ในช่วงเช้าของวันที่ 23 พฤษภาคม 2019 ซึ่งเป็นวันแรกของงาน VMware CIO Forum 2019 ที่สิงคโปร์ ทีมงาน TechTalkThai มีโอกาสได้ร่วมวงเสวนากับทางเหล่าผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญของ VMware ในการเล่าภาพของ Cloud และ Blockchain ซึ่งจะเป็นทิศทางของ VMware ถัดจากนี้ไป จึงขอนำเนื้อหามาสรุปให้ทุกท่านได้อ่านกันดังนี้ครับ
การก้าวสู่ Multi-Cloud กับ 3 มุมมองสำคัญของ VMware
Multi-Cloud นั้นได้กลายเป็นกลยุทธ์ที่ทุกธุรกิจองค์กรได้เริ่มนำไปใช้งานจริงหลังจากที่เริ่มต้นคุ้นเคยกับเทคโนโลยี Cloud กันแล้ว เนื่องจากแต่ละองค์กรนั้นต้องการใช้บริการ Cloud ที่มีความสามารถหรือคุณค่าบางส่วนที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการของธุรกิจสูงสุดหรือคุ้มค่าที่สุด รวมถึงหลีกเลี่ยงปัญหา Vendor Lock-in ก็ทำให้ Multi-Cloud นั้นกลายเป็นภาพที่เริ่มพบเห็นกันได้บ่อยๆ
ในมุมมของของ VMware นั้น การใช้งาน Multi-Cloud ที่ดีจะต้องคำนึงถึงประเด็นที่สำคัญได้แก่
- Security เป็นหัวใจสำคัญอันดับหนึ่ง เพราะถ้า Cloud ไม่ปลอดภัยพอ องค์กรก็จะไม่เชื่อมั่นและไม่ใช้งาน โดย Security นั้นจะต้องถูกพิจารณาตั้งแต่ระดับของ Operation, Architecture และ Design
- Cost Management ต้องสามารถเลือกใช้บริการ Cloud ในส่วนต่างๆ ให้เหมาะสมและคุ้มค่าที่สุดสำหรับธุรกิจได้ตลอดเวลา
- การย้าย Workload ไปสู่ Multi-Cloud / Hybrid Cloud ได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัย และรองรับต่อการเพิ่มขยายในอนาคตได้ตามต้องการ
องค์กรจะได้ประโยชน์จากการขยายไปสู่ Cloud เพื่อใช้ Hyperscale Computing บน Cloud อย่างเต็มตัว และทำให้สามารถสร้างบริการใหม่ๆ ขึ้นมาจากสถาปัตยกรรมใหม่ที่มีพลังประมวลผลและพื้นที่จัดเก็บข้อมูลมหาศาลซึ่งเพิ่มขยายได้ง่ายนี้ได้
ความปลอดภัยเป็นประเด็นสำคัญในทุกส่วนของระบบ IT
อย่างไรก็ดี ประเด็นหนึ่งที่เหล่าองค์กรต้องปรับตัวให้มากก็คือในการย้ายไปใช้บริการ Cloud ใดๆ นั้น การทำความเข้าใจเทคโนโลยีเหล่านั้นให้ได้ดีถือเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้การใช้งานเทคโนโลยีนั้นๆ เป็นไปได้อย่างมั่นคงปลอดภัย ไม่พบปัญหาอย่างเช่นการรั่วไหลหรือสูญหายของข้อมูลจากความผิดพลาดในการใช้งานและการตั้งค่าใดๆ ในขณะที่การตรวจสอบและค้นหาภัยคุกคามเพื่อจำกัดความเสียหายก็เป็นอีกกระบวนการที่สำคัญ
ทั้งนี้ ระบบ IT ใดๆ นั้นก็จะมีระดับความปลอดภัยได้เท่ากับช่องโหว่ที่อ่อนแอและถูกเจาะได้ง่ายที่สุด ซึ่งทาง VMware ก็พบว่าการโจมตีจำนวนมากนั้นหลายครั้งไม่ได้เกิดจากช่องโหว่หรือปัญหาในฝั่ง Data Center แต่ยังเกิดจากในฝั่งของ Client Device ที่เชื่อมต่อเข้าไปใช้งานระบบต่าๆง ด้วย ดังนั้นการปกป้องระบบให้ปลอดภัยแบบ End-to-End นั้นจึงถือว่าสำคัญมากในการปกป้องระบบและข้อมูลทั้งหมดของธุรกิจ
