กรุงเทพฯ – 9 กุมภาพันธ์ 2559 – อะโดบี ( Nasdaq:ADBE ) ตอกย้ำถึงแรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้นต่อนักการตลาดคอนเทนต์ โดยได้เผยแพร่รายงานการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคทั่วโลกใช้อุปกรณ์หลายหน้าจอมากขึ้น มีความอดทนน้อยลง และต้องการความบันเทิงมากขึ้น รายงานดังกล่าวซึ่งมีชื่อว่า “The State of Content: Rules of Engagement” ( สถานะความพึงพอใจ: กฎเกณฑ์ในการดึงดูดผู้บริโภค ) สำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคกว่า 12,000 คนใน 6 ประเทศ โดยนับเป็นหนึ่งในการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคทั่วโลกเกี่ยวกับดิจิตอลคอนเทนต์ที่กว้างขวางและครั้งใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรม
จากการศึกษานี้ พบว่าผู้ใช้อุปกรณ์ดิจิตอลกว่า 8 ใน 10 จะยุติการรับชมเนื้อหาคอนเทนต์ในทันที หากว่าคอนเทนต์นั้นยาวเกินไปหรือรับชมได้ยากบนอุปกรณ์ต่าง ๆ และนอกจากนี้ยังพบว่า ผู้บริโภคมีความต้องการอย่างมากสำหรับคอนเทนต์ที่ปรับแต่งเป็นพิเศษจากแบรนด์ต่าง ๆ โดย 73 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าตนเองเปิดกว้างต่อการแนะนำคอนเทนต์จากแบรนด์ต่าง ๆ โดยอ้างอิงพฤติกรรมในอดีต และ 75 เปอร์เซ็นต์เต็มใจที่จะเปิดเผยข้อมูลอย่างน้อยหนึ่งอย่างเกี่ยวกับตนเองเพื่อให้ได้รับคำแนะนำที่ดีกว่า รายงานฉบับเต็ม รวมถึง “กฎเกณฑ์ในการดึงดูดผู้บริโภค” สำหรับนักการตลาดคอนเทนต์ สามารถเข้าไปดูได้ที่ http://www.adobe.com/go/globalstateofcontent
นายแบรด เรนเชอร์ รองประธานอาวุโสและผู้จัดการทั่วไปฝ่ายดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งของอะโดบี กล่าวว่า “ผลการศึกษานี้นับเป็นสัญญาณเตือนสำหรับนักการตลาดคอนเทนต์ในทุกๆ ที่ และแบรนด์ต่าง ๆ จำเป็นที่จะต้องได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภค ใช้ดีไซน์ที่ดึงดูดใจ ปรับใช้การเชื่อมต่อที่ชาญฉลาดและเป็นไปตามการคาดการณ์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับประสบการณ์”
การใช้งานหลายหน้าจอ
ผู้บริโภคทั่วไปใช้อุปกรณ์โดยเฉลี่ยคนละ 5 เครื่อง และส่วนใหญ่ ( 83 เปอร์เซ็นต์ ) ใช้หลายอุปกรณ์ในเวลาเดียวกัน
- ผู้บริโภคทั่วโลกใช้อุปกรณ์โดยเฉลี่ย 23 เครื่องในเวลาเดียวกัน และผู้บริโภคในสหรัฐฯ ที่ใช้จำนวนอุปกรณ์สูงสุดในเวลาเดียวกันอยู่ที่ 2.42 เครื่อง
- แม้ว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่จะรู้สึกดีเกี่ยวกับการใช้งานหลายหน้าจอ ( 81 เปอร์เซ็นต์รู้สึกว่าได้รับความบันเทิง, 80 เปอร์เซ็นต์รู้สึกว่าได้รับการเชื่อมต่อ, 76 เปอร์เซ็นต์รู้สึกว่ามีประสิทธิภาพ ) แต่เกือบครึ่งหนึ่ง ( 47 เปอร์เซ็นต์) ระบุว่าตนเองรู้สึกวอกแวกเมื่อใช้งานหลายหน้าจอ
ความคลางแคลงใจ
ผู้บริโภครู้สึกคลางแคลงใจเกี่ยวกับเนื้อหาคอนเทนต์ส่วนใหญ่ที่ตนเองรับชมทางออนไลน์: ครึ่งหนึ่งของผู้บริโภค ( 50 เปอร์เซ็นต์ ) สงสัยว่าอาจมีการลบข้อคิดเห็นหรือรีวิวแง่ลบ ขณะที่ 49 เปอร์เซ็นต์สงสัยว่าผู้จัดทำคอนเทนต์อาจได้รับค่าตอบแทนสำหรับการเขียนรีวิวในแง่บวก และ 48 เปอร์เซ็นต์สงสัยว่าบทความข่าวนั้น ๆ อาจมีความเอนเอียง
