9 แนวโน้มเทคโนโลยีเครือข่าย WAN ในปี 2018 โดย CEO จาก Silver Peak

David Hughes ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Silver Peak ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโซลูชัน Software-defined WAN ชั้นนำของโลก ออกมาแสดงความเห็นถึงแนวโน้มของเทคโนโลยีเครือข่าย WAN ต่อธุรกิจในปี 2018 ซึ่งสามารถสรุปได้ 9 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. บริษัทขนาดใหญ่หันมาใช้สถาปัตยกรรม WAN แบบ Cloud First

ปัจจุบันนี้ ทราฟฟิก WAN ส่วนใหญ่ของสำนักงานสาขามักจะวิ่งไปยังระบบ Cloud เนื่องจากบริษัทหันไปใช้บริการ Software-as-a-Service หรือรันแอปพลิเคชันบน Private Cloud มากขึ้น การใช้เทคโนโลยี WAN แบบดั้งเดิมที่ถูกออกแบบมาสำหรับการรับส่งข้อมูลระหว่างสำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขานั้น ทำให้ไม่สามารถแสดงประสิทธิภาพการเข้าถึงระบบ Cloud ได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น ส่งผลให้ในปี 2018 เราจะเริ่มเห็นหลายบริษัทเริ่มนำ SD-WAN ที่เน้นสถาปัตยกรรมแบบ Cloud First เข้ามาใช้งานกันมากขึ้นกว่าเดิม

2. WAN Edge รูปแบบใหม่จะถูกนำมาใช้แทน Router แบบเดิมๆ ในสำนักงานสาขา

อุปกรณ์ Router แบบเดิมๆ จะไม่ใช่ตัวเลือกแรกในการวางระบบของสำนักงานสาขาอีกต่อไป การลงไปคอนฟิก Router ผ่านหน้า CLI ทีละเครื่องๆ กลายเป็นการเพิ่มภาระและความยุ่งยากให้แก่ผู้ดูแลระบบ แต่ด้วยการมาถึงของเทคโนโลยี SD-WAN ซึ่งเป็นอุปกรณ์ WAN Edge นวัตกรรมใหม่ที่สามารถบริหารจัดการจากศูนย์กลางและตั้งค่าให้เหมาะกับการใช้งานแอปพลิเคชันประเภทต่างๆ ได้ ทำให้ Router เหล่านั้นจะถูกแทนที่ในไม่ช้านี้

3. การซื้อ Switch หรือ Router มาใช้ในระบบเครือข่ายเริ่มลดน้อยลง

การแทนที่ Switch และ Router แบบเดิมๆ ไม่ได้จำกัดเฉพาะที่การวางระบบในสำนักงานสาขาเพียงอย่างเดียว ในปี 2018 ที่จะถึงนี้ เราจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของตลาด Data Center หลายองค์กรจะเริ่มนำนวัตกรรมเครือข่ายแบบใหม่ๆ นอกเหนือจากการใช้ Switch หรือ Router แบบเดิมๆ มาใช้มากยิ่งขึ้น เกิดการพลิกโฉมของสถาปัตยกรรมโครงข่าย

4. การใช้ WAN Edge ช่วยเพิ่มความมั่นคงปลอดภัยให้แก่โครงข่าย

เป็นเวลาหลายปีที่องค์กรถูกบังคับให้ต้องเลือกระหว่างการติดตั้ง Firewall ที่ทุกสาขา หรือบีบให้สาขามาออกอินเทอร์เน็ตโดยผ่าน Next-generation Firewall ที่สำนักงานใหญ่ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงปลอดภัย แต่ในปี 2018 อุปกรณ์ WAN Edge จะช่วยให้ผู้ดูแลระบบเลือกได้ว่า จะให้ทราฟฟิกประเภทใดออกอินเทอร์เน็ตที่สาขาผ่าน Cloud-based Firewall Service (หรือ Web Service Gateway) และทราฟฟิกใดควรผ่านมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยแบบครบวงจรที่สำนักงานใหญ่ นอกจากนี้ โซลูชัน SD-WAN ระดับใช้งานในองค์กรยังช่วยทำ Micro-segmentation ทราฟฟิกบนเครือข่าย WAN เพื่อจำกัดผลกระทบเมื่อเกิดเหตุ Data Breach ได้อีกด้วย

5. Machine Learning ช่วยให้ระบบเครือข่ายขับเคลื่อนด้วยตัวมันเองได้

Machine Learning จะเข้ามาเติมเต็มการทำ Automation และช่วยพลิกโฉมระบบเครือข่ายให้ก้าวข้ามการตั้งค่าผ่าน CLI ทีละเครื่อง ไปเป็นการบริหารจัดการจากศูนย์กลาง เราจะได้เห็นสิ่งเหล่านี้จากเทคนิคการจำแนกประเภทของแอปพลิเคชัน การเรียนรู้และปรับตัวของฟังก์ชันการทำงานบนเครือข่าย และการทำ Data Analytics ซึ่งช่วยสกัดข้อมูลระดับ Terabytes ให้กลายเป็นข้อมูลเชิงลึกที่ผู้ดูแลระบบนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้

