Gartner ได้ออกมาสรุปถึงเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ด้วยกัน 10 เทคโนโลยีที่จะสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างแก่อุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลกในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งทางทีมงาน TechTalkThai ก็ขอสรุปเอาไว้ดังนี้ครับ
1. ระบบรักษาความปลอดภัยสำหรับ IoT (IoT Security)
แง่มุมใหม่ๆ ในการโจมตีอุปกรณ์ IoT นั้นเกิดขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีในเชิงข้อมูลหรือตัวอุปกรณ์จริงๆ โดยตรงก็ตาม ซึ่งรวมถึงการปลอมแปลงตัวตนเป็นอุปกรณ์, การทำ DoS เพื่อทำให้แหล่งพลังงานหมดลง รวมถึงระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์ IoT ที่ไม่สามารถรักษาความปลอดภัยแบบซับซ้อนได้
เทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัยสำหรับ IoT จึงเป็นสิ่งที่ต้องคิดใหม่กันอีกเยอะพอสมควรทีเดียว
2. ระบบวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับ IoT (IoT Analytics)
ข้อมูลจำนวนมหาศาลที่จะมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นแต่ก่อนกำลังจะเกิดขึ้นจากการมาของ IoT ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมลูกค้า, การนำเสนอบริการใหม่ๆ, การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ และอื่นๆ อีกมากมายเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นเครื่องมือและอัลกอริธึมใหม่ๆ ในการประมวลผลจึงต้องเกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ใหม่ๆ เหล่านี้ และข้อมูลที่มีการเพิ่มเติมขึ้นมาให้ได้
3. ระบบบริหารจัดการอุปกรณ์ IoT
การตรวจสอบการทำงานและการบริหารจัดการอุปกรณ์ IoT ที่รวมถึงการจัดการ Firmware, การอัพเดต Software, การวิเคราะห์ปัญหา และการจัดการด้านความปลอดภัยนั้นจะเป็นปัญหาอีกระดับที่ทุกๆ องค์กรที่ใช้ IoT ต้องเจอ และสิ่งที่จะทำให้ปัญหานี้กลายเป็นเรื่องยากก็คือจำนวนและความหลากหลายของอุปกรณ์ IoT นั่นเอง
4. ระบบเครือข่ายพลังงานต่ำระยะสั้น
ด้วยการติดต่อสื่อสารจำนวนมหาศาลที่จะเกิดขึ้นจาก Sensor และอุปกรณ์ IoT ต่างๆ นั้น การเชื่อมต่อระยะใกล้ที่ใช้พลังงานต่ำก็เป็นเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการใช้งาน IoT ภายในอาคารให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. ระบบเครือข่าย WAN พลังงานต่ำ
เทคโนโลยีเครือข่าย Cellular นั้นยังไม่สามารถตอบโจทย์ของการเชื่อมต่อ IoT ในระยะไกลได้ดีทั้งในแง่ของพลังงานและค่าใช้จ่าย เทคโนโลยีใหม่จึงจำเป็นต้องเกิดขึ้นมาเพื่อให้การเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ระยะไกลเป็นจริงขึ้นมาได้ด้วยค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่าเหมาะสม
6. อุปกรณ์ประมวลผลสำหรับ IoT (IoT Processor)
อุปกรณ์ประมวลผลสำหรับ IoT นั้นจะต้องรองรับต่อการรักษาความปลอดภัย, การเข้ารหัส, ใช้พลังงานต่ำ และรองรับการทำงานอื่นๆ ของระบบปฏิบัติการและการอัพเดตต่างๆ ที่จำเป็นได้อย่างครบถ้วน ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์ที่ยากและต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหากันต่อไป
7. ระบบปฏิบัติการสำหรับ IoT
ระบบปฏิบัติการที่กินพลังงานต่ำ, ทำงานได้อย่างปลอดภัย, ใช้ทรัพยากรการประมวลผลน้อย และใช้หน่วยความจำน้อย จะเป็นสิ่งที่จำเป็นต่ออุปกรณ์ IoT ต่อไปอีกยาวนาน และการพัฒนาต่อยอดให้รองรับฟีเจอร์ใหม่ๆ ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน
8. เทคโนโลยีการประมวลผล Event Stream
สำหรับระบบ IoT ที่มีการสร้างและส่งข้อมูลแบบ Real-time นั้น การจัดการข้อมูลทั้งหมดแบบ Real-time นี้ต้องอาศัยหลายปัจจัยในการประมวลผลให้มีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือแนวคิดของการทำ Distributed Stream Computing Platforms (DSCPs) ที่ใช้สถาปัตยกรรมแบบ Parallel เพื่อประมวลผลข้อมูล Stream จำนวนมากเพื่อทำ Real-time Analytics หรือ Pattern Identification ได้
9. IoT Platforms
Platform ที่รวมเอาสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นต่อการทำ IoT เอาไว้ภายในระบบเดียวนี้จะถูกแบ่งออกเป็นสามกลุ่มย่อย ได้แก่ 1) ระบบควบคุมการติดต่อสื่อสารและการทำงานในระดับ Hardware ของ IoT, 2) ระบบรวบรวมและบริหารจัดการข้อมูลจาก IoT, 3) ระบบพัฒนา Application เพื่อรับข้อมูลมาวิเคราะห์และแสดงผล ซึ่งทั้ง 3 Platform นี้ต่างก็จำเป็นเพื่อผลักดันให้การนำ IoT ไปใช้ในระดับองค์กรหรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ IoT ใหม่ๆ เป็นไปได้ง่ายดายยิ่งขึ้น
10. มาตรฐานสำหรับ IoT และระบบนิเวศน์สำหรับระบบ IoT
มาตรฐานและ API จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับ IoT ในการทำให้ระบบ IoT จากหลายๆ ผู้ผลิตทำงานร่วมกันได้ ในขณะที่ระบบนิเวศน์สำหรับ IoT เช่นตลาดต่างๆ นั้นก็จะทำให้วงการ IoT เติบโตต่อไปได้อย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั่นเอง