ถึงเวลาธุรกิจปรับตัวสู้ COVID-19 ด้วย Cloud เอไอเอส แบ่งปันประสบการณ์การทำ BCP พร้อมข้อแนะนำแก่ธุรกิจไทย

  • การทำงานจากที่บ้านหรือ Work from Home นั้นทำให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมมองเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ด้วยสถิติการใช้งานแอปพลิเคชันสำหรับการทำงานโดยผ่านระบบดิจิทัลและการใช้งานระบบเครือข่ายที่สูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ
  • AIS มีการเตรียมความพร้อมเรื่องการทำแผนสำรองในการทำงานหรือ Business Continuity Plan (BCP) เอาไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยระบบต่าง ๆ ที่สำคัญในการบริหารงาน มีการทำ Digital Transformation ดังนั้น เมื่อวิกฤต COVID-19 เกิดขึ้น ทีมงานของ AIS จึงสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วด้วยการดำเนินตามแผน BCP ที่มีอยู่ และปรับนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาเสริมเพื่อให้การทำงานจากที่บ้านมีประสิทธิภาพสูงสุด
  • Cloud ช่วยให้ธุรกิจยังดำเนินต่อไปได้อย่างไม่สะดุดในหลากหลายแง่มุม ทั้งแอปพลิเคชันสำหรับการทำงานทั่วไป, บริการ SaaS สำหรับการทำงานของแต่ลแผนก ทำให้ผู้ดูแลระบบไอทีขององค์กรไม่ต้องพะวงกับการดูแลรักษา ระบบโครงสร้างพื้นฐาน และ Data Center อีกต่อไปในช่วงที่ยังแนะนำให้ทุกคนทำงานจากที่บ้าน
  • Security ยิ่งทวีความสำคัญท่ามกลางวิกฤตครั้งนี้ ทั้งจากการที่ธุรกิจองค์กรต้องเร่งเสริมความมั่นคงปลอดภัยให้กับการทำงานจากที่บ้านของพนักงาน และ ผู้บริหาร ซึ่งต้องเตรียมตอบรับต่อข้อกฎหมายที่จะบังคับใช้ของประเทศไทย

ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 นี้ AIS ในฐานะของผู้ให้บริการโทรคมนาคมชั้นนำของประเทศไทยก็ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในหลากหลายประเด็น ทั้งการใช้งานโครงข่ายของลูกค้าที่มีแนวโน้มการใช้งานที่สูงขึ้น และการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับระบบแอปพลิเคชันแบบใหม่อย่างเห็นได้ชัด ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงกระบวนทำงานภายใน AIS เองที่ได้ใช้แผน Business Continuity Plan (BCP) อย่างเต็มที่ เพื่อให้การทำงานและการให้บริการลูกค้ายังคงดำเนินต่อไปได้อย่างไม่สะดุดหรือติดขัด

หากมุ่งเน้นที่ประเด็นของการทำงานเป็นหลัก คุณกฤษกร ชัยเจริญ ผู้ดำรงตำแหน่ง Head of Cloud and Data Center Business Unit แห่ง AIS ระบุว่าสิ่งที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนจากข้อมูลการใช้งานโครงข่ายของ AIS และแนวโน้มที่พบได้จากลูกค้าธุรกิจองค์กรของ AIS ในช่วงนี้ที่น่าสนใจมีดังนี้

