การประชุมงานและการร่วมงานสัมมนาผ่านระบบออนไลน์นั้นได้กลายเป็นกิจกรรมหลักกิจกรรมหนึ่งที่จำเป็นต่อการทำงานในแทบทุกธุรกิจในทุกวันนี้ไปแล้ว อุปกรณ์อย่างหูฟังและไมโครโฟนจึงกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้อีกต่อไปในการทำงานแบบ Hybrid Work ในทุกวันนี้
ทาง HyperX ที่เป็นแบรนด์ชั้นนำทางด้านหูฟังสำหรับการเล่นเกม จึงได้ส่งชุด HyperX Streamer Starter Pack ซึ่งเป็นชุดหูฟังและไมโครโฟนสำหรับการเล่นเกมมาให้ทีมงาน TechTalkThai ได้ทำการทดสอบใช้ในเชิงของการทำงานและการประชุมเป็นหลัก เพื่อนำเสนอถึงประสิทธิภาพ คุณภาพ และความคุ้มค่าที่สามารถใช้ในการทำงานได้จริง ซึ่งก็ต้องบอกเลยครับว่าในการทดสอบถือว่าอุปกรณ์ชุดนี้ใช้งานได้ดีจริงๆ ดังที่ทางแบรนด์ได้นำเสนอเอาไว้
ส่วนประสบการณ์การใช้งานจะเป็นอย่างไร ขอเชิญทุกท่านอ่านได้ในบทความนี้เลยครับ
HyperX Streamer Starter Pack ราคาเท่าไหร่? มีอะไรบ้าง?
ในชุด Hyper-X Streamer Starter Pack นี้จะมีราคา 3,990 บาท โดยจะมาพร้อมกับ 2 อุปกรณ์ด้วยกันหลักๆ ได้แก่

1. HyperX Cloud Core
อุปกรณ์ Gaming Headphone ที่มาพร้อมทั้งหูฟังแบบครอบหู Over-Ear ซึ่งมีไมโครโฟน Noise-Canceling ที่ถอดใส่ได้อย่างง่ายดายมาให้ใช้งานด้วย โดยตัวสายที่ใช้เชื่อมต่อจะเป็น AUX/3.5 mm พร้อมสายสำหรับแปลงจาก 3.5mm หัวเดียวเป็น 2 หัวแยกเสียงสำหรับหูฟังและไมโครโฟน สำหรับเครื่อง PC ที่อาจจะยังแยกสายอยู่ได้ ทำให้สามารถใช้งานได้อย่างยืดหยุ่น

ความสามารถเด่นๆ ของ HyperX Cloud Core มีดังต่อไปนี้
- DTS Headphone:X Spatial Audio ระบบเสียงแบบ Spatial ที่สามารถรองรับการใช้งานได้บน PC โดยมาพร้อมกับ License การใช้งาน 2 ปี
- Memotry Foram & Premium Leatherette โฟมครอบหูที่สวมใส่สบายและคืนรูปได้โดยอัตโนมัติ สามารถสวมใส่ใช้งานได้ยาวนานโดยรู้สึกดี
- Durable Aluminium Frame โครงอลูมิเนียมความทนทานสูง หุ้มในทุกส่วนที่ต้องสัมผัสในการใช้งานจนสวมใส่ได้สบาย ใช้งานได้ไม่ต้องกังวลว่าอุปกรณ์จะเสียหาย
2. HyperX SoloCast
อุปกรณ์ไมโครโฟนแบบ USB พร้อมขาตั้งให้ใช้งานได้ทันที และยังรองรับการติดตั้งกับขา Mount ไมโครโฟนแบบมืออาชีพได้

ความสามารถเด่นๆ ของ HyperX SoloCast มีดังต่อไปนี้
- Tap-to-mute Sensor บนตัวไมโครโฟนจะมีปุ่มสำหรับให้ Mute ได้ด้วยการสัมผัส ดังนั้นจึงสามารถ Mute/Unmute ได้บนตัวไมโครโฟนโดยตรง ไม่ต้องไปทำการเปิดปิดใน Application แต่อย่างใด ช่วยให้การใช้งานลื่นไหลยิ่งขึ้น
