NetworkWorld ได้ออกมาวิเคราะห์ถึงปัญหาที่ DRAM ขาดแคลนทั่วโลกและมีการปรับราคาสูงขึ้น ว่าเป็นเพราะเหล่าบริษัทที่มี Hyperscale Data Center ซึ่งเป็นธุรกิจ IT ขนาดใหญ่ทั่วโลกนั้นต่างเติบโตอย่างรวดเร็ว และใช้ DRAM ปริมาณมหาศาลในการขยาย Data Center อย่างต่อเนื่อง
DRAMeXchange หนึ่งในบริษัทเครือ TrendForce นั้นได้ออกมาทำนายว่า DRAM จะยังคงมีราคาสูงต่อไปอย่างต่อเนื่องจากการที่มีกำลังผลิตอย่างจำกัด และเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นไปจนสิ้นสุดไตรมาสที่ 2 ของปี 2018 นี้ที่สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น และการผลิต DRAM นั้นจะมุ่งเน้นไปที่ความเร็วระดับ 2666MHz และ 2400MHz แทนแล้ว
การใช้ DRAM ปริมาณมหาศาลนี้เกิดขึ้นจากการเติบโตของเหล่าธุรกิจ IT as a Service ที่ Deloitte ได้ออกมารายงานว่าการลงทุนด้านนี้จะมีมูลค่าสูงถึง 547,000 ล้านเหรียญหรือราวๆ 19 ล้านล้านบาทภายในปี 2018 นี้ แน่นอนว่าปริมาณ DRAM ที่ต้องใช้ในการลงทุนครั้งนี้ก็คงมีปริมาณไม่น้อยทีเดียว
ทั้งนี้ Hyperscale Data Center ก็ดูจะเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ DRAM ขาดแคลนมาอย่างต่อเนื่อง โดยทาง IDC ได้ให้นิยามของ Hyperscale Data Center เอาไว้ว่าเป็น Data Center ที่มี Server อย่างน้อย 5,000 เครื่อง และกินพื้นที่อย่างน้อย 10,000 ตารางฟุต ซึ่งทาง Synergy Research เองก็เคยให้ข้อมูลว่าทั่วโลกในเวลานี้มี Hyperscale Data Center อยู่ด้วยกันมากถึงเกือบ 400 แห่งแล้ว และภายในอีก 2 ปีข้างหน้าก็คาดว่าจะขยายตัวไปจนถึง 500 แห่ง ซึ่ง Hyperscale Data Center เหล่านี้ก็เป็นทรัพย์สินของเหล่าธุรกิจ IT ขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Amazon, Facebook, Google, Microsoft, IBM หรือผู้ผลิตรายอื่นๆ ก็ตาม
คราวนี้คำถามคือแล้วธุรกิจเหล่านี้ลงทุนขยายระบบกันมากน้อยแค่ไหน? ทาง NetworkWorld เปิดเผยว่าแค่ Amazon เจ้าเดียวก็คาดการณ์ว่าจะมีการซื้อ Server มากถึง 250,000 เครื่องภายในไตรมาสเดียวแล้ว และแน่นอนปริมาณ DRAM ที่ต้องใช้นั้นก็นับเป็นปริมาณมหาศาลทีเดียวท่ามกลางยุคสมัยของ Cloud, Big Data และ AI เช่นนี้ หากประเมินเล่นๆ ว่าแต่ละเครื่องใช้ RAM ขนาด 256GB ก็แปลว่า Amazon เพียงรายเดียวก็อาจต้องใช้ RAM มากถึง 64 ล้าน GB ต่อไตรมาสแล้ว
มุมวิเคราะห์ของ NetworkWorld นี้ออกจะมุ่งเน้นไปที่ฝั่ง Data Center เสียเป็นส่วนมาก อันที่จริงแล้วปัจจัยที่ทำให้ DRAM ขาดแคลนก็ยังเกิดจากความต้องการใช้งาน NAND ในการผลิตอุปกรณ์อื่นๆ อีกด้วยมากมาย ทั้ง Smartphone, IoT และ GPU