ภายในงาน Westcon Solutions Security & Network Forum ที่เพิ่งจัดไปเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทีมงาน TechTalkThai ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณ Rolf Muralt รองประธานฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์จาก Silver Peak เกี่ยวกับเทคโนโลยี SD-WAN ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มการใช้งานจากทั่วโลกและประเทศไทย จุดเด่นของเทคโลยี SD-WAN เทียบกับการเช่าลิงค์ MPLS รวมไปถึงผลประโยชน์ที่จะได้จากการนำ SD-WAN ไปใช้งาน
1. ก่อนอื่นเลย ช่วยแนะนำเทคโนโลยี SD-WAN สักเล็กน้อยได้ไหมครับ
Muralt: SD-WAN หรือ Software-define WAN เรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยี WAN ยุคใหม่ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเชื่อมต่อสำนักงานแต่ละสาขาเข้าด้วยกัน โดยอาศัยเทคโนโลยี Software-defined Networking (SDN) บนเครือข่ายบรอดแบนด์ในการเลือกวิธีการที่ดีที่สุดในการเชื่อมต่อไปยังสำนักงานสาขา และขจัดปัญหาเรื่องความยุ่งยากในการติดต่อสื่อสาร ที่สำคัญคือ SD-WAN จะเน้นโฟกัสทางด้านประสิทธิภาพของแอพพลิเคชัน เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เสถียร และมั่นคงปลอดภัย เรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะกับองค์กรที่ธุรกิจกำลังเติบโต มีการขยายสาขาให้บริการออกไปเป็นจำนวนมาก ทั้งในต่างจังหวัดและต่างประเทศ
2. จุดเด่นของ SD-WAN คืออะไร ทำไมองค์กรจึงควรหันมาใช้ SD-WAN
Muralt: จุดเด่นที่เห็นชัดที่สุดเลยคงเป็นราคา จนถึงตอนนี้หลายองค์กรใช้ลิงค์ส่วนตัวอย่าง MPLS ในการเชื่อมต่อสำนักงานแต่ละสาขาเข้าด้วยกัน ซึ่งมีราคาสูงมาก แต่ปัจจุบันเราจะเห็นว่าอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์มีความเร็วสูงขึ้น แต่ราคาถูกลง SD-WAN อาศัยข้อได้เปรียบตรงจุดนี้ในการสร้างเครือข่ายสำหรับติดต่อสื่อสารระหว่างสาขาบน Infratructure เดิมที่มีอยู่ ซึ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้สูงสุดถึง 90% นอกจากนี้ SD-WAN ยังช่วยลดความซับซ้อนในการเชื่อมต่อระหว่างสาขาอีกด้วย องค์กรสามารถบริหารจัดการการเชื่อมต่อทั้งหมดได้จากศูนย์กลาง ซึ่งช่วยขจัดปัญหาของสำนักงานสาขาขนาดเล็กที่มีทรัพยากรฝ่าย IT ที่จำกัด หรือไม่มีเลย
3. คิดว่าธุรกิจจะได้รับประโยชน์อะไรจากการใช้ SD-WAN
Muralt: แน่นอนว่าประการแรกต้องเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่ลดลง เนื่องจาก SD-WAN ใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ซึ่งมีราคาถูกกว่าการเช่าลิงค์ MPLS เป็นอย่างมาก แต่ให้ประสิทธิภาพการใช้งานที่ไม่แพ้กัน องค์กรสามารถใช้เทคโนโลยี SD-WAN บน Infrastructure แบบใดก็ได้โดยไม่ต้องยึดติดกับ ISP อีกต่อไป
ประการที่สองคือ สำหรับสำนักงานสาขาไกลๆ ที่ไม่มีฝ่าย IT ดูแล SD-WAN มีคุณสมบัติ Zero-touch Provisioning ซึ่งเพียงแค่เชื่อมต่ออุปกรณ์เข้ากับอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ฝ่าย IT จากสำนักงานใหญ่ก็สามารถตั้งค่า กำหนดนโยบายการดำเนินงานต่างๆ ให้พร้อมใช้งานจากศูนย์กลางได้เลย ซึ่งช่วยลดระยะเวลาในการทำให้สำนักงานสาขาพร้อมให้บริการจากหลักเดือนเหลือเพียงหลักชั่วโมงหรือหลักวันเท่านั้น
