Microsoft Azure by Ingram Micro (Thailand)

Bitwise Group ผู้พัฒนานวัตกรรมเครื่องปรับอากาศ กับเส้นทางการเติบโตด้วยการใช้ ERP กว่า 19 ปี

ทีมงาน TechTalkThai มีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณภวเกียรติ กีรติชีวนันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบิทไว้ส์ (ประเทศไทย) จำกัด ถึงมุมมองทางธุรกิจในแง่ของผู้ประกอบการด้านธุรกิจโรงงานและการผลิตในไทย รวมถึงประสบการณ์ด้านการใช้ระบบ SAP ในฐานะของ ERP ในธุรกิจมายาวนานกว่า 14 ปี ซึ่งมีบทเรียนที่น่าสนใจหลายประการทีเดียว จึงขอนำมาสรุปให้ผู้อ่านทุกท่านได้อ่านไปด้วยกันดังนี้ครับ

Bitwise Group ผู้พัฒนานวัตกรรมเครื่องปรับอากาศไทย คิดค้นนวัตกรรมใหม่จำหน่ายทั้งในไทยและทั่วโลก

คุณภวเกียรติ กีรติชีวนันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบิทไว้ส์ (ประเทศไทย) จำกัด

คุณภวเกียรติได้เริ่มต้นการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้จากการแนะนำธุรกิจของ Bitwise Group ให้เราได้รู้จักกันก่อน โดยเมื่อปี 1988 บริษัท Bitwise (Thailand) Co., Ltd. ก็ได้เริ่มก่อตั้งขึ้น และเริ่มทำธุรกิจด้านการผลิตเครื่องปรับอากาศทั้งแบบติดตั้งพื้นและติดตั้งบนเพดาน ด้วยพนักงานแรกเริ่มเพียง 30 คน

ความนิยมในตลาดของเครื่องปรับอากาศนั้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเรียกได้ว่าปัจจุบันนี้เครื่องปรับอากาศได้กลายเป็นสิ่งที่จำเป็นต่ออาคารบ้านเรือนและตึกออฟฟิศทำงานไปแล้ว และนั่นก็ทำให้ธุรกิจของ Bitwise เองเติบโตตามไปด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ Bitwise ก็กลายเป็นธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนสูงถึง 300 ล้านบาท มียอดขายเกินกว่า 1,700 ล้านบาท มีพนักงาน 500 คน และมีลูกค้าอยู่ทั่วโลก

ภายใต้ Bitwise Group นี้ประกอบไปด้วย 3 บริษัท ได้แก่ Bitwise (Thailand) ทำธุรกิจผลิตเครื่องปรับอากาศทุกประเภทตั้งแต่สำหรับที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน จนถึงอุตสาหกรรม, Bitwise Heat Exchange ผลิตตัวแลกเปลี่ยนความร้อนและ Thai Tasaki Engineering สำหรับขายเครื่องปรับอากาศยี่ห้อ Tasaki โดยเฉพาะ

จุดเด่นที่ทำให้ Bitwise แตกต่างจากโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศนั้น ก็คือการที่ Bitwise เป็นธุรกิจรับผลิตแบบ Original Design Manufacturer (ODM) ซึ่งทาง Bitwise จะเป็นผู้วิจัยคิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ และออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้แบรนด์ต่างๆ ได้มาเลือกซื้อเป็นแบบในการสั่งผลิตได้เลย ต่างจากการผลิตแบบ Original Equipment Manufacturer (OEM) ที่แบรนด์ต่างๆ จะนำแบบมาจ้างผลิตเท่านั้น เนื่องจาก Bitwise มีทีมวิศวกร และห้องทดสอบผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยสำหรับคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา และสามารถสร้างเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การใช้งานจริงได้ด้วยตนเอง การเติบโตของ Bitwise จึงเป็นไปในแง่ของการแข่งขันสร้างนวัตกรรมออกสู่ตลาด ไม่ใช่การรับจ้างผลิตตามสั่งเท่านั้น

ผู้ที่สนใจลองเยี่ยมชมเว็บไซต์ของ Bitwise Group ได้ที่ http://www.bitwise.co.th และ http://www.tasaki.co.th

เริ่มต้นจากการใช้ SAP Business One จัดการกระบวนการการทำงานภายในสายการผลิตให้เป็นระบบ

การเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจ Bitwise ทำให้ต้องมองหา Software มาใช้เพื่อบริหารจัดการธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ โดยแรกเริ่มนั้น Bitwise ก็ได้มีการใช้งานระบบ Software สำหรับส่วนต่างๆ ทั้งบัญชีหรือการเงินมาก่อน ก่อนที่ในปี 2004 ทาง Bitwise จะมองหาระบบ Manufacturing Resource Planning (MRP) ซึ่งทาง Bitwise ก็ได้ใช้งาน SAP Business One สำหรับการบริหารจัดการสายการผลิต, การจัดการคลังสินค้า, การจัดการ BOM และการเบิกจ่ายวัตถุดิบ

การนำ SAP Business One มาใช้ทำให้การประสานงานในสายการผลิตนั้นมีความเป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อมีเอกสารควบคุมทั้งสายการผลิตและคลังสินค้า รวมถึงมีเอกสารสั่งผลิตหรือ BOM ที่มีความชัดเจน ก็สามารถลดความผิดพลาดในการผลิตให้น้อยลงได้ ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถประเมินค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้นไปด้วยการอัปเกรดสู่ SAP ECC 6 ควบรวมทุกระบบมาสู่ ERP เดียว เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของการทำงาน

อย่างไรก็ดี ถึงแม้การผลิตจะมีความเป็นระบบระเบียบมากขึ้นจากการใช้ SAP Business One แต่เนื่องจากทาง Bitwise ตัดสินใจที่จะใช้ SAP Business One สำหรับควบคุมการผลิตเท่านั้น และยังคงใช้ Software อื่นๆ ที่มีอยู่เดิมในการจัดการงานทางด้านบัญชีและการเงินต่อไป ทำให้การจัดการข้อมูลและเอกสารของ Bitwise ยังคงมีปัญหาในภาพรวม

ปัญหาดังกล่าวนั้น ก็คือการที่การแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามแผนกนั้นยังคงต้องเป็นงานแบบ Manual ร่วมกันระหว่าง SAP Business One, Software สำหรับแผนกอื่นๆ, Spreadsheet, Database ดังนั้นพนักงานก็จะต้องมีภาระหน้าที่ในการแปลงข้อมูลเหล่านี้กลับไปุกลับมาอยู่ตลอด ซึ่งนอกจากจะทำให้พนักงานต้องเสียเวลามากแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดในระหว่างการจัดการข้อมูลเหล่านี้ด้วย

ด้วยเหตุนี้เองในช่วงปี 2009 – 2010 Bitwise จึงต้องมองหาระบบ Enterprise Resource Planning (ERP) ใหม่ ที่จะสามารถจัดการงานในทุกๆ แผนกได้แบบรวมศูนย์ เพื่อให้งานทั้งหมดมีความคล่องตัวมากขึ้น

ทาง Bitwise ได้มองหาระบบ ERP จากหลากหลายค่ายมาเปรียบเทียบ และก็ได้สอบถามโรงงานต่างๆ ว่ามีการใช้งานหรือคำแนะนำอย่างไรกับระบบ ERP บ้าง ซึ่งหลายๆ โรงงานนั้นก็ได้แสดงความคิดเห็นว่าใช้ SAP นั้นดีอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะต้องขยายสโคปงานให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ทำให้ Bitwise ตัดสินใจกลับมาเลือกใช้งาน SAP ต่อ และเริ่มพูดคุยกับ ISS Consulting ซึ่งเป็นที่ปรึกษาครบวงจรสำหรับระบบ ERP ในไทยที่มีประสบการณ์อย่างยาวนาน และได้เลือกใช้ SAP ECC 6 ในที่สุด

ติดตั้งโดย ISS Consulting ได้รับรางวัล Outstanding Implementation Award จากการติดตั้งระบบให้พร้อมใช้งานได้ภายใน 6 เดือน

ก่อนจะเริ่มทำงานกันนั้น ISS Consulting ได้มีการสอบถาม Requirement ในการทำงานของ Bitwise และข้อจำกัดทางธุรกิจในแง่มุมต่างๆ มากมาย ก่อนที่จะนำเสนอโซลูชั่นที่เหมาะสมที่สุดในงบประมาณที่จำกัด รวมถึงนำเสนอ Best Practice ที่ SAP นำเสนอจากประสบการณ์ที่มีในอุตสาหกรรมเดียวกันในประเทศต่างๆ ทั่วโลก พร้อมปรับแต่งกระบวนการต่างๆ ให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจในไทย

ด้วยความเป็นมืออาชีพและความยืดหยุ่นในการทำงานของ ISS Consulting ก็ทำให้ Bitwise ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนในสโคปของการพัฒนาระบบ ERP เพื่อให้ตอบโจทย์ธุรกิจตามที่ต้องการได้ในงบประมาณที่กำหนด อีกทั้งทีมงานของ ISS Consulting เองก็สามารถให้คำปรึกษาด้านการออกแบบระบบและกระบวนการทำงานต่างๆ ได้เป็นอย่างดีตั้งแต่ก่อนการขาย ทำให้ Bitwise เลือกที่จะใช้บริการของ ISS Consulting ในการติดตั้งใช้งานระบบ SAP ECC 6 ในปี 2011 โดยครอบคลุมทั้งโมดูล FI, CO, MM, PP และ SD ซึ่งเป็นโมดูลพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับธุรกิจโรงงานและการผลิต

ความชัดเจนในสโคปงานและประสบการณ์อันเข้มข้นของ ISS Consulting ก็ได้ทำให้โครงการการติดตั้งระบบ SAP ECC 6 นี้เป็นไปได้อย่างรวดเร็วและเสร็จสิ้นภายในเวลาเพียง 5 เดือนเท่านั้น จากนั้นก็มีการ Coaching พนักงานของ Bitwise ในการใช้งานระบบทั้งหมดอีกเป็นเวลา 1 เดือน ความเร็วในการติดตั้งใช้งานระบบ ERP ครั้งนี้ทำให้ Bitwise ได้รับรางวัล Outstanding Implementation Award มาครอง

วางใจให้ ISS Consulting ช่วยดูแลและพัฒนาระบบ SAP ต่อยอด รองรับการเติบโตของธุรกิจและปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้เป็น Digital

หลังจากการติดตั้งใช้งานระบบซอฟแวร์ SAP ECC 6 เป็นไปอย่างราบรื่น ทาง Bitwise มีความประสงค์ที่จะทำงานกับ ISS Consulting อย่างต่อเนื่องในการเพิ่มโมดูลต่างๆ ได้แก่ QM, SM และปรับปรุงกระบวนการต่างๆ ต่อเนื่อง จนล่าสุดก็ได้มีการตัดสินใจติดตั้งโมดูล PS เพิ่มขึ้นมาอีกด้วย

ความสัมพันธ์ในระยะยาวระหว่าง ISS Consulting และ Bitwise นี้ก็ทำให้การทำงานร่วมกันนั้นมีความรู้ใจกันมากขึ้น เพราะเมื่อ ISS Consulting เข้าใจทั้งธุรกิจและระบบเดิมของ Bitwise เป็นอย่างดีแล้ว การต่อยอดใดๆ ก็สามารถเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการประเมินและวางแผนได้อย่างแม่นยำ ควบคู่ไปกับความรู้และความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี

วางระบบ ERP ให้ยืดหยุ่น พร้อมเสริมความสามารถใหม่ๆ ตอบโจทย์ที่ต้องการแก้ไขในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง

กลยุทธ์หนึ่งที่ Bitwise เลือกใช้จากการได้รับบทเรียนในอดีตมานั้น ก็คือการเลือกที่จะใช้ Template และ Process ต่างๆ ที่ SAP แนะนำโดยมีการปรับแต่งแก้ไขให้น้อยที่สุด เพื่อที่ว่าเมื่อ SAP ออกอัปเดตใหม่ๆ มา จะได้สามารถอัปเดตตามได้ง่ายและไม่มีปัญหา ในขณะที่การเลือกใช้ Template หรือ Process จาก SAP เองนั้นก็ถือเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการการทำงานภายในธุรกิจให้กลายเป็นมาตรฐานระดับโลกไปด้วยในตัว

ทั้งนี้ด้วยประสบการณ์ของทีมงาน ISS Consulting ที่มีความรู้ทั้งเรื่องธุรกิจและเทคโนโลยีควบคู่กัน ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Bitwise สามารถปรึกษาแผนการต่างๆ และรับฟังข้อคิดเห็นในการปรับปรุงกระบวนการการทำงานและการนำ SAP Module ต่างๆ มาใช้งานได้อย่างเหมาะสม สามารถมองถึงวิสัยทัศน์ในอนาคตได้ว่าเทคโนโลยีจะสามารถสร้างความเป็นไปได้และโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจได้อย่างไร

