ผลการศึกษาชี้คำแนะนำการรักษาของวัตสันสอดคล้องกับของคณะแพทย์ผู้กำหนดแนวทางการรักษามะเร็งถึง 96% จากเคสทั้งหมด และช่วยร่นเวลาในการตรวจคัดกรองทางคลินิคลงได้ถึง 78%
ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีวัตสันเพื่อการพัฒนาการรักษามะเร็ง (Watson for Oncology) ใปใช้แล้วใน 55 องค์กรทั่วโลก รวมถึงโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ในประเทศไทย
กรุงเทพฯ ประเทศไทย – 1 มิถุนายน 2560: ไอบีเอ็ม วัตสัน เฮลท์ (NYSE: IBM) และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เปิดเผยถึงข้อมูลที่จะมีการนำเสนอในที่ประชุม ASCO 2017 ซึ่งเป็นการประชุมด้านมะเร็งที่ใหญ่ที่สุดในโลก เกี่ยวกับการนำ เทคโนโลยีวัตสันเพื่อการพัฒนาการรักษามะเร็ง (Watson for Oncology) ที่ได้รับการพัฒนาฝึกฝนโดยศูนย์มะเร็งเม็มโมเรียลสโลนเคทเทอริ่ง (MSK) และ Watson for Clinical Trial Matching (CTM) ไปใช้ทางคลินิค นอกจากนี้ ไอบีเอ็มยังประกาศถึงการขยายการใช้เทคโนโลยีวัตสันเพื่อการพัฒนาการรักษามะเร็งในโรงพยาบาลและหน่วยงานด้านสุขภาพต่างๆ หลายสิบแห่งในออสเตรเลีย บังกลาเทศ บราซิล จีน อินเดีย เกาหลี เม็กซิโก สโลวาเกีย สเปน ไต้หวัน ไทย และสหรัฐอเมริกา รวมถึงการเปิดตัวการนำเทคโนโลยีวัตสันเพื่อการพัฒนาการรักษามะเร็งไปใช้สนับสนุนการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก
ผลการศึกษาของ ASCO เกี่ยวกับเทคโนโลยีวัตสันเพื่อการพัฒนาการรักษามะเร็งที่ได้รับการเปิดเผยในวันนี้ อาทิ
- การใช้เทคโนโลยี Watson for Clinical Trials Matching สามารถช่วยลดเวลาที่ใช้ในการคัดกรองผู้ป่วยทางคลินิคลงได้ถึง 78% ซึ่งผลลัพธ์นี้เป็นผลจากการศึกษาความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีร่วมกับไฮแลนด์ส ออนโคโลจี กรุ๊ป และโนวาร์ตีส โดยในการทดลองนำร่องเป็นเวลา 16 สัปดาห์ ได้มีการนำข้อมูลผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดและมะเร็งทรวงอกจำนวน 2,620 ราย มาประมวลผลโดยระบบ CTM การใช้ขีดความสามารถการประมวลผลภาษาธรรมชาติ ทำให้ระบบ CTM สามารถอ่านขั้นตอนการวิจัยทางคลินิกจากโนวาร์ตีส และประมวลข้อมูลจากระเบียนผู้ป่วยและบันทึกของแพทย์เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การคัดผู้ป่วยเข้า หรือตัดผู้ป่วยที่ไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ออกโดยอัตโนมัติ ซึ่งนับเป็น 94% ของผู้ป่วยทั้งหมด วิธีนี้ช่วยลดเวลาในการคัดกรองการวิจัยทางคลินิกลงได้จาก 1 ชั่วโมง 50 นาที เหลือเพียง 24 นาที
- เทคโนโลยีวัตสันเพื่อการพัฒนาการรักษามะเร็งสามารถแนะนำแนวทางการรักษามะเร็งที่สอดคล้องกับคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยาของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (BIH) ถึง 83% สำหรับโรคมะเร็งชนิดต่างๆ
