[รีวิว] Samsung Galaxy Tab Active3: Rugged Tablet แข็งแรงทนทาน เหมาะสำหรับการทำงาน ที่เสริมความสามารถใหม่ตอบโจทย์การใช้งานในธุรกิจมากมาย

หลังจากที่ปีที่แล้วทางทีมงาน TechTalkThai เรามีโอกาสได้ทดลองใช้งาน Samsung Galaxy Tab Active Pro กับ Samsung Galaxy XCover ซึ่งเป็น Tablet และ Smartphone รุ่นถึกทนสำหรับการใช้ทำงานโดยเฉพาะ ในปี 2021 นี้ ทาง Samsung ก็ได้ส่ง Samsung Galaxy Tab Active3 รุ่นใหม่ล่าสุดมาให้เราได้ลองใช้งานกันครับ

จากการลองใช้งาน ก็พบว่า Samsung Galaxy Tab Active3 นี้ถือเป็น Rugged Tablet ที่มีความเฉพาะตัวค่อนข้างสูง เหมาะสำหรับการนำไปใช้งานจริงๆ มากกว่าจะนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ด้วย Use Case การใช้งานที่หลากหลายก็ทำให้ Samsung Galaxy Tab Active3 นี้ถือเป็นอุปกรณ์ที่น่าสนใจ และสำหรับหลายธุรกิจก็น่าจะต่อยอดได้ไม่น้อยเลยทีเดียว โดยจะเป็นอย่างไรนั้น ขอเชิญอ่านรีวิวฉบับนี้กันได้เลยครับ

รู้จักกับ Samsung Galaxy Tab Active3 เบื้องต้นกันก่อน

ก่อนจะพาทุกท่านไปสู่ช่วงรีวิวการใช้งานกัน เราขอเล่าสรุปถึงสเป็คและความสามารถต่างๆ ของ Samsung Galaxy Tab Active3 ให้ทุกท่านได้รู้จักกันก่อนครับ

Credit: Samsung

Samsung Galaxy Tab Active3 นี้ เป็นผลิตภัณฑ์ในตระกูล Rugged Device จาก Samsung หรือก็คืออุปกรณ์รุ่นที่ออกแบบเพื่อความทนทานที่สูงมากเป็นพิเศษเพื่อให้สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องยาวนาน ไม่ต้องกลัวว่าอุปกรณ์จะพังง่ายๆ จากปัจจัยด้านการหล่น การกระแทก ความร้อน การสั่นสะเทือน ความชื้น การเปียกน้ำ หรืออื่นๆ ด้วยการผ่านการรองรับตามมาตรฐาน IP68 และ MIL-STD นั่นเองครับ

Credit: Samsung

ทั้งนี้ตัวอุปกรณ์ได้ถูกปรับแต่งมาเพื่อความสะดวกสบายและความทนทานในการใช้ทำงานโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบอุปกรณ์ให้มีขนาดใหญ่ และใช้เคสที่หนาและแข็งแรง เพื่อลดโอกาสที่อุปกรณ์จะร่วงหล่นจากมือของผู้ใช้งาน, การเลือกใช้ Hardware ภายในให้เหมาะสมต่อการทำงาน ไม่กินพลังงานมากจนเกินไป เพื่อให้ใช้งานได้ต่อเนื่องในการชาร์จแบตเตอรี่แต่ละครั้ง, การออกแบบปุ่มใหม่ๆ และ Interface เพิ่มเติมในอุปกรณ์ เพื่อให้สามารถนำไปปรับแต่งให้เหมาะสมต่อการใช้งาน และชาร์จไฟได้ง่าย ไปจนถึงการรองรับการถอดอุปกรณ์มาเปลี่ยนแบตเตอรี่หรือซิมได้ง่ายๆ เพื่อให้ธุรกิจสามารถซ่อมบำรุงอุปกรณ์ได้อย่างสะดวกที่สุด

