[รีวิว] Dell OptiPlex 7090 Ultra: คอมพิวเตอร์ทำงานใน Form Factor ขนาดเล็ก ที่ติดตั้งได้ในขาตั้งจอ

Dell OptiPlex 7090 Ultra นี้เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ในตระกูล Commercial ของ Dell โดยรหัส 7000 ของเครื่องรุ่นนี้ก็ได้แสดงให้เห็นว่าเป็นเครื่องรุ่นบนๆ ในตระกูล OptiPlex แล้ว

Credit: Dell



แนวคิดการออกแบบของเครื่องนี้คือการออกแบบพื้นที่ทำงานให้มีความ Minimal โล่งสะอาดตามากที่สุด เปลี่ยนภาพลักษณ์จากเครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานที่มักจะเน้นเรื่องของฟังก์ชันเพียงอย่างเดียว มาให้ความสำคัญกับการออกแบบด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำงานที่มักต้องมีการพ่วงต่ออุปกรณ์ต่างๆ มากมาย ตัวเครื่อง Dell OptiPlex 7090 Ultra นี้จะต้องทำให้พื้นที่ทำงานนั้นโล่งว่างที่สุด ทำให้ Form Factor ของเครื่องนี้ถูกเรียกว่า Ultra โดยเป็นเครื่องขนาดเล็กที่ถูกติดตั้งอยู่ในขาตั้งจอ และเดินสายอยู่ภายในขาตั้งจอทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสะอาดตานั่นเอง

ถึงแม้จะมี Form Factor ที่แปลกไปและช่วยให้พื้นที่ทำงานมีความโล่งสะอาดตามากขึ้น แต่ตัวเครื่องก็ยังต้องมีประสิทธิภาพที่สูง รองรับการทำงานได้หลากหลาย เพื่อให้เป็นเครื่องสำหรับการทำงานในระดับธุรกิจองค์กรได้อย่างแท้จริง และเปิดให้ธุรกิจสามารถ Customize สเป็คของเครื่องได้อย่างอิสระ ให้รองรับได้หลาย Workload ในราคาที่เหมาะสมต่องาน

 

Credit: Dell

CPU ของเครื่องสามารถเลือกใช้ได้ทั้ง 11th Gen Intel Core i3/i5/i7 โดยหากใช้ i3 จะได้ GPU เป็น Intel UHD ส่วนถ้าใช้ i5/i7 จะได้ใช้ Intel Iris Xe ส่วน RAM นั้นก็สามารถใช้งานได้ตั้งแต่ 8GB – 64GB ในขณะที่ SSD ก็เลือกได้ตั้งแต่ขนาด 128GB – 2TB รวมถึงยังรองรับ HDD ได้ด้วย

สำหรับการเชื่อมต่อ ตัวเครื่องรองรับ Wi-Fi 6, Bluetooth 5.1 และ RJ-45 สำหรับเชื่อมต่อ LAN ก็เพียงพอสำหรับตอบโจทย์การทำงานในองค์กร ส่วน Interface อื่นๆ มีดังนี้

 

Credit: Dell

1. Combo Audio Jack | 2. Storage Activity Light | 3. USB 4™ Type-C® with DisplayPort Alt Mode/Thunderbolt™ 4.0 | 4. USB 3.2 Gen 2 Type-A port with PowerShare | 5. USB 3.2 Gen 2 Type-C port with Power Delivery and DisplayPort 1.4 Alt mode | 6. DC-in | 7. RJ-45 | 8. Dual stack USB 3.2 Gen 2 Type-A ports w/ Smart Power On | 9. DisplayPort++ 1.4 port | 10. K-Lock slot | 11. Security screw slot

จุดที่ต่างจากเครื่องใน Form Factor อื่นๆ ก็คือ เราสามารถเลือก Mount ให้กับ Dell OptiPlex 7090 Ultra เพื่อรองรับการใช้งาน Monitor ได้ด้วยกัน 3 แบบ ได้แก่

Credit: Dell


• OptiPlex Ultra Large Height Adjustable Stand สำหรับจอที่มีน้ำหนัก 5.7kg – 10.5kg
• OptiPlex Ultra Height Adjustable Stand สำหรับจอที่มีน้ำหนัก 2.2kg – 5.7kg
• OptiPlex Ultra Offset VESA Mount สำหรับติดตั้งใช้งานกับ Dell Monitor E Series หรือ Dell Single Monitor Arm