- เทคโนโลยีวัตสันเพื่อการพัฒนาการรักษามะเร็งสามารถแนะนำแนวทางการรักษามะเร็งที่สอดคล้องกับคำแนะนำของคณะกรรมการผู้กำหนดแผนการรักษามะเร็งแบบสหสาขาวิชาชีพของศูนย์มะเร็งมานิพัลคอมพรีเฮนซีฟในเมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย ถึง 96% สำหรับมะเร็งปอด 81% สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่ 93% สำหรับมะเร็งทวารหนัก
- เทคโนโลยีวัตสันเพื่อการพัฒนาการรักษามะเร็งสามารถแนะนำแนวทางการรักษามะเร็งที่สอดคล้องกับคำแนะนำของคณะกรรมการผู้กำหนดแผนการรักษามะเร็งของศูนย์การแพทย์จิลแห่งมหาวิทยาลัยกาช็อน ในเมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ ถึง 73% สำหรับกรณีผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูง
- ในการวิจัยเชิงคุณภาพ บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยาในเม็กซิโกยอมรับว่าเทคโนโลยีวัตสันเพื่อการพัฒนาการรักษามะเร็งมีประโยชน์ในการช่วยให้พวกเขาสามารถบ่งชี้ทางเลือกการรักษาที่เป็นไปได้สำหรับผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคลินิคที่ขาดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการฝึกสอนนักเรียนแพทย์และแพทย์ที่เข้ามาศึกษาต่อเพื่อเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาใดสาขาหนึ่ง
“เทคโนโลยีวัตสันเพื่อการพัฒนาการรักษามะเร็งเป็นหนึ่งในตัวอย่างของเทคโนโลยีสำคัญที่จะช่วยให้แพทย์สามารถใช้ประโยชน์จากปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับแนวทางการรักษาที่เริ่มมีความเฉพาะบุคคลและตอบโจทย์ผู้ป่วยแต่ละรายมากขึ้น” นายแนน เฉิน ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการวิจัยพัฒนาและข้อมูลคลินิก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว
“โรงพยาบาลของเราให้การดูแลผู้ป่วยกว่าครึ่งล้านคนจากกว่า 190 ประเทศในแต่ละปี เทคโนโลยีเหล่านี้จึงมีส่วนสำคัญต่อการมอบคุณภาพการรักษาในแบบที่ผู้ป่วยคาดหวัง หนึ่งในตัวอย่างคือกรณีของโรงพยาบาลมองโกเลียน ยูบี ซองดู ในเครือบำรุงราษฎร์ ที่แพทย์ทั่วไปสามารถให้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งได้แม้ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งอยู่เลย โดยอาศัยเทคโนโลยีวัตสันเพื่อการพัฒนาการรักษามะเร็ง ที่ให้คำแนะนำได้อย่างสอดคล้องกับแนวทางการวินิจฉัยของแพทย์ ในการกำหนดแผนการรักษา” นายแนนเสริม
“ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าวัตสันสามารถช่วยแพทย์ในการตัดสินใจวางแผนการรักษาชีวิตผู้ป่วยได้มากมายด้วยการย่นระยะเวลาสำหรับแพทย์ในการระบุสาเหตุความเป็นไปได้รวมถึงเสนอทางเลือกเพื่อการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนจากความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลได้หลากหลายรูปแบบ ในจำนวนมหาศาล และภายในเวลาที่รวดเร็ว” นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าว “ไอบีเอ็มภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาไปอีกขั้นของทั้งโรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล รวมถึงสถาบันทางการแพทย์ทั่วโลก ในการต่อยอดความรู้ด้านมะเร็งที่มีเพิ่มขึ้นใหม่มากมายทุกๆ วันไปสู่มือของแพทย์ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วย ผ่านนวัตกรรมทันสมัยที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีค็อกนิทิฟ”