สเป็คของ Samsung Galaxy Tab Active3 มีดังนี้

  • หน่วยประมวลผล Samsung Exynos 9810 (2.7GHz/1.7GHz Octa-Core) โดย CPU เร็วกว่ารุ่นก่อน 2.4 เท่า และ GPU เร็วกว่ารุ่นก่อน 14.6 เท่า
  • RAM 4GB พร้อม ROM 64GB สามารถเสริม MicroSD Card ให้มีความจุ 1TB ได้
  • แบตเตอรี่ขนาด 5,050mAh ใช้งานได้สูงสุด 11 ชั่วโมง สามารถถอดเปลี่ยนได้ รองรับ Fast Charge
  • สามารถถอดแบตเตอรี่ แล้วเสียบชาร์จไฟเพื่อใช้งานแทนได้ สำหรับกรณีที่ต้องการใช้งานเป็น Kiosk หรืออุปกรณ์ติดตั้งในพื้นที่ต่างๆ หรือบนยานพาหนะ
  • น้ำหนักเริ่มต้น 426 กรัม หากรวมเคสและ S Pen แล้วจะมีน้ำหนัก 522.5 กรัม
  • หน้าจอแบบ WUXGA ขนาด 8 นิ้ว รองรับการสัมผัสได้แม้จะใส่ถุงมืออยู่
  • กล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซลรองรับ Auto Focus กล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล
  • เมื่อใส่เคสแล้วจะกันกระแทกจากการหล่นที่ความสูง 1.5 เมตรได้ พร้อมกันน้ำกันฝุ่นที่มาตรฐาน IP68
  • มี S Pen ขนาดใหญ่ ที่รองรับการกันน้ำกันฝุ่นที่มาตรฐาน IP68
  • เชื่อมต่อ Wi-Fi 6 และ Bluetooth 5.0 ได้ รองรับการเชื่อมต่อ 4G
  • มีพอร์ต USB-C มีช่องหูฟังขนาด 3.5mm
  • มี NFC ในตัว สามารถ แตะ ทัช ได้โดยไม่ต้องถอดเคสออก เพราะอาจจะมีบางเคสกันกระแทก มีความหนาเกินไม่สามารถแตะบัตร NFC ได้ จำเป็นต้องถอดเคสออกก่อน
  • สามารถทำ Face Recognition และการอ่านลายนิ้วมือที่ปุ่ม Home เพื่อปลดหน้าจอได้

จะเห็นได้ว่าตัวสเป็คของอุปกรณ์นี้จะต่างจากพวก Smartphone หรือ Tablet รุ่นเรือธง ที่มักเน้นเรื่องของพลังการประมวลผล, การแสดงผลหน้าจอ และน้ำหนักที่เบาเป็นหลัก แต่ Samsung Galaxy Tab Active3 นี้จะเน้นเรื่องของความทนทาน และความสามารถเสริมอื่นๆ สำหรับใช้ในการทำงานแทน

นอกจากนี้ Samsung Galaxy Tab Active3 ยังมี Samsung Knox พร้อมรองรับการใช้บริการเสริมต่างๆ จาก Samsung ในการบริหารจัดการควบคุมการใช้งานของอุปกรณ์ เช่น การจัดการกับ Firmware, Software, การตั้งค่าการทำงานของเครื่อง ไปจนถึงการควบคุมระดับ Hardware ได้จากศูนย์กลาง ทำให้สามารถปรับแต่งการใช้งานของอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับการทำงานได้ เช่น การคงค่าของ Firmware ที่ใช้งานให้เป็นรุ่นที่รองรับกับการใช้งาน Business Software ที่ต้องการได้โดยไม่ถูกบังคับอัปเดต, การตั้งค่าให้อุปกรณ์เปิดตัวเองโดยอัตโนมัติเมื่อได้รับการจ่ายพลังงานผ่านช่องชาร์จสำหรับใช้ในกรณี Kiosk และอื่นๆ อีกมากมาย

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Samsung Galaxy Tab Active3 สามารถศึกษาข้อมูลได้ที่ https://www.samsung.com/th/business/tablets/galaxy-tab-active3-t575/sm-t575nzkathl/

ทำไมธุรกิจจึงต้องการ Rugged Device? Samsung Galaxy Tab Active3 เหมาะกับการใช้งานในกรณีไหนบ้าง?

