ที่งาน HPE Discover 2021 เมื่อวันที่ 23-25 มิถุนายนที่ผ่านมา ในรูปแบบของ Virtual Conference ซึ่งทีมงาน TechTalkThai ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานครั้งนี้ด้วย โดยนอกจากจะได้ฟังวิสัยทัศน์จาก CEO ของ HPE แล้ว ภายในงานยังได้มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์มากมายที่ตอบโจทย์โลกอนาคต ที่จะถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูลทุกหนแห่ง และ HPE เองก็ได้คิดค้นนวัตกรรมมากมายเพื่อให้องค์กรได้ก้าวต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง มาติดตามกันครับว่ามีผลิตภัณฑ์อะไรถูกประกาศใหม่ในครั้งนี้บ้าง

“ท้ายที่สุดแล้วเราเชื่อว่าทุกองค์กรคือบริษัทไอที เพราะทุกคนอยู่ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล และสกุลเงินใหม่คือข้อมูล ผมเชื่อว่าสักวันหนึ่งมูลค่าของข้อมูลที่คุณมีจะปรากฏอยู่บนหน้างบดุลของคุณ ดังนั้นไม่ใช่เวลาที่จะถามถึงแหล่งที่มาของข้อมูลอีกแล้ว แต่คือการตั้งคำถามว่าจะสกัดเอาคุณค่าของข้อมูลออกมาให้เร็วที่สุดได้อย่างไรต่างหาก จึงจะมีโอกาสชนะในเกมการแข่งขันนี้ ” — Antonio Neri, CEO ของ HPE กล่าวในช่วง Keynote เปิดงาน
Antonio ชี้ว่าในอดีตนั้นเรามองข้อมูลใน 3 มุมนั่นคือ Volume, Variety และ Velocity แต่สิ่งที่องค์กรยังขาดนั่นก็คือ Value เพราะเชื่อว่าเราอยู่ในยุคที่เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูลหรือ ‘Age of Insight’ สุดท้ายแล้วไม่ว่าองค์กรนั้นจะประกอบธุรกิจอะไร ก็หนีไม่พ้นที่ต้องมองหาประโยชน์จากข้อมูลซึ่งต้องพึ่งพาระบบไอทีเข้ามาช่วย หากต้องการอยู่รอดในธุรกิจ
อีกเรื่องหนึ่งที่ Antonio ยังได้แสดงวิสัยทัศน์ว่าตัวเขาและ HPE ทราบมานานแล้วว่า แม้หลายปีที่ผ่านมาองค์กรจะตั้งเป้า Cloud-first มากมายแต่นั่นก็ไม่ใช่จุดสิ้นสุด เพราะองค์กรส่วนใหญ่ก็ยังเลือกที่จะเก็บข้อมูลเอาไว้กับตัวอยู่ดี ด้วยเหตุผลด้าน Compliance, Security หรือความสะดวกในการใช้งาน ในทางกลับกันการประมวลผลจะต้องย้ายไปใกล้ชิดกับแหล่งกำเนิดข้อมูลที่กระจายอยู่ทั่วองค์กรแทน
“มีผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่เคยกล่าวไว้ว่าข้อมูลกว่า 96% ยังคงอยู่บน On-premise และนั่นเป็นเรื่องธรรมดาที่ผมไม่แปลกใจเลย จะเห็นได้ว่าตอนนี้พวกเขาก็ต่างเข้ามาแย่งชิงพื้นที่การแข่งขัน แต่ว่าเราอยู่ที่นั่นแล้วพร้อมกับประสบการณ์ที่ตอบโจทย์กับรูปแบบของ Edge-to-the-cloud นั่นเอง“–Antonio กล่าวปิดท้าย
สำหรับประเด็นใหญ่และสำคัญที่สุดในงานนี้ก็คือการอัปเดตโซลูชันใหม่ๆ ของ HPE GreenLake ซึ่งจากโซลูชันที่เปิดตัวมาในครั้งนี้บอกได้เลยว่า GreenLake ไม่ใช่เป็นเพียงโซลูชัน Hardware as a Service อย่างที่หลายคนเคยเข้าใจ แต่เรียกได้ว่าเป็น ‘Everything as a Service’ จะเหมาะกว่า ทั้งนี้ Antonio เผยว่าผู้คนสามารถมอง GreenLake เทียบเท่ากับ HPE เพราะสิ่งที่อยู่ในโซลูชันคือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ HPE เพื่อนำส่งประสบการณ์แบบเดียวกันกับคลาวด์
ไฮไลต์ของการอัปเดตผลิตภัณฑ์ใหม่สามารถมี 3 หัวข้อดังนี้
1.) HPE GreenLake
เหตุผลสำคัญที่สามารถจูงใจหลายองค์กรให้ย้ายไปบนคลาวด์ในหลายปีที่ผ่านมาก็คือ จ่ายได้ตามจริง เลือกบริการเองได้ตามความต้องการ (Self-Service) รวมถึงยังสามารถขยายตัวได้ตามการใช้งานไม่ว่าจะเพิ่มหรือลดลง สวนทางกันสาเหตุที่องค์กรหลายแห่งยังเลือกที่จะอยู่บน On-premise แบบเดิม แม้จะเห็นถึงประโยชน์ของคลาวด์ นั่นก็คือความสามารถในการควบคุมข้อมูล รวมถึงยังคล่องตัวและรวดเร็วในการประมวลผลเพราะอยู่ใกล้ข้อมูลมากกว่า