ในวันนี้ ไอบีเอ็มยังได้ประกาศว่าเทคโนโลยีวัตสันเพื่อการพัฒนาการรักษามะเร็งจะสามารถช่วยสนับสนุนการดูแลรักษาแบบสหสาขาวิชาชีพในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก ทั้งนี้ ในการพัฒนาฝึกฝนเทคโนโลยีวัตสันเพื่อการพัฒนาการรักษามะเร็งที่กำลังดำเนินการอยู่โดยศูนย์มะเร็งเม็มโมเรียลสโลนเคทเทอริ่งในนิวยอร์คนั้น ทางศูนย์มะเร็งได้ฝึกฝนวัตสันจนปัจจุบันสามารถนำไปใช้ในการสนับสนุนการรักษามะเร็งทรวงอก ปอด ลำไส้ใหญ่ ปากมดลูก รังไข่ กระเพาะอาหาร และต่อมลูกหมาก และภายในปีนี้ จะสามารถสนับสนุนแพทย์ในการรักษามะเร็งรวม 12 ประเภท ซึ่งถือเป็น 80% ของประเภทมะเร็งที่เกิดขึ้นทั่วโลก
“เราภูมิใจในบทบาทของเราในการพัฒนาฝึกฝนวัตสัน รวมถึงการมอบเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจให้แก่แพทย์ทั่วโลก โดยเป็นเครื่องมือที่อิงตามหลักฐานเชิงประจักษ์และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีค็อกนิทิฟ” นายมาร์ค คริส กรรมการผู้จัดการของวิลเลียมและจอย รัวเอน แชร์ ซึ่งเป็นสาขาด้านมะเร็งวิทยาบริเวณทรวงอกของศูนย์มะเร็งเม็มโมเรียลสโลนเคทเทอริ่ง กล่าว “การผสานกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของวัตสัน เข้ากับองค์ความรู้ของแพทย์ MSK ที่ได้รับการสั่งสมจากประสบการณ์การรักษามะเร็งมายาวนานหลายทศวรรษ ทำให้เราสามารถดำเนินการเพื่อช่วยให้แพทย์มีความเข้าใจและสามารถลงลึกในรายละเอียดเกี่ยวกับความสลับซับซ้อนของโรคภัยไข้เจ็บในผู้ป่วยแต่ละคน เข้าใจข้อมูลด้านมะเร็งที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้ดีขึ้น และช่วยให้แพทย์สามารถตัดสินใจในการรักษาได้โดยมีหลักฐานอ้างอิงที่ชัดเจน”
ศักยภาพที่เพิ่มขึ้นของวัตสัน
ข้อมูลเกี่ยวกับวัตสันที่ได้รับการนำเสนอที่การประชุม ASCO ปีนี้ เป็นผลจากการศึกษาก่อนหน้านี้ถึงวิวัฒนาการของเทคโนโลยี อันเป็นเครื่องยืนยันถึงศักยภาพในการใช้วัตสันช่วยสนับสนุนการตัดสินใจในการกำหนดแนวทางการรักษา รวมถึงในงานค้นคว้าวิจัยต่างๆ อาทิ
- ในปี 2559 ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยีวัตสันเพื่อการพัฒนาการรักษามะเร็งสามารถแนะนำแนวทางการรักษามะเร็งที่สอดคล้องกับคำแนะนำของคณะกรรมการผู้กำหนดแผนการรักษามะเร็งแบบสหสาขาวิชาชีพของศูนย์มะเร็งมานิพัล ถึง 90% สำหรับโรคมะเร็งทรวงอก
- ในปี 2559 การศึกษาของ ASCO ได้ตรวจสอบถึงความสามารถในการวิเคราะห์ภาษาธรรมชาติของวัตสันที่ศูนย์มะเร็งครบวงจรวิคตอเรียในประเทศออสเตรเลีย
- ในปี 2558 การศึกษาของ ASCO ทำการตรวจสอบถึงความสามารถของเทคโนโลยีวัตสันเพื่อการพัฒนาการรักษามะเร็ง ในการให้คำแนะนำสำหรับเคสผู้ป่วยในอดีตที่ MSK
