วันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมาทางทีมงาน TechTalkThai ได้รับเกียรติเชิญจากไมโครซอฟต์ประเทศไทยให้เข้าร่วมงาน Microsoft Innovation Conference ซึ่งได้จัดขึ้น ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ โดยในงานนี้หัวข้อหลักของการบรรยายได้กล่าวถึง Business Transformation และการใช้ AI เสริมพลังให้การทำ Digital Transformation ทางเราจึงขอสรุปใจความสำคัญของงานมาให้ติดตามกันอีกครั้งครับ

Business Transformation
ในหัวข้อนี้ได้รับเกียรติจากคุณประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI ขึ้นมาบรรยาย ซึ่งท่านได้ยกตัวอย่างธุรกิจหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ที่สามารถยกระดับตัวเองหลังจากปรับตัวทำ Business Transformation ได้สำเร็จและธุรกิจนั้นก็คือ ‘Let’s Relax’ หรือร้านสปาชื่อดังที่ใครหลายคนคงพอคุ้นหูหรือเคยใช้บริการกันอยู่บ้าง โดยกว่า 5 ปีที่บริษัทใช้เวลาไปกับการ Transform ธุรกิจสู่จุดใหม่ทำให้จากเดิมที่เคยเติบโตปีละ 1 สาขากลายเป็น 10 สาขาต่อปี อีกทั้งเคยทำมูลค่าสูงสุดในตลาดหลักทรัพย์ไปแตะที่ 1 หมื่นล้านบาทซึ่งนี่เองคือผลลัพธ์แห่งการ Transformation ตัวเองเพียงปรับเปลี่ยนหลักการ 2 จุดดังนี้
- เปลี่ยนโครงสร้างบริษัทจากการทำธุรกิจแบบครอบครัวสู่ระบบบริหารด้วยการเชิญบุคคลภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เข้ามาร่วมเป็นบอร์ดบริหาร
- ปรับเปลี่ยนบัญชีให้มีความถูกต้อง ตรงเวลา และตรวจสอบได้
อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธุรกิจที่สามารถ Transform ตัวเองได้สำเร็จซึ่งเบื้องหลังของหลายธุรกิจในปัจจุบันย่อมต้องมีเทคโนโลยีที่ดีสนับสนุนด้วย โดยคุณประพันธ์กล่าวปิดท้ายว่า ” ไมโครซอฟต์มีความพร้อมที่สามารถช่วยตอบโจทย์สำคัญกับการทำ Business Transformation ให้ธุรกิจ ถึง 4 ส่วนคือ Empower Employees, Engage Customers,Optimize Operations, Transform Products”
Empowering Digital Transformation with AI

“AI is in Everywhere, Everything and Industry” — นี่เป็นคำกล่าวจากคุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธ์ุ กรรมการผู้จัดการของ ไมโครซอฟต์ประเทศไทยที่ขึ้นบรรยายในช่วงนี้ โดยคุณธนวัฒน์ได้ยกตัวอย่างของ AI is in Everywhere เช่น หากผสาน AI เข้ากับที่อยู่อาศัยผู้ใช้งานจะมีใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้นและสามารถแนะนำของที่เหลืออยู่ในตู้เย็นได้ว่าสามารถทำเมนูอะไรได้หรือหากต้องการทำเมนูไหนขาดวัตถุดิบอะไรก็สั่งออนไลน์มาให้เองได้ เป็นต้น ดังนั้นปัจจุบัน AI ได้เข้าไปฝังตัวอยู่ในทุกหนแห่งแล้ว
AI is in Everything ตรงนี้หมายความว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้าไปอยู่ในทุกๆ สิ่งด้วย เช่น กรณีของผู้ผลิตเครื่องยนต์ของเครื่องบินอย่าง Rolls-Royce ที่ได้นำเซนเซอร์ไปติดไว้ในเครื่องยนต์ที่ตนผลิตทำให้สามารถประเมินการซ่อมบำรุงได้ล่วงหน้าและการันตี SLA ได้ถึง 99.99% กลายเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ Engine-as-a-service ทำรายได้เข้าสู่บริษัท