โจทย์หนึ่งที่คุณภวเกียรติมองว่าธุรกิจการผลิตและโรงงานอาจต้องให้ความสนใจเพิ่มขึ้นนั้นก็คือการนำระบบ ERP เข้าไปผูกกับเครื่องจักรและอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพในการผลิตให้สูงขึ้น ลดค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจในอนาคตได้

SME ไทยต้องลดความเสี่ยงด้วยการคว้าโอกาส ปรับปรุงธุรกิจของตนให้ดีขึ้นและเติบโตสู่การแข่งขันระดับโลกให้ได้

ข้อคิดหนึ่งที่คุณภวเกียรติได้สรุปเพื่อเป็นคำแนะนำให้เหล่าธุรกิจ SME ไทยในยามนี้ ก็คือเรื่องของการที่ธุรกิจ SME ไทยต้องเร่งปรับตัวกันให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันนี้การแข่งขันไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะเหล่าคู่แข่งผู้ประกอบการไทยด้วยกันเองเท่านั้น แต่การที่ต่างชาติโดยเฉพาะยักษ์ใหญ่อย่างจีนเริ่มรุกเข้ามาในไทยและทั่วภูมิภาคหรือทั่วโลกเองก็เป็นตัวแปรสำคัญที่ธุรกิจไทยจะต้องเรียนรู้และปรับตัวเพื่อที่จะอยู่รอดในตลาดและเติบโตต่อไปให้ได้

ในมุมของ Bitwise เองนั้นก็ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจไปเช่นกัน จากแต่เดิมที่ทำตลาดเครื่องปรับอากาศแบบ Mass ก็เริ่มหันมาทำเครื่องปรับอากาศแบบ Custom Made มากขึ้นเพื่อตอบโจทย์เฉพาะทางที่ลูกค้าต้องการด้วยการออกแบบและนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงมีการลงทุนในงานทางด้าน R&D เพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งรายใหญ่ พร้อมนำหลักการของ Lean มาใช้ในการผลิตเพื่อให้สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ ได้โดยไม่มีต้นทุนสูงมากนัก

หุ่นยนต์คือเทคโนโลยีที่น่าจับตามอง แต่การพัฒนาคนก็ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจการผลิตและโรงงาน

สุดท้ายคุณภวเกียรติได้เล่าถึงแนวโน้มการนำหุ่นยนต์มาใช้งานในธุรกิจการผลิตและโรงงานซึ่งเป็นหัวข้อที่มีการพูดถึงกันบ่อย ว่าการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้งานจริงนั้นก็จะต้องทำการวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดกลาง

สาเหตุของข้อกังวลนี้ก็เป็นเพราะท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของธุรกิจ รวมถึงแนวโน้มของการทำการผลิตแบบ Custom Made ที่เติบโตขึ้นนี้ การลงทุนในหุ่นยนต์ที่อาจเปลี่ยนแปลงการทำงานได้ยากรวมถึงต้องผลิตจำนวนมากจึงจะคุ้มทุนนี้ก็อาจกลายเป็นความเสี่ยงได้ เช่น การประเมิน Capacity ในการผลิตที่หุ่นยนต์จะต้องรองรับ หากประเมินต่ำไปก็จะยังคงต้องใช้แรงงานคนเยอะ หากประเมินเผื่อมากเกินไปก็จะทำให้ถึงจุดคุ้มทุนช้า และในระหว่างที่ Capacity ไม่เต็มนั้น หากการเปลี่ยนแปลงการตั้งค่าเพื่อให้หุ่นยนต์ไปทำงานอื่นทดแทนนั้นเป็นไปได้ยาก การใช้งานจริงก็จะยิ่งเกิด Waste ของหุ่นยนต์มากขึ้นไปอีก

แต่ข้อดีของหุ่นยนต์เองนั้นก็สามารถมองในแง่ของการนำมาทำงานแทนในส่วนที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของพนักงานได้ ซึ่งจุดนี้หากธุรกิจให้ความสำคัญกับบุคลากรและความปลอดภัยเป็นหลัก ความคุ้มค่าก็สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงประเด็นเรื่อง Capacity เพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้การลงทุนเรื่องคนนั้นก็ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจการผลิตและโรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ธุรกิจต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่องและงานประเภท Custom Made จะสามารถสร้างความแตกต่างได้ การที่พนักงานมีความรู้ความสามารถที่หลากหลายและประยุกต์ทักษะต่างๆ ได้อยู่เสมอนั้น จะทำให้ธุรกิจสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและเปิดรับโอกาสใหม่ๆ ได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการพัฒนาทักษะของบุคคลากรจึงยังคงเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของ Bitwise Group ต่อไป

เกี่ยวกับ ISS Consulting (Thailand) Ltd.