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วหลายท่านอาจจะยังนึกไม่ออกว่าอุปกรณ์ในกลุ่ม Rugged Device อย่าง Samsung Galaxy Tab Active3 นี้จะเหมาะนำไปใช้งานในกรณีใดบ้าง ทางเราจึงอยากขอใช้พื้นที่ตรงนี้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันมากขึ้นครับ

1. การใช้งานในภาคอุตสาหกรรม เช่น โรงงาน, เหมือง, การก่อสร้าง, การขนส่ง, โรงพยาบาล หรือภายนอกอาคาร

Credit: Samsung

สำหรับอุตสาหกรรมหนักที่ทุกวันนี้เริ่มมีการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเสริมกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำระบบ Enterprise Resource Planning (ERP), Material Resource Planning (MRP), Warehouse Management Systems (WMS) หรือระบบควบคุมการผลิตหรือกระบวนการการทำอุตสาหกรรมอื่นๆ ไปใช้งาน การมีอุปกรณ์ Tablet ที่มีความทนทานสูง และสามารถใช้งานได้แม้ขณะที่ใส่ถุงมือ หรืออุปกรณ์เปียกน้ำอยู่ได้นั้นก็จะช่วยให้การทำงานเป็นไปได้สะดวกง่ายดายมากยิ่งขึ้น

ลองนึกถึงกรณีของการนำไปใช้ในโรงงานที่ต้องมีการควบคุมด้าน Safety และ Hygiene ที่พนักงานต้องสวมใส่ชุดป้องกันและมีการทำความสะอาดร่างกายก่อนเข้าไปในพื้นที่โรงงาน กรณีนี้หากต้องการนำ Tablet เข้าไปใช้งานหน้าสายการผลิตนั้นก็ย่อมต้องการ Tablet ที่มีความทนทานสูง

หรือการนำอุปกรณ์ Tablet ไปใช้งานในไซต์ก่อสร้าง การมีอุปกรณ์ที่ทนทานต่อการหล่น การกระแทก ฝุ่น หรือน้ำ ก็จะช่วยลดโอกาสที่อุปกรณ์จะเสียหายหรือชำรุดขณะที่นำไปใช้งานได้

หรือบริการ Ride Sharing และ Food Delivery เองก็ตาม หากต้องการนำอุปกรณ์ Tablet ไปติดตั้งไว้บนรถจักรยานยนต์ที่ต้องใช้ฝ่าลม ฝ่าฝน ฝ่าฝุ่น ฝ่าแดดบนท้องถนน การมีอุปกรณ์ที่ทนทานนี้ก็จะช่วยให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างไม่สะดุดติดขัด

สุดท้าย สำหรับการใช้งานในโรงพยาบาลที่ความเร็วเป็นเรื่องสำคัญ การมีอุปกรณ์ที่ทนทานต่อการใช้งานได้นั้นก็จะทำให้ทีมแพทย์และพยาบาลปฏิบัติงานได้อย่างสะดวกโดยไม่ต้องกังวลว่าอุปกรณ์จะพัง รวมถึงยังสามารถทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคบนอุปกรณ์ได้อย่างต่อเนื่องด้วยวิธีการที่หลากหลายอีกด้วย

2. การติดตั้งใช้งานร่วมกับเครื่องจักร, หุ่นยนต์, ยานพาหนะ, ตู้ Kiosk

Credit: Samsung

อีกกรณีที่น่าสนใจก็คือการนำ Tablet ไปใช้ปรับปรุงให้พื้นที่ทำงานนั้นมีความชาญฉลาดมากยิ่งขึ้น หรือให้บริการแบบ Self Service ได้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง

ตัวอย่างที่พบเห็นได้บ่อยมากนั้นก็คือการทำให้ Station ใดๆ ในโรงงานหรือสายการผลิตนั้นสามารถควบคุมหรือติดตามการทำงานได้ผ่าน Tablet ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ก็อาจถูกติดตั้งอยู่ใกล้เคียงกับตัวเครื่องจักรที่อาจมีการสั่นสะเทือนหรือแผ่ความร้อนออกมาได้

อีกกรณีหนึ่งที่เป็นไปได้นั้น ก็คือการนำ Tablet ไปติดตั้งบนหุ่นยนต์หรือตู้ Kiosk เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถตอบสนองกับหุ่นยนต์ได้ผ่าน Application ต่างๆ บน Tablet โดยตรง