ในอีกมุมหนึ่งเมื่อมองข้ามระดับองค์กรไปสู่ระดับของ Mobile Operator ประเด็นต่างๆ ที่สำคัญต่อการเลือกใช้ Multi-Cloud นั้นก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับระบบ IT ของ Mobile Operator เพื่อสนับสนุน 5G ได้เช่นกัน แต่อีกมุมหนึ่งที่ถูกเพิ่มเข้ามานั้นก็คือการที่ระบบเหล่านี้มักมีเป้าหมายในการใช้งานที่ชัดเจนอยู่แล้ว ดังนั้นการบริหารจัดการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะเหล่านั้นก็จึงสามารถถูกทำให้ง่ายและเป็นอัตโนมัติได้ด้วยแนวคิดแบบ Intent-based และแนวทางนี้ก็จะช่วยให้การออกแบบระบบเพื่อเสริมความปลอดภัยและความคุ้มค่าเป็นไปได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น
End User Computing: หัวใจหลักในการเปิดให้พนักงานเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการทำงานได้อย่างต่อเนื่องและปลอดภัย
ทาง VMware ได้แสดงให้เห็นถึงการใช้งาน VMware Workspace ONE ที่ได้รวบรวมนำ Application ทั้งหมดในธุรกิจภายใน Data Center, Cloud และบริการแบบ SaaS รวมถึง Desktop ที่ใช้ในการทำงานให้สามารถเข้าถึงได้จาก Portal กลางผ่านการ ทำ Single Sign-On เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งานในขณะที่ยังมีความมั่นคงปลอดภัย และข้อมูลของธุรกิจทั้งหมดก็ไม่ได้ถูกจัดเก็บอยู่บน Mobile Device ที่ใช้ในการเข้าถึงเลย ทำให้มั่นใจในความมั่นคงปลอดภัยได้
ในอินเดียนั้นมีการใช้ VMware Workspace ONE กลายเป็น Platform หลักในการทำงาน และติดตามการทำงานของพนักงานแต่ละคนจากการเข้าใช้งานระบบแทนการเซ็นต์ชื่อในเอกสารแทน และความยืดหยุ่นในการเปิดให้สามารถเข้าถึง PC/Application ที่พนักงานแต่ละคนที่จำเป็นต่อการทำงานได้นี้ก็ช่วยให้สามารถทำงานได้จากทุกที่ทุกเวลา
ส่วนในภาคการศึกษานั้น การนำ VMware Workspace ONE นี้ก็ช่วยให้เจ้าหน้าที่และนิสิตนักศึกษาสามารถเข้าถึง Application ต่างๆ ทั้งที่มหาวิทยาลัยซื้อมาและได้รับฟรีจากหน่วยงานต่างๆ มาให้บริการได้ง่ายขึ้น โดยที่ไม่เกิดความซับซ้อนในการบริหารจัดการรหัสผ่านสำหรับการเข้าถึงแต่ละระบบอีกต่อไป ทำให้ในภาพรวมนั้นเกิดการนำเทคโนโลยีไปใช้งานจริงมากยิ่งขึ้น
อีกหนึ่งกรณีที่น่าสนใจของธุรกิจค้าปลีกในฝั่ง End User Computing นี้ก็คือการใช้ VMware AirWatch เพื่อให้อุปกรณ์ iOS/Android ที่พนักงานแต่ละคนใช้ในการทำงานนั้นถูกเปลี่ยนเป็นอุปกรณ์ Handheld สำหรับทำงานที่มี Application ทั้งหมดพร้อมให้ใช้งานได้ทันที รองรับการบริหารจัดการจากศูนย์กลางและแก้ไขปัญหาได้จากระยะไกล ง่ายต่อการดูแลรักษาในระยะยาวมากขึ้น และยังมั่นคงปลอดภัยเพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับล่าสุดนี้ VMware ก็เริ่มมีโซลูชันที่ทำงานร่วมกับเหล่าผู้ผลิตอุปกรณ์ Endpoint เพื่อให้อุปกรณ์ PC/Notebook ที่บริษัทซื้อมานั้นมีการตั้งค่าเบื้องต้นมาให้พร้อมใช้งานได้ทันที ทำให้แผนก IT ไม่จำเป็นต้องติดตั้งอะไรเอง และเมื่อผู้ใช้งานได้รับอุปกรณ์แล้ว ก็สามารถทำการ Login เข้าไปยังอุปกรณ์และเข้าถึง Application ต่างๆ ของธุรกิจที่ต้องใช้ในการทำงานได้ทันทีโดยไม่ต้องติดตั้งอะไรเองเพิ่มเติมแม้แต่น้อย และทั้งหมดนี้สามารถบริหารจัดการได้จากศูนย์กลาง
ต่อยอดจาก End User Computing สู่ Internet of Things (IoT) Management
