การระบาดของโรคโควิด 19 นั้นนับเป็นจุดพลิกผันครั้งใหญ่ของการใช้ชีวิตของมนุษย์ทุกคนทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงเพราะโรคระบาดนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีผลเป็นวงกว้างเนื่องจากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และส่งผลกระทบถึงการดำเนินการของธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม ในภาวะที่มีความผันผวนไม่แน่นอนเช่นนี้ สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์ต่างๆได้ก็คือการใช้ข้อมูลมาช่วยในการทำงานและวางกลยุทธ์ต่างๆ ซึ่งในบทความนี้ เราได้สรุปคำแนะนำจาก ดร. ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบัน IMC ผู้เชื่อว่า Big Data จะเป็นเข็มทิศให้กับองค์กรในอนาคต
พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจะกลายมาเป็นพฤติกรรมรูปแบบใหม่
การเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตและพฤติกรรมในช่วงการระบาดของโควิดนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใครหลายคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จำนวนมากเป็นการเปลี่ยนเฉพาะหน้าเพื่อรับมือกับสถานการณ์ไม่ปกติ ซึ่งนักวิเคราะห์หลายรายมองว่าอาจเกิดขึ้นแค่ในช่วงเวลาสั้นๆ อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคในช่วงโควิดนั้นจะเป็นรากฐานของพฤติกรรมใหม่ๆของมนุษย์ในช่วงยุคหลังโควิด
ดร. ธนชาติเล่าว่าในช่วงโควิดนั้น ผู้คนต่างก็หันเข้าหาเทคโนโลยีดิจิทัลกันมากขึ้น ตั้งแต่การจับจ่ายซื้อของออนไลน์ การสั่งซื้ออาหารแบบเดลิเวอรี่ การทำงานแบบ Work From Home ไปจนถึงการเสพสื่อบันเทิง และช่องทางการเรียนรู้ออนไลน์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากขึ้น การเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัลของผู้บริโภคเช่นนี้เป็นโอกาสอันดีของธุรกิจที่จะนำเสนอสินค้าและบริการใหม่ๆ รวมไปถึงการเก็บข้อมูลของลูกค้าเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการมากขึ้น
นอกจากนี้ การมีข้อมูลของลูกค้ายังจะช่วยให้ธุรกิจสามารถกำหนดกลยุทธ์อย่างแม่นยำ และจัดการกับระบบหลังบ้านได้ดียิ่งขึ้น เช่นการจัดการ Supply Chain อย่างมีประสิทธิภาพด้วยข้อมูล ดังนั้นไม่ว่าจะอย่างไร ธุร
กิจจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับ Data มากขึ้น
Data จะสร้างมุมมองการทำงานใหม่ให้ทุกคนในองค์กร
ปัจจุบันธุรกิจจำนวนมากได้เริ่มหันมาสนใจการบริหารจัดการข้อมูล และหลายองค์กรได้เริ่มต้นนำข้อมูลมาใช้แล้วในหลายส่วน ดร.ธนชาติย้ำว่าสิ่งที่สำคัญของการนำ Data หรือ Big Data มาใช้ในองค์กรนั้นคือวิสัยทัศน์ที่ทั้งองค์กรต้องมีร่วมกัน ตั้งแต่ฝ่ายบริหารไปถึงฝ่ายปฏิบัติการและฝ่าย IT ต้องกำหนดเป้าหมายร่วมกันและค่อยๆสร้างเทคโนโลยีเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น
ดร.ธนชาติ ได้ยก Starbucks ขึ้นมาเป็นตัวอย่างขององค์กรที่ประสบความสำเร็จในการทำ Big Data ซึ่ง Starbucks นั้นใช้วิธีการเก็บข้อมูลและพฤติกรรมลูกค้าผ่านระบบบัตร Starbucks ที่ช่วยให้พวกเขารู้ละเอียดถึงพฤติกรรมการใช้บริการในแต่ละสาขา เมื่อมีข้อมูลแล้ว Starbucks ก็สามารถนำมาปรับปรุงบริการให้เข้ากับพฤติกรรมการกินการดื่มของท้องถิ่น ลูกค้าก็จะประทับใจในร้านมากยิ่งขึ้น
“พอเรารู้ว่าเราต้องการเห็นอะไร โจทย์ถัดมาคือจะใช้ Data ทำอะไรและทำอย่างไรเพื่อรวบรวม Data เหล่านี้จากแหล่งต่าง” โดยข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่หลายแพลตฟอร์มนั้นก็เป็นปัญหาสำคัญซึ่งหลายองค์กรจะต้องเจอ โดยดร.ธนชาติแนะนำให้องค์กรออกแบบระบบข้อมูลกลางให้ดี มีการตรวจสอบคุณภาพของข้อมูล และสามารถรองรับข้อมูลในระยะเวลาและปริมาณที่องค์กรต้องการใช้งานได้
Data อยู่ในทุกส่วนงานและทุกอุตสาหกรรม องค์กรต้องให้ Data เป็นผู้นำทาง
การวิเคราะห์ข้อมูลนั้นสามารถประยุกต์และพลิกแพลงใช้ได้กับงานหลายรูปแบบ และไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการวิเคราะห์ขั้นสูงในโปรเจคที่ใหญ่เสมอไป แม้แต่งานง่ายๆที่ทำอยู่ประจำทุกวันก็อาจดีขึ้นได้เมื่อใช้ข้อมูลมาประกอบการดำเนินการ แต่ก่อนที่องค์กรจะสามารถนำข้อมูลมาใช้ในทุกส่วนได้นั้นก็ต้องสร้างความเข้าใจกันภายในองค์กรเสียก่อน ผู้บริหารต้องเป็นผู้นำที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของข้อมูล และคอยสนับสนุนการใช้ข้อมูลด้วยวิธีต่างๆ เช่น การจัดอบรมด้านข้อมูล การเตรียมเครื่องมือด้านข้อมูลให้พนักงานได้ใช้งาน การวางนโยบายที่ส่งเสริมแนวทาง Data-driven เป็นต้น
เมื่อทุกคนเห็นถึงความสำคัญและมีทักษะในการใช้ข้อมูลแล้ว ข้อมูลก็สามารถเข้าไปช่วยงานได้ทุกที่ ตั้งแต่งานที่ต้องติดต่อกับลูกค้าเช่น งานขาย การตลาด และการบริการ งานในระดับปฏิบัติการเช่น การทำงานของเครื่องจักร การจัดการคลังสินค้า ไปจนถึงการสร้างช่องทางการให้บริการใหม่ๆให้กับธุรกิจ เช่น บริการใหม่ที่ใช้ข้อมูลมาช่วยตัดสินใจ งานเหล่านี้มีอยู่ในทุกอุตสาหกรรม และในธุรกิจทุกขนาดไม่ว่าเล็กหรือใหญ่
“ผู้บริหารต้องทำให้องค์กรเห็นความสำคัญของการทำ Data และขับเคลื่อนองค์กรด้วยการใช้ Data” ดร.ธนชาติกล่าวทิ้งท้าย
อ่านบทสัมภาษณ์และมุมมองของดร.ธนชาติเพิ่มเติมได้ที่ https://www.jrit-ichi.com/cutting/2022/05/27/1129/