HPE เล็งเห็นว่าลูกค้าควรได้ประโยชน์จากบริการคลาวด์ อย่างไรก็ดีแม้ว่า HPE จะเป็นผู้ให้บริการด้าน Infrastructure มาอย่างยาวนาน แต่ถึงเวลาแล้วที่ HPE ต้องเปลี่ยนตัวเองเป็นบริษัทที่นำเสนอประสบการณ์แบบเดียวกันกับคลาวด์ให้แก่ลูกค้าไม่ว่าจะเป็นความต้องการใดๆ จึงเป็นที่มาของ HPE GreenLake ซึ่งในงาน HPE Discover 2021 นี้มีเรื่องประกาศใหม่หลายรายการอันได้แก่
- Silicon as a Service – HPE ได้เข้าถึงระดับชั้นลึกสุดของการให้บริการ as-a-Service ในส่วนการประมวลผล นำร่องเป็นเจ้าแรกในตลาด โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง Intel ผ่านเทคโนโลยี Optane ไอเดียก็คือให้ลูกค้าสามารถเลือกเพิ่มหรือลด พลังการประมวลผลได้ตามใจ ที่นอกจากจะช่วยลดรายจ่ายให้เกิดขึ้นได้ตามจริงแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของซอฟต์แวร์ในองค์กรบางตัวที่มักอ้างอิงกับจำนวนคอร์ในเซิร์ฟเวอร์อีกด้วย
- Workload Support – HPE ยังได้ขยายโซลูชัน GreenLake ครอบคลุมไปยัง Workload อีกหลายรูปแบบ ไอเดียก็คือการให้บริการโซลูชันกับงานเฉพาะทางเช่น GreenLake for SAP, GreenLake for MLOPS, GreenLake for HPC และ GreenLake for VDI
- Partnership – HPE ยังได้มีการพัฒนาโซลูชันร่วมกับความเชี่ยวชาญของพันธมิตรเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น

- GreenLake for Splunk พูดถึงเรื่องของ Risk Analysis ขององค์กรที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ในระดับเพนตะไบต์
- GreenLake for 5G Core System ตอบโจทย์การให้บริการ 5G สำหรับผู้ให้บริการ
- GreenLake for financial payment ระบบที่พร้อมนำไปใช้กับการจ่ายเงิน โดยไร้การสัมผัส
- GreenLake for Azure Stack HCI เป็นการผนึกกำลังระหว่างยักษ์ใหญ่ในวงการไอที ซึ่ง Azure HCI เป็นระบบที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้บริการลูกค้าได้เสมือนกับใช้งานระบบเดียวกันกับ Azure บนฮาร์ดแวร์ที่เป็น HCI
- GreenLake for Veeam ซอฟต์แวร์สำรองข้อมูลชั้นนำก็ได้ทำโซลูชันร่วมกับ GreenLake เช่นกัน
- GreenLake for Nutanix ไอเดียก็คือ Nutanix มีซอฟต์แวร์ที่ชื่อ Era ที่ถูกออกแบบมาให้สามารถบริหารจัดการ Relational Database อย่าง Oracle, Microsoft SQL Server, SAP HANA, MySQL, PostgreSQL และ MariaDB ทั้งนี้ Era สามารถ provision, patch, restore, backup และ copy ข้อมูลได้ (จะมองเป็น Control Plane ของ Database ก็ได้) โดย Nutanix ได้นำซอฟต์แวร์ Era นำส่งใน GreenLake บนฮาร์ดแวร์ HPE ProLiant DX ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงบริการ Database as a service ได้โดยชำระค่าบริการผ่าน HPE จบในบิลเดียว
2.) Project Aurora
เป็นเรื่องยากมากหากพูดถึงการทำ Zero Trust ตั้งแต่ Edge จนถึงคลาวด์ แต่ Project Aurora ได้ทำให้สิ่งนั้นกลายเป็นจริงขึ้นมา ในการสร้างความมั่นคงปลอดภัยเช่นนั้น ไอเดียก็คือการพิสูจน์และตรวจสอบ Integrity ตั้งแต่ระดับ Supply Chain ไปจนถึงชั้นแอปพลิเคชัน