ประการที่สาม หลายคนอาจคิดว่า MPLS มีความเสถียร ประสิทธิภาพดีกว่า และมั่นคงปลอดภัยกว่าแต่ที่จริงแล้ว MPLS ยังคงเป็นเรื่องของการเชื่อมต่อซึ่งยังขาดระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัย จะเห็นได้ว่าบางองค์กรที่ใช้ MPLS ก็ยังคงต้องมีอุปกรณ์อื่นๆ สำหรับทำ VPN กลับมายังสำนักงานใหญ่ด้วย ผมบอกได้เลยว่าเทคโนโลยี SD-WAN ในตอนนี้ก็ดีไม่แพ้กันและมีความได้เปรียบเรื่องความมั่นคงปลอดภัยเป็นอย่างมาก เราใช้การเข้ารหัสข้อมูลที่ได้มาตรฐานสากล มีฟังก์ชัน Stateful Firewall ติดตั้งมาให้พร้อมใช้บริการ นอกจากนี้ยังมี WAN Optimization ซึ่งช่วยเร่งประสิทธิภาพการใช้แอพพลิเคชันให้ถึงขีดสุดอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น Sharepoint ซึ่งเราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มากถึง 80%
สุดท้าย สำหรับประเทศไทย SD-WAN เข้ามาตอบโจทย์องค์กรที่มีปัญหาในการขออนุญาตเช่าลิงค์ MPLS จาก Ragulator (กสทช. และการไฟฟ้า) ซึ่งช่วยให้องค์กรสามารถขยายสาขาออกไปยังต่างจังหวัดหรือต่างประเทศได้ง่าย และไม่จำเป็นต้องเช่าลิงค์ MPLS แบบ International ซึ่งมีราคาสูงมาก
4. มุมมองของตลาด SD-WAN จากทั่วโลก และในประเทศไทยเป็นอย่างไร
Muralt: SD-WAN เป็นเทคโนโลยีที่เพิ่งปรากฎเป็นรูปเป็นร่างเมื่อราว 2 ปีก่อน และเริ่มเข้าสู่ตลาดในประเทศไทยประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่เกิดตอนที่หลายองค์กรเริ่มหันไปใช้ระบบ Cloud ส่งผลให้ระบบเครือข่ายมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่ละองค์กรต้องการเชื่อมต่อหากันมากขึ้น และมีการเชื่อมต่อที่ดียิ่งขึ้น ซึ่ง SD-WAN เข้ามาช่วยตอบโจทย์ตรงจุดนี้ องค์กรทั่วโลกจึงสนใจใช้งานอย่างรวดเร็ว คาดว่าในอีก 4 – 5 ปีข้างหน้ามูลค่าของตลาด SD-WAN จะสูงถึง $6,000 ล้าน (หรือประมาณ 206,000 ล้านบาท)
ในส่วนของ Silver Peak เองก็ได้เข้าสู่ตลาดนี้มาแล้ว 18 เดือน มีลูกค้ามากกว่า 350 รายทั่วโลก ในเขตภูมิภาคอาเซียนเองก็มีองค์กรใช้งานมากกว่า 10 รายแล้ว จนถึงตอนนี้ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็เริ่มหันมาสนใจเทคโนโลยี SD-WAN มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีสำนักงานสาขาเป็นจำนวนมาก หรือแม้แต่ ISP ที่ให้บริการ MPLS เอง เนื่องจาก ISP มองว่านี่เป็นโอกาสที่จะเปิดตลาดไปยังฐานลูกค้ารายใหม่ๆ โดยขายบริการต่อยอดจากลิงค์อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ แทนที่จะต้องขาย MPLS ซึ่งมีราคาสูงแต่หาลูกค้าได้ยาก นอกจากนี้บริษัท SI เองก็สามารถผันตัวเป็น Managed Service Provider สำหรับให้บริการโซลูชันสำหรับเชื่อมต่อสาขาแบบครบวงจรได้อีกด้วย ผมคิดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า ตลาด SD-WAN จะคึกคักมากกว่านี้แน่นอน
5. คิดว่าโซลูชัน SD-WAN ที่ดีความมีคุณสมบัติอะไรบ้าง ช่วยยกตัวอย่างมาสัก 3 รายการ
