Microsoft Azure by Ingram Micro (Thailand)

McKinsey ทำนาย 10 แนวโน้มด้าน IT Infrastructure ในปี 2020 ที่น่าจับตามอง

โดยปกติแล้วเรามักเห็นการทำนายเทคโนโลยีกันแบบปีต่อปี แต่ในครั้งนี้ McKinsey ได้ออกมาทำนายเทรนด์ด้าน IT Infrastructure ล่วงหน้าไปถึงปี 2020 เพื่อให้เหล่าผู้คนในวงการ IT สามารถปรับตัวรับกับอนาคตได้ทันท่วงที ทางทีมงาน TechTalkThai เห็นว่าน่าสนใจจึงขอนำมาสรุปให้ได้อ่านเป็นภาษาไทยสั้นๆ กันดังนี้ครับ

Credit: ShutterStock.com

 

1. โมเดล As-a-Service จะถูกนำมาใช้กับทั้ง Software และ Hardware

การคิดค่าใช้จ่ายแบบ Consumption-based หรือคิดค่าใช้จ่ายตามการใช้งานจริงนั้น ได้ถูกนำมาใช้กับ Software ไปแล้วในบริการ Cloud ต่างๆ และต่อไปก็จะถูกนำมาใช้งานกับ Hardware มากยิ่งขึ้น รวมถึง Hardware ที่ถูกนำไปติดตั้งภายใน On-premises Data Center ก็ตาม เนื่องจากการคิดค่าใช้จ่ายในลักษณะนี้สามารถช่วยลดความเสี่ยงของผู้ลงทุน, มีเงินหมุนเหลือมากขึ้น และยังเพิ่มความยืดหยุ่นได้อีกด้วย

 

2. Public Cloud จะกลายเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันทั่วไปแบบ Mainstream

องค์กรใหญ่ๆ จะเริ่มหันมาใช้บริการ Public Cloud กันมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงยังมีการทำนายอีกด้วยว่าภายในปี 2018 ยอดขายของ Server และ Storage กว่า 80% นั้นจะเป็นการขายเข้าไปยังผู้ให้บริการ Cloud โดยนอกจากเหล่าผู้ให้บริการชื่อดังอย่าง Amazon, Microsoft, Google และ IBM แล้ว McKinsey เองก็ยังเชื่อว่า Alibaba Cloud นั้นน่าจับตามองไม่น้อยทีเดียวในการแข่งขันด้านบริการ Cloud ระดับโลกนี้

 

3. Open Source จะถูกใช้งานมากขึ้น และมีการพัฒนาให้ครอบคลุมต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

เป็นที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Open Source Software นั้นมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในวงการ IT ไม่ว่าจะเป็น Apache Spark, Kubernetes หรือ OpenShift เองนั้นก็ได้ถูกนำไปใช้ในระบบโครงสร้างพื้นฐานทางด้าน IT กันมากขึ้น และเหล่าธุรกิจยักษ์ใหญ่อย่าง Airbnb, Airbus, eBay, Intel และ Qualcomm นั้นต่างก็มีการใช้งาน TensorFlow เพื่อทำ Machine Learning ภายในองค์กร ในขณะที่ Facebook เองก็ผลักดัน Open Compute Project (OCP) ซึ่งเป็นโครงการ Open Source ทั้งสำหรับ Hardware และ Software ภายใน Data Center ซึ่งมีเหล่าองค์กรชั้นนำอย่าง AT&T, Deutsche Telekom และ Goldmand Sachs เข้าร่วม

 

4. Cybersecurity จะยังคงเป็นประเด็นหลักที่เหล่าผู้บริหารระดับสูงให้ความสำคัญ

การรับมือกับภัยคุกคามที่นับวันจะยิ่งมีปริมาณสูงขึ้นและมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นนั้นกลายเป็นประเด็นหลักที่เหล่าผู้บริหารระดับสูงต้องให้ความสำคัญ โดยนอกจากการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีในฝั่ง IT Security ที่จะต้องมีมากขึ้นแล้ว หลายๆ องค์กรเองก็ยังประสบกับปัญหาด้านการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านนี้ ทำให้ต้องหันไปลงทุนใน Managed Security Services และ Cloud-based Security กันมากขึ้น โดย McKinsey เชื่อว่าบริการสองกลุ่มนี้จะมีส่วนแบ่งตลาดมากถึง 60% ภายในปี 2020 จากเดิมที่เคยมีส่วนแบ่งเพียง 10% ในตลาด IT Security เมื่อปี 2015

 

