HPE ได้ออกมาเผยถึงความสำเร็จเป็นครั้งที่ 3 ในการส่ง Server ที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานในอวกาศโดยเฉพาะอย่าง Spaceborne Computer ซึ่งรองรับการทำ AI และ High Performance Computing (HPC) ได้โดยตรงบนสถานีอวกาศ
ในโครงการดังกล่าว ทาง HPE ได้ทำการส่ง Server ไปกับยานอวกาศ Cygnus ของ Northrop Grumman Corp. ภายใต้ความร่วมมือกับ NASA และ ISS National Lab เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2024 ที่ผ่านมา
ทาง HPE ได้ร่วมมือกับ Kioxia เพื่อผลิต Hardware สำหรับการใช้งานในอวกาศโดยเฉพาะสำหรับโครงการนี้ โดยระบบ Edge Computing ที่มีชื่อว่า HPE Spaceborne Computer-2 ถูกส่งขึ้นไปนั้นมีความสามารถในการประมวลผลหลาย Teraflop และมีพื้นที่จัดเก็บข้อมูลกว่า 130TB เลยทีเดียว ซึ่งถือเป็นพื้นที่จัดเก็บข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยส่งขึ้นไปยังอวกาศ เพื่อรองรับงานประมวลผลทางวิทยาศาสตร์ในแบบ Real-Time
ภายในโซลูชัน HPE Spaceborne Computer-2 ดังกล่าวนี้ประกอบไปด้วยการประยุกต์ผสมผสานกันระหว่าง HPE Edgeline Converged System, HPE ProLiant System, HPE HPC Solutions และ HPE Serviceguard for Linux
Spaceborne Computer นี้ถือเป็นการทดลองของ HPE ว่าในสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายอย่างในอวกาศนั้น ทาง HPE จะสามารถผลักดันเทคโนโลยีการประมวลผลไปได้มากถึงขีดสุดเพียงใด โดยก่อนหน้านี้ทาง HPE ได้เคยมีการส่งเครื่อง Server ขึ้นอวกาศไปแล้ว 2 ครั้งในปี 2017 และปี 2021
ความท้าทายของโครงการนี้ไม่ได้มีเพียงแค่การออกแบบ Hardware ให้ทนทานต่อการเดินทางสู่อวกาศและทำงานในอวกาศได้เท่านั้น แต่ระบบจะต้องมีความมั่นคงทนทานที่สูงเพื่อให้การทำงานนั้นยังคงมีความแม่นยำ แม้จะมีการรบกวนจากสัญญาณหรือคลื่นต่างๆ ในอวกาศที่ไม่พบเจอบนโลกก็ตาม
ความสำเร็จนี้ทำให้ทาง ISS National Lab มีทางเลือกในการประมวลผลข้อมูลใหม่ๆ โดยไม่ต้องส่งข้อมูลกลับมายังโลกก่อนอย่างในอดีต และจะเป็นแนวทางในการเร่งการค้นพบใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงยังอาจเป็นก้าวแรกของการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการรับส่งข้อมูลจากดาวเทียมสำหรับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมด้วย
ที่มา: https://siliconangle.com/2024/02/06/hpe-launches-third-spaceborne-computer-hpespaceborne/