เมื่อเทคโนโลยีคลิ่นวิทยุ VHF หรือ GPS ที่ถูกนำไปใช้งานเพื่อติดตามตำแหน่งของสัตว์หายาก ให้เจ้าหน้าที่และนักวิทยาศาสตร์สามารถดูแลและทำการศึกษาได้มาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปีนั้น กลับกลายเป็นดาบสองคมที่ทำให้นักล่าสามารถรู้ตำแหน่งสัตว์หายากได้ไปด้วยในเวลาเดียวกัน

ในบทความของ Conservation Biology ได้ออกมาแจ้งเตือนถึงกรณีที่เหล่านายพราน, นักล่าสัตว์ และนักถ่ายภาพที่เริ่มเปลี่ยนวิธีในการติดตามล่าสัตว์มาใช้กลยุทธ์ทางด้านเทคโนโลยี เพื่อดักจับข้อมูลตำแหน่งของเหล่าสัตว์หายากที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยเมื่อปี 2013 นั้นก็เคยมีเหตุการณ์ที่ Hacker พยายามโจมตีเพื่อเข้าถึง Email ของศูนย์อนุรักษ์เสือในอินเดีย เพื่อเข้าถึงข้อมูลตำแหน่งของเสือเหล่านั้นมาแล้ว แต่ไม่มีรายงานว่าการโจมตีครั้งนั้นประสบความสำเร็จหรือไม่แต่อย่างใด
นอกจากนี้ ในปลายปี 2013 ศูนย์อนุรักษ์สัตว์ของ Yellowstone National Park ในสหรัฐอเมริกานั้นก็ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงเมื่อหมาป่าจำนวนหนึ่งที่ติดเครื่องส่งสัญญาณระบุตำแหน่งถูกล่า โดยมีหลักฐานว่าเหล่านักล่าสัตว์นี้ทำการเข้าถึงย่านความถี่ลับของคลื่นสัญญาณวิทยุที่ใช้ระบุตำแหน่งได้สำเร็จ
ในปี 2015 ที่ออสเตรเลียเองนั้นก็มีการติดตามปลาฉลามเพื่อทำการศึกษาพฤติกรรม และแจ้งเตือนบริเวณชายหาดว่ามีฉลามเข้ามาใกล้ แต่กรณีนี้ก็ยังไม่ได้มีการล่าใดๆ เกิดขึ้น ซึ่งในบทความก็ได้แสดงความกังวลแทนว่าแนวทางนี้อาจถูกนำไปต่อยอดจนกลายเป็นการก่อการร้ายได้ ด้วยการส่งสัญญาณเตือนปลอมๆ จำนวนมากจนระบบใช้งานจริงไม่ได้ และสร้างความแตกตื่นแก่ประชาชนในบริเวณนั้น
ในบทความได้แนะแนวทางว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาที่เหล่าผู้ผลิตเทคโนโลยีระบุตำแหน่ง, นักวิจัย และเหล่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สัตว์หรือการดูแลสัตว์ในแต่ละท้องถิ่นต้องมาหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันในระยะยาว