สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ ( องค์การมหาชน ) หรือซิป้า ประกาศจุดยืนเน้นย้ำภารกิจอยู่เคียงข้างพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย สร้างความมั่นใจพร้อมจับมือพันธมิตรร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เดินหน้าชูโรดแมป ผลักดันโครงการต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ตามแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ พ.ศ.2560 – 2563 ที่ปรับปรุงใหม่ หนุนทั้งด้านบุคลากร ผู้ประกอบการ ด้านตลาด ผ่านโครงการ Tech Startup ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน และมุ่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของเมืองให้ทันสมัยภายใต้โครงการ Smart City ไปพร้อมกัน เพื่อเอื้อต่อการลงทุนมุ่งหวังสร้างมูลค่าการตลาด และการเติบโตด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้เติบโตก้าวไกลทั้งในและต่างประเทศ
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กล่าวในงานแถลงข่าว SIPA: Fostering Thailand’s Digital Economy ซิป้าหนุนไทย ก้าวไกลสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยแถลงนโยบาย และแสดงโรดแมปในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัลว่า ทิศทางนโยบายของซิป้ามีจุดยืนชัดเจนที่จะยืนหยัดอยู่คู่กับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย โดยเดินหน้าสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ด้วยการจับมือเป็นพันธมิตร ร่วมกัน เพื่อให้เกิดโรดแมปในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลตามนโยบายของรัฐบาล โดยจะเดินหน้าไปตามแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ พ.ศ.2560 – 2563 ที่มีการปรับปรุงใหม่ให้สัมฤทธิ์ผลโดยเร็วในลักษณะของการดำเนินงาน และการปฏิบัติงานเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์ ด้วยการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งองค์กรของรัฐ และเอกชน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงในนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกันทั้งหมด และการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งด้านการพัฒนาบุคลากร ผู้ประกอบการ และพัฒนาตลาด โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของเมืองไปพร้อมกันให้มีความทันสมัย ภายใต้โครงการ Smart City ที่ให้บรรยากาศเอื้อต่อการลงทุน และนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ป้อนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้เติบโตสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
ทั้งนี้การดำเนินงานตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจดิทัล โดยสำนักงานฯ มีการทบทวนแผนยุทธศาสตร์ มีการศึกษาข้อมูลแนวโน้มของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา ได้แก่ Mobile Apps, Cloud Computing, Social Media, Big Data เพื่อกำหนดทิศทางและนโยบายการสนับสนุนผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเกิดใหม่ของเทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่กลุ่มองค์กรธุรกิจต่าง ๆ มีการใช้ซอฟต์แวร์ประเภท Custom software ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น และมีการพัฒนาใช้เองในประเทศ ทั้งนี้ จะเห็นได้จากตัวเลขการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย มีอัตราการเติบโตชัดเจน โดยมูลค่าตลาดการผลิตซอฟท์แวร์ และบริการซอฟต์แวร์ในปี 2559 จากการสำรวจของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ ( TDRI ) คาดว่าจะมีมูลค่า 69,306 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 47,123 ล้านบาทในปี 2556 คิดเป็นร้อยละ 17.1 ซึ่งตัวเลขจะเห็นว่าตลาดซอฟต์แวร์ และบริการซอฟต์แวร์มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะซอฟต์แวร์ประเภท Custom software มีมูลค่าสูงที่สุด โดยมีมูลค่า 16,164 ล้านบาท ในปี 2556 และมีมูลค่าถึง 17,540 ล้านบาทในปี 2557 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 และในส่วนของบริการซอฟต์แวร์ประเภทอื่น ๆ ก็มีปริมาณมูลค่าและแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นตามลำดับโดยมีอัตราเติบโตรวมเป็นร้อยละ 9.1 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยพร้อมก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
นางจีราวรรณ กล่าวต่อว่า ซิป้าได้รับความไว้วางใจจากกระทรวงไอซีทีให้ดำเนินโครงการสำคัญในหลายมิติ อาทิ เป็นหน่วยงานนำร่องในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และกำหนดให้มีโครงการสำคัญเพื่อกระจายรายได้อย่างทั่วถึงในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในระดับชุมชน และยกระดับผู้ประกอบการให้มีศักยภาพในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรสายซอฟต์แวร์ เพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ โดยสำนักงานฯ มีการผลักดันส่งเสริมสนับสนุน ก่อให้เกิดการกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยในประเทศมีการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนด้านความตระหนักในการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้าน Digital Content ซึ่งในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับ Digital Content กระจายไปทั่วภูมิภาคจำนวน 28 หลักสูตร 27 มหาวิทยาลัย และมีบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์มากขึ้น
นอกจากนี้ทางสำนักงานฯ ยังมุ่งเน้นผลักดันโครงการประจำปีและโครงการ Flagship ในปี 2559 เพื่อเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับ Thailand Tourism Open Platform โครงการ TECH STARTUP โครงการ HEALTHCARE เกี่ยวกับ Personal Health Record การเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบ HIS และข้อมูลสุขภาพจังหวัด เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ ได้ โครงการ SMEs ใช้ ICT และทำ E-Business โครงการ Phuket Smart City เพื่อสร้างอุตสาหกรรมดิจิทัลที่จังหวัดภูเก็ตให้เป็นสถานที่ทำงาน และเจรจาธุรกิจของนักทำงานด้านดิจิทัลและนักลงทุน อีกทั้งการพัฒนาบุคลากรและส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งระดับประเทศ และระดับโลกผ่านเวทีประกวดได้แก่ THAILAND ICT AWARDS: การประกวดผลงานซอฟต์แวร์ดีเด่นแห่งชาติ THAILAND DIGI CHALLENGE: การประกวดผลงาน Digital Content ดีเด่นแห่งชาติ, ANGEL IN THE CITY: การประกวดผลงานผู้ประกอบการซอฟต์แวร์รายใหม่แห่งชาติ, ASIA PACIPIC ICT AWARDS, ACM-ICPC ASIA: เจ้าภาพการแข่งขันเขียนโปรแกรมระดับโลก, ASIAN ANIMATION SUMMIT: Pitching ด้าน Animation ที่เกาหลีใต้ ขณะที่การส่งเสริมด้านการตลาดยังมุ่งมั่นในการจัดงาน SOFTWARE EXPO ASIA: มหกรรมการแสดงนวัตกรรมดิจิทัล และซอฟต์แวร์ในภูมิภาคเอเชีย, งาน BANGKOK ENTERTAINMENT WEEK & BANGKOK INTERNATIONAL DIGITAL CONTENET FESTIVAL งาน BUSINES MATCHING: งานเจรจาธุรกิจด้านเกมส์ เป็นต้น
“ สำนักงานฯ พร้อมรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายเพื่อนำข้อคิดเห็นต่าง ๆ มาประมวลผลและปรับกระบวนการทำงาน เพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล สัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว” นางจีราวรรณ กล่าวทิ้งท้าย