ทีมงาน TechTalkThai ได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ คุณถิรพันธุ์ สรรพกิจ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานเทคโนโลยีสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงประเด็นเรื่องการทำ Digital Transformation เพื่อมุ่งสู่การเป็นตลาดหลักทรัพย์ดิจิทัล (Digital Exchange) และเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม (Platform Provider) แก่ผู้ร่วมตลาด รวมไปถึงเบื้องหลังการนำเทคโนโลยีเข้ามาพลิกโฉมธุรกิจ จึงสรุปข้อมูลมาแชร์ให้ได้อ่านกันครับ
มุ่งเน้นการสร้างแพลตฟอร์มพันธมิตร (Partnership Platform) ที่ทุกคนเข้าถึงได้
คุณถิรพันธุ์ เริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงวิสัยทัศน์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ทุกคนในสังคมได้รับประโยชน์จากตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ต้องการระดมทุน หรือนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะประสบความสำเร็จได้ต้องมีเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยสนับสนุน โดยทางตลาดทรัพย์เองก็เริ่มต้นนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ตั้งแต่ปี 1991 จนมาถึงปี 2000 ก็เริ่มให้บริการการซื้อขายหลักทรัพย์ออนไลน์ และล่าสุดก็มีการนำเทคโนโลยีระบบ Cloud และ Mobile เข้ามาใช้เพื่อให้นักลงทุนเกิดความสะดวกสบายในการใช้บริการของตลาดหลักทรัพย์ฯ มากยิ่งขึ้น
สำหรับเป้าหมายในอนาคตของตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น คือมุ่งมั่นที่จะสร้างแพลตฟอร์มพันธมิตร (Partnership Platform) โดยรวบรวม วิเคราะห์ และจัดเตรียมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจัดการกองทุน หรือบริษัทพันธมิตรอื่นๆ เพื่อให้บริษัทเหล่านั้นสามารถนำข้อมูลไปต่อยอด หรือนำไปพัฒนาเป็นบริการใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน
“เราติดตามและพยายามนำนวัตกรรมใหม่เข้ามาปรับใช้กับบริการของตลาดหลักทรัพย์ฯ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นตลาดหลักทรัพย์ดิจิทัล (Digital Exchange) โดยมุ่งเน้นการเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มข้อมูลแบบ Open ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดได้ ตามวิสัยทัศน์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ว่า ‘To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone’” — คุณถิรพันธุ์กล่าวถึงเป้าหมายของการเป็นตลาดหลักทรัพย์ดิจิทัล
Cloud First หัวใจสำคัญของการเป็นตลาดหลักทรัพย์ดิจิทัล
เพื่อให้ก้าวสู่การเป็นตลาดหลักทรัพย์ดิจิทัลได้นั้น คุณถิรพันธุ์ กล่าวว่า นโยบาย Cloud First ถือเป็นหัวใจสำคัญ เนื่องจากระบบ Cloud มีความคล่องตัวและยืดหยุ่นสูง ในขณะที่ใช้เวลาน้อยเพื่อเตรียมการให้พร้อมออกสู่ตลาด ทำให้สามารถเริ่มให้บริการใหม่ได้อย่างรวดเร็ว และขยายระบบให้รองรับการให้งานที่เพิ่มขึ้นในอนาคตได้อย่างอิสระ
ระบบที่เหมาะต่อการให้บริการผ่านระบบ Cloud คือ การซื้อขายหลักทรัพย์ออนไลน์ เนื่องจากต้องรองรับผู้เข้าใช้พร้อมกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหลังปี 2008 ที่เริ่มเข้าสู่ยุค Mobile อุปกรณ์สมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตเริ่มเข้ามามีบทบาทในการซื้อขายหลักทรัพย์ ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้งานมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้นำเทคโนโลยี Cloud Computing เข้ามาพัฒนาระบบที่สามารถรองรับการเติบโตของผู้ใช้งาน รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากความผันผวนของตลาด เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนสามารถใช้บริการของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้อย่างราบรื่น
จับมือกับ UIH การันตี SLA ให้ระบบ Cloud
