
ทีมงาน TechTalkThai มีโอกาสได้ไปเข้าร่วมงานสัมมนา AIS The Digital Future 2019: Transformation is Now ซึ่งเป็นงานสัมมนาใหญ่ประจำปีของ AIS Business ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2018 ที่ผ่านมา โดยนอกจากจะมีการเล่าวิสัยทัศน์ของ AIS Business อย่างชัดเจนแล้ว ทาง AIS เองก็มีการเปิดตัว 3 บริการใหม่บน Cloud ได้แก่ SAP Business One, Data Analytics on Cloud และ SD-WAN เพื่อให้ธุรกิจไทยสามารถนำไปใช้งานได้อย่างง่ายดาย ทางทีมงาน TechTalkThai จึงขอนำเนื้อหาทั้งหมดมาสรุปให้ทุกท่านได้อ่านกันดังนี้ครับ
AIS ทำ Digital Transformation ตัวเองเสร็จแล้ว พร้อมนำประสบการณ์และเทคโนโลยีมาช่วยธุรกิจไทยให้ Transform ตัวเองได้สำเร็จไปด้วยกัน
คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแห่ง AIS ได้ออกมาเล่าถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเหล่าธุรกิจองค์กรทั่วโลกจากการมาของเทคโนโลยี ที่ซึ่งเทคโนโลยีนั้นได้ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และนำมาซึ่งความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับโลกธุรกิจ แน่นอนว่า AIS เองในฐานะของบริษัทชั้นนำทางด้านเทคโนโลยีและระบบโครงข่ายในประเทศไทยก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

จากสถิติระดับโลกที่ได้สำรวจเมื่อปี 2017 นั้น โลกเรามีประชากรมากกว่า 7,500 ล้านคนแล้ว โดยมีผู้ใช้งาน Internet จำนวนมากกว่า 4,000 ล้านคนหรือประมาณ 53% ของประชากรทั้งโลก ในขณะที่มีผู้ใช้งานอุปกรณ์ Mobile Device มากกว่า 5,100 ล้านคนหรือนับเป็น 68% ของประชากรทั้งโลก แต่ Active อยู่เพียงราวๆ 2,900 ล้านคนหรือราวๆ 39% เท่านั้น
หันมาดูเทรนด์เมืองไทยกันบ้าง ประเทศไทยนั้นมีประชากร 69.1 ล้านคน โดยมีผู้ใช้งาน Internet จำนวนมากกว่า 57 ล้านคนหรือประมาณ 82% และมีผู้ใช้งาน Mobile มากกว่า 48 ล้านคนหรือราวๆ 69% แต่กลับ Active มากถึง 46 ล้านคนหรือราวๆ 67% เลยทีเดียว นับว่ามีความแตกต่างจากค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่มาก ในขณะที่อัตราการใช้งานบริการต่างๆ ก็ถือว่าสูงมาก โดยมีผู้ใช้งาน Facebook ถึง 46 ล้านคน, ใช้งาน LINE ถึง 40 ล้านคน, ใช้งาน Instagram 7.1 ล้านคน, ใช้งาน Twitter 4.5 ล้านคน และใช้งาน LinkedIn 1.45 ล้านคนตามลำดับ
ที่ผ่านมานั้น AIS เห็นว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคนั้นเปลี่ยนไปอย่างมากจากการที่ Mobile Device ต่างๆ นั้นมีประสิทธิภาพสูงจนใกล้เคียงหรือเหนือกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ไปแล้ว ทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงการประมวลผลและการเชื่อมต่อได้อยู่ตลอด อีกทั้ง Internet ที่มีความเร็วสูงและมีพื้นที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ก็ทำให้การเข้าถึงข้อมูลนั้นเกิดขึ้นกับทุกคนตลอดเวลา

อย่างไรก็ดี แนวโน้มสำหรับอนาคตถัดจากนี้ไป AIS ได้ระบุว่า AI, IoT และ Blockchain นั้นจะกลายเป็น 3 เทคโนโลยีหลักที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากที่สุด ซึ่งก็ต้องจับตามองกันให้ดี และจากประสบการณ์ที่ทาง AIS ได้ไปเยี่ยมชมที่ Silicon Valley นั้น ก็ได้บทเรียนสำคัญที่ยังคงเป็นหลักการพื้นฐานสำหรับการดำเนินธุรกิจในช่วงรอยต่อของเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลง นั่นก็คือ การทำความเข้าใจลูกค้าและตอบสนองให้ได้อย่างรวดเร็ว และการจัดการกับวัฒนธรรมขององค์กรให้เหมาะสมต่อยุคสมัย ดึงให้คนเก่งมาร่วมงานได้อยู่เสมอ ซึ่งแน่นอนว่าธุรกิจที่จะอยู่รอดต่อไปได้ในอนาคตนั้นไม่ใช่ธุรกิจที่ดีที่สุดเสมอไป แต่เป็นธุรกิจที่พร้อมจะปรับตัวมากที่สุดต่างหาก