นอกจากนี้ในธุรกิจ Logistics เอง การนำ Tablet ติดตั้งไปบนยานพาหนะเพื่อใช้ในการติดตามตำแหน่ง, การป้อนข้อมูลที่เกี่ยวกับการทำงาน, การนำทาง หรืออื่นๆ นั้นก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเช่นกัน

3. การเป็นอุปกรณ์พกพาให้กับพนักงานหน้างานที่มีความทนทานสูง

Credit: Samsung

กรณีสุดท้ายที่ใกล้ตัวที่สุด ก็คือการใช้ Tablet สำหรับพนักงานขายหน้าร้านหรือเข้าถึงระบบ Point-of-Sale (POS) นั่นเอง ซึ่งในกรณีนี้การที่อุปกรณ์มีความทนทานสูง ก็จะทำให้พนักงานสามารถใช้งานอุปกรณ์ได้อย่างสบายใจโดยไม่ต้องกังวลถึงอุบัติเหตุต่างๆ ที่อาจทำให้อุปกรณ์เสียหายจนใช้งานไม่ได้นั่นเอง ทำให้ธุรกิจของร้านสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างลื่นไหลไม่สะดุดติดขัด

แกะกล่อง ลองใช้งานของจริง

หลังจากที่เกริ่นกันมามากแล้ว ก็ถึงเวลาทดลองใช้งาน Samsung Galaxy Tab Active3 กันจริงๆ เสียทีครับ

เมื่อได้ทำการแกะอุปกรณ์ออกมาลองใช้งานแล้ว สัมผัสแรกที่พบได้เลยก็คืออุปกรณ์นี้ที่ใส่เคสอยู่ หนักกว่าตอนที่ไม่ได้ใส่เคสเพียงเล็กน้อย แต่ก็สามารถจับได้ถนัดมือ ไม่ต้องกลัวหลุดมือร่วงหล่นไป เพราะตัวเคสออกแบบมาให้ติดมือมากๆ ครับ

ส่วน S Pen นั้นก็มีขนาดที่ใหญ่กว่า S Pen ปกติของมือถือหรือ Tablet รุ่นอื่นๆ ของ Samsung เป็นอย่างมาก หยิบออกมาใช้งานจากด้านบนของเคสนี่ก็ไม่ต้องกลัวทำหล่นเลย เพราะด้วยขนาดใหญ่ที่จับได้แน่น และตัว S Pen ที่ดูทนทานมากจนรู้สึกว่าแม้จะหล่นพื้นก็คงไม่พังง่ายๆ ในขณะที่ตอนเก็บ S Pen เข้าไปในเคสนี่ก็ดูแน่นหนา ไม่หลุดออกมาง่ายๆ นอกจากนี้ยังเขียนลื่น ไม่ต้องชาร์ต มีมาให้ในกล่องไม่ต้องซื้อเพิ่ม

รอบๆ ตัวเครื่องเองก็มีจุดสังเกตที่น่าสนใจมากมาย โดยจุดแรกก็คือด้านขวาของเครื่องที่มีปุ่มเพิ่มมาให้อีกปุ่มหนึ่ง สำหรับให้เราตั้งเป็น Shortcut เข้าไปทำงานใน Application ต่างๆ ได้อย่างสะดวกครับ

จุดถัดมาก็ถือด้านซ้ายของตัวเครื่อง ที่มีช่องชาร์จไฟแบบพิเศษที่เรียกว่า POGO สำหรับวางอุปกรณ์เข้ากับแท่นชาร์จแล้วชาร์จไฟได้ง่ายๆ ไม่ต้องใช้สาย USB สำหรับกรณีที่ในพื้นที่ทำงานมีการใช้อุปกรณ์ Samsung Galaxy Tab Active3 เป็นจำนวนมาก และต้องการชาร์จไฟให้กับหลายๆ อุปกรณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้อุปกรณ์พร้อมนำไปใช้งานได้อยู่ตลอด ไม่ต้องเสียเวลามาถอดใส่สาย USB-C เองอีกต่อไป