5. Whitebox Hardware จะได้รับความเชื่อมั่นและถูกใช้งานมากขึ้น

เดิมทีตลาด Hardware นั้นจะต้องมีแบรนด์ใหญ่เป็นผู้ผลิต โดยทำการ Outsource การผลิตไปยังเหล่าผู้ผลิตแบบ Original-Design Manufacturer (ODM) แทน อย่างไรก็ดี เหล่าลูกค้าเองนั้นก็เริ่มมองหาทางเลือกในการลงทุนทางด้าน Hardware ที่มีราคาถูกลง, ตรงต่อความต้องการมากขึ้น และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้เหล่าลูกค้าเริ่มติดต่อไปยังผู้ผลิตแบบ ODM เองโดยตรง อีกทั้งทาง Facebook เองก็ได้ผลักดันโครงการ OCP ทำให้มีแบบแปลนของ Data Center Hardware ใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นอีกทางเลือกของผู้บริโภคในอนาคตไป

IDC ยังได้ทำนายอีกด้วยว่า ภายในปี 2020 ระบบ Server จากเหล่า ODM นี้จะมีส่วนแบ่งตลาดถึงครึ่งหนึ่งของตลาด Data Center ขนาดใหญ่ทั่วโลก

 

6. Business Application ทางด้าน Internet of Things (IoT) จะพร้อมใช้งานมากขึ้น

McKinsey ได้เคยทำนายเอาไว้ว่า 70% ของคุณค่าทางธุรกิจนั้นจะเกิดขึ้นจาก IoT และจากการสำรวจของ McKinsey เองก็พบว่ากว่า 96% ขององค์กรนั้นได้ลงทุนในระบบ IoT มากขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยบางองค์กรลงทุนทางด้าน IoT มากถึง 25% ของงบประมาณทางด้าน IT ทั้งหมด โดยโครงการทางด้าน IoT ที่ได้รับความนิยมนั้นจะได้แก่การรวบรวมข้อมูลจากงานทางด้าน Operation, การปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานของฝ่าย Operation และการนำข้อมูลมาใช้สร้างโมเดลทางธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้ตลาด Compute, Storage, Hyperscale และ IoT-specific PaaS นั้นเติบโตยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ McKinsey ยังเชื่อด้วยว่าการเติบโตของอุปกรณ์ IoT จำนวนมหาศาลในอนาคตอันใกล้นี้ จะนำมาซึ่งสถาปัตยกรรม Edge Computing ที่ใช้อุปกรณ์ IoT หรือ Gateway ช่วยประมวลผลข้อมูลก่อนที่จะทำการคัดกรองและบีบอัดเพื่อส่งขึ้น Cloud สำหรับใช้ในการแก้ปัญหาเรื่อง Latency และ Connectivity โดยกว่างบประมาณจาก 500,000 ล้านเหรียญของตลาด IoT ในปี 2020 นั้น Edge Computing จะมีส่วนแบ่งในนั้นถึง 25% เลยทีเดียว

 

7. ตลาด Hardware Infrastructure จะเริ่มย้ายมาอยู่ฝั่งเอเชียมากขึ้น

ทั้งตลาด OEM และ ODM สำหรับ Server ในฝั่งเอเชียนั้นจะเติบโตขึ้น และแย่งส่วนแบ่งจากที่เหล่าผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกาเคยครอบครองไปในอดีต ไม่ว่าจะเป็น Huawei ที่ประกาศลงทุน 1,000 ล้านเหรียญสำหรับการวิจัยทางด้านเทคโนโลยีสำหรับอุปกรณ์ภายใน Data Center, Lenovo ที่เข้าซื้อกิจการส่วน x86 Server มาจาก IBM, Quanta Computer ที่พัฒนาอุปกรณ์หลากหลายสำหรับใช้งานภายใน Data Center และเหล่าผู้ผลิต ODM รายอื่นๆ ที่เริ่มมีลูกค้ารายใหญ่อย่าง Amazon, Facebook และ Google โดย McKinsey เชื่อว่าหากแนวโน้มยังเป็นอย่างนี้ต่อไป ภายในปี 2020 นั้นผู้ผลิต ODM จากเอเชียจะมีส่วนแบ่งในตลาดเติมโตขึ้น 2-3 เท่าอย่างแน่นอน

 

8. เกิดแนวโน้ม DevOps สำหรับทั้ง Software และ Hardware รวมกัน

แนวคิด DevOps นั้นจะถูกนำไปใช้ทั้งในส่วนของ Software และ Hardware เพื่อช่วยลดงานที่จะเกิดขึ้นในการจัดการกับ Application ใหม่ๆ อีกทั้งยังจะช่วยให้ฝ่ายธุรกิจ, นักพัฒนา และผู้ดูแลระบบสามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ โดย McKinsey ได้เคยทำการสำรวจแล้วและพบว่ากว่า 80% ของผู้ตอบแบบสอบถามนั้นระบุว่าได้นำแนวคิด DevOps มาใช้จริงแล้ว โดย 53% จะนำไปใช้ทั่วทั้งองค์กรให้ได้ภายในปี 2020 และทำให้ความต้องการผู้ที่มีทักษะด้านการทำ DevOps เติบโตเป็นอย่างมากจนเกิดภาวะขาดแคลนในตลาด ซึ่งก็จะกลายเป็นปัญหาหลักที่ทำให้ DevOps ไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ในหลายองค์กรในอนาคต