  1. การใช้บริการระบบทำงานร่วมกัน (Collaboration) และระบบประชุม (Conference) ที่เติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก ทั้งจากการที่ภาคธุรกิจหาเครื่องมือใหม่ๆ มาปรับใช้งาน ไปจนถึงลูกค้าธุรกิจองค์กรของ AIS ที่มีตวามต้องการใช้งานบริการลักษณะนี้มากขึ้น ทำให้เห็นได้ถึงการสนองต่อนโยบายการทำงานจากที่บ้านในหลายธุรกิจ โดยมีบางธุรกิจที่ยังคงผลัดเวรจัดกลุ่มกันมาทำงาน และบางธุรกิจที่ตัดสินใจทำงานจากที่บ้านทั้งหมด
  2. การใช้บริการ Cloud File Sharing นั้นมีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด เพราะการทำงานร่วมกันนั้นไม่ได้มีเพียงแค่การสื่อสารสนทนาเพียงอย่างเดียว แต่การจัดการเอกสารและแบ่งปันข้อมูลในการทำงานระหว่างกันนั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน
  3. การปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอทีเพื่อรับมือกับ COVID-19 อย่างฉุกเฉิน และการพิจารณาหันมาใช้ Cloud มากขึ้น โดยมีทั้งธุรกิจองค์กรที่เริ่มติดตั้งใช้งานเทคโนโลยีอย่าง Virtual Desktop Infrastructure (VDI) เพื่อรองรับการทำงานจากที่บ้านได้อย่างรวดเร็วในช่วงนี้ และธุรกิจที่เริ่มย้ายระบบของตนเองมาสู่ Cloud เพื่อให้ยังคงทำงานจากที่บ้านได้อย่างสะดวก และสามารถเพิ่มขยายทรัพยากรที่ต้องใช้งานบน Cloud ได้อย่างคล่องตัว อีกทั้งการใช้บริการ Firewall และ Virtual Private Network (VPN) เพื่อให้การใช้งาน Cloud มีความมั่นคงความปลอดภัยมากขึ้น
  4. การทำ BCP เริ่มกลายเป็นวาระหลักของหลายธุรกิจ เพื่อปกป้องธุรกิจจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันในลักษณะนี้ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยมีทั้งประเด็นเรื่องของการทำ Disaster Recovery (DR) ไปจนถึงการทำ Colocation สำหรับทั้งส่วนของ Data Center และพื้นที่สำนักงานสำรองกรณีฉุกเฉิน

เรียกได้ว่าการมาของ COVID-19 นี้ไม่เพียงแต่จะทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวด้านระบบไอทีอย่างรวดเร็วเท่านั้น แต่ยังทำให้วิสัยทัศน์ในการลงทุนด้านระบบไอทีและมุมมองที่มีต่อ Cloud ของภาคธุรกิจนั้นเปลี่ยนแปลงไปด้วย จากเดิมที่หลายธุรกิจเคยลังเลในการตัดสินใจใช้ Cloud ตอนนี้ก็มองเห็นข้อดีด้านความยืดหยุ่นคล่องตัวของ Cloud กันชัดเจน และตัดสินใจใช้งานได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

AIS ใช้เวลาไม่เกิน 3 วัน ในการดำเนินแผน BCP จนทำงานจากที่บ้านได้อย่างสมบูรณ์

คุณกฤษกรได้เล่าถึงการดำเนินแผน BCP ภายใน AIS หลังจากที่ตัดสินใจดำเนินนโยบายการทำงานจากที่บ้านอย่างเต็มตัวว่าใช้เวลาเพียงไม่ถึง 3 วันเท่านั้นพนักงานก็สามารถทำงานจากที่บ้านได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะการที่ AIS ให้ความสำคัญกับแผน BCP เป็นอย่างมากในฐานะของผู้ให้บริการระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยที่จะต้องให้บริการระบบโทรคมนาคมได้อย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเกิดภาวะวิกฤตใด ๆ

สำหรับ AIS แผน BCP คือสิ่งที่ AIS ได้เตรียมการเอาไว้เป็นอย่างดี ทั้งในเชิงของนโยบายที่มีการวางแผนล่วงหน้าพร้อมกระบวนการการสื่อสารและการทำงานที่ชัดเจน, การสนับสนุนพนักงานให้สามารถใช้งานเทคโนโลยีในการทำงานได้อย่างคล่องตัว และการลงทุนในเทคโนโลยีที่จำเป็น เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที ในขณะที่การทำงานภายใน AIS เองนั้นก็มีการปรับมาให้ กระบวนการต่าง ๆ เป็นรูปแบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ก่อนหน้านี้ ดังนั้นเมื่อต้องใช้แผน BCP กันในช่วงนี้ พนักงานแต่ละแผนกจึงมีทิศทางที่ชัดเจนในการปรับรูปแบบการทำงาน และสามารถเข้ากับเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำงานจากที่บ้านได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ AIS ประสบความสำเร็จในการดำเนินแผน BCP ครั้งนี้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในภาวะนี้ก็คือการทำงานจากที่บ้านจะทำให้พฤติกรรมการทำงานของธุรกิจทั่วโลกเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน โดยภายใน AIS เองนั้นก็มีข้อสังเกตในหลายๆ ประเด็น ทั้งการที่ทุกคนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการที่ไม่ต้องเผชิญกับเงื่อนไขเรื่องการเดินทาง, การประชุมที่ใช้เวลาสั้นลง และทำให้มีช่วงเวลาทำงานมากขึ้น, ความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีที่ต้องใช้ในการทำงานจากที่บ้านอย่างเช่น VPN หรือ VDI ซึ่งสิ่งนี้เองที่จะส่งผลให้อนาคตเกิดภาพของการผสมผสานกันระหว่างการทำงานแบบเก่าที่มีจุดเด่นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างทีมงาน กับการทำงานแบบใหม่ที่นำเทคโนโลยีด้านการสื่อสารเข้ามาเสริมประสิทธิภาพ ในขณะที่การทำงานได้จากทุกที่ทุกเวลาด้วยการใช้ Cloud ก็จะเข้ามาเติมเต็มภาพของการทำงานในอนาคต

Cloud ช่วยให้ทำงานได้จากทุกที่ Security ช่วยให้ทำงานได้อย่างมั่นใจ

สำหรับในช่วงเวลาที่ทุกคนต้องปรับตัวรับมือกับ COVID-19 นี้ ในเชิงของเทคโนโลยี สองประเด็นสำคัญที่คุณกฤษกรมองในยามนี้ก็คือ Cloud และ Security

“ในฐานะผู้ให้บริการ Cloud เราเห็นได้ชัดว่าการเลือกใช้ Cloud ส่งผลดีต่อธุรกิจอย่างชัดเจนในภาวะวิกฤตนี้จากประเด็นด้านการลดค่าใช้จ่ายและการดูแลรักษาระบบที่ง่ายดายยิ่งขึ้น และแนวโน้มของการเปลี่ยนการลงทุนไปสู่การเช่าใช้แทนการลงทุนสร้างเองก็กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง” คุณกฤษกรกล่าว “ส่วนในแง่ของการใช้งานระบบแอปพลิเคชันสำหรับทำธุรกิจก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป ในองค์กรที่ประสบความสำเร็จมองว่าระบบเหล่านี้ต้องเป็นระบบที่ทำให้สินค้าและบริการของตนเองไปอยู่ใกล้ลูกค้าได้มากที่สุด มีการใช้งานได้สะดวก ง่ายต้องการใช้งาน และสามารถรองรับการใช้งานจำนวนมากได้ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่ง Cloud ก็สามารถตอบโจทย์ด้านระบบสถาปัตยกรรมที่ยืดหยุ่นและรองรับผู้ใช้งานจำนวนมากได้เป็นอย่างดี”

นอกจากนี้ Security ก็จะกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อธุรกิจภายใต้มุมมองที่แตกต่างไปจากในอดีต จากที่เคยมีการควบคุมด้านความมั่นคงปลอดภัยเฉพาะภายในที่ทำงานเท่านั้น ไปสู่การปกป้องทุกอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานไม่ว่าจะเป็นการทำงานจากภายในออฟฟิศหรือจากสถานที่อื่นก็ตาม รวมถึงการปกป้อง Data Center ที่จะต้องครอบคลุมไปถึงบริการ Cloud ด้วย

สำหรับธุรกิจซึ่งกำลังเริ่มต้นทำงานจากที่บ้าน AIS ก็มีข้อแนะนำในการเสริมความมั่นคงปลอดภัยในการทำงานจากที่บ้านด้วยการเลือกใช้ช่องทางในการเชื่อมต่อที่เหมาะสม และจำกัดสิทธิ์ของผู้ใช้งานแต่ละคนให้เข้าถึงได้เฉพาะระบบงานหรือทรัพยากรที่ตนเองเกี่ยวข้องเท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงในกรณีที่เกิดการโจมตีต่อเนื่องลง โดยการเลือกใช้เทคโนโลยีอย่าง VPN และ VDI ให้เหมาะสมตามบทบาทหน้าที่และความจำเป็นสำหรับผู้ใช้งานแต่ละคน

สุดท้าย คุณกฤษกรได้สรุปข้อแนะนำ 3 ประการสำหรับธุรกิจองค์กรในการวางกลยุทธ์เพื่อเสริม Security ทั้งสำหรับการใช้งานระบบที่อยู่ภายใน Data Center ของธุรกิจองค์กรไปจนถึงการเช่าใช้บริการ Cloud ดังนี้

