เป็นอีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจกับการนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาใหญ่ๆ อย่างการจัดการโรคระบาดร้ายแรงเช่น Zika, Ebola และอื่นๆ โดยทาง Microsoft ได้จับมือกับ John Hopkins Bloomberg School of Public Health, University of Pittsburgh และ St. George’s University เพื่อนำเทคโนโลยีอย่าง Drone และ Big Data มาจัดการวิเคราะห์การแพร่ของโรคระบาดร้ายแรงเหล่านี้ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก เพื่อให้แต่ละพื้นที่สามารถรับมือกับภัยพิบัติจากโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในโครงการนี้จะแบ่งความท้าทายออกด้วยกันเป็น 3 ส่วน
ส่วนแรกคือการจับแมลงต่างๆ ที่อาจมีส่วนช่วยในการแพร่ระบาดของโรคเหล่านี้ โดยหลักๆ แล้วก็คือ ยุง ซึ่งในโครงการนี้ก็ได้มีการออกแบบกับดักจับยุงด้วยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อล่อยุงให้เข้ามายังกับดักจับยุง ซึ่งเป็นกล่องขนาดเล็กจำนวน 64 กล่องที่ติดตั้งรวมกันเป็นอุปกรณ์ชิ้นเดียว และสามารถจับปฏิกิริยาการสั่นจากปีกของยุงและปิดฝากล่องได้โดยอัตโนมัติ
ความท้าทายถัดมาก็คือการออกสำรวจพื้นที่ที่ควรจะติดตั้งกับดักจับยุงนี้ให้ได้ด้วย Drone โดย Drone จะทำการบินสำรวจพื้นที่ต่างๆ โดยอัตโนมัติและใช้เทคโนโลยี Machine Learning และ Computer Vision เข้าช่วยในการบินในพื้นที่ที่มีความซับซ้อนไปด้วย รวมถึงในอนาคตยังมีแผนจะให้ Drone เหล่านี้สามารถบินสำรวจได้ว่าในแต่ละพื้นที่ บริเวณไหนบ้างที่มียุงเป็นจำนวนมาก และยุงเหล่านั้นปรากฎออกมาในเวลาใด
สุดท้ายก็คือการวิเคราะห์ข้อมูลยีนของยุงและแมลงต่างๆ ที่จับมาได้ เพื่อวิเคราะห์ประวัติของยุงเหล่านี้ว่าเป็นสายพันธุ์ไหน, เคยไปกัดสัตว์อะไรมาบ้าง และมีแนวโน้มที่จะเป็นพาหะของโรคอะไรบ้าง ซึ่งยีนของแมลงแต่ละตัวนั้นก็มีขนาดหลาย Gigabyte ระบบประมวลผลประสิทธิภาพและสูงอัลกอริธึมที่ช่วยให้ประมวลผลข้อมูลเหล่านี้ให้ได้อย่างรวดเร็วจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อโครงการนี้ โดยในโลกเราตอนนี้มียุงมากกว่า 3,600 สายพันธุ์ แต่มีเพียงไม่กี่สายพันธุ์เท่านั้นที่เป็นพาหะนำโรคได้
ถือเป็นอีกตัวอย่างของการผสานเทคโนโลยีที่หลากหลายในการแก้ปัญหาระดับโลกได้น่าสนใจดีทีเดียวครับ