- Flexible, Adjustable Stand ขาตั้งที่ให้มาสามารถบิดปรับมุมให้เหมาะสมต่อการใช้งานได้ ช่วยให้การติดตั้งใช้งานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
- 3/8: – 5/8″ Mic Mount Threading สำหรับกรณีที่ต้องการติดตั้งกับขาตั้งไมโครโฟนระดับมืออาชีพเพื่อลดเสียงรบกวนให้เหลือน้อยที่สุด ก็สามารถถอดไมโครโฟนออกจากขาตั้งมาใช้งานได้เลยเช่นกัน
จะเห็นได้ว่าทั้งสองอุปกรณ์นี้ต่างก็มีถูกออกแบบมาให้ถูกใช้งานในบริบทที่แตกต่างกัน โดย HyperX Cloud Core นั้นจะเหมาะสำหรับทั้งการใช้ในการเล่นเกมคนเดียวและเล่นเกมหลายคน แต่สำหรับ HyperX SoloCast จะเหมาะกับ Streamer มากกว่า ซึ่งในการประยุกต์นำมาใช้ในการทำงานและประชุมงานนั้น ก็สามารถนำมาใช้ได้อย่างยืดหยุ่นตามความเหมาะสมครับ
แกะกล่อง ทดลองใช้งานของจริง
ในการแกะกล่องทดลองใช้งาน Hyper-X Streamer Starter Pack กล่องเดียวนี้ก็จะบรรจุทั้ง HyperX Cloud Core และ HyperX SoloCast พร้อมให้เรานำมาใช้งานได้ทันทีครับ
1. ทดลองใช้งาน HyperX Cloud Core
สำหรับตัว HyperX Cloud Core นี้ก่อนจะใช้งานก็ต้องทำการประกอบตัวไมโครโฟนเข้ากับหูฟังก่อนเล็กน้อย ซึ่งก็ถือเป็นความยืดหยุ่นที่ดี เพราะสำหรับกรณีที่เราจะใช้เล่นเกมคนเดียวหรือฟังเพลงระหว่างทำงานเฉยๆ เราก็สามารถถอดไมโครโฟนออกไปได้หากรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องใช้ แต่ถ้าหากจะใช้ในการประชุมงานด้วย ก็สามารถเสียบคาไว้ได้เลย โดยตัวก้านไมโครโฟนจะมีความยืดหยุ่นให้เราปรับได้ตามต้องการ
ตัววัสดุที่ใช้ใน HyperX Cloud Core ถือว่าแข็งแรงค่อนข้างมาก หยิบจับได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะทำส่วนใดหัก และมั่นใจได้ว่าตัวโครงจะแข็งแรงทนทานต่อการใช้งานได้ในระยะยาว
สำหรับการสวมใส่ใช้งาน ตรงส่วนหูฟังที่ต้องครอบหูนั้นก็สามารถปรับระดับได้ถึง 8 ระดับสำหรับแต่ละข้าง เพื่อให้สวมใส่ได้สบายตามที่ผู้ใช้แต่ละคนต้องการ โดยถ้าหากปรับได้พอดีแล้ว หัวหูฟังก็จะครอบหูพอดี และถ่ายน้ำหนักบางส่วนไปบนหัวด้วย ในขณะที่แรงหนีบเองก็ไม่ได้ถือว่าแน่นจนเกินไปหรือหลวมจนเกินไป เรียกได้ว่าใส่ได้สบายกำลังดี
ในแง่ของน้ำหนักนั้นจะอยู่ที่ประมาณเกือบๆ 300 กรัม ก็ยังเป็นน้ำหนักที่สวมใส่ใช้ทำงานประชุมงานได้ต่อเนื่องอยู่พอสมควร แต่ถ้าหากจะใส่หลายชั่วโมงต่อเนื่องก็อาจต้องมีการถอดเพื่อพักบ้างเป็นระยะๆ
สำหรับผู้ที่ใส่แว่น ตัวหูฟังแบบครอบนี้จะกดขาแว่นอยู่บ้างเล็กน้อยแต่ก็ไม่ได้เป็นประเด็นสำหรับขาแว่นที่มีขนาดเล็กและแบน แต่สำหรับคนที่ใช้ขาแว่นขนาดใหญ่หน่อยก็อาจต้องลองใส่ก่อนตัดสินใจซื้อครับ