AI is in Every Industry คือปัจจุบัน AI ขยายเข้าไปสู่การใช้งานในทุกอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ เช่น Drone กับภาคการเกษตรที่สามารถใช้ AI วิเคราะห์ภาพถ่ายจากสีของพืชและสามารถบอกได้ว่าพืชนั้นมีโรค ขาดน้ำ หรือมีสภาพสมบูรณ์ นั่นหมายถึงผู้ดูแลไร่จะสามารถพ่นยาหรือรดน้ำเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะจุดทำให้ลดต้นทุนการผลิตลง หรือ กรณีของการใช้ Drone ในอุตสาหกรรมการก่อสร้างสะพานที่เทรนโมเดล AI ให้แยกแยะได้ว่าภาพถ่ายนั้นคือ รอยแตก เชื้อรา หรือสนิม ซึ่งปกติการตรวจสอบโดยมนุษย์กินเวลาหลายเดือนแต่ด้วยเทคโนโลยีจึงลดเวลาลงเหลือแค่ไม่ถึง 2 สัปดาห์ และสุดท้ายตัวอย่างของ Retail การใช้ AI เพื่อเรียนรู้ข้อมูลของผู้บริโภคไปทำ Dynamic Pricing หรือการใช้ Chatbot เพื่อเข้าเปิดการขายกับลูกค้าที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตามเมื่อ AI แทรกซึมเข้าไปอยู่ในทุกหนแห่งและอุตสาหกรรมแล้ว ธุรกิจประเทศไทยจะเป็นอย่างไรหากมีนวัตกรรม AI เข้ามาส่งเสริม ทางไมโครซอฟต์จึงได้มีการจัดทำรายงานร่วมกับ IDC เพื่อศึกษาผลลัพธ์แนวโน้มในปี 2021 เทียบกับปัจจุบันโดยอ้างอิงความเห็นของผู้บริหารในเอเชียแปซิฟิคกว่า 1,560 คนซึ่งมีผู้บริหารจากประเทศไทยจำนวน 101 คนและมีสถิติดังนี้
- AI จะช่วยส่งเสริมให้เกิดบริการและผลิตภัณฑ์ด้านนวัตกรรมซึ่งในภาพรวมของเอเชียแปซิฟิคจะเพิ่มขึ้น 1.9 เท่าและประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น 1.7 เท่า
- AI จะช่วยให้ Productivity ของพนักงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 1.3 เท่า ในปี 2021
- 29% ของผู้บริหารจากประเทศไทยเชื่อว่า AI จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างใหญ่หลวง 25% เชื่อว่ามีผลกระทบพอสมควร 31% เชื่อว่ามีเล็กน้อยและ 15% คิดว่าไม่ได้รับผลกระทบ
- ผู้นำในประเทศไทยยังขาดคุณสมบัติหลัก 3 จาก 6 ข้อที่ส่งผลต่อการใช้ AI ให้ประสบความสำเร็จเมื่อเทียบกับผู้นำในระดับเอเซียแปซิฟิคคือ Data, Strategy และ Investment
จากรายงานสรุปได้ว่า AI จะเข้ามาช่วยส่งเสริมธุรกิจหากบริษัทสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้ รวมไปถึงผู้นำขององค์กรต้องมีวิสัยทัศน์และสนับสนุนให้เกิดการใช้งาน AI ด้วย ไม่เพียงเท่านั้นองค์กรต้องมีวัฒนธรรมที่พร้อมรับนวัตกรรมใหม่เข้ามาใช้งานและบุคคลากรในองค์กรต้องมีความคิดสร้างสรรค์ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาด้วย ดังนั้นการที่ AI จะเกิดได้หรือไม่ต้องอาศัยทั้งฝั่งของเทคโนโลยีและธุรกิจ
นอกจากนี้สุดท้ายแล้วคุณธนวัฒน์ยังได้ฝากถึงองค์กรต่างๆ เกี่ยวกับปัจจัยที่จะทำให้ธุรกิจสามารถแข่งขันและอยู่รอดในยุคปัจจุบันว่าองค์กรจะต้องมีความสามารถทางเทคโนโลยี (Tech intensity) ซึ่งเกิดจากองค์ประกอบอีก 2 ส่วนคือ ความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว (Tech Adoption) และ ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมที่แตกต่าง (Tech Capability) กล่าวคือองค์กรไม่ต้องไปสร้างเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาแล้วเพียงแต่นำมาต่อยอดเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่นั่นเอง
วิสัยทัศน์ของไมโครซอฟต์กับการพัฒนา AI

คุณธนวัฒน์ยังได้กล่าวถึงมุมมองของบริษัทต่อจริยธรรมในการพัฒนา AI ประกอบด้วย 6 ปัจจัยคือ 1.ต้องยุติธรรม(Fairness) 2.ต้องสามารถเชื่อถือและไว้ใจได้ (Reliability&Safety) 3.ต้องทำอย่างมีความมั่งคงปลอดภัย (Privacy&Security) 4.เสมอภาค (Inclusiveness) เช่น การใช้ข้อมูลตัวอย่างแบบครอบคลุมไม่ใช่เลือกเฉพาะเพศหรือแบ่งแยกสีผิวทำให้ผลลัพธ์เอนเอียง 5.โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ (Transparency) 6.มีความรับผิดชอบ (Accountability) ดังนั้นไมโครซอฟต์เองจึงมีคณะกรรมการที่มีหน้าที่คอยกำกับและตรวจสอบนวัตกรรม AI ให้เป็นไปตามจริยกรรมที่กล่าวถึงด้วย
