Microsoft Azure by Ingram Micro (Thailand)

CEO ต้องอ่าน!! 7 การตัดสินใจสำคัญในการทำ Digital Transformation

ธุรกิจต่างก็ต้องปรับตัวตามสถานการณ์ในแต่ละยุคสมัย และในปัจจุบัน คงไม่มีการปรับตัวใดสำคัญไปกว่าการนำเทคโนโลยีที่นับวันก็ยิ่งมากความสามารถขึ้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย McKinsey บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจชื่อดังจึงเขียนบทความเล่าถึง 7 การตัดสินใจสำคัญของ CEO ในการทำ digital transformation มาให้เราได้อ่านกัน

หลายบริษัทมีความพยายามนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างทีม หรือสร้างแอปพลิเคชั่น แต่หนึ่งปัญหาใหญ่ที่พวกเขายังต้องเผชิญคือระบบเก่าๆที่ยังคงอยู่ที่เดิม หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ core ของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นวิธีการสร้างคุณค่า พนักงาน ระบบการทำงาน หรือเทคโนโลยีที่ใช้ การนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ก็อาจเป็นได้แค่การเปลี่ยนแปลงผิวเผินเท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงดิจิทัลนั้นต้องการการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะจาก CEO การตัดสินใจเหล่านี้เป็นการตัดสินใจที่ยาก เกี่ยวข้องกับการ trade-off ใหญ่ๆหลายอย่างที่อาจจะทำให้อยากจะลืมๆมันไปเสีย แต่การที่ธุรกิจสามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าสิ่งใดที่สำคัญต้องทำ และต้องทำอะไรก่อนหลัง จะช่วยให้ digital transformation นั้นมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงขึ้น

การตัดสินใจครั้งสำคัญเหล่านี้ McKinsey แบ่งเป็น 4 ช่วง และมีด้วยกันทั้งหมด 7 ข้อ

ตั้งเป้าหมายของธุรกิจ

การตัดสินใจที่ 1: ธุรกิจกำลังจะเดินหน้าไปที่ไหน

การกำหนดทิศทางของธุรกิจนั้นแทบจะเป็นการตัดสินใจที่สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ ใช้เทคนิคข้อมูลและการวิเคราะห์เพื่อศึกษาตลาด, เศรษฐกิจ, demand และ supply ที่ผ่านมาไปจนถึงการประเมินสถานการณ์ในอนาคต การเปลี่ยนแปลงส่วนมากที่เกิดขึ้นเป็นการใช้ข้อมูลมาช่วยเปลี่ยนแปลง customer experience ให้ดีขึ้น ธุรกิจอาจนำเคสเหล่านี้มาเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียที่ช่วยกำหนดทิศทางของธุรกิจเอง

ทั้งนี้ทั้งนั้น CEO ควรมีภาพในใจจาก”จินตนาการ”ว่าธุรกิจควรจะเปลี่ยนไปในทางไหน ลองคิดว่าธุรกิจจะเป็นอย่างไรหากมีใช้การระบบดิจิทัลในทุกขั้นตอน ความคิดสร้างสรรค์จะเป็นประตูสู่การค้นพบคุณค่าใหม่ๆที่ธุรกิจอยากนำเสนอแก่ลูกค้า

วางแผนสำหรับ Digital Transformation

การตัดสินใจที่ 2: ใครจะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง

นอกเหนือจาก CEO ที่ต้องเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงนี้ องค์กรจำเป็นที่จะต้องมีทีมผู้บริหารที่ทุ่มเทให้กับการเปลี่ยนแปลง คนกลุ่มแรกที่จะถูกนึกถึงคือผู้มีความรู้ความสามรถในด้านดิจิทัล แต่ต้องไม่ลืมว่า digital transformation จะส่งผลกระทบต่อคนทั้งองค์กร ฉะนั้นก็อาจจะเป็นการดีหากมีผู้รับผิดชอบจากหลายๆส่วนร่วมทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อช่วยให้ทีมมีมุมมองที่หลากหลายและความเข้าใจในธุรกิจอย่างลึกซึ้ง

การตัดสินใจที่ 3: จะขายไอเดียการเปลี่ยนแปลงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างไร

การเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ย่อมต้องมีการสื่อสารที่ดีถึงวิสัยทัศน์และเหตุผล CEO ควรตระเตรียมข้อความที่จะสื่อสารกับทั้งภายนอกองค์กรและกับพนักงานในบริษัทเอง รวมถึงวางแผนเกี่ยวกับระยะเวลาและความถี่ในการสื่อสาร การสื่อสารที่ดีจะช่วยกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปได้ด้วยดี รวมทั้งลดแรงกดดันที่มีต่อบริษัทระหว่างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้