ส่วนด้านล่างเครื่องนั้นก็จะเป็นพื้นที่สำหรับลำโพง, ไมโครโฟน, พอร์ต USB-C สำหรับชาร์จไฟและทำสิ่งอื่นๆ และช่องหูฟังแบบ 3.5mm ครับ

หลังจากได้ทดลองใช้งานก็มีประสบการณ์การใช้ดังนี้ครับ

  • เปิดเครื่องครั้งแรกก็ต้องรอระบบเซ็ตค่าต่างๆ ก่อนเล็กน้อย แต่หลังจากนั้นก็จะค่อนข้างเร็วแล้ว
  • แข็งแรง ทนทาน แต่น้ำหนักค่อนข้างเยอะ ถ้าถือค้างเอาไว้เพื่อดูคลิปอาจเหนื่อยได้ แต่ถ้าแค่ถือเพื่อพกพกไปพกมา แล้วเปิด App ใช้กรอกข้อมูลก็รู้สึกว่าเหมาะดี
  • S Pen ที่มีขนาดใหญ่และเก็บอยู่ที่เคสของเครื่องทำให้รู้สึกกล้าหยิบมาใช้บ่อยขึ้นโดยไม่ต้องกลัวพัง กลัวเปียก กลัวมีฝุ่น หรืออื่นๆ ที่เคยรู้สึกเหมือนตอนใช้ Samsung Galaxy Note 10
  • จุดเด่นต่างๆ ที่ Samsung โฆษณาเอาไว้สามารถใช้ได้หมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปุ่มสำหรับทำ Shortcut ในการเข้า App, การสัมผัสผ่านถุงมือ, การถอดแบตเตอรี่แล้วยังใช้งานได้ด้วยการเสียบชาร์จไฟค้างไว้ ส่วนการสแกน Barcode นั้นต้องลง Google ARCore ก่อน
  • มีโหมด Auto HotSpot จ่าย Wi-Fi โดยใช้ Internet จาก 4G ได้อัตโนมัติ เหมาะสำหรับกรณีที่จะพ่วงอุปกรณ์อื่นในการทำงานให้เชื่อมต่อ Internet จาก Tablet ไปได้เลย
  • สามารถปรับแต่งการตั้งค่าการทำงานของปุ่มด้านข้างเครื่อง 2 ปุ่มให้เป็น Shortcut ไปเข้า App หรือทำสิ่งต่างๆ ที่ต้องการได้ปุ่มละ 2 App (กด 1 ครั้งกับกดค้าง) และสามารถกดได้ตั้งแต่ก่อนปลดหน้าจอ ทำให้สะดวกในการเรียกใช้งาน App สำหรับทำงานที่ต้องการขึ้นมาได้ทันที
  • ปรับเครื่องให้แตะหน้าจอสองครั้งเพื่อปลุกเครื่องได้ เหมาะกับกรณีที่ใช้สองมือในการถือ Tablet ทำงานมาก เพราะไม่ต้องกดปุ่มด้านล่างหรือด้านข้างเครื่องในการปลุก ทำงานได้เร็วขึ้นกว่าเดิม
  • ง่ายในการดูแลรักษา โดยสามารถแกะส่วนต่างๆ ของเครื่องออกมาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษแต่อย่างใด ทั้งการถอดฝาหลังเครื่องหรือการถอดถาดซิมก็ตาม
  • ปุ่มเป็น Hard Button ทั้งหมด ถึงแม้จะดูไม่ทันสมัยแต่ตอนใช้งานจริงที่อยากกดให้ได้อย่างแม่นยำและไม่พลาดไปสัมผัสโดนปุ่ม Back โดยไม่ตั้งใจก็ถือว่าตอบโจทย์ดี
  • แบตเตอรี่ทนมาก และด้วยสเป็คเครื่องที่ไม่ได้แรงมากทำให้ไม่เปลืองแบตเวลาใช้จริง ใช้งานแบบลืมชาร์จได้เลย
  • สามารถถอดแบตเตอรี่และใช้งานในขณะชาร์จไฟได้จริง โดยเมื่อถอดแบตออกแล้วเครื่องจะมีน้ำหนักเบามากๆ ดังนั้นในการใช้งานแบบ Kiosk ก็ตอบโจทย์พอสมควร
  • การปิดเครื่องนั้นจะไม่เหมือนกับเครื่องทั่วไปที่กดปุ่มข้างเครื่องค้างไว้ก็ปิด แต่ต้องกดสองปุ่มพร้อมกันแทน ทำให้ลดโอกาสพลาดไปปิดเครื่องโดยบังเอิญได้
  • Shortcut ที่ตั้งไว้ใน Programmable Button สามารถกดได้แม้จะอยู่ในหน้าก่อนปลดล็อคเครื่อง ทำให้สามารถตั้ง Shortcut และเข้า App ที่ต้องการได้เร็วมาก
  • ทดลองใช้ Push-to-Talk ใน Zoom ดู พบว่าสะดวกดีสำหรับการใช้งานนอกอาคาร เพราะไม่ต้องเล็งปุ่ม Mute/Unmute มากนัก และเห็นได้ง่ายว่าเราเปิดไมค์หรือปิดไมค์อยู่
  • กล้องถือว่าใช้ทำงานได้ แต่ก็ไม่ได้หลากหลายหรือคมชัดเท่ากล้องมือถือ Flagship
  • Samsung DeX ถูกปรับใช้เชื่อมต่อกับ PC/Notebook ผ่านระบบ Wi-Fi แทน ส่วนการต่อออกจอ Monitor ยังใช้ได้ผ่านสายและผ่าน Wi-Fi
  • S Pen มีลูกเล่นเสริมเรื่องการแปลภาษาของคำที่ต้องการได้ เลือกได้หลายภาษา สำหรับธุรกิจนานาชาติก็น่าจะสะดวกดีในบางกรณี แต่ต้องติดตั้ง App เพิ่มก่อนใช้งาน