เริ่มแรกตั้งแต่ระดับสายการผลิต HPE ได้คัดกรอง ตรวจสอบตั้งแต่กระบวนการผลิต ขั้นที่สองมีการออกแบบและผลิต Hardware พร้อมกับตรวจสอบมาตรฐานด้านความปลอดภัยอย่างเข้มข้น ภายในมี Trust Platform Module ที่สามารถการันตีความถูกต้องของฮาร์ดแวร์ Firmware และ OS
ในขั้นสุดท้ายที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ความคุ้มครองระดับชั้น Platform และแอปพลิเคชัน ส่วนที่มาเติมเต็มคือซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส Secure Production Identity Framework for Everyone (SPIFEE) หรือ Specification ที่ว่าด้วยเรื่องของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยให้ Dynamic และ Heterogeneous อีกส่วนประกอบก็คือ SPIFEE Runtime Environment ซึ่งเป็นการนำ SPIFEE ไปใช้งานให้เกิดขึ้นจริง
ทั้งนี้ Project Aurora จะเปิดตัวในปลายปีนี้ภายใน Lighthouse (จะพูดถึงในส่วนถัดไป) และ GreenLake ในสิ้นปีนี้ ด้วยเหตุนี้เอง Zero Trust ตั้งแต่ Edge-to-Cloud จะมาพร้อมกับ Platform และ Solution จาก HPE ตั้งแต่เริ่มต้น ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ Project Aurora (https://www.hpe.com/us/en/security/project-aurora.html)
3.) GreenLake Lighthouse

Lighthouse เป็นแพลตฟอร์มใหม่ด้วยประสบการณ์แบบ Cloud-native โดยองค์กรสามารถนำไปลงที่ใดก็ได้ไม่ว่าจะเป็น On-premise และ Cloud ใดๆก็ตาม ซึ่ง Lighthouse platform จะช่วย deploy workload อย่างอัตโนมัติได้เพียงคลิกเดียว ไม่ว่าต้องการรันงานของคุณที่ใดก็ตาม สิ่งที่ขับเคลื่อนอยู่ภายในก็คือโซลูชัน Ezmeral นั่นเอง อย่างไรก็ดีจากภาพประกอบจะเห็นได้ว่าแพลตฟอร์มจะทำงานอยู่ภายใต้ HPE GreenLake Central
อันที่จริงแล้วสิ่งที่ประกาศออกมาใหม่ กล่าวได้ว่าไม่มีสิ่งไหนไม่เกี่ยวข้องกับ GreenLake อย่างที่ Antonio ได้กล่าวไปแล้วว่า GreenLake คือ Journey ที่ครอบคลุมทุกอย่างไว้และหากนึกถึง HPE จงนึกถึง GreenLake
Thriving in the Age of Insight: How Leaders are Sparking Innovation for a Data-Centric Future

อีกหนึ่งหัวข้อในงานนี้บรรยายหลักโดย Dr. Eng Lim Goh, CTO แผนก AI ของ HPE โดยใจความสำคัญที่พูดถึงความท้าทายของการใช้งานข้อมูลตอนหนึ่ง “ปัจจุบันไม่ใช่การตั้งคำถามถึงแหล่งที่มาของข้อมูลอีกแล้ว กลับกันกลายเป็นว่าองค์กรมีข้อมูลมากเกินไปด้วยซ้ำ คำถามคือองค์กรจะนำมาใช้อย่างไรมากกว่า ข้อมูลอะไรที่ควรเก็บหรือควรตัดออกไป” ตรงนี้เองได้นำไปสู่หัวข้อที่สองก็คือกลยุทธ์ในการเก็บข้อมูลสำหรับวันพรุ่งนี้ ซึ่งได้เชิญวิทยากรมาพูดคุยถึงปัญหาในการจัดการข้อมูลของแต่ละธุรกิจ