บนสายของอุปกรณ์จะสามารถปรับระดับความดังของเสียงได้ และสามารถเปิดปิดไมโครโฟนได้เลย ทำให้ค่อนข้างสะดวกต่อการใช้งานจริง
เสียงในแง่ของการฟัง อันนี้ถือว่าประทับใจมากๆ เพราะตัวครอบหูเองนั้นก็จะช่วยตัดเสียงแวดล้อมของผู้ฟังออกไปให้พอสมควรอยู่แล้ว ทำให้ถึงแม้จะไม่ได้ประชุมอยู่ แต่ถ้าใส่หูฟังนี้ก็จะมีสมาธิจดจ่อกับงานตรงหน้าได้ดีขึ้น และในขณะประชุมงาน ถึงแม้จะไม่ได้ประชุมอยู่ในห้องที่มีเสียงเงียบนัก หูฟังก็จะตัดเสียงรอบข้างออกไปทำให้ได้ยินเสียงประชุมงานที่ชัดเจน ส่วนตัวคุณภาพเสียงที่ได้ฟังก็ถือว่าดีและมีมิติกว่าหูฟังแบบ In-Ear ก็เรียกได้ว่าเปลี่ยนประสบการณ์ในการประชุมงานไปได้พอสมควร
ส่วนในแง่ของการพูด ก็เป็นอีกจุดที่ประทับใจมากเช่นกัน เพราะเดิมที HyperX Cloud Core นี้ถูกออกแบบมาสำหรับการเล่นเกม ดังนั้นจึงมีการคิดเผื่อในหลายการใช้งานไว้ค่อนข้างมาก เช่น การตัดเสียงรบกวนรอบข้างได้เป็นอย่างดี, การที่มีก้านไมโครโฟนทำให้ไมโครโฟนอยู่ใกล้ปาก สามารถใช้ Sensitivity ต่ำในการใช้ได้ และทำให้ไม่จำเป็นต้องพูดเสียงดัง ผู้ฟังก็ยังได้ยินเสียงที่ชัดเจนและเป็นธรรมชาติอยู่ระดับหนึ่ง เป็นต้น
ลองรับชมคลิปการทดสอบเสียงได้ดังนี้เลยครับ
จะเห็นได้ว่าเสียงจากพัดลมที่เปิดในระยะใกล้นั้นถึงแม้จะเข้ามาบ้าง แต่ในการประชุมที่ไม่ได้เปิดเสียงดังมากนักก็ยังถือว่าเป็นเสียงในระดับที่ไม่ได้รบกวนมากนัก ส่วนในการเปิดเพลงในระยะใกล้ 50-100 เซนติเมตรก็จะยังคงมีเสียงรบกวนเข้ามาได้อยู่ เนื่องจากการตัดเสียงของไมโครโฟนตัวนี้ไม่ได้ใช้ระบบ AI ตัดนั่นเอง ซึ่งในคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบันนี้ก็สามารถเปิดฟังก์ชันตัดเสียงรบกวนในส่วนนี้ออกไปได้อยู่แล้วครับ
จากการใช้งานจริงมาเป็นเวลาเดือนกว่าๆ พบว่า HyperX Cloud Core นี้ตอบโจทย์มากสำหรับคนที่ใช้คอมพิวเตอร์เครื่องเดียวทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว เพราะหูฟังและไมโครโฟนนี้สามารถใช้ได้ทั้งในการประชุมงาน การฟังเพลง การเล่นเกม ครบตลอดทั้ง 24 ชั่วโมงทั้งในและนอกเวลางาน แต่ด้วยความเป็น Over-Ear ที่มีน้ำหนักประมาณ 300 กรัมก็อาจไม่สามารถสวมใส่ต่อเนื่องนาน 4-8 ชั่วโมงได้ แต่ถ้าเป็นแค่การประชุมงานประมาณ 1-2 ชั่วโมงก็ใส่ได้สบายๆ ไม่มีปัญหาครับ
ในแง่ของความสุภาพในการใช้ในการทำงาน HyperX Cloud Core นี้จะมีโลโก้ของ HyperX สีแดงบนพื้นสีดำด้านข้างเท่านั้น ดังนั้นถ้าหากประชุมงานหน้าตรงเป็นหลัก ก็ถือว่ายังสุภาพใช้งานได้อยู่ไม่มีปัญหาอะไร หรือจะหันข้างเล็กน้อยโลโก้เองก็ยังดูดีสวยงาม ไม่ได้ดูเป็นของเล่นหรือดูไม่สุภาพครับ