โดยรวมแล้วหลังจากได้ทดลองใช้งานมาระยะหนึ่งก็มีความเห็นว่า Samsung Galaxy Tab Active3 นี้ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้งานในระดับธุรกิจจริงๆ เพราะ Value ของตัวผลิตภัณฑ์เกือบทั้งหมดนั้นคือการรองรับ Scenario การใช้ในการทำงานที่มีความเฉพาะทางสูง, การลด Downtime หรือ Maintenance ในการใช้ทำงาน โดยไม่ได้เน้นเรื่องประสิทธิภาพในระดับที่ต้องเล่นเกมได้ลื่น หรือการถ่ายภาพที่คมชัดเหมือนกล้องมือถือ Flagship และด้วยน้ำหนักของตัวเครื่องเองนั้นก็ทำให้อาจจะไม่เหมาะสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันมากนัก

สรุปข้อดีข้อเสีย

ข้อดี

  • แข็งแรง ทนทาน ตอนใช้งานไม่กังวลเลยว่าหล่นแล้วจะพังหรือจะแตกหรือไม่ และไม่ต้องกังวลเรื่องฝุ่นเข้าหรือน้ำเข้าเครื่องด้วย
  • ติดตั้ง App เริ่มต้นมาให้น้อยมาก ทำให้ไม่เปลืองทรัพยากรในเครื่อง เหมาะสำหรับการใช้ในภาคธุรกิจที่ต้องการเลือกติดตั้งเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงานเท่านั้น
  • S Pen ใหญ่จับถนัดมือ ไม่หล่นง่าย
  • สามารถสัมผัสหน้าจอผ่านถุงมือได้ เหมาะสำหรับงานที่ต้องใส่ถุงมือเพื่อความปลอดภัยหรือความสะอาด หรือจะเลือกใช้ S Pen ในการสัมผัสหน้าจอแทนก็ได้เช่นกัน
  • ปุ่ม Shortcut ใช้งานได้สะดวกมาก ตอบโจทย์การตั้งค่าให้เปิด Business App ที่ใช้ทำงานจริงได้หลาย App
  • ปิดเปิดเครื่องได้เร็วกว่า Smartphone สำหรับ Consumer พอสมควร น่าจะเป็นเพราะเพื่อให้สามารถทำงานได้ต่อเนื่องหาต้อง Maintenance และเพราะมี App ในเครื่องไม่เยอะมาก
  • ถอดฝาหลังออกมาเปลี่ยนแบตเตอรี่ หรือถอดถาดซิมออกมาได้ง่ายมาก ไม่ต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะหรือเข็มจิ้มซิม ทำให้หากมีปัญหาหน้างานที่ต้องแก้ไขก็สามารถทำได้สะดวก
  • ไม่ใส่แบตเตอรี่ก็เสียบปลั๊กเพื่อใช้ทำงานได้ ตอบโจทย์การทำ Kiosk ได้อย่างเต็มที่