“ข้อมูลขยะในวันนี้ อาจเป็นทองคำของวันพรุ่งนี้“–Myra Davis, รองประธานอาวุโสแผนกนวัตกรรมและข้อมูลจาก Texus Children’s Hospital กล่าวเอาไว้ โดยเธอได้ชี้ให้เห็นว่าข้อมูลที่เคยเก็บเอาไว้อย่างไม่เห็นค่า กลายเป็นขุมทรัพย์ในวันนี้ รวมถึงเกิดปัญหาในการบริหารจัดการข้อมูลปริมาณมหาศาล โชคดีที่โซลูชันจาก HPE ได้ช่วยแก้ปัญหาของเธอได้
ตรงกันข้ามกับมุมมองของ Stephen Voice, หัวหน้าทีมดิจิทัลโซลูชันจาก Novartis ที่ได้แสดงทัศนะในด้านความมั่นคงปลอดภัยของการเก็บข้อมูลว่า “ปัญหาของการเก็บข้อมูลคือความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ข้อบังคับในอุตสาหกรรม และการตระหนักรู้ของผู้ให้ข้อมูล โดยสุดท้ายผู้จัดเก็บต้องน่าเชื่อถือและไว้ใจได้“
สุดท้ายแล้วในยุคของ ‘Age of Insight’ จะประกอบด้วย 3 บริบทนั่นคือ Collect, Connect และ Analyst ซึ่งในด้านกลยุทธ์จะต้องประเมินให้ได้ว่าจะเก็บอะไร (What) จะใช้อย่างไร (How) และเก็บไว้ที่ไหนที่สามารถตอบโจทย์การทำงานได้ (Where) โดยโซลูชันของ HPE เองสามารถตอบโจทย์การบริหารจัดการข้อมูลปริมาณมหาศาลเหล่านั้นเพื่อสกัด Insight ที่องค์กรมองหา อย่างไรก็ดีหากองค์กรไม่ทราบเลยว่าจะเริ่มที่ไหน HPE Pointnext ทีมงานมืออาชีพก็พร้อมให้คำปรึกษาตั้งแต่ก้าวแรกไปจนกว่าองค์กรจะประสบความสำเร็จในยุคที่ ‘ข้อมูลคือขุมทรัพย์และอยู่ทุกแห่งหน’
The Radical Rethink: Unconventional Ways to Unlock the Power of Data
ในยุคที่ Infrastructure ไม่สามารถรองรับข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลได้ทัน ดังนั้นภารกิจหลักของ HPE คือการสร้าง Infrastructure ที่สามารถตอบโจทย์ Data Consumer ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการอย่างน่าเชื่อถือ ในฝั่งของ Data Provider จะต้องช่วยให้สามารถแชร์ข้อมูลได้อย่างมั่นคงปลอดภัยเช่นกัน

ในมุมของภาพใหญ่ระดับโลก HPE ได้มีความร่วมมือกับธุรกิจพลังงานหมุนเวียนอย่าง Carnegie Clean Energy ซึ่งนำเอาพลังงานจากมหาสมุทรมาเปลี่ยนเป็นพลังงาน ด้วยการนำ HPE Clay Supercomputer เพื่อเข้าไปทำงานด้าน AI ช่วยบริษัทวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่สามารถช่วยลดต้นทุนให้สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมได้ และนี่คือภารกิจใหญ่ส่วนหนึ่งที่ HPE ได้นำนวัตกรรมเข้าไปแก้ปัญหาพลังงานให้โลกของเราน่าอยู่มากขึ้น


อีกมุมหนึ่งในด้านนวัตกรรมใหม่ HPE Labs คือทีมงานเบื้องหลังที่วิจัยและพัฒนาสิ่งยิ่งใหญ่ให้แก่สภาพแวดล้อมในอนาคต ทั้งนี้ทีมงานได้แชร์วิสัยทัศน์ 2 เรื่อง ประการแรกคือเป้าหมายที่จะสร้าง Framework ที่ช่วยแปลงโค้ดโปรแกรมให้สามารถใช้ได้กับแพลตฟอร์มต่างๆ (ตามรูปประกอบ) อีกเรื่องหนึ่งคือความร่วมมือระหว่างภาคงานวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อผลักดันเทคโนโลยี Photonic สู่การส่งข้อมูลระดับ Terabit ต่อวินาที และพัฒนา Channel ในไฟเบอร์ให้ได้ถึง 40 Channel ทั้งนี้ HPE เชื่อว่าเราต้องคิดต่างจากเดิมเพื่อตอบโจทย์โลกยุคข้อมูลที่เทคโนโลยีการประมวลผลไม่สามารถก้าวทันข้อมูลอีกต่อไป

ท่านใดสนใจโซลูชัน HPE Greenlake หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อ HPE ได้ที่ คุณทอรุ้ง จิรศุภกร อีเมล torrung.jirasupakorn@hpe.com หรือโทรศัพท์ +66 81-832-9977