โดยรวมแล้วก็ถือว่าเป็นอีกเครื่องที่น่าสนใจไม่น้อย โดยผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถศึกษาข้อมูลได้ที่ https://www.dell.com/en-us/work/shop/desktops-all-in-one-pcs/optiplex-7090-ultra-desktop/spd/optiplex-7090-ultra ครับ

พร้อมรองรับการใช้งาน Windows 11 ได้ ทั้งผ่านการอัปเกรดและการสั่งติดตั้งจากโรงงาน

ทาง Dell ระบุว่าเครื่อง Dell OptiPlex 7090 Ultra นี้สามารถรองรับการใช้งาน Windows 11 ได้อย่างเต็มตัวแล้ว โดยสำหรับ Commercial PC หรือ Notebook นั้นจะสามารถเลือกใช้งาน Windows 11 ได้ด้วยกัน 3 รูปแบบ ได้แก่

  1. การสั่งให้ติดตั้ง Windows 11 มาให้พร้อมใช้จากโรงงานสำหรับเครื่องใหม่
  2. การอัปเดต Windows 10 ไปสู่ Windows 11 ผ่าน Windows Update หรือ Microsoft Endpoint Manager Intune
  3. การโหลด ISO จาก Volume Licensing Service Center

จุดเด่นที่ทำให้ธุรกิจองค์กรควรเริ่มต้นใช้ Windows 11 นี้ ก็คือการปรับปรุง User Experience (UX) ครั้งใหญ่ที่จะช่วยให้การทำงานเป็นไปได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น, รองรับการใช้งาน Microsoft Teams ได้ดียิ่งขึ้น, ความมั่นคงปลอดภัยด้วยแนวคิด Zero-trust Ready OS และการรองรับ Application เดิมที่เคยใช้ทำงานใน Windows 10 ได้ทั้งบนเครื่องและบน Cloud นั่นเอง

 

แกะกล่อง ลองใช้งานของจริง

สำหรับกล่องของ Dell OptiPlex 7090 Ultra นี้จะมีขนาดใหญ่ไม่แพ้เครื่อง Desktop อื่นๆ เลยทั้งๆ ที่ตัวเครื่องจริงๆ ก็มีขนาดไม่ใหญ่ เพราะในกล่องนั้นจะมาพร้อมกับขาตั้งจอด้วย แต่จะไม่ได้มีในส่วนของ Monitori, Mouse, Keyboard มาให้

ถึงแม้ว่าจะมีส่วนประกอบค่อนข้างเยอะ แต่การประกอบเครื่องสำหรับทดลองใช้งานครั้งนี้ก็เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องเปิดคู่มือแต่อย่างใด เพราะด้านหลังของขาตั้งจอมีภาพแสดงขั้นตอนการประกอบเครื่องง่ายๆ ใน 4 ขั้นตอนมาให้ เพียงแค่ทำตามก็ประกอบได้เลยครับ

สำหรับตัวเครื่องนั้นจะมีขนาดค่อนข้างเล็กและแบน มีพอร์ตต่างๆ ถูกจัดเรียงเอาไว้เป็นระเบียบที่ด้านล่างและด้านข้างของเครื่อง ในขณะที่ด้านบนและอีกข้างที่เหลือนั้นจะเป็นช่องสำหรับระบายความร้อนเป็นหลัก

ในการประกอบตัวเครื่องเข้ากับเฟรมนั้นสามารถทำได้ง่ายๆ และหากประกอบผิดพลาดก็ถอดออกมาแก้ไขได้ไม่ยาก โดยในตัวเฟรมนั้นจะมีขาล็อคสายต่างๆ เอาไว้ให้ด้วย ดังนั้นเวลาเราเชื่อมต่อสายไฟหรือพอร์ตต่างๆ อย่างเช่น USB, LAN, DisplayPort ก็สามารถล็อคสายไว้กับขาพวกนี้ให้วิ่งคู่ขนานกันไปได้อย่างสวยงาม