- ในปี 2557 การศึกษาของ ASCO แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีวัตสันเพื่อการพัฒนาการรักษามะเร็งแสดงข้อมูลได้ตรงกับข้อมูลที่ได้รับการฝึกฝนโดย MSK ถึง 100%
- ในปี 2557 การศึกษาของวิทยาลัยการแพทย์เบย์เลอร์พบว่า Watson for Drug Discovery สามารถช่วยระบุโปรตีน 6 ชนิดที่ควรมุ่งเน้นในการวิจัยยีน p53 ซึ่งเกี่ยวข้องกับมะเร็งได้ ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์
- ในปี 2558 ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า Watson for Genomics สามารถช่วยแพทย์วิเคราะห์การหาลำดับเบสทั้งหมดของจีโนม นำไปสู่การค้นพบมุมมองเชิงลึกใหม่ๆ ในเวลาเพียงไม่กี่นาที
การใช้วัตสันเพื่อสนับสนุนการรักษามะเร็ง
วันนี้ ไอบีเอ็มได้ประกาศถึงรายชื่อองค์กรที่จะเริ่มนำเทคโนโลยีของวัตสันในด้านวิทยามะเร็งไปใช้เพิ่มเติมจำนวน 9 ราย ปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวได้รับการนำไปใช้ที่โรงพยาบาลและองค์กรด้านสุขภาพแล้วมากกว่า 55 แห่งทั่วโลก โดยแพทย์ในประเทศต่างๆ อาทิ อินเดีย จีน ไทย เกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น บังกลาเทศ สเปน สโลวาเกีย โปแลนด์ เม็กซิโก บราซิล ออสเตรเลีย แคนาดา และสหรัฐอเมริกา กำลังใช้หรือเริ่มดำเนินการเพื่อใช้ระบบนี้ เพื่อที่จะได้รับข้อมูลสำหรับสนับสนุนการตัดสินใจ เรื่องราวต่างๆ จากองค์กรที่ได้เริ่มใช้เทคโนโลยีนี้ไปก่อนแล้ว ชี้ให้เห็นว่าวัตสันสามารถมอบความหวังและเพิ่มความมั่นใจในการตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม
หน่วยงานล่าสุดที่เริ่มนำเทคโนโลยีวัตสันเพื่อการพัฒนาการรักษามะเร็งไปใช้ ได้แก่ ไอคอนกรุ๊ปในออสเตรเลีย กรุ๊ปโปแองเคเลส เซรบิซิออส เด ซาลุดในเม็กซิโก แม เด เดอุสในบราซิล มหาวิทยาลัยการแพทย์ไทเปในไต้หวัน ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแดกูคาธอลิกในเกาหลีใต้ ศูนย์การแพทย์ตงซานของมหาวิทยาลัยเคมย็องในเกาหลีใต้ โรงพยาบาลแห่งชาติปูซานในเกาหลีใต้ และสเว็ตซีเดรเวียในสโลวาเกียและโปแลนด์ นอกจากนี้ ไอบีเอ็มยังได้ลงนามการเป็นพันธมิตรช่องทางจัดจำหน่ายใหม่กับไรท์ส โซลูชั่นส์ เพื่อนำเทคโนโลยีวัตสันเพื่อการพัฒนาการรักษามะเร็งไปใช้ในโรงพยาบาลต่างๆ ในบังกลาเทศ เนปาล ภูฎาน และอินเดียตะวันออก
เทคโนโลยีวัตสันเพื่อการพัฒนาการรักษามะเร็งได้รับการพัฒนาฝึกฝนโดยบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยาของศูนย์มะเร็งเม็มโมเรียลสโลนเคทเทอริ่งในนิวยอร์ค โดยเป็นระบบค็อกนิทีฟคอมพิวติ้งที่ใช้การประมวลผลภาษาธรรมชาติ เพื่อย่อยข้อมูลผู้ป่วยทั้งที่อยู่ในรูปแบบมีโครงสร้างและไร้โครงสร้าง ระบบนี้จะนำเสนอทางเลือกในการรักษาเพื่อให้แพทย์ใช้พิจารณาในการรักษาผู้ป่วย โดยเป็นคำแนะนำที่อ้างอิงไกด์ไลน์ต่างๆ ที่ผ่านการรับรอง เอกสารทางการแพทย์ รวมถึงการฝึกฝนจากเคสผู้ป่วยต่างๆ
“ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เริ่มเข้ามาสู่วงการแพทย์ในปัจจุบัน เนื่องด้วยเพราะบริษัทด้านเทคโนโลยีอย่างไอบีเอ็ม ที่ได้ผลักดันการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้อย่างกว้างขวาง” ซินเธีย เบิร์กฮาร์ด ผู้อำนวยการด้านการวิจัยของไอดีซี เฮลท์ อินไซท์ส กล่าว “การนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ จะเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญในวงการแพทย์และการดูแลสุขภาพ และผลักดันวงการนี้ให้ก้าวไปข้างหน้าเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของการดูแลสุขภาพที่เน้นคุณค่าต่อไป”
ไอบีเอ็มเฮลท์คอร์ปสร่วมแก้ปัญหาซัพพลายเชนของตัวยาที่ใช้ในการทำคีโม
ความเชี่ยวชาญด้านมะเร็งของไอบีเอ็มยังได้รับการนำไปใช้เพื่อร่วมแก้ปัญหาการขาดแคลนตัวยาสำหรับการทำคีโมในกลุ่มประเทศทางตอนใต้ของทะเลทรายแอฟริกา ผ่านโครงการไอบีเอ็มเฮลท์คอร์ปส อันจะเป็นการช่วยเจ้าหน้าที่ด้านการดูแลสุขภาพให้สามารถเข้าถึงยาที่ได้มาตรฐานในราคาที่ต่ำกว่า โดยทีมงานได้ออกแบบซอฟต์แวร์คีโมแควนท์ (ChemoQuant) ที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่วางแผนและจัดซื้อของกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพสามารถพยากรณ์ปริมาณการทำคีโม ตรวจสอบปริมาณยาคงเหลือ แสดงรายการซัพพลายเออร์ที่มี ประเมินราคา พร้อมสั่งยาในปริมาณที่มากพอที่จะได้รับส่วนลด
###
เกี่ยวกับไอบีเอ็ม วัตสัน เฮลท์ (IBM Watson Health)
วัตสันคือระบบค็อกนิทีฟ คอมพิวติ้ง ที่ถูกนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์เป็นรายแรก เป็นระบบที่แสดงถึงการเปิดศักราชใหม่ของเทคโนโลยีคอมพิวติ้ง ระบบดังกล่าวให้บริการผ่านคลาวด์ และสามารถวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมหาศาล ทำความเข้าใจคำถามที่ซับซ้อนที่ถูกตั้งขึ้นในภาษาธรรมชาติ รวมถึงนำเสนอคำตอบโดยอิงตามหลักฐานเชิงประจักษ์ วัตสันสามารถเรียนรู้และเพิ่มเติมองค์ความรู้ได้อย่างต่อเนื่องจากการปฏิสัมพันธ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในเดือนเมษายน 2558 บริษัทได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม ไอบีเอ็ม วัตสัน เฮลท์ และวัตสัน เฮลท์ คอร์ คลาวด์ (ปัจจุบันรวมเรียกว่าวัตสัน แพลตฟอร์ม ฟอร์ เฮลท์) ที่ช่วยยกระดับขีดความสามารถของแพทย์ นักวิจัย และบริษัทประกัน ในการสร้างนวัตกรรมโดยนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลที่มีปริมาณมหาศาล ที่ได้จัดทำขึ้นและมีการใช้งานร่วมกันในแต่ละวัน วัตสัน แพลตฟอร์ม ฟอร์ เฮลท์ สามารถปกปิดข้อมูลที่ระบุตัวตนของผู้ป่วย และเปิดโอกาสให้มีการแบ่งปันและรวมข้อมูลนี้เข้ากับมุมมองในภาพรวมของข้อมูลทางคลินิก ข้อมูลการวิจัย และข้อมูลเชิงสังคมในด้านสุขภาพ อันเป็นข้อมูลที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไอบีเอ็ม วัตสัน ได้ที่ ibm.com/watson หรือข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไอบีเอ็ม วัตสัน เฮลท์ ที่ ibm.com/watsonhealth