- ผู้บริโภคส่วนใหญ่ ( 81 เปอร์เซ็นต์ ) มองว่าการรับรองผลิตภัณฑ์โดยคนธรรมดามีความน่าเชื่อถือมากกว่าคนดัง
- ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเชื่อเนื้อหาคอนเทนต์จากคนใกล้ชิดมากที่สุด เช่น เพื่อน หรือคนในครอบครัว ( 63 เปอร์เซ็นต์ )
- มีผู้บริโภคเพียง 23 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เชื่อถือเนื้อหาคอนเทนต์จากบริษัทที่ตนเองไม่ได้ซื้อสินค้า แต่ราว 43 เปอร์เซ็นต์เชื่อถือคอนเทนต์จากบริษัทที่ตนเองซื้อสินค้า
อารมณ์ขันสร้างความผูกพัน
ผู้บริโภคทั่วโลกกว่า 2 ใน 3 คน ( 70 เปอร์เซ็นต์ ) เห็นพ้องต้องกันว่า อารมณ์ขันทำให้ผู้บริโภครู้สึกผูกพันกับบริษัทต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น แต่มีเพียง 14 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ระบุว่าคอนเทนต์ที่มีอยู่ในปัจจุบันจากแบรนด์ต่าง ๆ มอบความเพลิดเพลินใจ
- ผู้บริโภคทั่วโลกเกือบ 1 ใน 3 ( 29 เปอร์เซ็นต์ ) เชื่อว่าเนื้อหาคอนเทนต์ที่สร้างความบันเทิงมีความสำคัญมากกว่าความถูกต้อง
- ความบันเทิงได้รับความสำคัญมากเป็นพิเศษในฝรั่งเศส โดย 42 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่าความบันเทิงคือสิ่งสำคัญมากกว่า
- ผู้บริโภคส่วนใหญ่ ( 64 เปอร์เซ็นต์ ) แชร์คอนเทนต์ทางออนไลน์ โดย 37 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าตนเองชอบที่จะแชร์คอนเทนต์ที่สร้างเสียงหัวเราะให้แก่คนอื่น ๆ ส่วนอีก 36 เปอร์เซ็นต์ชอบที่จะแชร์คอนเทนต์ที่พูดถึงประเด็นปัญหาที่มีความสำคัญต่อบุคคล
ผลการศึกษานี้ต่อยอดจากรายงาน “State of Content Study: Expectations on the Rise” ( สถานะความพึงพอใจ: ความคาดหวังที่เพิ่มขึ้น ) ของอะโดบี ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม รายงานดังกล่าวเน้นย้ำถึงหลุมพรางที่อาจเกิดขึ้นสำหรับผู้สร้างคอนเทนต์ ขณะที่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ มีความคาดหวังเพิ่มสูงขึ้นในเรื่องคุณภาพและดีไซน์ของคอนเทนต์
เกี่ยวกับรายงาน The State of Content: Rules of Engagement
“The State of Content: Rules of Engagement” เป็นรายงานชุดที่สองของผลการสำรวจความคิดเห็นทางออนไลน์ซึ่งแบ่งเป็นสองส่วน โดยมีการสอบถามความคิดเห็นจากผู้บริโภคอายุมากกว่า 18 ปี จำนวน 12,169 คน จาก 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น รายงานฉบับนี้ได้รับการมอบหมายจากอะโดบี และจัดทำโดยบริษัทวิจัย Edelman Berland ซึ่งดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลในช่วงวันที่ 12-29 กันยายน 2558 โดยค่าความผิดพลาดอยู่ที่ +/- 0.89% สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมและกราฟิกในผลการวิจัย โปรดดูที่บล็อกและรายงาน ส่วนผลการศึกษาชุดแรกมีอยู่ที่นี่
เกี่ยวกับบริษัทอะโดบี ซิสเต็มส์ อินคอร์เปอเรทเต็ต
อะโดบีเปลี่ยนโลกผ่านประสบการณ์ด้านดิจิตอล รายละเอียดเพิ่มเติม http://www.adobe.com
กลุ่มผู้ใช้ผลิตภัณฑ์อะโดบีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถติดต่อกับทีมงานของอะโดบีและบุคลากรด้านครีเอทีฟผ่าน Facebook ได้โดยตรง เพื่อรับทราบข่าวคราวความเคลื่อนไหว ข้อมูลอัพเดต และโปรโมชั่นได้ที่ http://facebook.com/AdobeSEA