6. การบริหารจัดการผ่านระบบ Cloud กลายเป็นฟีเจอร์พื้นฐาน

หลายปีที่ผ่านมา จำนวนอุปกรณ์ที่บริหารจัดการผ่านระบบ Cloud มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระบบ Wi-Fi มาสู่ระบบ Switch จนมาถึงอุปกรณ์ WAN Edge การบริหารจัดการผ่านศูนย์กลางบนระบบ Cloud ช่วยให้การเริ่มวางระบบทำได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม และเพิ่มขีดความสามารถในการบริการจัดการได้ตลอดเวลา ที่สำคัญคือ ขุมพลังของระบบ Cloud ช่วยให้ผู้ดูแลระบบสามารถทำ Data Analytics และนำเทคนิค Machine Learning มาใช้เพื่อสนับสนุนการทำงานของตนได้

7. มี Virtual Network Function (VNF) ระบบเดียวดีกว่ามี 4 ระบบ

ปี 2018 เราจะเห็นผู้ให้บริการเริ่มออก Universal CPE หรืออุปกรณ์ฮาร์ดแวร์แบบ x86 ที่รวม Virtual Network Functions จากหลายๆ ผู้ผลิตไว้ในอุปกรณ์เดียวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อ VNF รองรับฟีเจอร์ที่หลากหลายมากขึ้น ส่งผลให้ยิ่งจำนวน VNF มีน้อยเท่าไหร่ ยิ่งช่วยให้บริหารจัดการได้ง่ายเท่านั้น ที่สำคัญคือ VNF ที่ทำหน้าที่เป็น SD-WAN จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการวางระบบสำหรับสำนักงานสาขา นอกจากนี้ Universal CPE ที่ดีจะถูกตัดสินโดยความสามารถในการเลือกใส่เทคโนโลยีที่องค์กรต้องการเข้าไปโดยไม่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์

8. การวางระบบ SD-WAN มีตัวเลือกมากขึ้น ตั้งแต่แบบทำเองจนถึงผู้ให้บริการทำให้อย่างครบวงจร

การวางระบบ SD-WAN ของหลายๆ องค์กรในช่วงแรกนั้น จะเป็นการดำเนินการด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้ง ตั้งค่า หรือบริหารจัดการ แต่ปัจจุบันเราจะเริ่มเห็นองค์กรเรียกใช้ Managed Service Provider เข้ามาช่วยจัดการอย่างครบวงจรมากขึ้น หรือองค์กรบางแห่งอาจต้องการความช่วยเหลือเฉพาะตอนติดตั้ง แต่หลังจากนั้นก็บริหารจัดการด้วยตนเอง เหล่านี้ ก่อให้เกิดตลาดที่ SI และผู้ให้บริการพร้อมนำเสนอทางเลือกที่หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกรูปแบบ

9. ธุรกิจ SD-WAN พร้อมเสนอขายหุ้น IPO

เมื่อเทคโนโลยี SD-WAN เริ่มแพร่หลาย เราอาจจะได้เห็นผู้ให้บริการโซลูชัน SD-WAN รายใหญ่เตรียมเสนอขายหุ้น IPO เพื่อขยายธุรกิจหรือหาเงินลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ต่อไป สำหรับผู้ให้บริการ SD-WAN รายย่อยเอง ก็อาจถูกบริษัทใหญ่เข้าควบรวมกิจการเพื่อนำเทคโนโลยีมาต่อยอดบริการของตน ส่วนบริษัทที่ถูกรวมกิจการในปี 2017 เราคงจะได้เห็นว่าเทคโนโลยีใดของบริษัทนั้นที่จะถูกนำไปพัฒนาต่อในบริษัทที่ซื้อกิจการไป และเทคโนโลยีใดที่จะถูกโละทิ้ง

David Hughes ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Silver Peak

สำหรับผู้ที่สนใจเทคโนโลยี SD-WAN สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: https://www.techtalkthai.com/silver-peak-sd-wan-interview/

About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

Anthropic เพิ่มความสามารถ Web Search ให้ Claude AI ยกระดับการตอบคำถามด้วยข้อมูลล่าสุด

Anthropic ประกาศเพิ่มฟีเจอร์ค้นหาเว็บ (Web Search) ให้กับ AI Assistant Claude ช่วยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลปัจจุบันบนอินเทอร์เน็ตได้ พร้อมแสดงแหล่งอ้างอิงให้ผู้ใช้งานตรวจสอบความถูกต้องได้ทันที

NB-IoT คืออะไร?

NB-IoT คงเป็นศัพท์ที่หลายท่านได้เห็นในทางเลือกของการเชื่อมต่อระยะไกลของอุปกรณ์ IoT และเชื่อว่าหลายคนก็ยังไม่เข้าใจเช่นกันว่า เหตุใดการโปรโมตบริการ NB-IoT จึงผ่านมาทางผู้ให้บริการมือถือรายใหญ่ ในบทความนี้เราจะมาอธิบายความหมายของ Narrowband IoT ให้รู้จักกันชัดๆ