สำหรับ AIS เองที่ได้ผ่านการทำ Digital Transformation นั้น ก็ได้นำประสบการณ์ในส่วนนี้มาแชร์กันด้วย ดังนี้
- Digitizing Core Business ต้องนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยเปลี่ยนให้ธุรกิจหลักดำเนินงานได้แบบ Digital มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน และนำข้อมูลต่างๆ ออกมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- Digitizing Customer Interface เพิ่มช่องทางการสื่อสารกับลูกค้าในโลก Digital ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี
- Discovering & Scaling by Digital มองหา Business Model ใหม่ๆ ที่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตและขยายกิจการได้มากขึ้น
ในมุมของการดูแลลูกค้านั้น AIS ก็แนะนำว่าการนำ Big Data เข้ามาใช้เสริมก็จะช่วยให้สามารถแบ่งกลุ่มลูกค้าออกเป็นกลุ่มย่อยและสื่อสารได้ตรงจุดความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ซึ่งธุรกิจองค์กรเองนั้นก็ควรที่จะเลิกทำการตลาดแบบ Mass ได้แล้ว โดยการสร้างความแตกต่างให้เหนือจากคู่แข่งนั้นก็จะช่วยให้ลูกค้าเกิดการจดจำแบรนด์ได้ดีขึ้น แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่เช่นนั้นเจ้าที่เร็วกว่าก็อาจแย่งโอกาสครั้งใหญ่และส่วนแบ่งตลาดไปได้เช่นกัน
ก้าวใหญ่ของ AIS: จาก Mobile Operator สู่ผู้ให้บริการ Digital Service Provider สำหรับทั้งชีวิตส่วนตัวและการทำงาน ประกาศเติบโตด้วยการสร้าง Ecosystem ร่วมกับอุตสาหกรรมต่างๆ

การเปลี่ยนแปลงของ AIS ในช่วงที่ผ่านมานี้ถือว่าเป็นการพลิกโฉมครั้งใหญ่เลยทีเดียว จากภาพของ Mobile Operator ชั้นนำ สู่การเป็นผู้ให้บริการ Digital Service Provider แบบครบวงจรทั้งสำหรับการใช้ชีวิตส่วนตัวและการทำงาน ทำให้ไม่เพียงแต่ AIS พยายามขยายตลาดของผู้ใช้งานสัญญาณโครงข่าย 3G และ 4G เท่านั้น แต่ AIS ยังพยายามขยายตลาดของ Fixed Broadband และสร้าง Digital Platform รวมถึง Digital Content ขึ้นมาตอบโจทย์ของตลาดทั้งสำหรับผู้บริโภคและภาคธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
สำหรับ Digital Platform และ Digital Content ที่น่าสนใจก็มีตัวอย่างดังเช่น AIS PLAY ซึ่งนำเสนอ Video Content ใหม่ๆ มากขึ้นเรื่อยๆ, Rabbit LINE Pay สำหรับตอบโจทย์ด้าน Mobile Money, บริการต่างๆ ทางด้าน IoT สำหรับรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย, Business Enterprise โซลูชันบริการใหม่ๆ จากบริษัทในเครืออย่าง CS Loxinfo, Virtual Reality Platform สำหรับนำเสนอเทคโนโลยีทางด้าน AR/VR ทั้งสำหรับการใช้งานส่วนตัวและการใช้งานในภาคธุรกิจ
จุดยืนหนึ่งที่ถือว่าชัดเจนมากของ AIS ก็คือการประกาศอย่างชัดเจนว่าจะไม่เข้าไปแย่ง Core Business ของธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ มาทำเอง แต่จะเป็นผู้ให้บริการทางด้านเทคโนโลยีและทำงานร่วมกับธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรมที่ต้องการจะ Transform ตัวเองให้สำเร็จ และสร้างบริการใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาดร่วมกันแทน ซึ่งปัจจุบัน AIS ก็เปิดรับการพูดคุยธุรกิจกับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากธุรกิจใดอยากมีโอกาสในการทำงานร่วมกับ AIS ก็สามารถติดต่อเข้าไปได้ทันที
8 เทคโนโลยีใหญ่ที่จะกระทบต่อธุรกิจองค์กรทั่วโลก และ CIO ไทยควรรับมืออย่างไร

