เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ถือว่าเป็นเดือนแห่ง Gartner จริงๆเลยครับ ขยันออก Magic Quadrant กันเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็น Web Application Firewall, SIEM ตอนนี้ก็เป็น Wired and Wireless Network อีก (แอบบอกนะครับ MQ ฉบับหน้าที่จะเอามาลง คือ Secure Web Gateway ครับ) สำหรับ MQ ทางด้านนี้เอง ก็เป็นไปตามคาดนะครับ Leader ยังคงตกเป็นของ 3 ยี่ห้อดังอย่าง Cisco, Aruba และ HP เหมือนปี 2013
รายงานฉบับเต็ม สามารถเข้าไปดูผ่านช่องทางของ Aruba ได้ที่ http://page.arubanetworks.com/2014-Gartner-MQ-Wired_Wireless.html
คำนิยามของ Wired and Wireless LAN Access Infrastructure
ตลาด Access Layer ประกอบด้วย Vendor ที่จัดหาอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ และซอฟแวร์ ทั้งแบบใช้สาย (Wired) และไร้สาย (WLAN) เพื่อให้บริการการเชื่อมต่อจากระบบเครือข่ายขององค์กร ไปยังอุปกรณ์ของผู้ใช้งาน ซึ่งประกอบด้วย 3 ประเภท คือ
- Vendor ที่ให้บริการการเชื่อมต่อทั้งแบบ Wired และ Wireless เช่น Cisco, HP Networking, Avaya, Adtran, D-Link, Extreme Networks และ Huawei
- Vendor ที่โฟกัสเฉพาะการเชื่อมต่อแบบเดียว เช่น Wireless ได้แก่ Motorola Solutions, Aruba Networks และ Aerohive
- Vendor ที่ OEM ยี่ห้ออื่น เช่น Dell, Juniper และ Alcatel-Lucent
ปัจจุบันนี้ตลาด Access Layer มีการพัฒนาไปมาก หลายองค์กรต้องการโครงสร้างระบบแบบหนึ่งเดียวทั้ง Wired และ Wireless ที่มีระบบบริหารจัดการร่วมกัน, มีโซลูชันการควบคุมการเข้าถึง (Access Control), มีโซลูชันสำหรับผู้มาใช้งานชั่วคราว (Guest) รวมทั้งต้องมีโซลูชันในการกำหนดนโยบายความปลอดภัยเพียงหนึ่งเดียวที่สามารถออกแบบและติดตั้งทั้งในรูปของ Public Cloud, Private Cloud หรือใน Campus ได้ ซึ่งโครงสร้างระบบเครือข่ายรูปแบบนี้ จะช่วยลดราคาค่าใช้จ่าย, ค่าบำรุงรักษา, ปัญหาระหว่างอุปกรณ์หรือโซลูชัน รวมทั้งการตีกันของแต่ละผลิตภัณฑ์ลงได้อย่างมหาศาล
ความเปลี่ยนแปลงในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
ตลาด Access Layer มีการพัฒนาไปเรื่อยๆ เช่น ในส่วนของ WLAN ก็มีการประกาศใช้มาตรฐาน 802.11ac และมีการเพิ่มประสิทธิภาพของแอพพลิเคชันให้ดียิ่งขึ้น ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงของระบบ Wired กลับไม่ค่อยมีอะไรมากนัก นอกจากนี้ Vendor หลายเจ้าเริ่มหันมาโฟกัสตลาด SMBs ในส่วนของโซลูชัน Wireless มากยิ่งขึ้น มีการนำฟีเจอร์และเทคโนโลยีในระดับองค์กรลงมาใช้กับตลาด SMBs หลายอย่าง เช่น Guest Access, Policy Management, Onboarding และ Network Management
ฟังก์ชันเกี่ยวกับการระบุตำแหน่งของระบบ WLAN เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเช่นกัน หลาย Vendor เริ่มนำมันเข้ามาใช้งานกับพวกร้านค้า, ห้างสรรพสินค้า และโรงพยาบาล รวมทั้งนำเสนอแอพพลิเคชันสำหรับวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งานของผู้ใช้ในระบบเครือข่าย เพื่อนำไปต่อยอดโซลูชันที่เป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ใช้งาน และทำให้ผู้ใช้พึงพอใจมากที่สุด
