หลังจากที่ได้ผ่านโปรแกรม Mentorship ของ InnoHub มาเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ โปรแกรมดังกล่าวก็เดินทางมาถึงช่วงสุดท้ายเมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมานี้กับ Demo Day – Bangkok Bank InnoHub Season 2, Unleash The Potential ที่เปิดโอกาสให้เหล่าFinalists ทั้ง 8 มาโชว์โซลูชั่น และเล่าถึงประสบการณ์ความประทับใจที่พวกเขาได้รับจากโครงการ Bangkok Bank InnoHub Season 2 ในครั้งนี้
Demo Day ส่งท้าย Bangkok Bank InnoHub Season 2
Bangkok Bank InnoHub Season 2 นี้เป็นโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพที่มีผู้สมัครเข้าร่วมกว่า 128 ทีมจาก 28 ประเทศทั่วโลก โครงการระยะเวลา 12 สัปดาห์นี้เปิดโอกาสให้เหล่าสตาร์ทอัพได้ปรึกษาและทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทั้งในการพัฒนาแผนธุรกิจ เรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการเงิน รับทราบความท้าทาย และศึกษารายละเอียดกฎหมายและการกำกับดูแลในไทย โดยใน Season 2 นี้ InnoHub ได้เปิดรับสตาร์ทอัพตาม 5 กลุ่มความเชี่ยวชาญหลัก ได้แก่
- Creating Unique Customer Experience
- Digitization and Automation
- Future SME Solution
- Innovative Payment และ
- Discovering Cutting Edge Technology
ภายในระยะเวลา 12 สัปดาห์ 8Finalists ที่ได้รับความรู้และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจากBBL ก็ได้พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการต่อสาธารณะ โดยเมื่อจบโครงการ สตาร์ทอัพ 2 รายได้เริ่มเปิดตัวผลิตภัณฑ์ให้ได้ทดลอง ใช้ในวงจำกัด และอีก 3 รายก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีกับการทดลองช่วง Proof-of-Concept โดยรายที่เหลือก็มีความคืบหน้าและกำลังจะเริ่มทดลองตามกันไป
Bangkok Bank มั่นใจ สตาร์ทอัพตอบโจทย์ธุรกิจจริง นำนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารได้ หวังช่วยพัฒนา Ecosystem ของนวัตกรรมในไทย
คุณชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงเทพได้กล่าวถึงความสำเร็จใน Season 2 นี้ว่า ตลอดระยะเวลา 12 สัปดาห์ Finalistsทั้ง 8 ทีมแสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่าเทคโนโลยีของพวกเขามีศักยภาพในการเข้ามาช่วยยกระดับการดำเนินการและบริการของธนาคารกรุงเทพได้เป็นอย่างดี และเขาก็หวังว่าโครงการ InnoHub ที่มีสตาร์ทอัพจากทั่วทุกมุมโลกเข้าร่วมนี้จะช่วยให้Ecosystem ของสตาร์ทอัพในประเทศไทยได้พัฒนาไปอีกก้าว
ด้านดร.เปาว์ ศรีประเสริฐสุข หัวหน้าโครงการ Bangkok Bank InnoHub ก็ได้แสดงความคิดเห็นถึงโครงการนี้ว่าทั้งธนาคารและสตาร์ทอัพต่างก็ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันในโครงการนี้ กล่าวคือธนาคารกรุงเทพได้สัมผัสและทำความเข้าใจในวิธีการดำเนินการของสตาร์ทอัพมากขึ้น และสตาร์ทอัพก็ได้รับโอกาสการทำงานร่วมกับธนาคาร และความรู้เกี่ยวกับการดำเนินการของสถาบันการเงินและอุตสาหกรรมการเงิน InnoHub นั้นเป็นโครงการที่มุ่งเป้าไปที่การบ่มเพาะสตาร์ทอัพให้สามารถสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่จะนำไปใช้ในธุรกิจได้จริงและตอบโจทย์ธุรกิจ ใน Season 2 นี้เรามีสตาร์ทอัพ 2 รายที่เริ่มเปิดให้บริการช่วงทดลองผลิตภัณฑ์ และสตาร์ทอัพที่ก้าวเข้าสู่ขั้นตอน Proof-of-Concept อีก 3 ราย ซึ่งย้ำให้เห็นถึงคุณสมบัติและความสำเร็จของโครงการได้เป็นอย่างดี
สาส์นจากNest “กุญแจของความสำเร็จคือการเปิดรับนวัตกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง”
คุณ Lawrence Morgan CEO ผู้เป็นตัวแทนจาก Nest หนึ่งในพาร์ทเนอร์ของ InnoHub ขึ้นกล่าวเปิดก่อนการพรีเซนต์จาก 8 Finalists ถึงความสำคัญของการร่วมมือระหว่างองค์กรขนาดใหญ่และเหล่าสตาร์ทอัพ โดยเขาเชื่อว่าทุกวันนี้เราอยู่ในยุคแห่งนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และการปรับตัวอย่างรวดเร็วเท่านั้นที่จะช่วยให้องค์กรมีขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเขาได้แนะนำ 3 เหตุผลที่องค์กรจะต้องร่วมมือกับสตาร์ทอัพเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆขึ้น
- ความท้าทายของการสร้างนวัตกรรมขององค์กรนั้นไม่ใช่การชี้ถึงปัญหา แต่เป็นการสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างแท้จริง การเข้ามาของสตาร์ทอัพและไอเดียในการทำงานใหม่ๆของพวกเขาจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำงานขององค์กรไปด้วย
- การร่วมมือกับสตาร์ทอัพจะทำให้องค์กรสามารถสร้างนวัตกรรมได้อย่างรวดเร็วและมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการเริ่มสร้างนวัตกรรมด้วยตัวเองตั้งแต่แรก
- การทำงานกับสตาร์ทอัพจะช่วยเปลี่ยนวัฒนธรรมขององค์กรขนาดใหญ่ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น และเปิดกว้างต่อการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น
12 สัปดาห์ผ่านไป 8 Finalists มีอะไรใหม่?
ในงานนี้ ทางทีมงานขอเชิญทุกท่านมาดูกันว่า Finalistทั้ง 8 ทีมนั้นได้โชว์อะไรใหม่ๆมาให้เราดูกันบ้าง
Pand.ai
Chat Bot นั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่มาแรงที่สุดสำหรับงานด้าน Customer Service และสำหรับ Pand.ai แล้ว พวกเขาโฟกัสไปที่การพัฒนาแชทบอทที่ถูกออกแบบมาสำหรับสถาบันการเงินในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะ โดยแชทบอทของพวกเขาสามารถสนทนาโต้ตอบกับลูกค้าของสถาบันการเงินในด้านต่างๆและเข้าใจบริบทของประโยคได้เป็นอย่างดี ระบบ Chat Bot ของ Pand.ai นั้นเป็นระบบแบบEnd-to-end ที่จะช่วยองค์กรพัฒนาแชทบอทตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการใช้งาน ด้วยเทคโนโลยี NLP และ AI ที่เป็นสูตรลับเฉพาะของพวกเขาเอง ปัจจุบัน Pand.ai มีลูกค้าอยู่หลายรายทั่วภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก ทั้งในอุตสาหกรรมการเงิน อุตสาหกรรมประกันภัย และอื่นๆ
ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2019 พวกเขากำลังพัฒนาสิ่งที่ล้ำไปกว่านั้นอีกขั้น กับเทคโนโลยีที่เรียกว่า Bot2Bot ซึ่งเป็นเครือข่ายเชื่อมต่อระหว่างChat Bot หลายๆตัว ทำให้แม้แชทบอทตัวหนึ่งไม่มีความเชี่ยวชาญในประเด็นนั้นๆ มันก็จะสามารถส่งสัญญาณไปถามเพื่อนบอทตัวอื่นๆให้ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและค้นหาคำตอบให้กับลูกค้าได้ นอกจากนี้ การมีเครือข่ายสื่อสารและแบ่งปันความรู้ระหว่างบอทกันเองยังจะช่วยให้บอททำงานได้เร็วขึ้นและฉลาดขึ้นอีกด้วย
Sepulsa
Sepulsa นั้นเดิมเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่รวมการจ่ายบิลหลายประเภทไว้ในที่เดียวที่มีธุรกรรมในระบบกว่า 9 ล้านครั้งต่อเดือนและมีมูลค่า กว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี พวกเขาได้ใช้ความรู้ที่ได้จากการพัฒนาและดำเนินการระบบนี้มาพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า Reconciliation Engine ซึ่งจะช่วยสถาบันการเงินตรวจสอบและจับคู่การจ่ายกับบัญชีลูกหนี้ได้อย่างรวดเร็วและอัตโนมัติ
Reconciliation Engine นี้จะช่วยให้ธนาคารสามารถดำเนินการจับคู่ทำรายการใบแจ้งหนี้ได้อย่างรวดเร็วด้วยระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยทั้งลดค่าใช้จ่ายและลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ที่สำคัญคือ Sepulsa ออกแบบให้เจ้า Engine นี้ยืดหยุ่นรองรับบัญชีลูกหนี้ได้หลายรูปแบบ อีกทั้งยังมีความสามารถในการรายงานผลการทำงานออกมาเป็นเอกสาร และติดตามสถานะของการชำระเงินในระบบ
ประสิทธิภาพในการทำงานของ Reconciliation Engine นี้จะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถจัดการกับบัญชีลูกหนี้และเงินทุนในระบบได้อย่างรวดเร็วสูงสุด 1,000 ใบเสร็จต่อวินาที ซึ่งเมื่อสามารถดำเนินการได้เร็วเช่นนี้ ก็เป็นประโยชน์ต่อทั้งระบบจ่ายเงิน ระบบจัดการเอกสาร และในอนาคตอาจนำไปใช้ในระบบการกู้ยืมเงินได้อีก
ในงานนี้ Sepulsa ยังได้เผยแผนการในอนาคตอันใกล้ที่จะเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2019 และทางทีมยังได้มีการรีแบรนด์มาในชื่อใหม่ “Alterra” ด้วย ก็เป็นที่น่าติดตามว่า Alterra จะนำเทคโนโลยีอะไรมาเปิดให้บริการกับพวกเราชาวไทยกันบ้าง
Pymlo
ปัจจุบันในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อยู่กว่า 62 ล้านราย ในจำนวนนี้ กว่า 3 ล้านรายเป็นธุรกิจที่อยู่ในประเทศไทย และส่วนใหญ่ยังมีรูปแบบการทำบัญชีผ่าน Spreadsheet, เอกสาร หรือสมุดจดบัญชี ซึ่งเป็นวิธีที่ค่อนข้างใช้เวลาและมีโอกาสผิดพลาดได้ง่าย จนอาจกลายเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ธุรกิจต้องแบกรับ
Pymlo เสนอโซลูชั่นบัญชีบนระบบ Cloud ที่ SMEs สามารถเข้ามาเรียนรู้ใช้งานได้อย่างรวดเร็วด้วยระบบที่ถูกออกแบบมาให้สามารถใช้งานได้ง่าย มีฟังก์ชั้นที่ไม่ซับซ้อน โซลูชั่น ของ Pymlo นั้นเหมาะกับ SMEs ที่มีพนักงาน 2-50 คน โดย Pymlo ได้ทำการศึกษาข้อกฎหมายและลักษณะการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนำมาพัฒนาเป็นโซลูชั่น บัญชีที่ใช้งานได้จริง ครอบคลุมการดำเนินการบัญชีหลักๆ ธุรกิจไม่ต้องกังวลว่าต้องปรับเปลี่ยนระบบเพิ่มเติมให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย หรือกังวลว่าการยื่นชำระภาษีจะยุ่งยาก