แน่นอนว่าตัวเฟรมนั้นก็มีช่องสำหรับเปิดให้พอร์ตด้านข้างตัวเครื่องนั้นถูกเชื่อมต่อใช้งานได้อย่างง่ายดาย และเมื่อประกอบเข้าไปกับขาตั้งจอ เสียบสายจอ ก็สามารถเปิดเครื่องใช้งานได้เลยที่ปุ่มเปิดด้านบนของขาตั้งจอ

เมื่อเปิดเครื่องใช้งานแล้วก็พบว่าทำงานได้รวดเร็วดีจากสเป็คเครื่องที่ให้ทั้ง CPU, RAM, SSD มาเพียงพอ เมื่อต่อ Wi-Fi และทำการอัปเดตก็พบว่า CPU ขึ้นสูงบ้างเป็นบางจังหวะ แต่โดยรวมตัวเครื่องก็ทำงานได้เงียบเชียบดี ไม่ได้ยินเสียงพัดลมระบายความร้อนเลยถ้าไม่เอาหูไปฟังใกล้ๆ

สเป็คของเครื่องที่ได้มาทดสอบมีดังนี้

  • OS: Windows 10 Pro
  • CPU: 11th Gen Intel Core i5-1145G7 4 Cores/8 Threads @2.60GHz
  • RAM: 8GB
  • SSD: 256GB
  • Network: Wi-Fi 6, Bluetooth 5.1, RJ-45

ในแง่ประสิทธิภาพ ตัวเครื่องสามารถรับชมคลิปความละเอียด 4K ได้สบายๆ โดยยังคงเหลือทั้ง CPU และ GPU เอาไปใช้ทำงานอย่างอื่นควบคู่ไปได้ด้วย ดังนั้นในการทำงานทั่วๆ ไปก็สามารถทำงานแบบ Multitasking ได้อย่างไม่ต้องกังวล

ส่วนงานทางด้านวิศวกรรมนั้น เราได้ทำการทดสอบการเปิดไฟล์งานออกแบบ 2D ด้วย Autodesk DWG TrueView 2022 เพื่อเปิดไฟล์เขียนแบบนามสกุล .dwg มาแสดงผล ก็พบว่าในจังหวะที่เปิดไฟล์มาใช้งานช่วงแรกนั้น CPU วิ่งขึ้นถึง 100% แต่หลังจากนั้นก็สามารถพลิกหมุนมุมต่างๆ ของแบบได้โดย CPU ไม่ได้ขึ้นสูงมากนัก

ส่วนงาน 3D ทางเราได้ทดสอบด้วยการใช้ SOLIDWORKS eDrawings Viewer เปิดไฟล์ออกแบบเครื่องจักรมาแสดง ก็พบว่างานนี้จะใช้ CPU ควบคู่กับ GPU ไปด้วยกัน แต่จะเน้นหนักไปทาง GPU มากกว่า ซึ่ง Intel Iris Xe ในเครื่องนี้ก็สามารถรองรับการพลิกหมุนดูแบบในมุมต่างๆ ได้ แต่จังหวะที่มีการ Render นั้น GPU ก็จะวิ่งไปจน 100% เป็นช่วงๆ ไป โดยภาพที่แสดงก็ไม่ได้มีอาการกระตุกแต่อย่างใด และยังคงใช้เครื่องทำงานอื่นควบคู่ไปได้อยู่

การทดสอบเหล่านี้ทำให้เรามั่นใจได้ว่า Dell OptiPlex 7090 Ultra นี้สามารถใช้งานทั่วไปได้สบายๆ และยังใช้ในการออกแบบเชิงวิศวกรรมเบื้องต้นอย่างเช่นการตรวจสอบแบบได้

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ Dell Optimizer ที่เป็น Software รวมความสามารถด้าน AI ในเครื่อง Dell เอาไว้ ก็มีความสามารถที่โดดเด่น เช่น