บริการของตลาดหลักทรัพย์ฯ หลายรายการยึดความเร็วของการรับส่งข้อมูลเป็นสำคัญ (Time Sensitive) โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาหลักทรัพย์ที่ต้องอัปเดตแบบเรียลไทม์ เมื่อหลายๆ บริการถูกนำขึ้นสู่ระบบ Cloud อย่าง AWS ตามนโยบาย Cloud First แล้ว ความท้าทายสำคัญของการให้บริการไม่ใช่เรื่องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตหรือปริมาณ Bandwidth แต่อย่างใด เหล่านี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีเพียงพออยู่แล้ว ปัญหาคือ Latency เพราะขึ้นอยู่กับเส้นทางที่ทราฟฟิกใช้วิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ Public Cloud ที่ใช้งานตั้งอยู่นอกประเทศ การควบคุม Latency และเสถียรภาพในการเชื่อมต่อจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
แต่ด้วยประสบการณ์ของ UIH ในการรักษาคำมั่นสัญญาในเรื่องของ SLA มาโดยตลอด ทำให้มีการควบคุมและรักษาคุณภาพในการใช้ Public Cloud เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการให้บริการ (SLA) ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงจับมือเป็นพันธมิตรกับ UIH ผู้ให้บริการ Digital Infrastructure & Solution Provider ชั้นนำของประเทศไทย เพื่อใช้บริการ Cloud Direct ซึ่งช่วยให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถเชื่อมต่อกับ Public Cloud ที่อยู่ต่างประเทศของผู้ให้บริการระบบ Cloud ได้โดยตรง ผ่านลิงค์เฉพาะกิจที่มีเสถียรภาพและ Latency คงที่มากกว่าการเชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ตปกติ
“เนื่องจากบริการสำคัญ (Critical Services) ของตลาดหลักทรัพย์ฯ หลายรายการอยู่บน Public Cloud ทำให้ SLA เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา เราเลือกจับมือกับ UIH เนื่องจากเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมระดับต้นๆ ของประเทศซึ่งเรามั่นใจในประสบการณ์การให้บริการระบบ Cloud และเชื่อว่าสามารถรักษา SLA ได้ นอกจากนี้ UIH ยังมี Value-added Services ที่พร้อมต่อยอดเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและนักลงทุนในอนาคต” — คุณถิรพันธุ์กล่าวถึงสาเหตุการเป็นพันธมิตรกับ UIH
ยกระดับการให้บริการในอนาคตด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI)
เมื่อกล่าวถึงกระแสการนำปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เข้ามาใช้งาน คุณถิรพันธุ์ให้ความเห็นว่า เทคโนโลยี Big Data และ AI จะเข้ามามีผลต่อการลงทุนเป็นอย่างมาก ซึ่งขณะนี้ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังศึกษาและเตรียมนำ AI มายกระดับบริการให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยเริ่มจากวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ประการ ได้แก่
- การปรับแต่งบริการให้เหมาะสมกับผู้ใช้บริการ – นำ Big Data และ AI มาวิเคราะห์ความเสี่ยงและเป้าหมายตามแต่ละผู้ใช้บริการ เพื่อปรับแต่งบริการให้เหมาะสมที่สุดแก่ผู้ใช้บริการรายนั้นๆ เช่น เลือกหลักทรัพย์ที่เหมาะสมกับพฤติกรรมและความต้องการของนักลงทุน รวมไปถึงเปิดให้บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจัดการกองทุนและพันธมิตรสามารถเข้าถึงข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ง่าย เพื่อให้สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นไปสร้างสรรค์บริการใหม่ๆ หรือนำไปต่อยอดได้อย่างรวดเร็ว เกิดการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) โดยมี Big Data และ AI เป็นพื้นฐาน
- การตัดสินใจในการลงทุน – นำ AI เข้ามาช่วยตัดสินใจในการลงทุนตามโปรไฟล์และความเหมาะสมของผู้ใช้บริการรายนั้นๆ
“การมี Cloud Infrastructure อันแข็งแกร่ง ที่มาพร้อมกับ SLA ที่เชื่อถือได้ ช่วยให้ AI สามารถประมวลผลและส่งข้อมูลกลับมาได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามผมยังไม่คิดว่า AI จะถูกนำมาใช้งานแทนนักวิเคราะห์ได้ทั้งหมด เมื่อมีนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้น ย่อมทำให้เกิดนักวิเคราะห์สมัยใหม่ที่สามารถปรับตัวและเรียนรู้การนำ AI มาช่วยงาน นำข้อมูลที่ได้จาก AI มาต่อยอด ก่อให้เกิดการวิเคราะห์รูปแบบใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการลงทุน” — คุณถิรพันธุ์กล่าวปิดท้าย
ดูคลิปสัมภาษณ์คุณถิรพันธุ์ถึงประเด็นเรื่องการทำ Digital Transformation เพื่อมุ่งสู่การเป็นตลาดหลักทรัพย์ดิจิทัล (Digital Exchange) ได้ที่วิดีโอด้านล่าง