แต่สำหรับคนที่ต้องเป็นวิทยากรในงานสัมมนาออนไลน์ หรือต้องการประชุมกับผู้บริหารระดับสูง ก็อาจพิจารณาไปใช้ HyperX SoloCast เป็นไมโครโฟน คู่กับหูฟังแบบ In-Ear แทน ก็จะทำให้รบกวนสายตาน้อยลงครับ
2. ทดลองใช้งาน HyperX SoloCast
สำหรับ HyperX SoloCast นี้ในการใช้งานแรกเริ่มก็ถือว่าง่ายมากๆ ครับเพียงแค่เสียบสาย USB เข้ากับพอร์ต USB-C บนตัวไมโครโฟน และเชื่อมสายอีกด้านซึ่งเป็น USB Type-A เข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพียงแค่นี้อุปกรณ์ก็พร้อมใช้งานได้แล้วครับ
จุดที่ต้องใช้เวลาเล็กน้อยคือการหาตำแหน่งติดตั้งวางบนโต๊ะทำงานให้สะดวก เนื่องจากตัวไมโครโฟนจะให้เสียงได้ดีที่สุดเมื่อหันหน้าเข้าหาต้นกำเนิดเสียงหรือบริเวณปากของผู้พูดนั่นเอง ซึ่งตัวอุปกรณ์ให้สาย USB ที่ค่อนข้างยาวมาอยู่แล้วจึงสามารถเลือกตำแหน่งบนโต๊ะได้ค่อนข้างอิสระ แต่การจัดการเรื่องระดับความสูงอาจจะยากเล็กน้อยถ้าไม่มีขาไมโครโฟนแยก
อย่างไรก็ดี ในการใช้งานแบบวางตั้งโต๊ะทั่วไปก็ยังถือว่าใช้ได้และให้เสียงที่มีคุณภาพดีพอสมควร โดยตัวขาตั้งที่แถมมาให้นี้ก็สามารถบิดได้ทั้งมุมเงย และบิดเอียงไมโครโฟนลงไปได้
ในแง่การใช้งาน HyperX SoloCast จะช่วยให้ภาพในกล้องเวลาประชุมดูสะอาดตามากขึ้น เพราะเราสามารถใส่เพียงแค่หูฟังซึ่งอาจจะมีสายหรือไร้สายแล้วใช้งานได้เลย โดยไมโครโฟนจาก HyperX SoloCast ก็ให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าไมโครโฟนที่มาคู่กับหูฟังหลายๆ รุ่นแล้ว และยังสามารถ Mute ไมโครโฟนได้ที่ตัวอุปกรณ์ พร้อมไฟสัญญาณที่สังเกตได้ด้วยว่าอุปกรณ์ทำงานอยู่หรือกำลังถูก Mute เสียงอยู่ โดยการ Mute/Unmute นี้จะใช้เพียงการสัมผัสเบาๆ เท่านั้น ทำให้ไม่เกิดเสียงกดปุ่มในการ Mute/Unmute แต่อย่างใด
จุดสังเกตหนึ่งที่เกิดขึ้นในการใช้งานจริงก็คือ หากบนโต๊ะที่ใช้วางไมโครโฟนด้วยขาตั้งที่แถมมานี้เกิดการสั่นสะเทือน เช่น การพิมพ์คีย์บอร์ด การคลิกเมาส์ หรือการวางของใดๆ ก็อาจมีเสียงของการสั่นสะเทือนนั้นถ่ายทอดผ่านโต๊ะขึ้นมายังขาตั้งได้ด้วย แต่ในการใช้งานจริงประเด็นนี้ก็อาจไม่ได้สำคัญมากนักสำหรับการประชุมงาน แต่หากเป็นการนำเสนอในฐานะของวิทยากร ก็แนะนำให้วางแยกโต๊ะ หรือหาวัสดุที่ช่วยลดการสั่นสะเทือนได้มาวางรองเป็นฐาน หรือใช้ขาตั้งไมโครแฟนแยกเลยก็ได้เช่นกัน
ลองรับชมคลิปการทดสอบเสียงได้ดังนี้เลยครับ