Pymlo เปิดให้บริการแล้วในภาษาไทยและภาษาอื่นๆ โดยเร็วๆนี้ Pymlo มีแผนการที่จะเปิดตัวแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือให้ได้ใช้งานกันด้วย
AntWorks
ยุคนี้ใครๆก็พูดถึง Automation ว่าเป็นเทคโนโลยีที่จะทำให้ประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างก้าวกระโดด ทว่าการจะนำ Automation เข้ามาใช้นั้นส่วนใหญ่แล้วก็ต้องอาศัยการรื้อระบบเก่าออกและสร้างระบบใหม่ที่ทันสมัยกว่าขึ้นมา ดังนั้นสำหรับบางองค์กรที่มีระบบบงานหลากหลาย การนำ Automation เข้ามาใช้นั้นก็ดูจะยุ่งยากไม่น้อย
ทีมงาน AntWorks บอกกับเราว่าเทคโนโลยีของพวกเขาจะทำให้เราต้องมองAutomation ใหม่ เพราะพวกเขาได้สร้างระบบ Automation “ANTstein” ที่สามารถทำงานร่วมกับระบบเดิมที่องค์กรมีอยู่ ภายใต้แนวคิด “ระบบอัตโนมัติที่ใช้งานได้โดยไม่ต้องรื้อระบบที่มีอยู่”
ANTstein จะช่วยให้องค์กรสร้างระบบRobotic Process Automation (RPA) ที่มี AI มาช่วยประมวลผลได้โดยแทบไม่ต้องเขียนโค้ด โดยในขั้นตอนการทำงานอัตโนมัติ พนักงานเพียงแต่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบคุณภาพการทำงานของ ANTsteinเท่านั้น ก่อให้เกิดระบบงานที่ดีขึ้น ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
ปัจจุบัน ANTstein นั้นมีผู้ใช้งานแล้วทั่วโลก โดยในปี 2018 HFS Research ได้รายงานว่า ANTstein นั้นนับเป็น Top Ten ของผลิตภัณฑ์ RPA แห่งปีเลยทีเดียว
Eywa Media
เมื่อพูดถึงการทำโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ เจ้าของแคมเปญ ย่อมสามารถรู้ถึงผลลัพธ์ของโฆษณาว่าโฆษณานั้นได้รับความสนใจมากน้อยเพียงใด และสามารถจูงใจให้ผู้บริโภคเกิดการซื้อสินค้าได้หรือไม่ ในขณะที่ถ้าเป็นช่องทางออฟไลน์ อย่างป้ายโฆษณาหรือโฆษณาที่อยู่ในสื่อสิ่งพิมพ์ ยังแทบไม่มีเครื่องมือในการวัดประสิทธิภาพของโฆษณาเหล่านั้นได้ Eywa Media จึงพัฒนาโซลูชั่นขึ้นมาเพื่อเติมเต็มช่องว่างตรงนี้
Eywa Media คิดค้นวิธีการที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าใจ Customer Journey ได้อย่างแท้จริง เทคโนโลยีของ Eywa Media ช่วยให้ธุรกิจสามารถวัดผลการตอบรับจากการโฆษณาผ่านทางช่องทางออฟไลน์ ผ่านระบบ Foot Sparq ที่ทาง Eywa Media คิดค้นขึ้น ทำให้ธุรกิจสามารถนำข้อมูลออฟไลน์มาวิเคราะห์ร่วมกับพฤติกรรมของลูกค้าบนช่องทางออนไลน์ ทำให้สามารถเข้าใจลูกค้า และสามารถสร้างประสบการณ์การเฉพาะตัวให้แก่ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
จากการนำระบบของ Eywa Media ไปใช้ในห้างสรรพสินค้าในอินเดีย พบว่าเทคโนโลยีของพวกเขาช่วยให้มีผู้เข้าใช้ห้างดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่า 20% อีกทั้งห้างยังสามารถเข้าใจและเตรียมแคมเปญการตลาดที่ดึงดูดใจลูกค้าได้ดีกว่าเดิม
สำหรับปี 2019 นี้ Eywa Media มีแผนที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในแถบ เอเซียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่ม เช่น ใน ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย และจะมีการระดมทุน Series A ในช่วงปลายปีนี้ด้วย
