่วยให้ Pepper สามารถแสดงข้อมูลและความรู้สึกของตนได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น (Pepper สามารถแสดงความรู้สึกออกทางสีตาได้ เช่น เขียวคืออารมณ์ดี แดงคือโกรธ แต่ไม่สามารถแสดงสีหน้าได้)
  • ข้อต่อที่หัว ตัว ไหล่ ศอก และข้อมือ ทำให้ Pepper เคลื่อนไหวได้ใกล้เคียงกับมนุษย์ ในขณะที่ขาจะเป็นแบบล้อเลื่อน เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนที่และประหยัดแบตเตอรี่
  • เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ช่วยให้ Pepper สามารถนำเสนอข้อมูลล่าสุด เช่น ข่าว พยากรณ์อากาศ เรื่องซุบซิบดารา หรือค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเพื่อตอบคำถามของคู่สนทนาได้
  • จดจำผู้พูดและแชร์ข้อมูลระหว่าง Pepper ในกลุ่ม เมื่อคู่สนทนาย้ายตำแหน่งไปคุยกับ Pepper ตัวอื่น ก็สามารถดำเนินการสนทนาที่ค้างไว้ต่อได้ทันที
  • รองรับการโต้ตอบได้หลากหลายภาษา เช่น อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สเปน และสามารถเชื่อมต่อกับ Chatbot ภายนอกเพื่อให้รองรับภาษาไทยเพิ่มได้

Pepper กับการศึกษา

หุ่นยนต์ Pepper เริ่มเข้ามามีบทบาทในวงการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นในปี 2017 ซึ่งนอกจากจะถูกใช้เพื่อเป็นเพื่อนเล่นของเด็กวัยประถมแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีการปรับหลักสูตรให้เด็กประถมและมัธยมเรียนรู้การเขียนโปรแกรมแบบง่ายๆ ผ่านทาง Pepper เพื่อพัฒนาทักษะด้านตรรกศาสตร์อีกด้วย กล่าวคือ แทนที่จะให้เด็กนักเรียนฝึกเขียนโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์แล้วแสดงผลลัพธ์บนหน้าจอเหมือนปกติทั่วไป ก็ให้เขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมและแสดงผลผ่านทาง Pepper แทน ซึ่งจะทำให้เด็กเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงและสนุกกับการเล่นกับหุ่นยนต์ควบคู่ไปกับการฝึกสมอง

การฝึกเขียนโปรแกรมผ่านทาง Pepper นี้กลายเป็นหลักสูตรภาคบังคับสำหรับเด็กประถมในปี 2020 และกำลังจะกลายเป็นหลักสูตรภาคบังคับสำหรับเด็กมัธยมในปี 2021 นี้ นอกจากนี้ Pepper ยังถูกใช้เป็นแพลตฟอร์มในการแข่งขันเขียนโปรแกรมของโรงเรียนในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

ในระดับอุดมศึกษา Pepper ถูกนำเข้ามาใช้ในการสอนเขียนโปรแกรมระดับกลางและระดับสูงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Python หรือ Java โดยให้นักศึกษาทดลองสร้างแอปพลิเคชันที่สามารถใช้งานได้จริงบน Pepper ในขณะที่ห้องวิจัย R&D ของมหาวิทยาลัยก็ได้นำ Pepper มาใช้เพื่อศึกษาการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ เพื่อที่จะได้ต่อยอดนวัตกรรมและสร้างสังคมที่มนุษย์และหุ่นยนต์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

ตัวอย่างการนำไปใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ

นอกจากการนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ในสถานศึกษาแล้ว Pepper ยังถูกนำไปใช้ในหลายๆ อุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างความบันเทิงและสีสันให้แก่คนรอบข้างแล้ว ยังช่วยลดภาระการทำงานที่ต้องใช้คนลงได้ด้วย ตัวอย่างการใช้งานที่น่าสนใจมีดังนี้

Mobile Operator

Softbank Mobile Store กว่า 140 สาขาในประเทศญี่ปุ่นใช้ Pepper เป็นพนักงานต้อนรับ ทำหน้าที่ทักทายลูกค้าที่มาเยี่ยมชม พร้อมแนะนำผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ

ร้านอาหาร

ร้านซูชิ Hamazushi ที่มีสาขามากกว่า 500 แห่ง ใช้ Pepper ในการต้อนรับลูกค้า ลงทะเบียนเพื่อรับคิว จัดการคิวลูกค้า และจัดสรรที่นั่ง ซึ่ง 1 วันสามารถรับลูกค้าได้ถึง 500 คน เทียบเท่าการจ้างพนักงาน 1 คน

ค้าปลีกและการท่องเที่ยว

เนื่องจาก Pepper สามารถสนทนาโต้ตอบได้หลายภาษา ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า และสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งจึงใช้ Pepper เพื่อต้อนรับและให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมไปถึงเก็บข้อมูลความคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการในอนาคต

พิพิธภัณฑ์

เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมค้าปลีกและการท่องเที่ยง Pepper สามารถสนทนาโต้ตอบได้หลายภาษาจึงสามารถทำหน้าที่เป็นไกด์นำเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติได้ รวมไปถึงสามารถให้ความรู้ เล่าประวัติ หรือเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่นำมาแสดง เพิ่มความน่าสนใจของการเยี่ยมชมมากกว่าการให้นักท่องเที่ยวดูและอ่านคำบรรยายด้วยตนเอง

นอกจากนี้ Pepper ยังถูกนำเข้าไปใช้งานในบริษัทหลายแห่งในญี่ปุ่น เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนพนักงานที่เป็นผู้พิการ เช่น ต้อนรับแขก หรือปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ โดยพนักงานสามารถบังคับ Pepper ให้ทำงานแทนได้ผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟน

ควบคุมการทำงานของ Pepper ง่ายๆ ด้วยการวาด Flow การทำงาน

นักพัฒนาสามารถเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมการทำงานของ Pepper ได้ผ่าน SDK ที่ชื่อว่า Choregraphe ซึ่งรองรับทั้งภาษา C++, Java และ Python โดย SDK ดังกล่าวจะมีกล่องฟังก์ชันการทำงาน เช่น การควบคุมการเคลื่อนไหว, การส่งเสียงพูด, การควบคุม LED, การรับสัมผัส, มัลติมีเดีย, โปรแกรมมิ่ง และอื่นๆ ให้เลือกใช้ได้หลากหลาย เพียงแค่นำกล่องมาลากวางต่อกันเป็น Flow การทำงาน SDK ก็จะทำการแปลงเป็นโค้ดเพื่อสั่งการ Pepper ให้โดยอัตโนมัติ ช่วยให้นักพัฒนาสามารถเรียนรู้และใช้งาน Pepper ได้ง่าย หรือจะเขียนโค้ดเพื่อควบคุมโดยตรงเพื่อสั่งการในระดับที่สูงขึ้นก็ทำได้เช่นกัน

ล่าสุดในปี 2019 ทาง Softbank Robotics Group ได้เปิดตัว Pepper เวอร์ชัน Android ซึ่งช่วยให้นักพัฒนาที่คุ้นเคยกับระบบปฏิบัติการดังกล่าวสามารถเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมการทำงานของ Pepper ได้ง่ายยิ่งขึ้น

วางจำหน่ายในไทยแล้ว พร้อมเหล่า Partners ช่วยให้คำปรึกษา

จนถึงตอนนี้ หุ่นยนต์ Pepper ถูกจำหน่ายให้กว่า 2,300 บริษัทในประเทศญี่ปุ่น และทั่วโลกมี Pepper ใช้งานมากถึง 17,000 ตัว สำหรับประเทศไทย Pepper วางจำหน่ายผ่านทาง SB Telecom (Thailand) Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Softbank Group ประจำประเทศไทย มาพร้อมกับ Package การอบรมการใช้งานเบื้องต้นและบริการหลังการขายซึ่งช่วยให้ลูกค้าสามารถเริ่มต้นใช้งาน Pepper ได้อย่างมั่นใจ

สำหรับองค์กรที่ต้องการนำหุ่นยนต์ Pepper ไปใช้งาน แต่ไม่มีทีมนักพัฒนาช่วยเขียนโปรแกรมควบคุม หรือต้องการใช้งานเฉพาะทาง SB Telecom (Thailand) พร้อมแนะนำ Partner ในไทยสำหรับเข้าไปให้คำปรึกษา ช่วยออกแบบและพัฒนาเพื่อให้สามารถใช้งาน Pepper ได้ตามวัตถุประสงค์ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อคุณคณิน สุพุทธิพงศ์ Sale Executive, New Business Division จาก SB Telecom (Thailand) ได้ที่อีเมล suputipong.kanin@g.softbank.co.jp หรือโทร 092-265-7076, 02-038-5660

ติดตาม Pepper ได้ที่ Facebook Page: Pepper Robot Thailand

About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

Cisco ปิดดีลเข้าซื้อ Splunk มูลค่า 1 ล้านล้านบาท

หลังจากผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจนได้รับอนุมัติเรียบร้อย ล่าสุดทาง Cisco ได้ประกาศถึงความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการของ Splunk ที่มูลค่า 28,000 ล้านเหรียญหรือราวๆ 1 ล้านล้านบาทอย่างเป็นทางการแล้ว

NVIDIA เปิดตัว NIM Microservices และ Cloud Endpoints ใหม่ ช่วยองค์กรพัฒนา Generative AI ใช้งานได้สะดวกขึ้น

NVIDIA เปิดตัว API และเครื่องมือใหม่สำหรับการพัฒนาและใช้งาน Generative AI ในงานสัมมนา NVIDIA GTC 2024 ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาและนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้งานสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนการจัดเตรียมข้อมูล ปรับแต่งโมเดล ไปจนถึงการรักษาความปลอดภัยด้วย Guardrails