โดยรวมแล้วการใช้งาน HyperX SoloCast ก็ถือว่าเป็นไปได้ค่อนข้างดีทีเดียว และให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า HyperX Cloud Core อย่างชัดเจน ดังนั้นในการใช้งานจริงเราอาจจะเลือกใช้หูฟัง HyperX Cloud Core แต่ใช้ไมโครโฟนจาก HyperX SoloCast ก็ได้ หรือจะแยกกรณีการใช้งานไปเลยก็ได้ หรือจะนำอุปกรณ์ไปใช้กับคอมพิวเตอร์คนละเครื่องเลยก็ได้เช่นกัน
หากให้สรุปว่าอุปกรณ์ใดเหมาะกับการใช้งานในรูปแบบไหน ทางทีมงานก็ขอสรุปจากประสบการณ์การใช้งานจริงดังนี้ครับ
- HyperX Cloud Core เหมาะกับการประชุมงานภายในที่ไม่ทางการมากนัก และเหมาะกับผู้ที่มีที่พักอาศัยขนาดไม่ใหญ่ เสียงรบกวนเยอะ ไม่สามารถใช้เสียงดังได้ การใช้ HyperX Cloud Core ก็จะช่วยตัดเสียงแวดล้อมออกไปได้พอสมควรครับ
- HyperX SoloCast เหมาะกับงานที่ต้องการคุณภาพของเสียงดีๆ เช่น การบันทึกวิดีโอฝึกอบรม, การประชุมงานกับผู้บริหาร, การทำหน้าที่เป็นพิธีกรหรือวิทยากรในงานสัมมนาออนไลน์ โดยต้องเลือกหูฟังให้เหมาะกับแต่ละวาระครับ
สรุปข้อดีข้อเสีย
ข้อดี
1. เป็นชุดที่ให้มาทั้งหูฟังและไมโครโฟนที่ตอบโจทย์ได้แทบทุกการทำงาน สลับใช้ได้ตามวาระโอกาสที่เหมาะสม พร้อมใช้งานได้ทันที ติดตั้งใช้งานได้ง่ายมากๆ
2. ความสามารถในการตัดเสียงถือว่าทำได้ดีสำหรับ Hyper-X Cloud Core ในขณะที่ SoloCast ก็มีความสามารถตัดเสียงเบื้องต้นมาให้ใช้
3. สำหรับการประชุมงานทั่วไป Hyper-X Cloud Core ตอบโจทย์ได้ดีมากในแง่ของเสียง เพราะตัวหูฟังเองก็ป้องกันเสียงรบกวนจากรอบข้างได้ดีทำให้สามารถมีสมาธิกับการประชุมได้ ในขณะที่ไมโครโฟนเองก็ตัดเสียงรอบข้างในขณะพูดได้แทบทุกกรณี
4. สำหรับการนำเสนอผ่านระบบ Conference หรือการประชุมระดับผู้บริหาร Hyper-X SoloCast ก็สามารถใช้ร่วมกับหูฟังแบบ Earbuds อื่นๆ ได้ดี และควบคุมการเปิดปิดไมโครโฟนได้จากที่ตัวอุปกรณ์ ทำให้มีความคล่องตัวในการใช้งานสูงมาก
ข้อเสีย
1. Hyper-X Cloud Core อาจจะต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกปรับตัวหูฟังให้พอดีกับผู้สวมใส่อยู่บ้าง แต่ก็เป็นปกติของหูฟังแบบครอบอยู่แล้ว
2. Hyper-X SoloCast จะรองรับการเชื่อมต่อกับเครื่อง PC ผ่าน USB Type-A เป็นหลัก ดังนั้นหากใช้เครื่องรุ่นใหม่ๆ หรือเครื่องที่มีขนาดบาง ก็อาจต้องเชื่อมต่อผ่าน USB Hub หรือหัวแปลงก่อน
3. Hyper-X SoloCast ถ้าใช้พร้อมกับขาตั้งที่แถมมาให้ อาจต้องหาโต๊ะวางแยกหรือขาตั้งแยก เพื่อลดการสั่นสะเทือนระหว่างการใช้ Keyboard และ Mouse ในระหว่างประชุมเพิ่ม