Muralt: สำหรับผมแล้ว อันดับแรกเลย SD-WAN ควรมีคุณสมบัติ Application Awareness Routing ซึ่งเป็นการปรับแต่งระบบเครือข่ายให้เหมาะสมกับการใช้แอพพลิเคชันมากที่สุด เพื่อตอบสนองความต้องการเชิงธุรกิจ SD-WAN ควรช่วยให้องค์กรมีอิสระในการใช้แอพพลิเคชันมากขึ้น และมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น การใช้งานก็ควรมีความยืดหยุ่นไม่ว่าจะเป็น Data Center, Private Cloud หรือ Public Cloud ก็ต้องสามารถเชื่อมต่อกันผ่าน SD-WAN ได้เลย โดยที่ไม่กระทบต่อระบบ Infrastructure หลังบ้าน นอกจากนี้ควรสามารถติดตั้ง SD-WAN ได้บนอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ทั่วไป ไม่จำเป็นต้องใช้ฮาร์ดแวร์ที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ สุดท้ายที่สำคัญที่สุด คือควรมีความมั่นคงปลอดภัยสูง คือมี Firewall ติดตั้งมาในตัว สามารถควบคุมการใช้แอพพลิเคชัน และผสานการทำงานร่วมกับระบบ Next-generation Firewall เพื่อเพิ่มความมั่นคงปลอดภัยในการเชื่อมต่อกับเครือข่ายภายนอกได้
6. SD-WAN เหมาะสำหรับองค์กรระดับใด มีสาขาประมาณกี่แห่ง
Muralt: โซลูชัน SD-WAN ตอบโจทย์องค์กรทุกระดับ โดยเฉลี่ยแล้ว องค์กรที่ใช้โซลูชัน SD-WAN มักมีสำนักงานสาขาประมาณ 10 – 30 แห่ง แต่สูงสุดที่ทาง Silver Peak เคยติดตั้งคือประมาณ 350 สาขาซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วโลก ยกตัวอย่างกรณีศึกษาใกล้ๆ ตัว เช่น อุตสาหกรรมการผลิตแห่งหนึ่งในแถบเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีการพัฒนาแอพพลิเคชันใช้งานกันเองภายใน เดิมที่อุตสาหกรรมแห่งนี้เช่าลิงค์ MPLS 2 ลิงค์ในการเชื่อมต่อระหว่างแต่ละสาขาซึ่งมีราคาสูงมาก ทาง Silver Peak จึงเข้าไปเสนอโซลูชันเปลี่ยนลิงค์เส้นหนึ่งเป็นอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์และใช้เทคโนโลยี SD-WAN แทน ส่งผลให้สามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้สูงถึง 50% และจากคุณสมบัติ WAN Optimization ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้แอพพลิเคชันสูงถึง 80% อีกด้วย
7. สุดท้ายแล้ว คิดว่า SD-WAN จะเข้ามามีบทบาทในยุค Cloud Computing ในปัจจุบันอย่างไร
Muralt: ปัญหาใหญ่ของการใช้ระบบ Cloud คือ Shadow IT หรือก็คือการที่ผู้ดูแลระบบไม่ทราบว่าพนักงานในองค์กรมีการใช้ Cloud Applications อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายซ่อนเร้น และ Bandwidth ที่สูญเสียไป ซึ่งโซลูชัน SD-WAN ของ Silver Peak มีหน้า Dashboard ซึ่งผู้ดูแลระบบสามารถตรวจสอบได้ว่ามีทราฟฟิกอะไรที่วิ่งออกสู่อินเทอร์เน็ต รวมไปถึงใช้แอพพลิเคชันอะไร ผู้ดูแลระบบสามารถนำข้อมูลส่วนนี้ไปจัดทำนโยบายเพื่อระบุว่า Cloud Applications ใดที่อนุญาตให้ใช้ หรือเอามาปรับใช้เพิ่มเติมได้บ้าง รวมไปถึงจัดการทำ QoS สำหรับแอพพลิเคชันที่สำคัญขององค์กร
นอกจากนี้ สำหรับประเทศไทยที่ Cloud Data Center ไม่ว่าจะเป็นของ Amazon Web Services หรือ Microsoft Azure ต่างอยู่ที่สิงคโปร์ SD-WAN ของ Sliver Peak ก็มีฟังก์ชัน WAN Optimization เพื่อเพิ่มความเร็วในการใช้ Cloud Applications ได้อีกด้วย