กรุงเทพฯ – 23 กันยายน 2558 : สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ( องค์การมหาชน ) ( สพธอ. ) หรือ ETDA ( เอ็ตด้า ) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จัดการแข่งขัน Thailand CTF Competition 2015 เฟ้นหาสุดยอดฝีมือด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ( Cybersecurity ) หรือความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับประเทศ ที่เพียบพร้อมทั้งความรู้และเทคนิคไขปัญหาด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ การแข่งขันออนไลน์ได้จัดขึ้นเมื่อ 5-6 กันยายนที่ผ่านมา จาก 121 ทีมทั่วประเทศ จนได้ผู้ได้คะแนนสูงสุด 8 ทีม เข้าสู่รอบตัดเชือก เพื่อชิงชัยสุดยอดฝีมือเป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมแข่งขัน CTF ( Capture The Flag ) ระดับอาเซียน ในงาน Cyber Sea Game ที่อินโดนีเซีย และลุ้นเป็นตัวแทนอาเซียนไปแข่งขันระดับโลกในงาน SECCON CTF 2015 ที่ญี่ปุ่น

สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ เอ็ตด้า เปิดเผยว่า “เอ็ตด้า รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่เยาวชนไทยผู้มีความรู้ด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ให้ความสนใจเข้าร่วมแข่งขันครั้งนี้เกินคาด ด้วยระยะการรับสมัครเพียง 4 วัน แต่มีทีมเข้าชิงธงถึง 121 ทีมด้วยกัน ทุกทีมต่างใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องไซเบอร์ซิเคียวริตี้ขับเคี่ยวกันอย่างเต็มที่ จนได้ 8 ทีมเข้ารอบสุดท้าย คือ
- ทีม Pwnladin
- ทีม asdfghjkl
- ทีม wizard_of_skn
- ทีม Take_off_your_shoes
- ทีม J0hnTh3Ripp3r
- ทีม null
- ทีม NyanHack
- ทีม qwerty
โดยการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศจะจัดในวันที่ 6 ตุลาคมนี้ เพื่อคัดเลือกตัวแทนประเทศไทย 2 ทีมเข้าแข่งขันระดับอาเซียน ซึ่งเอ็ตด้าจะสนับสนุนทั้งค่าเดินทางและที่พัก พร้อมกันนี้ยังมีทุนการศึกษารวมมูลค่ากว่า 170,000 บาท ทั้งทุนสำหรับการสอบประกาศนียบัตรหลักสูตรด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ของสถาบัน SANS สำหรับทีมผู้ชนะ และเงินรางวัลสำหรับผู้ผ่านเข้ารอบทั้ง 8 ทีม พร้อมด้วยรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย แต่สิ่งสำคัญที่สุดของแข่งขันครั้งนี้คือ ได้เป็นเวทีให้ทุกคนเห็นถึงศักยภาพของตนเอง และจะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการสร้างผลงานด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ให้กับประเทศได้ต่อไป”
นอกจากนี้ เอ็ตด้าได้เดินหน้าส่งเสริมความรู้ความเชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยและการป้องกันภัยคุกคามต่าง ๆ อาทิ การจัดโครงการ ThaiCERT Government Monitoring System ( ThaiCERT GMS ) เพื่อตรวจสอบและยกระดับการดูแลด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้หน่วยงานสำคัญ พร้อมช่วยวางมาตรการป้องกันภัยคุกคามต่าง ๆ และให้การสนับสนุนกิจกรรมที่จำเป็นต่อการสร้างไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นกิจกรรมเชิงรุกเพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการสร้างองค์ความรู้ด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ของไทย อีกทั้งสามารถยืนหยัดป้องกันภัยคุกคามต่าง ๆ บนศักยภาพของตัวเอง รองรับการเติบโตในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลสำหรับอนาคตได้อย่างแท้จริง