  • การกำหนดให้ Dell Optimizer เรียนรู้พฤติกรรมของ Application ที่เราใช้งานเป็นประจำเพื่อให้ทำการ Optimize ระบบให้เหมาะสมได้
  • การปรับแต่งระบบเสียงให้เหมาะกับการใช้งาน ทั้งไมโครโฟน และหูฟัง โดยระบบ 3D Audio นั้นก็ทำให้ประสบการณ์การใช้หูฟังแบบ On Ear เปลี่ยนไป เสียงดูมีมิติน่าสนใจมากขึ้น
  • การปรับการเชื่อมต่อ Network ให้กัน Bandwidth เอาไว้สำหรับประชุมงานโดยเฉพาะเพื่อให้มีประสบการณ์ที่ดีในการสื่อกสารทำงานออนไลน์ และกำหนดกลุ่มของ SSID ที่ต้องการให้ระบบทำการสลับการเชื่อมต่อไปยัง SSID ที่เหมาะสมให้โดยอัตโนมัติตามประสิทธิภาพการใช้งาน

ทดสอบใช้ Windows 11

สุดท้าย ในการทดสอบคุณสมบัติในการอัปเกรดเครื่องไปใช้ Windows 11 เครื่อง Dell OptiPlex 7090 Ultra นี้ก็ผ่านคุณสมบัติได้ครบถ้วน พร้อมอัปเกรดได้ทันทีที่พร้อมใช้งาน

สำหรับขั้นตอนการอัปเกรดไปใช้ Windows 11 นั้นก็ราบรื่นดีไม่มีปัญหาอะไร สามารถอัปเดต Patch ต่างๆ ของ Windows ได้อย่างต่อเนื่อง โดยจุดเด่นที่เห็นถึงความแตกต่างชัดเจนในการใช้งาน Windows 11 นั้นมีดังนี้

  1. การติดตั้งใช้งานที่เป็นไปได้อย่างง่ายดาย เดิมที Windows 10 นั้นก็ถือว่าติดตั้งได้ง่ายมากอยู่แล้ว แต่ Windows 11 ยังปรับเรื่องความง่ายเหล่านี้ให้มากยิ่งขึ้นไปอีก
  2. การปรับ User Experience ของผู้ใช้งานครั้งใหญ่ ให้มีสัมผัสถึงความทันสมัยมากขึ้น รองรับการใช้งานในแบบ Mobile ได้ดีขึ้น แต่ในมุมของผู้ใช้งานก็ต้องปรับความคุ้นชินกันอยู่พอสมควร
  3. การปรับตำแหน่งของเมนูและการตั้งค่าต่างๆ ที่ช่วยให้การใช้งานง่ายขึ้น ให้ความรู้สึกสมัยที่ Windows 10 เริ่มเปิดตัวมาใหม่ๆ ที่ทุกอย่างดูง่ายขึ้นจริงๆ แต่ก็ต้องใช้เวลาเรียนรู้
  4. การรองรับแอปพลิเคชันใน Microsoft Office ให้ใช้งานใน Windows 11 โดยตรงได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะ Microsoft Teams ที่ถ้าหาก Login เอาไว้อยู่แล้วก็สามารถใช้ประชุมงานได้อย่างง่ายดาย

โดยรวมแล้วการใช้งาน Windows 11 บน Dell OptiPlex 7090 Ultra ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีทีเดียว ทั้งด้วยตัว Hardware ที่รองรับการอัปเกรดได้อย่างราบรื่น ไปจนถึงการใช้งานที่ใช้งานได้ดี นับเป็นครั้งแรกๆ ของการใช้งานเครื่อง Commercial PC ด้วย Windows 11 ที่เคยทดสอบมาเลยก็ว่าได้ครับ

โดยสรุปแล้ว Dell OptiPlex 7090 Ultra นี้ถือเป็นเครื่องที่ออกแบบ Form Factor มาได้อย่างน่าสนใจ เน้นความ Minimal ด้วยการซ่อนทุกอย่างเอาไว้ในขาตั้งจอ แต่ยังคงมีความ Modular ถอดออกมาปรับแต่งแก้ไขได้ง่ายอยู่ ส่วนสเป็คเครื่องก็สามารถเลือกอัปเกรดได้หลากหลายให้เหมาะสมกับ Workload ที่ต้องการ ซึ่งรองรับงานออฟฟิศและงานทั่วๆ ไปได้อย่างสบายๆ แต่สำหรับงานที่เน้นกราฟฟิกและการออกแบบเชิงวิศวกรรมนั้นก็จะรองรับได้ถึงระดับของการเปิดไฟล์มาตรวจสอบแก้ไขเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็คงไม่ใช่เครื่องหลักสำหรับงานออกแบบหนักๆ ได้ เพราะการ์ดจอที่แรงที่สุดที่ใส่ได้ในเครื่องนี้คือ Intel Iris Xe เท่านั้น