การตัดสินใจที่ 4: ธุรกิจจะใช้ประโยชน์จากตรงไหนใน digital ecosystem ได้บ้าง

ปัจจุบันมี ecosystem และทรัพยากรราคาไม่แพงมากมายที่ช่วยให้ธุรกิจหน้าใหม่สามารถเข้ามาแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่ได้ ในทำนองเดียวกัน องค์กรที่ตั้งขึ้นมานานแล้วย่อมสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้ได้ คำถามที่ CEO ต้องตอบให้ได้คือส่วนใดบ้างในทรัพยากรเหล่านี้ที่สอดคล้องกับเป้าหมายของธุรกิจ และจะนำทรัพยากรเหล่านี้มาใช้อย่างไร มากแค่ไหน และคำตอบและการตัดสินใจที่ได้นั้นควรผ่านการคำนึงถึง asset ที่สำคัญของธุรกิจเช่นข้อมูลของลูกค้าด้วย

การตัดสินใจที่ 5: จะตัดสินใจอย่างไรระหว่างการเปลี่ยนแปลง

ไม่ว่าจะวางแผนอย่างดีเยี่ยมแค่ไหน เรื่องที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ CEO และทีมบริหารจึงจำเป็นจะต้องวางแผนในการควบคุม ติตตาม ส่งต่อปัญหา และตัดสินใจแก้ไขสถานการณ์ไว้อย่างเป็นระบบด้วย นอกจากนี้ CEO ควรติดตามความคืบหน้าของการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เพื่อประเมินสถานการณ์และวางแผนเผื่ออุปสรรคที่ไม่ได้คาดถึงมาแต่แรก

ปฏิบัติตามแผน digital transformation รับมือกับสิ่งใหม่ๆและการปรับเปลี่ยน

การตัดสินใจที่ 6: จะโยกย้ายงบประมาณไปในส่วนต่างๆอย่างรวดเร็วได้อย่างไร

การจัดการทรัพยากรเป็นเรื่องที่ CEO ต้องทำอยู่ตลอด ทว่าการจัดการทรัพยากรในช่วง digital transformation นั้นมีลักษณะที่แตกต่างออกไปบ้างและต้องการความรวดเร็วมากกว่าปกติ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ CEO ที่ต้องตัดสินใจว่ากระบวนการโยกย้ายทรัพยากรควรเป็นไปในรูปแบบใด

โดยปกติแล้วการจัดสรรงบประมาณในบริษัทจะทำขึ้นเป็นรายปี แต่เมื่อมี digital transformation อาจมีความจำเป็นที่ต้องย่นระยะเวลาลงเป็นรายไตรมาสหรือรายเดือน หนึ่งในวิธีที่อาจนำไปใช้ได้คือการให้ทีมบริหารทำตัวเป็นนักลงทุนในโปรเจคต่างๆ เพื่อที่จะสามารถถอนทุนจากโปรเจคที่ไม่คืบหน้าและนำมาลงทุนในโปรเจคที่กำลังไปได้ดีได้ เช่นใน digital transformation นั้นมักก่อให้เกิดการตัดงบประมาณจากระบบ legacy ทั้งหลายเพื่อนำงบมาใช้ในโปรเจคหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ

ลดความเสี่ยง เพิ่มโอกาสความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลง

การตัดสินใจที่ 7: จะทำอะไรตอนไหนดี

การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลนั้นมีอัตราการล้มเหลวมากกว่า 70% แม้จะมีความตั้งใจที่ดี แต่การจัดลำดับผิดพลาดอาจทำให้เสีย momentum ในการเปลี่ยนแปลงและทำให้มันล้มเหลวได้ CEO ต้องเป็นผู้ตัดสินใจวางลำดับให้เกิด momentum ในลักษณะที่ความสำเร็จในแต่ละ action สามารถสร้างรายได้หรือลดค่าใช้จ่ายได้จริง เพื่อที่จะนำส่วนที่ได้มานั้นไปใช้ใน action ถัดไป

แน่นอนว่าในการจัดลำดับนั้นจะต้องมีการตั้งเกณฑ์ในการวัดผลตอบแทนของแต่ละ action ที่เกิดจากการนำปัจจัยต่างๆทางด้านทรัพยากรและธุรกิจมาคิดอย่างรอบคอบ เพื่อให้ธุรกิจได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนที่เข้าสู่ความสำเร็จของ digital transformation อย่างสม่ำเสมอ

 

ที่มา: http://www.mckinsey.com/business-functions/digital-mckinsey/our-insights/the-seven-decisions-that-matter-in-a-digital-transformation

About PRY

Check Also

Blendata จับมือ Opsta เตรียมเปิดบริการใหม่ที่ผสานเทคโนโลยีร่วมกัน

จากงาน Blendata and Opsta : Redefine the Future ที่จัดขึ้นในวันนี้ ทาง Blendata ร่วมกับ Opsta ได้ประกาศจับมือเป็น Strategic …

SYMPHONY CLOUD เปิดตัว Logo ใหม่ [Guest Post]

ก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลที่ไร้ขีดจำกัด บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)  หรือ Symphony Communication PLC ผู้นำด้านการให้บริการโครงข่ายที่มีคุณภาพสูงในประเทศไทยซึ่งครอบคลุมทั้งในและระหว่างประเทศ ได้เปิดตัว Logo ใหม่ของบริการ “SYMPHONY …