การประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และ Machine Learning นั้นกำลังจะกลายมาเป็นมาตรฐานของธุรกิจในยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นงานวิเคราะห์ข้อมูลที่มีความซับซ้อนสูง หรืองานที่ต้องทำซ้ำๆแต่เรียบง่าย ปัญญาประดิษฐ์ล้วนเข้ามาช่วยธุรกิจทำเรื่องเหล่านี้ได้ ในบทความนี้คุณจำรัส สว่างสมุทร ผู้อำนวยการใหญ่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) จะมาเล่าถึงการนำ AI และ Machine Learning ไปใช้ในธุรกิจ และอุปสรรคที่ธุรกิจต้องเตรียมตัวเจอ
ธุรกิจใช้ AI ไปเพื่ออะไร
ในประเทศไทยนั้น คุณจำรัสมองว่าการใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้นแต่ก็ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ โดยการใช้งานอาจแบ่งได้ตามเป้าหมาย 2 ประเภท คือ
- เพิ่ม Productivity และประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน โดยเครื่องจักรหรือซอฟต์แวร์นั้นจะไม่มีความเหนื่อยหรือต้องใช้เวลาหยุดพักมากเท่ามนุษย์และมีความแม่นยำของการทำงานเรียบง่าย ทำให้ธุรกิจสามารถมี Productivity เพิ่มเติมและลดความผิดพลาดในงานได้ นอกจากนี้ แรงงานที่เป็นมนุษย์ก็สามารถนำเวลาในการทำงานซ้ำๆไปทำงานอย่างอื่นที่สร้าง Productivity เพิ่มเติมได้อีกด้วย
- ประหยัดต้นทุน ด้วยค่าแรงที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับต้นทุนของเครื่องจักรและคอมพิวเตอร์ที่มีแนวโน้มถูกลง โดยคุณจำรัสมองว่าแม้ในช่วงแรกระบบ AI จะต้องใช้เงินลงทุนมากพอสมควร แต่ในอนาคตจะเกิดจุดคุ้มทุนในการนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงาน อีกทั้งยังจะช่วยธุรกิจในเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันกับธุรกิจอื่นๆทั่วโลก ทั้งในเรื่องของคุณภาพ ประสิทธิภาพ ความรวดเร็วในการดำเนินการ และต้นทุนการประกอบธุรกิจ
คุณจำรัสได้ยกตัวอย่างของการใช้ AI และ Machine Learning ในการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ โดยในรถยนต์นั้นเราจะแบ่งความสามารถในการขับเคลื่อนอัตโนมัติออกเป็นหลายระดับ จากการขับเคลื่อนในบางกรณีง่ายๆ ไปจนถึงระดับที่รถยนต์เป็นผู้ควบคุมการขับขี่ทั้งหมด
เทคโนโลยีนี้มี AI เป็นมันสมองในการรับภาพรอบๆรถและสิ่งกีดขวางและข้อมูลในการขับขี่เข้ามาประมวลผลเพื่อขับเคลื่อนตัวรถ และในปัจจุบันในรถ EV หลายยี่ห้อ รวมถึง Tesla ก็มีการนำเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติเข้ามาให้บริการเพื่อช่วยผู้ขับขี่ให้ขับรถได้สะดวกสบายและปลอดภัยยิ่งขึ้น
การใช้ AI อีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจและมีการใช้งานจริงแล้วในธุรกิจไทย คือการใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Machine Vision ในการตรวจสอบคุณภาพสินค้า (Quality Control – QC) โดย AI จะประมวลผลภาพของผลิตภัณฑ์บนสายพานการผลิตเพื่อตรวจสอบว่าผลิตภัณท์นั้นมีรูปลักษณ์ สี และสภาพโดยรวมสมบูรณ์หรือไม่
ระบบตรวจสอบคุณภาพเช่นนี้มีการนำมาใช้ในโรงงานผลิตน้ำบรรจุขวด ซึ่งเมื่อทำงานแล้วระบบ AI มีข้อได้เปรียบจากผู้ควบคุมคุณภาพซึ่งเป็นมนุษย์เพราะระบบนั้นเมื่อทำงานไปนานๆก็ไม่มีอาการเหนื่อยล้า ตาลาย สามารถลดข้อผิดพลาดในการทำงานและมีระยะเวลาการทำงานที่นานกว่ามนุษย์ด้วย
ธุรกิจนำ AI มาใช้ได้อย่างไรบ้าง
ธุรกิจสามารถนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ได้หลายช่องทาง ซึ่งในบางครั้งก็อาจไม่ได้ยุ่งยากดั่งที่คิดเสมอไป การใช้งานอาจแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคร่าวๆ ได้แก่
- การพัฒนา AI และ Machine Learning ขึ้นใช้งานเอง โดยมีข้อดีคือระบบที่ได้นั้นสามารถปรับแต่งได้อย่างเต็มที่และออกแบบให้ทำงานตอบโจทย์ได้เต็มรูปแบบ ทว่าสำหรับองค์กรที่มีผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ไม่มากนักจะเป็นวิธีที่ยาก ต้องอาศัยความเข้าใจในการพัฒนาอัลกอริทึมและการดูแลระบบ
- การใช้บริการ AI จากผู้ให้บริการ ซึ่งคุณจำรัสเล่าว่าปัจจุบันนั้นมีการเปิดให้บริการ AI เฉพาะทางที่หลากหลาย เช่น AI ในการคำนวณ หรือแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เสียง รูปภาพ ตัวหนังสือ โดยธุรกิจสามารถเชื่อมต่อความสามารถเหล่านี้เข้ากับระบบที่มีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
- ใช้งาน AI ผ่านซอฟต์แวร์ที่ธุรกิจมีการใช้งานอยู่แล้ว โดยปัจจุบันผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ก็มักนำ AI เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานกันมากขึ้น
ความท้าทายที่ธุรกิจต้องเผชิญเมื่อต้องการนำ AI มาใช้งาน
การนำเทคโนโลยีใหม่ใดเข้ามาใช้งานในระยะเริ่มแรกนั้นธุรกิจก็ย่อมต้องเผชิญกับความท้าทายด้านความเข้าใจและความเชี่ยวชาญของบุคลากร ซึ่งเทคโนโลยี AI นั้นมีขั้นตอนที่สำคัญตั้งแต่การเก็บข้อมูล ปรับคุณภาพข้อมูล การสร้างอัลกอริทึมเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องการ
ในปัจจุบันในประเทศไทยยังคงขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์อยู่มาก ส่งผลให้ธุรกิจไม่สามารถนำ AI เข้ามาใช้งานได้เต็มที่และรวดเร็วอย่างที่ควร และความขาดแคลนก็ก่อให้เกิดต้นทุนที่สูงขึ้นในการเริ่มต้นโครงการใช้งาน AI
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี AI และ Machine Learning นั้นจะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ และหากธุรกิจไม่ประยุกต์เข้ามาใช้งานก็เสี่ยงที่จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดของประเทศไทยและตลาดโลก ดังนั้นธุรกิจจึงควรเร่งศึกษาและทำความเข้าใจ โดยเฉพาะในแง่มุมที่เทคโนโลยีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจได้
อ่านมุมมองของคุณจำรัส สว่างสมุทร เพิ่มเติมได้ที่ https://www.jrit-ichi.com/cutting/2022/07/06/1214/