ข้อเสีย

  • น้ำหนักถือว่าหนักพอสมควร สำหรับผู้ชายใช้อาจไม่รู้สึกอะไรมาก แต่สำหรับผู้หญิงอาจถือว่าหนักมากทีเดียว
  • สเป็คที่อาจจะดูเหมือนเล็กไปหน่อย แต่พอใช้สำหรับการทำงานเป็นหลักก็ไม่ได้ติดปัญหาอะไร เนื่องจากไม่ได้ต้องเล่นเกมหรือเปิด Tab ใน Browser มากนัก
  • มีฝุ่นเกาะง่ายไปหน่อย แต่ถ้าคิดว่านี่คือเครื่องทำงานสำหรับใช้อย่างทนทานๆ ไม่ได้ต้องกังวลเรื่องความสวยงามมากนัก ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร
  • ราคาอาจสูงไปหน่อยสำหรับการใช้งานส่วนตัว แต่สำหรับการใช้งานในเชิงธุรกิจก็ถือว่าเหมาะหากต้องการลด Downtime ในการทำงานลง
  • Samsung DeX ลดวิธีในการเชื่อมต่อกับ PC ผ่าน USB และแสดงผลเป็นหน้าจอย่อยลงไป แต่ก็ไม่ได้กระทบอะไรมากเพราะเป็นกรณีที่ไม่ค่อยได้ใช้อยู่แล้ว

สนใจโซลูชันอุปกรณ์ Smartphone หรือ Tablet สำหรับธุรกิจ ติดต่อทีมงาน Samsung ได้ทันที

สำหรับผู้ที่สนใจโซลูชันด้านการนำ Smartphone หรือ Tablet สำหรับนำไปใช้งานกับธุรกิจ หรือระบบบริหารจัดการอุปกรณ์เหล่านี้ให้มีความมั่นคงปลอดภัยและกำหนดค่าการใช้งานต่างๆ ได้จากศูนย์กลาง สามารถติดต่อทีมงาน Samsung Business ได้ทันทีที่โทร 02-118-1000 หรืออีเมล์ b2b_thailand@samsung.com หรือเยี่ยมชมเว็บไซต์ของ Samsung Business ได้ที่ https://www.samsung.com/th/business/ สั่งออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3wj2KwU หรือถ้าใครอยากไปดูของจริงก็สามารถเข้าไปดูได้ที่ Samsung Experience Store 15 ร้านค้า

About nattakon

จบการศึกษา ปริญญาตรีและโท สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ KMITL เคยทำงานด้าน Engineer/Presale ดูแลผลิตภัณฑ์ด้าน Network Security และ Public Cloud ในประเทศ ปัจจุบันเป็นนักเขียน Full-time ที่ TechTalkThai

Check Also

Intel ประกาศได้งานผลิตชิป AI ให้ AWS พร้อมชะลอการลงทุนในเยอรมันและโปแลนด์

หลังจากการประกาศงบที่ไม่อภิรมย์ต่อนักลงทุนเท่าไหร่นักล่าสุด Intel ก็คว้าสัญญาการผลิตชิป AI จาก AWS ในกระบวนการผลิตแบบ 18A ได้รวมถึงชิปปรับแต่งพิเศษ Xeon 6 ด้วย

ขอเชิญร่วมงานสัมมนาออนไลน์ฟรี “Wasabi Cloud: The Smart Choice for Cloud Storage” [วันพุธที่ 9 ตุลาคม 2567 เวลา 10:00 – 12:00 น.]

Material Automation (Thailand) และ SiS Distribution ขอเรียนเชิญผู้บริหาร C-Level ผู้จัดการ IT และผู้ปฏิบัติงานด้าน IT ทุกท่านเข้าร่วมงานสัมมนาออนไลน์ “Wasabi Cloud: …