สรุปข้อดีข้อเสีย

ข้อดี

  • ตัวเครื่องติดตั้งในขาตั้งจอโดยตรง เก็บสายได้ค่อนข้างดี ทำให้โต๊ะทำงานโล่งสะอาดมาก
  • สเป็คเครื่องเลือกได้หลายระดับตั้งแต่เบาจนถึงแรง อัปเกรด RAM และ SSD ได้หลายระดับตามต้องการ
  • ตัวเครื่องทำงานเงียบมาก แม้จะอยู่หลังจอแต่ก็ไม่ได้ยินเสียงตอนทำงานเลยแม้จะใช้ CPU หรือ GPU ถึง 100% ก็ตาม
  • มี Intel Iris Xe มาให้ใช้ รองรับงาน 3D เบื้องต้นได้ในตัว
  • AI ใน Dell Optimizer มีตัวเลือกที่มีประโยชน์ในการใช้งานจริงให้เลือกปรับได้
  • ตัว Mount จอแข็งแรงทนทาน ปรับมุมการใช้งานได้ยืดหยุ่นตามสไตล์จอทำงานของ Dell
  • รองรับการใช้งาน Windows 11 ได้แล้ว

ข้อเสีย

  • ต้องวางแผนในการติดตั้งให้ดีโดยเฉพาะการเดินสายต่างๆ ที่จะเสียบตรงไปยังตัวเครื่องในขาตั้งจอ เพราะถ้าต้องถอดออกมาทีหลังจะลำบากเล็กน้อยจากสายที่เสียบอยู่ก่อนหน้า
  • เครื่องรุ่นนี้ไม่ได้แถมจอ, คีย์บอร์ด, เมาส์มาให้
  • ตัวเครื่องกับขาตั้งโดยรวมมีน้ำหนักค่อนข้างมาก ตอนติดตั้งต้องมั่นใจว่าติดตั้งให้แข็งแรง
  • ปุ่มเปิดอยู่ด้านบนของขาตั้งจอ ดังนั้นถ้าใช้จอห่างจากตัวก็อาจจะต้องเอื้อมไปเปิดไกลเล็กน้อย
  • พอร์ต Audio และ USB ที่อยู่ด้านข้างของขาตั้งจออยู่ค่อนข้างไกล ใช้งานจริงลำบากเล็กน้อย แต่จอ Dell ส่วนใหญ่ก็มีช่องเสียบพอร์ตพวกนี้ให้อยู่แล้วก็เลยเสียบที่จอแทนได้

สนใจติดต่อ Dell Technologies ได้ทันที

ผู้ที่สนใจ Dell Latitude หรืออุปกรณ์ PC, Laptop รุ่นอื่นๆ สำหรับทำงาน สามารถติดต่อทีมงาน Dell Technologies ได้ทันทีที่อีเมล DellTechnologies@kkudos.com หรือโทร 090-949-0823 (วศิน)

About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

CoreWeave พร้อมขยายธุรกิจด้วยวงเงินสินเชื่อ 650 ล้านดอลลาร์

CoreWeave ผู้ให้บริการคลาวด์สำหรับการประมวลผล AI ได้รับวงเงินสินเชื่อ 650 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากบริษัทการลงทุนชั้นนำเพื่อขยายธุรกิจทั่วโลกและเพิ่มขีดความสามารถในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ AI

รู้จักกับโซลูชัน AlgoSec ผู้เชี่ยวชาญด้าน Network Security Policy Management โดย GrowPro และ Perion Solution

หากคุณกำลังเผชิญกับความยุ่งยากจาก Firewall Policy นับพันรายการ หรือนโยบายการใช้โซลูชันป้องกันหลายแบรนด์ ซึ่งทำให้เวลาส่วนใหญ่จมกับกับการบริหารจัดการ แถมเกิดความผิดพลาดได้บ่อยครั้ง โซลูชัน Network Security Policy Management อาจเป็นคำตอบสำหรับคุณ