CryptoMove
“ถ้าอยาก เก็บอะไรให้ปลอดภัยก็อย่าเก็บมันไว้ในที่เดิมตลอด” ประโยคสั้นๆนี้บอกถึงหลักใหญ่ใจความของเทคโนโลยีจากทีมนี้ได้เป็นอย่างดี CryptoMove พัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า Moving Target Defense ซึ่งเป็นการบ่งข้อมูลออกเป็นส่วนๆ กระจายไปเก็บไว้ในเครือข่ายกระจายศูนย์บนคลาวด์ และทำการเคลื่อนย้ายส่วนประกอบต่างๆไปเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไป โดยเมื่อข้อมูลมีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดและกระจัดกระจายอยู่ตามเครือข่าย การโจมตี หรือเจาะข้อมูล ก็ย่อมยากขึ้น
หนึ่งในผลิตภัณฑ์จาก Moving Target Defense นี้คือบริการที่ชื่อว่าTholos Key Vault ซึ่งจะเข้ามาช่วยองค์กรรักษาความปลอดภัยให้กับ Key ต่างๆที่ใช้ในระบบงาน เช่น API Key ที่ปัจจุบันมีเยอะจนตาลายสำหรับองค์กรที่ได้เปลี่ยนไปใช้บริการทั้งหลายบนคลาวด์ Tholos นี้เป็นโซลูชั่น ครบวงจรที่นอกจากจะจัดเก็บ กระจาย และย้ายที่ Key แล้ว ยังช่วยจัดการกับ Lifecycle ของ Key มีระบบที่เรียกข้อมูลกลับมาใช้ได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็ว อีกทั้งยังมีการป้องกันความเสี่ยงตามหลัก High Availability ด้วย
ในอนาคต CryptoMove วางแผนว่าเทคโนโลยีของพวกเขาจะไม่หยุดอยู่ที่การจัดการKey เท่านั้น แต่จะขยายผลไปใช้กับข้อมูลอื่นๆ ซึ่งอาจรวมไปถึงไฟล์วิดีโอที่ใช้ในการสตรีม ปัจจุบันพวกเขาเป็นสตาร์ทอัพ Series A ที่ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 10 สตาร์ทอัพที่ได้ไปแสดงผลงาน ณ งาน re:Invent ของ AWS ในช่วงปลายปี 2018 ที่ผ่านมา
Vymo
ในยุคที่ธุรกิจต้องการความเร็วและประสิทธิภาพที่มากขึ้น ระบบ CRM แบบเดิมๆ อาจไม่ตอบโจทย์ได้ดีเท่าไรเสียแล้ว หนึ่งปัญหาที่องค์กรอาจได้พบบ่อยๆคือ ทีมขายที่ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพนักเนื่องจากขั้นตอนล่าช้าและไม่สามารถเห็นภาพรวมของการทำงานและ ทีมได้ Vymo จึงออกไอเดียนำ Prescriptive Intelligence เข้ามาใช้เป็นผู้ช่วยให้กับทีมขาย
โซลูชั่น ของ Vymo จะช่วยให้พนักงานขายวางแผนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านสมาร์ทโฟน ด้วยความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลและแนะนำผู้ใช้ว่าควรทำอะไรเพื่อให้เกิด Productivity ที่เพิ่มขึ้น เช่น แนะนำรายชื่อลูกค้าที่ควรโทรหา ช่วยจัดตารางการพบลูกค้าและการประชุม และประมวลผลพร้อมแนะนำ ขั้นตอนต่อไปที่ควรดำเนินการจากข้อมูลที่ได้รับมา โดยทั้งหมดนี้ ผู้จัดการฝ่ายขายสามารถรับรู้ได้ว่าสมาชิกทีมแต่ละคนกำลังทำงานอะไร และควรมอบหมายงานอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ
Vymo ช่วยให้ทีมขายทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และใช้เวลาน้อยลง ปัจจุบัน Vymo มีธุรกิจที่รับเอาโซลูชั่นนี้เข้าไปใช้ในองค์กร พวกเขามีลูกค้าอย่าง เช่น AXA ที่นำโซลูชั่น นี้ไปใช้แล้วสามารถเพิ่มการขายได้ถึง 25% ใน 6 สัปดาห์ และบริษัทประกัน Allianz ใช้ Vymo แล้วลดเวลาในการปิด ดีลได้กว่า 50%
นอกจากนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเพื่อนร่วมโครงการ InnoHub Season2 อย่าง Sepulsa นั้น ก็ได้เลือกนำโซลูชั่น Smart CRM จาก Vymo เข้าไปใช้งาน เพื่อช่วยให้ทีมขายของ Sepulsaสามารถติดต่อพูดคุยกับลูกค้าและพาร์ทเนอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการอัพเดตสถานะภายในทีมตลอดเวลา และสามารถสรุปงานการขายออกมาเป็น Report ได้อย่างง่ายดายทันที
Jumper.ai
ทุกวันนี้พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาก อย่างในประเทศไทยเอง ก็เห็นได้ชัดถึงความนิยมในการซื้อของผ่านพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องติดต่อกันผ่านช่องทางโซเชียล หากเป็นเมื่อหลายปีก่อน เราอาจมองว่าแปลกที่ร้านค้าจำนวนมากไม่มีหน้าร้านอย่างเป็นทางการ แต่ในวันนี้ ความสามารถในการขายที่ไหนก็ได้ต่างหากที่เป็นจุดเด่น
Jumper.ai เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์สามารถขายของได้ง่ายๆผ่านสื่อโซเชียลที่พวกเขาต้องการ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, LINE, WhatsApp หรืออื่นๆ โซลูชั่นของ Jumper.ai คือ การช่วยสร้างข้อความอัตโนมัติเพื่อสื่อสารกับลูกค้าบนโซเชียลได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งหากมีส่วนที่อยากเพิ่มเติมก็สามารถโต้ตอบกับลูกค้าโดยตรงผ่านหน้า Dashboard ได้เช่นกัน โดย ลูกค้าสามารถทำทุกขั้นตอนการสั่งซื้อผ่านบทสทนาด้วยข้อความอัตโนมัติได้ทั้งหมด ตั้งแต่การสอบถามข้อมูล สั่งซื้อสินค้า ไปจนถึงการชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์
Jumper.ai นั้นถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่าย รองรับการขายกับทั้งสินค้าทั่วไป ตั๋วคอนเสิร์ต หรืออาหาร หรือ เครื่องดื่ม ถ้าผู้อ่านท่านใดสนใจทดลองใช้ก็สามารถเข้าไปสมัครที่หน้าเว็บได้ทันทีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
Jumper.ai จะเริ่มทดลองให้บริการในไทยอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายนนี้ โดยจะมาพร้อมกับระบบที่ถูกออกแบบมาเพื่อ SMEs สัญชาติไทยโดยเฉพาะ ด้วยบริการภาษาที่รองรับกฎหมายไทย และระบบการชำระเงินผ่าน บัตรเครดิต และการจ่ายผ่าน QR Code
————————
เมื่อย้อนกลับไปดูรายละเอียดของแต่ละทีมในรอบคัดเลือก จะเห็นได้ว่าทั้ง 8 ทีมนั้นมีการพัฒนาขึ้นมาก อีกทั้งบางทีมยังมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่แหวกแนวออกไปจากเดิม เวลา 12 สัปดาห์อาจจะฟังดูไม่นานนัก แต่ในโลกของสตาร์ทอัพแล้วกลับเป็นช่วงเวลาที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆได้มากมาย
และนี่คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของความเร็วของความเปลี่ยนแปลงในทุกวันนี้ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ หรือผู้นำธุรกิจที่แข็งแกร่งเพียงใดต่างก็ต้องปรับตัว ให้ทันโลก ธุรกิจใหญ่เริ่มจับมือกับสตาร์ทอัพที่ Disrupt ตัวเอง คู่แข่งหันหน้าเข้าร่วมมือชั่วคราวเพื่อสร้างฐานรากที่ดีกว่า เทคโนโลยีไม่เพียงเปลี่ยนวิธีการ แต่ยังเปลี่ยนวิธีคิดของธุรกิจไปโดยสิ้นเชิงอีกด้วย