  1. ต้องมีการกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงปลอดภัย หรือ Security Operation ที่ระบุถึงวิธีการและกระบวนการในการจัดการทรัพยากรโดยเฉพาะทางด้านไอทีหรือไอซีทีในการทำงาน ตั้งแต่ระบบแอปพลิเคชัน, ระบบเครือข่าย ไปจนถึงอุปกรณ์แม่ข่ายต้องใช้ในการประมวลผล ให้ครอบคลุมถึงกระบวนการในการเฝ้าระวัง, การปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงอุปกรณ์, การบริหารจัดการสิ่งที่ไม่คาดคิดหรือ Incident ที่เกิดขึ้นล้วนเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างพิเศษ เพราะถึงแม้เครื่องมือจะดีแต่ถ้าหากกระบวนการไม่ดีก็อาจไม่ปลอดภัยเท่าที่ควร
  2. ต้องมีการเสริมให้องค์กรมีความมั่นคงปลอดภัยมากขึ้น เช่น ธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดกลางและ Startup โดยมากมักจะมองแค่ว่าตัวเองมี Firewall ก็เพียงพอ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านความมั่นคงปลอดภัยนี้ก็มีอีกหลากหลายที่ต้องเลือกพิจารณามากขึ้น ทั้งการเลือกใช้ Firewall ที่เหมาะสมกับการทำงาน, การตรวจจับภัยคุกคาม, การปกป้องข้อมูล และสถาปัตยกรรมของการทำงานที่เปลี่ยนไปเป็นแบบกระจายตัว ต้องมีระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่จัดการได้อย่างครอบคลุมทั้งส่วนของระบบเครือข่าย, ระบบแอปพลิเคชัน, ระบบโครงสร้างพื้นฐานและการจัดเก็บข้อมูลมีความมั่นคงปลอดภัย
  3. ต้องทำการตอบรับต่อข้อกฎหมายที่บังคับใช้โดยภาครัฐ หรือกฎระเบียบหรือข้อบังคับที่หน่วยงานต้องปฏิบัติตาม เช่น ธนาคารหรือสถาบันการเงินก็ต้องมีกฎระเบียบข้อบังคับจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบริษัทที่จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบนโยบายความปลอดภัยสารสนเทศของ กลต. หรือ กฎระเบียบอื่นๆ รวมถึงพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่จะบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ก็เป็นเรื่องที่ทุกธุรกิจต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

ทางด้าน AIS เองก็มีบริการที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยให้ธุรกิจไทยสามารถฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันได้ ทั้งการทำ Mobile Security เสริมความมั่นคงปลอดภัยให้กับอุปกรณ์ที่พนักงานใช้งานและบริหารจัดการจากศูนย์กลางได้, บริการ Cloud เพื่อช่วยให้ธุรกิจเพิ่มขยายทรัพยากรระบบและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง, บริการ Data Center เพื่อให้ธุรกิจไม่ต้องดูแลระบบ Data Center ของตนเองอีกต่อไป และบริการด้าน Security ที่ช่วยเสริมความมั่นคงปลอดภัยและตรวจจับการโจมตีหรือภัยคุกคามต่างๆ ได้ด้วย Security Operations Center (SOC)

AIS ได้ทำการนำเสนอบริการที่สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่ภาคธุรกิจในยามนี้ โดยสำหรับองค์กรธุรกิจที่สนใจบริการจาก AIS Business Cloud สามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ที่ https://business.ais.co.th/workingfromhome/#solutions หรือติดต่อทีมงาน Cloud Solution Sales ได้ที่ sc-clss@ais.co.th

About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

Intel แยก Intel Capital เป็นหน่วยงานอิสระ เดินหน้าเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อฟื้นฟูกิจการ

Intel ประกาศในวันนี้ว่าหน่วยงานลงทุนของบริษัท Intel Capital จะถูกแยกออกเป็นหน่วยงานอิสระ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดในความพยายามเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรในช่วงที่บริษัทกำลังพยายามฟื้นฟูสถานะของตน โดยการแยกตัวเป็นกองทุนที่ดำเนินงานอย่างอิสระจะทำให้ Intel Capital สามารถระดมทุนจากนักลงทุนภายนอกได้ แทนที่การพึ่งพาทุนทั้งหมดจาก Intel เพียงแหล่งเดียวในปัจจุบัน

AWS เปิดตัว Mexico(Central) Region

AWS ได้ประกาศเปิดตัว Mexico Region ซึ่งทำให้มีฐานคลาวด์เป็นแห่งที่ 36 ในโลกแล้ว ซึ่งประกอบไปด้วย 114 Availability Zones