Frost & Sullivan ได้ขึ้นมาเล่าถึงแนวโน้มของเทรนด์ต่างๆ ในระดับโลกที่จะส่งผลต่อธุรกิจในระดับองค์กรด้วยกัน 8 ประการ ดังนี้
- การใช้ IoT ที่จะเติบโตมากยิ่งขึ้นจากการมาของ 5G และเทคโนโลยีอื่นๆ
- การทำ Automation และการปรับปรุงระบบ IT เดิมให้ทันสมัยยิ่งขึ้นจะเติบโตมากขึ้นไปอีก
- การนำ AR/VR มาใช้งานในเชิง B2B จะแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
- เนื้อหาแบบ Video และ Digital Content จะถูกเข้าถึงมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
- เครื่องมือด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและการทำ Cognitive Analytics จะถูกใช้ในรูปแบบการใช้งานที่หลากหลายยิ่งขึ้น
- บริการแบบ XaaS จะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ และจะทำให้เป้าหมายของการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงธุรกิจหรือบริการต่างๆ เปลี่ยนไป
- การเปลี่ยนระบบ Consumer Support ให้อยู่ในรูปแบบ Digital นั้นจะเป็นตัวแปรสำคัญของภาคธุรกิจ
- ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะกลายเป็นภูมิภาคที่มีความเข้มแข็งที่สุดในตลาดโลก
ทาง Frost & Sullivan ยังได้ทำนายถึงความกดดันใหม่ๆ ที่เหล่า CIO ไทยจะต้องเผชิญ ได้แก่ การที่ข้อมูลจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ซึ่งก็จะทำให้ CIO ต้องพิจารณาถึงการจัดเก็บและการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจได้มากขึ้น, การเติบโตของ Mobile Workforce ที่จะทำให้ CIO ต้องมองหาหนทางใหม่ๆ ในการให้บริการเทคโนโลยีและควบคุมข้อมูลและความมั่นคงปลอดภัยให้ได้, การนำข้อมูลไปใช้งานให้ได้แบบ Real-time เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจต่างๆ ให้ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการติดตามความสำเร็จในการมุ่งเข้าสู่เป้าหมายขององค์กร ที่จะเปลี่ยนไปอย่างมากจากการเปลี่ยนการทำงานและผลิตภัณฑ์หรือบริการต่างๆ ไปสู่รูปแบบของ Digital
สำหรับกลยุทธ์ของธุรกิจไทยที่ Frost & Sullivan แนะนำนั้น ก็คือการนำเทคโนโลยี Smart Data Management เข้ามาช่วยให้การบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่, การเปลี่ยนกระบวนการการทำงานให้เป็นไปแบบอัตโนมัติให้มากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาความรู้เฉพาะของบุคคลากรลง และการปรับปรุงระบบ Infrastructure ใหม่ให้เป็นแบบ Predictive และ Adaptive ทดแทนระบบแบบเดิมซึ่งไม่ตอบโจทย์ต่อเทคโนโลยีแห่งอนาคต ส่วนเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่น่าจับตามองและต้องเริ่มศึกษานั้นมีดังนี้

- Machine Learning & AI
- Edge Computing
- Software-Defined
- Hybrid Architectures
วงเสวนา: ภาครัฐไทยพร้อมขยับตัวตามความต้องการของภาคประชาชน เอกชนไทยต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอด

สำหรับวง Discussion Panel ในงานครั้งนี้ ก็ได้มีการเชิญ DEPA, DGA, VMware และ Microsoft ขึ้นมาพูดคุยเกี่ยวกับแง่มุมต่างๆ ด้านการทำ Digital Transformation กันอย่างหลากหลาย
ในมุมของภาครัฐนั้น DEPA มองว่าธุรกิจไทยยังมีอีกหลาย Segment ที่สามารถสนับสนุนด้วยการนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้เสริมธุรกิจให้เติบโตหรือมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อีกเยอะ ทำให้ประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมากในยุคสมัยแห่ง Digital นี้ ในขณะที่ทาง DGA นั้นก็เล่าถึงทิศทางใหม่ๆ ของการนำเทคโนโลยีมาให้บริการประชาชน ว่าภาครัฐเปลี่ยนมุมมองจากเดิมที่พยายามออกแบบเทคโนโลยีต่างๆ ให้ประชาชนมาใช้งาน ไปเป็นการศึกษาว่าประชาชนนั้นถนัดที่จะใช้เทคโนโลยีอะไร และเลือกไปใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นตามเพื่อให้เกิด Adoption Rate ที่สูงขึ้น
ทางด้าน VMware และ Microsoft นั้นก็มาเล่าถึงมุมมองจากฝั่งเอกชนและผู้พัฒนาเทคโนโลยี โดย VMware นั้นก็ได้เล่าถึงภาพของการที่ Hybrid Cloud ได้เริ่มกลายเป็น New Normal ของสถาปัตยกรรมระบบในฝั่ง Data Center ขององค์กรไปแล้ว และ VMware เองก็พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อให้รองรับทั้งระบบ IT แบบดั้งเดิมขึ้นมาจนถึงระบบ IT แบบ Cloud-Native เพื่อช่วยให้ธุรกิจองค์กรสามารถเปิดรับต่อเทคโนโลยีใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง และยังคงดูแลรักษาระบบ IT ที่มีอยู่เดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทางด้าน Microsoft นั้นได้นำเสนอถึงการที่เทคโนโลยี Digital นั้นได้เข้าไปขับเคลื่อน GDP เฉลี่ยทั่วโลกถึง 48% ในขณะที่ของไทยนั้นก็จะสูงถึง 40% ด้วยเช่นกัน ซึ่งทุกๆ ธุรกิจนั้นก็ต้องเร่งพัฒนาตนเองและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพราะทุกๆ วันนั้นจะเกิดคู่แข่งรายใหม่ๆ, เทคโนโลยีใหม่ๆ, กฎหมายใหม่ๆ ไปจนถึงลูกค้าที่มีพฤติกรรมใหม่ๆ ตลอดเวลา การขยับตัวให้เร็วและกล้าลองผิดลองถูกนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ
3 บริการเด่นที่ถูกเปิดตัวล่าสุด – SAP Business One, Data Analytics on Cloud, SD-WAN
ในงานสัมมนาครั้งนี้มีการเปิดตัว 3 บริการใหม่ล่าสุดของ AIS Business ได้แก่