สำหรับวิสัยทัศน์ของไมโครซอฟต์กับการพัฒนา AI และผลประโยชน์ของลูกค้าคุณธนวัฒน์ได้ปิดท้ายว่า “AI คือเทคโนโลยีที่ช่วยยกระดับให้มนุษย์มีความสามารถมากขึ้นแต่ไม่ได้เข้ามาทดแทนมนุษย์ รวมถึงยังเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยทางไมโครซอฟต์เองมีเป้าหมายเสนอเทคโนโลยีที่เป็นแพลตฟอร์มของ AI ให้ลูกค้านำไปต่อยอดตอบโจทย์กับธุรกิจและเราไม่เคยต้องการที่จะสร้างนวัตกรรมมาแข่งขันกับลูกค้า“
The Story of 3 Cloud

ในหัวข้อนี้ทีมงานของไมโครซอฟต์ได้ขึ้นมากล่าวถึงวิธีการทำ Transformation โดยอ้างอิงกับโมเดล ‘Digital Feedback Loop’ ที่มีองค์ประกอบย่อย 4 ข้อคือ Engage Customer, Empower Employee, Optimize Operation และ Transform Product ซึ่งทั้งหมดนี้จะถูกร้อยเรียงเชื่อมกันด้วย ‘ข้อมูล’
- Empower Employees – คำถามในจุดนี้คือบริษัทมีการใช้ข้อมูลเพื่อพัฒนาพนักงานในองค์กรแล้วหรือยัง รวมถึงต้องมีเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของพนักงานรุ่นใหม่ที่ต้องการ Work Anywhere ด้วย ซึ่งทางไมโครซอฟต์เองก็มีผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการนั้นได้เช่น Microsoft Teams เป็นต้น
- Optimize Operations – บริษัทจะต้องมีการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เช่น Chevron ได้ใช้แว่นตา VR เพื่อแสดงภาพจำลองของหน้างานจริงในการฝึกปฏิบัติและช่วยให้ผู้ที่ไม่มีทักษะสูงสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง เช่นกันทาง ไมโครซอฟต์ก็มีเทคโนโลยีที่ช่วยปฏิวัติกระบวนการทำงานในองค์กรอย่าง Office 365 เป็นต้น
- Transform Products – บริษัทต้องเปลี่ยนมุมมองในการทำธุรกิจโดยอาศัยประโยชน์จากข้อมูลเพื่อออกสินค้าใหม่ให้ตรงใจตลาดหรือปรับปรุงสินค้าเดิมให้ดึงดูดผู้บริโภค
- Engage Customers – คำถามในส่วนนี้บริษัทต่างๆ ต้องตอบให้ได้ว่าเรามีการใช้ AI หรือ BI มาวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้แล้วหรือยัง หลังจากนั้นแล้วมี CRM คอยดึงข้อมูลทางการตลาดให้แก่ทีมขายเพื่อประกอบการตัดสินใจได้ทันทีหรือไม่ ตรงนี้เองเครื่องมืออย่าง Power BI หรือ Dynamics จะสามารถเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าว
สุดท้ายไมโครซอฟต์แนะนำว่าการใช้งาน AI เพื่อเสริมศักยภาพของ Digital Business นั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ธุรกิจขนาดใหญ่เพราะธุรกิจ SME ก็สามารถเข้าถึงได้โดยเพียงแค่เริ่มจากส่วนเล็กๆ ก่อนแล้วค่อยขยายผลต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ตามต้องเร่งทำอย่างว่องไวเพราะปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่ใครเริ่มก่อนย่อมได้เปรียบ
โดยในงานนี้เองไมโครซอฟต์ก็ได้เชิญพาร์ทเนอร์ที่ทำโซลูชันตอบโจทย์ธุรกิจ SME มาออกบูธ เช่น Chatbot ซึ่งสามารถเริ่มได้จากธุรกิจขนาดเล็กในการช่วยตอบคำถามลูกค้าหรือแม้กระทั่งเปิดเกมขาย หรือ Azure เองที่ปัจจุบันก็กลายเป็นแพลตฟอร์มสำหรับ Startup ต่างๆ เข้ามาใช้เครื่องมือเหล่านี้เพื่อเร่งกระบวนการพัฒนาไอเดียออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็วตามคอนเซปต์ Tech intensity และอย่างที่คุณธนวัฒน์กล่าวไว้ว่า “AI อยู่ในทุกสิ่งทุกอย่างทุกอุตสาหกรรมและทุกคนสามารถเข้าถึงได้” ครับ