ก้าวถัดไปที่เกิดขึ้นจากการต่อยอดเทคโนโลยีในฝั่งของ End User Computing นั้นก็คือการบริหารจัดการและรักษาความมั่นคงปลอดภัยให้กับอุปกรณ์ IoT ที่เหล่าธุรกิจองค์กรจะนำไปใช้งานจำนวนมากในอนาคต ซึ่งหลักการในภาพรวมนั้นเทคโนโลยีต่างๆ จะยังคงใช้งานรวมกันได้ แต่จะมีส่วนที่ถูกเสริมขึันมาเพื่อจัดการกับข้อมูลและความแตกต่างของอุปกรณ์ ซึ่งปัจจุบันนี้ VMware ก็ได้ทำงานร่วมกับเหล่าผู้ผลิตอุปกรณ์และโซลูชั้นทางด้าน IoT ที่หลากหลาย
จุดสำคัญคือการควบคุมลักษณะนี้ จะทำให้ธุรกิจองค์กรนั้นสามารถทำ Zero Trust ให้กับอุปกรณ์ฝั่ง Endpoint ทั้งหมดได้ และเสริมความมั่นคงปลอดภัยให้กับธุรกิจได้เป็นอย่างดี
Data Center Security: Virtualization และ Cloud ทำให้การติดตามเหตุการณ์ต่างๆ ด้านความมั่นคงปลอดภัย และการตอบสนองโดยอัตโนมัติเป็นไปได้ง่ายดายยิ่งขึ้น
ในอดีตนั้นการที่ระบบต่างๆ อยู่แยกกันนั้น ทำให้แต่ละระบบนั้นจะต้องมีการตรวจสอบด้านความมั่นคงปลอดภัยด้วยตนเอง และมีการรับส่งข้อมูลระหว่างกันทั้งหมด ทำให้เกิดความซับซ้อนในการตรวจสอบและตอบสนองเป็นอย่างมาก
การมาของเทคโนโลยี Virtualization ที่เริ่มจากฝั่งของ Data Center และค่อยๆ ไล่มาสู่ Network, End Point และอื่นๆ นั้นก็ได้เริ่มทำให้การผสานชั้นของเทคโนโลยีต่างๆ เข้าด้วยกันกลายเป็นจริงขึ้นมาได้ง่าย และภายในชั้นของ Virtualization เองก็ยังสามารถตรวจจับเหตุการณ์ต่างๆ และควบคุมการทำงานของแต่ละส่วนให้ดีขึ้นได้ด้วยในเวลาเดียวกัน
Blockchain กับ VMware: Platform ใหม่สำหรับตอบโจทย์ธุรกิจเพิ่มเติมในอนาคต
ที่ผ่านมา VMware เองก็ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็น Distributed System อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น VMware NSX, VMware VSAN หรืออื่นๆ การนำ Blockchain เข้ามาเพื่อเสริมขีดความสามารถของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมนั้นก็ถือว่าเป็นก้าวหนึ่งที่น่าติดตามไม่น้อย
ในอีกมุมหนึ่ง ลูกค้าของ VMware เองก็ให้บริการ Cloud กันเยอะ ดังนั้นในอนาคต VMware ก็จะช่วยให้ลูกค้าเหล่านี้สามารถให้บริการ Blockchain บน Cloud ของตนเองให้แก่ธุรกิจองค์กรในประเทศต่างๆ ได้ในอนาคตด้วย
สุดท้าย VMware นั้นเห็นว่า Blockchain สำหรับใช้ในธุรกิจนั้นยังไม่ตอบโจทย์ต่อภาคธุรกิจอย่างแท้จริง ทาง VMware จึงได้มีการวิจัยด้าน Consensus Algorithm อย่าง SBFT เพื่อสร้างเทคโนโลยี Blockchain ที่รองรับการใช้งานในภาคธุรกิจองค์กรได้ดีขึ้น ด้วยความสามารถในการรองรับระบบขนาดใหญ่, ข้อมูลปริมาณมหาศาล ในขณะที่ยังคงทำงานได้อย่างรวดเร็วและน่าเชื่อถืออยู่
หลังจากนี้ VMware จะเริ่มต้นด้วยการเปิดตัวบริการ Blockchain บน Cloud ก่อน โดยยังไม่มีการยืนยันว่าจะเปิดตัวในวันไหน แต่สำหรับเทคโนโลยีเบื้องหลังนั้นก็ถือว่าถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ต่างๆ ของธุรกิจเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการรองรับการพัฒนา Smart Contract ด้วย Solidity หรือ DAML และเชื่อมต่อกับ Ethereum, Hyperledger ได้
สำหรับเนื้อหาในส่วนของบทสนทนาช่วงเช้าก็จบลงเพียงเท่านี้ครับ