 

9. การมาของสถาปัตยกรรม Container-first Architectures

Container นั้นจะแย่งส่วนแบ่งตลาดของระบบ Virtualization และกลายเป็นวิธีการ Deploy Application หลักบน Cloud ไปในอนาคต โดยผลสำรวจของ Atlassian ในปี 2016 ได้ระบุเอาไว้ว่ากว่า 34% ของผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Software ได้เริ่มใช้ Container ในการพัฒนา Application แล้ว และผลสำรวจของ RightScale นั้นก็พบว่าจากที่เคยมีการใช้งาน Container ในระบบ Production เพียง 18% เมื่อปี 2016 ก็ได้กลายเป็นว่า Docker นั้นกลายเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้งานมากที่สุดในสาย DevOps ประจำปี 2017 ไป ชี้ให้เห็นถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของแนวโน้มนี้

ด้วยเหตุนี้ การออกแบบระบบด้วยแนวทางของ Microservices ก็จะเติบโตขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง และในขณะเดียวกัน การทำ Application Atomization เองก็จะเป็นอีกแนวโน้มที่เกิดขึ้นมาและเติบโตควบคู่กันไป ทำให้การใช้บริการ Function as a Service กลายเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าจับตามอง

 

10. เกิดโครงสร้างพื้นฐานเฉพาะสำหรับการทำ Artificial Intelligence (AI) และ Machine Learning (ML) ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

เมื่อ AI ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าสามารถสร้างคุณค่าให้กับเหล่าองค์กรได้จริง ก้าวต่อไปก็คือองค์กรนั้นจะต้องการทำ Optimization สำหรับการใช้งาน AI ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและแข่งขันกันได้ดีขึ้นนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของ Algorithm, Computing Power, การจัดการข้อมูลปริมาณมากยิ่งขึ้น และอื่นๆ

ในฝั่งของผู้พัฒนาเทคโนโลยีนั้น การลงทุนวิจัยทางด้านนี้ก็จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเริ่มมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมาตอบโจทย์เฉพาะทาง เช่น Tensor Processing Unit จาก Google, GPU แบบพิเศษจาก NVIDIA, FPGA จาก Xilinx และผู้ให้บริการ Cloud เองก็พัฒนาเทคโนโลยีด้าน AI และ ML ออกมาให้ได้เช่าใช้กัน ในขณะที่ MGI นั้นได้วิเคราะห์ว่ากว่าครึ่งของงานที่มนุษย์ถูกจ้างให้ทำอยู่ในทุกวันนี้ สามารถทำการ Automate โดย AI ได้ทั้งสิ้น ซึ่งนับเป็นมูลค่ากว่า 15 ล้านล้านเหรียญเลยทีเดียว

 

McKinsey ได้สรุปแนวโน้มทั้ง 10 นี้ว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ นี้จะช่วยเปิดทั้งโอกาสและความเสี่ยงใหม่ๆ ให้กับทั้งฝั่งผู้ผลิตและผู้ใช้งาน เหล่าผู้บริหารของธุรกิจในกลุ่ม Technology Infrastructure จะต้องปรับตัวให้ยังคงเติบโตต่อไป ด้วยการเปลี่ยนผลิตภัณฑ์และบริการที่นำเสนอเสียใหม่ รวมถึงเปลี่ยนกลยุทธ์ในการเข้าสู่ตลาดด้วยวิธีการใหม่ด้วย อีกทั้งยังต้องเร่งสร้างทักษะพื้นฐานที่จำเป็นภายในองค์กรให้ได้ ไม่ว่าจะเป็น Digitization, Analytics หรือ Agile Development ซึ่งถึงแม้ทั้งหมดนี้จะส่งผลให้การลงทุนต้องเพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาวแล้วการลงทุนเหล่านี้จะสะท้อนความคุ้มค่าไปยังเหล่าลูกค้าอย่างแน่นอน

 

ที่มา: https://www.mckinsey.com/business-functions/strategy-and-corporate-finance/our-insights/ten-trends-redefining-enterprise-it-infrastructure

About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

ผสาน Automation และ Intelligence เข้าไปยังความสามารถของงานด้านการผลิต โดย Infor

การนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้งานในธุรกิจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และแต่ละอุตสาหกรรมก็มีความท้าทายเฉพาะตัวที่ต้องเผชิญหน้า ในอุตสาหกรรมการผลิตเองก็เช่นกันที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ความต้องการของลูกค้า Supply Chain และอื่นๆ 

Cisco ปิดดีลเข้าซื้อ Splunk มูลค่า 1 ล้านล้านบาท

หลังจากผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจนได้รับอนุมัติเรียบร้อย ล่าสุดทาง Cisco ได้ประกาศถึงความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการของ Splunk ที่มูลค่า 28,000 ล้านเหรียญหรือราวๆ 1 ล้านล้านบาทอย่างเป็นทางการแล้ว