สิ่งจำเป็นสำหรับระบบ Wired และ Wireless Access Layer
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แบนวิธด์ในการใช้งานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตั้งแต่เริ่มมีการนำนโยบาย BYOD เข้ามาใช้ ในขณะที่ความต้องการแบนวิธด์ของแต่ละคนยังเท่าเดิม เหล่านี้ส่งผลให้ Vendor จำเป็นต้องใช้บริการ 2 สิ่ง คือ โซลูชันการเชื่อมต่อที่ไม่ใช่แค่ 802.11n แต่ต้องมี 802.11ac ด้วย และโซลูชันสำหรับ BYOD ในการบริหารจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่อนุญาตให้ใช้ในเชิงธุรกิจ
สำหรับสิ่งจำเป็นที่ผู้ดูแลระบบเครือข่ายต้องการทั้งหมด ประกอบด้วย
- การควบคุมการเข้าถึงเครือข่ายและแอพพลิเคชันตามผู้ใช้ หรือบริบทรอบตัว เช่น ตำแหน่ง, โปรไฟล์ของอุปกรณ์ ซึ่งมีประโยชน์มากสำหรับ BYOD
- การบริหารจัดการระบบเครือข่ายแบบรวมศูนย์ ทั้ง Wired และ Wireless โดยไม่ขึ้นกับ Vendor
- บริการ Onboarding เช่น การพิสูจน์ตัวตนอุปกรณ์, การกำหนดสิทธิ์สำหรับ BYOD เป็นต้น
- แอพพลิเคชันสำหรับวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งานของผู้ใช้
- ฟีเจอร์สำหรับแอพพลิเคชันจำพวก Voice และ Video เช่น ลดความหน่วง, เพิ่มคุณภาพเสียงและภาพ เป็นต้น
- บริการเสริมตามตำแหน่งหรือพิกัดการใช้งาน
สรุปตำแหน่งและจุดเด่นของแต่ละผลิตภัณฑ์
* เกี่ยวกับ Magic Quadrant: แกน X แสดงถึงวิสัยทัศน์ของ Vendor ว่าผลิตภัณฑ์ของตนตอบโจทย์ลูกค้า และความคาดหวังในอนาคตมากน้อยแค่ไหน และแกน Y แสดงถึงส่วนแบ่งทางการตลาด (ดูรายละเอียดเกี่ยวกับ Magic Quadrant ของ Gartner)
ทางทีมงาน TechTalkThai ขอนำเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่อยู่ใน Leaders Quadrant มาสรุปให้ฟังนะครับ
Cisco
ยังคงรั้งตำแหน่งอันดับ 1 มาอย่างยาวนาน ถือว่าเป็น Vendor เจ้าใหญ่ที่สุด และมีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด ทั้งในส่วนของระบบ Wired และ WLAN ซึ่ง Cisco มีโซลูชันที่ตอบโจทย์ด้านนี้ครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น Core Network Service Application, Security and Policy Enforcement สำหรับทั้งระบบ Wired และ WLAN นอกจากนี้ยังมีระบบ CMX (Connected Mobile Experiences) ที่ให้บริการเสริมตามตำแหน่งหรือพิกัดการใช้งานอันดับหนึ่งอีกด้วย
จุดแข็งของ Cisco เหนือยี่ห้ออื่น คือ สโลแกน “One Policy, One Management, One Network” ที่รวมระบบ Wired และ WLAN เป็นหนึ่งเดียวกัน, การระบุตำแหน่งของอุปกรณ์ที่แม่นยำสูง, มีโซลูชัน Meraki สำหรับกลุ่มลูกค้าขนาดกลางที่ต้องการใช้โซลูชัน WLAN แบบ Cloud-based เป็นต้น ทั้งนี้ Gartner ได้แจ้งเตือนลูกค้าถึงโครงสร้างระบบของ Cisco ที่มีมากถึง 4 แบบ (ISE, Controller-based, Meraki และโซลูชัน SMB) ซึ่งแยกกันพัฒนา, แยกกันบริหารจัดการ, รวมทั้งมีหน้าจอสำหรับบริหารจัดการแตกต่างกัน และยังไม่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์