บริษัท ไอเอสเอสคอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญในด้านการออกแบบ พัฒนา และติดตั้งระบบ IT รวมถึงระบบ E-Commerce แบบครบวงจรให้แก่องค์กรขนาดเล็กไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ และเป็นผู้นำ ด้านการบริการดูแลระบบ SAP (Application Management Services) ในประเทศไทย ที่มีความชำนาญอย่างสูงและมีประสบการณ์มามากกว่า 19 ปี

ปัจจุบัน บริษัท ไอเอสเอสคอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการแต่งตั้งจาก SAP ให้เป็นพาร์ทเนอร์ระดับ Platinum ที่มุ่งเน้นนำเสนอโซลูชั่นที่เป็นประโยชน์กับองค์กรธุรกิจหลากหลาย

ล่าสุดในปี 2018 นี้ ทางบริษัทก็ได้รับรางวัลลูกค้าใหม่สูงสุดในกลุ่มธุรกิจ General Business (GB) จากงาน SAP Partner Kick Off 2018 จากการมีฐานลูกค้าใหม่ที่ใช้งาน SAP A1 และ SAP B1 เพิ่มมากที่สุดในปี 2017 และรางวัล SAP -qualified partner -packaged solution for SAP S/4HANA สำหรับ Smart One S/4HANA Implementation for Manufacturing, Smart One S4/HANA Implementation for Trading และ Smart One S/4 HANA Conversion ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับพาร์ทเนอร์ที่สามารถส่งมอบโซลูชัน SAP S/4HANA ให้กับลูกค้าองค์กรต่างๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วด้วย

นอกจากนี้ สำหรับเหล่าธุรกิจองค์กรข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ต้องการผู้ให้บริการระบบ SAP ที่ครอบคลุมในหลากหลายประเทศทั่วโลก ISS Consulting (Thailand) Limited หนึ่งในสมาชิกของ United VARs ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของผู้ให้บริการระบบ SAP ชั้นนำในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ก็สามารถร่วมมือกันให้บริการ SAP ให้ครอบคลุมตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกได้ โดยสมาชิกของ United VARs ในแต่ละประเทศนั้นก็จะทำการดูแลการใช้งาน SAP สำหรับสาขาขององค์กรในประเทศนั้นๆ พร้อมนำองค์ความรู้ด้านกระบวนการทางธุรกิจ, เทคโนโลยี และกฎหมายมาประยุกต์ใช้ในระบบเพื่อให้การใช้งานเทคโนโลยีของ SAP ในประเทศต่างๆ เป็นไปได้ด้วยประสบการณ์ที่ดีที่สุด

ผู้ที่ต้องการปรึกษาเกี่ยวกับเรื่อง SAP เพื่อพัฒนาระบบบริหารการจัดการในองค์กรให้ดีขึ้น ISS Consulting พร้อมให้คำปรึกษาในทุกกลุ่มประเภทธุรกิจเยี่ยมชมเว็บไซต์ของ ISS Consulting (Thailand) ได้ที่ http://www.issconsulting.co.th/ หรือโทร 02 237 0553

** ขอบคุณภาพประกอบจาก Bitwise Group และ ISS Consulting

About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

ผสาน Automation และ Intelligence เข้าไปยังความสามารถของงานด้านการผลิต โดย Infor

การนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้งานในธุรกิจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และแต่ละอุตสาหกรรมก็มีความท้าทายเฉพาะตัวที่ต้องเผชิญหน้า ในอุตสาหกรรมการผลิตเองก็เช่นกันที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ความต้องการของลูกค้า Supply Chain และอื่นๆ 

Cisco ปิดดีลเข้าซื้อ Splunk มูลค่า 1 ล้านล้านบาท

หลังจากผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจนได้รับอนุมัติเรียบร้อย ล่าสุดทาง Cisco ได้ประกาศถึงความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการของ Splunk ที่มูลค่า 28,000 ล้านเหรียญหรือราวๆ 1 ล้านล้านบาทอย่างเป็นทางการแล้ว