- Data Analytics as a Service โดย AIS ได้จับมือกับ G-Able เพื่อสร้างระบบจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล Big Data บน Cloud ทำให้องค์กรไม่ต้องลงทุนระบบ IT Infrastructure ในส่วนนี้เองทั้งหมด ช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายและนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้อย่างยืดหยุ่นยิ่งขึ้น
- SAP Business One โดย AIS ได้จับมือกับ SAP เพื่อให้ธุรกิจ SME สามารถใช้งาน SAP ขนาดเล็กกันได้เลยโดยไม่ต้องลงทุนระบบ Data Center ของตนเอง
- SD-WAN โดย AIS ได้จับมือกับ Cisco และ Versa เพื่อให้บริการ SD-WAN สำหรับเหล่าธุรกิจองค์กรที่มีหลากหลายสาขาและต้องการระบบเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพสูงซึ่งเชื่อมต่อกันได้อย่างมั่นคงปลอดภัย และบริหารจัดการได้อย่างง่ายดายจากศูนย์กลาง
ทั้ง 3 บริการนี้พร้อมให้บริการแล้วอย่างเป็นทางการ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อทีมงาน AIS Business ได้ทันที
ชมบูธเทคโนโลยีหลากหลาย พร้อมสนับสนุนองค์กรไทยให้เติบโตด้วย IoT และ Cloud

นอกจากนี้ที่บูธนั้นก็ยังมีการจัดแสดงโซลูชันที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งทางทีมงานขอหยิบยกบางส่วนมาเล่าสู่กันฟังดังนี้ครับ
- Smart Recognition การใช้กล้องวิดีโอจดจำตรวจสอบวัตถุและยานพาหนะ เพื่อนำไปใช้ด้านการรักษาความปลอดภัย และแคมเปญการตลาดได้
- Smart Cold Chain โซลูชันบริหารจัดการตู้แช่และห้องเย็นด้วย IoT จากความร่วมมือกับบริษัท The Cool
- Robot-as-a-Service การให้บริการหุ่นยนต์สำหรับนำไปใช้ในธุรกิจ ซึ่งสามารถจัดการกับพฤติกรรมและการโต้ตอบของหุ่นยนต์ได้เอง
- Digital Payment Gateway โดยใช้ Rabbit LINE Pay และ mPAY ร่วมกัน ทำให้ธุรกิจองค์กรสามารถนำโซลูชัน Payment เหล่านี้ไปใช้งานต่อยอดได้
- Digital Marketing & Outsource Contact Center โดยเป็นบริการจากบริษัทในเครือของ AIS อย่าง Teleinfo Media ก็สามารถให้บริการด้านการตลาดแก่ธุรกิจองค์กรได้เช่นกัน
เกี่ยวกับ AIS Business
AIS Business นี้เป็นศูนย์รวมของบริการต่างๆ สำหรับเหล่าผู้ใช้งานในภาคธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ โดยมีบริการตั้งแต่ระบบโทรศัพท์, Internet, Cloud, IoT, Security, Marketing ไปจนถึงโซลูชันเฉพาะทางสำหรับแต่ละธุรกิจต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเหล่าธุรกิจองค์กรได้อย่างครอบคลุม ด้วยทรัพยากรของ AIS และประสบการณ์ที่หลากหลายของทีมงานจาก AIS
ผู้ที่สนใจและต้องการคำปรึกษาแนะนำการนำโซลูชั่นส์ไปใช้กับธุรกิจ สามารถติดต่อทีมงาน AIS Businessได้ที่โทร 1149 หรือที่ http://business.ais.co.th/