Aruba
Aruba ปีนี้มาเป็นอันดับ 2 เป็นบริษัทที่โฟกัสระบบ Wireless LAN เป็นหลัก คิดเป็นรายได้มากกว่า 85% ของโซลูชันทั้งหมด อุปกรณ์ของ Aruba สามารถทำงานได้ทั้งแบบใช้ Controller และไม่ใช้ Controller (Aruba Instant) ซึ่งบริหารจัดการผ่านทาง Aruba Central ระบบจัดการแบบ Saas-based แบบใหม่ หรือผ่านทางซอฟต์แวร์บริหารจัดการเครือข่าย AirWave ก็ได้เช่นกัน สำหรับการใช้บริการด้านเครือข่าย Aruba นำเสนอซอฟต์แวร์ ClearPass ซึ่งให้บริการ Guest Access, Device Profiling, Onboarding และอื่นๆ นอกจากนี้ Aruba ยังนำเสนอ AP แบบ 802.11ac ใหม่ รวมทั้งเพิ่มฟีเจอร์บนซอฟต์แวร์เพื่อปรับปรุงระบบ WLAN ให้ดียิ่งขึ้นตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา สำหรับองค์กรที่ต้องการติดตั้งระบบ WLAN นั้น Aruba ถือว่าเป็นตัวเลือกแรกที่ควรนึกถึง
จุดเด่นของ Aruba ประกอบด้วย ระบบ ClearPass สำหรับการทำ Guest Access และ Onboarding ที่ลูกค้าให้การตอบรับเป็นอย่างดี, โครงสร้างสถาปัตยกรรมที่ง่ายและยืดหยุ่นในการติดตั้งและขยายในอนาคต, เทคโนโลยี ClientMatch ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการ Roaming, ระบบความปลอดภัยที่แข็งแกร่ง เช่น IPS, Mobility Firewall และโซลูชัน AirWave และ ClearPass ที่รองรับการทำงานร่วมกับผลิตภัณฑ์ยี่ห้ออื่นๆ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของระบบ Wired นั้น ถึงแม้ว่าจะตอบโจทย์การใช้งานได้ แต่ยังขาดการสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จัก และ Aruba AP เมื่อทำงานในโหมด Instant (ไม่ใช้ Controller) จะมีศักยภาพต่ำกว่าการใช้งานในโหมด Controller-based
HP Networking
เป็นบริษัทชันนำระดับโลก รวมทั้งประเทศจีน (ภายใต้แบรนด์ H3C) ที่มี Sale Channel อันแข็งแกร่ง โครงสร้างสถาปัตยกรรมแบบ FlexCampus และ FlexBranch นำเสนอโซลูชันครอบคลุมทั้ง Wired และ WLAN ที่มาพร้อมกับระบบความปลอดภัยและการควบคุมการใช้งานบนระบบเครือข่าย นอกจากนี้ยังมีโซลูชัน HP Cloud Managed Network ซึ่งช่วยบริหารจัดการ AP ทั้ง 802.11n และ 802.11ac หลายๆไซต์พร้อมกันได้
จุดเด่นของ HP คือ มีโซลูชันครบวงจรสำหรับสำนักงานใหญ่และสาขา, ระบบ BYOD ที่ช่วยในการ Onboard, Provision, Monitor อุปกรณ์เคลื่อนที่ ซึ่งมาพร้อมกับระบบรักษาความปลอดภัยอันแข็งแกร่ง, และมีระบบบริการเสริมตามตำแหน่งหรือพิกัดการใช้งานของอุปกรณ์เคลื่อนที่ประสิทธิภาพสูงเป็นของตนเอง อย่างไรก็ตาม HP ก็มีข้อจำกัดทางด้านโซลูชัน Controllerless ซึ่งไม่สามารถขยายการใช้งานสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ได้
ผลการสำรวจของผลิตภัณฑ์ใน Quadrant อื่นๆ และรายละเอียดฉบับเต็ม สามารถดูได้ที่ Magic Quadrant for the Wired and Wireless LAN Access Infrastructure