5 ธุรกิจชั้นนำของไทย คิดเห็นอย่างไรกับการร่วมมือด้านเทคโนโลยีกับบริษัทสตาร์ทอัพ

การระบาดของโรคโควิด 19 นั้นส่งผลให้ธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมทั่วโลกต้องกลับมาทบทวนวิธีการและกลยุทธ์ในการดำเนินการครั้งใหญ่ หนึ่งสิ่งที่ธุรกิจจำนวนมากเห็นพ้องต้องกัน คือการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มความคล่องตัว เพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างสรรค์วิธีการลูกค้าในรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นการนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้งานอย่างแข็งขันจากธุรกิจทุกประเภท

ความต้องการทางเทคโนโลยีที่พุ่งขึ้นสูงนี้เองที่ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างบริษัทผู้ใช้งานและผู้พัฒนาเทคโนโลยีทั้งขนาดใหญ่และสตาร์ทอัพขนาดเล็ก ในบทความนี้ เราจะเล่าถึงผลการสำรวจจาก JRIT ICHI ที่ได้เข้าไปพูดคุยกับ 5 องค์กรชั้นนำของประเทศไทยเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ การสร้างโอกาสใหม่ๆด้วยเทคโนโลยี และการร่วมมือกับบริษัทสตาร์ทอัพเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม 

  • ทพ. ฐิติ ชนะภัย ผู้ช่วยกรรมการกลุ่มโรงพยาบาลสินแพทย์
  • คุณจิรการณ์ วงศ์ทรรศี ผู้จัดการและดิจิทัล โค้ช บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) 
  • คุณจิรุตถ์ วัดตูม ผู้จัดการ Strategy and Partnership – SCG Chemicals
  • คุณภัทร์ สรรพอาษา ผู้จัดการอาวุโสด้านกลยุทธ์องค์กร บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน)
  • คุณคริษฐ์ ศุภวัฒนกุล VC Senior Associate (Portfolio Growth Manager) – SCB10X

เมื่อความผันผวนสูง ต้องปรับตัวให้รวดเร็ว และหาโอกาสให้ได้ 

การระบาดของโควิด 19 แม้จะส่งผลให้เศรษฐกิจซบเซาและมีผลกระทบเชิงลบต่อธุรกิจเป็นอย่างมาก แต่ธุรกิจบางรายก็ยังสามารถเติบโตและหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆได้ 

ทพ. ฐิติ ชนะภัย ผู้ช่วยกรรมการกลุ่มโรงพยาบาลสินแพทย์กล่าวว่า ทางองค์กรมีการทบทวนกลยุทธ์ธุรกิจใหม่ เปลี่ยนเป้าหมายมาเป็นการรักษาโรคหลังโควิดและการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเก็บข้อมูล เพื่อทำความเข้าใจในพฤติกรรมของลูกค้า และพิจารณาแนวทางการลงทุนและดำเนินการ 

ในขณะที่คุณจิรุตถ์ วัดตูม ผู้จัดการ Strategy and Partnership ที่ SCG Chemicals กล่าวถึงการตั้งโฟกัสของธุรกิจให้เหมาะสมกับสถานการณ์และชัดเจน เพื่อที่ธุรกิจจะได้มุ่งไปหาเป้าหมายได้อย่างเหมาะสม 

หนึ่งจุดที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือแนวคิดแบบ Agile หรือการสร้างให้ธุรกิจมีความคล่องตัว เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้เกิดสถานการณ์ที่เหนือความคาดหมาย ธุรกิจจึงต้องมีความสามารถในการปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดย 2 ใน  5 องค์กรผู้ร่วมการสำรวจกล่าวว่าแนวคิด Agile นั้นสำคัญเป็นอย่างมาก 

คุณจิรการณ์ วงศ์ทรรศี ผู้จัดการ – ดิจิทัล โค้ช ที่บ้านปู กล่าวว่า บ้านปูได้เริ่มโครงการ Digital Transformation และพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัลของสมาชิกภายในองค์กรมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งความสามารถเหล่านี้ได้ช่วยให้องค์กรดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเติบโตได้ในอนาคต 

พาร์ทเนอร์ด้านดิจิทัลกำลังเป็นที่ต้องการในทุกอุตสาหกรรม 

ทั้ง 5 องค์กรในการสำรวจนี้ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าในยุคปัจจุบัน การร่วมมือกับธุรกิจอื่นมีความจำเป็น และตัวแทนทั้ง 5 ท่านได้เล่าไปในทิศทางเดียวกันว่าบริษัทของตนนั้นมีการทำงานร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ เป็นพันธมิตรกับบริษัทสตาร์ทอัพ รวมไปถึงการติดตามวงการสตาร์ทอัพเพื่อเสาะหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆอยู่เสมอ โดยองค์กรขนาดใหญ่เหล่านี้มีการพัฒนาโซลูชันดิจิทัลร่วมกับสตาร์ทอัพ และส่งเสริมการเติบโตของสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีข้องเกี่ยวกับกิจการขององค์กร

ในบทความที่ผ่านมา เราได้ไปทำความรู้จักกับโครงการ J-Startup จากประเทศญี่ปุ่นที่กำลังมุ่งเน้นไปที่การสร้างความร่วมมือกับธุรกิจภายนอกประเทศผ่านนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) โดยมีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจ ซึ่งเมื่อสอบถามถึงการร่วมมือกับสตาร์ทอัพญี่ปุ่น ตัวแทนจากองค์กรไทยหลายรายยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับกำแพงด้านภาษาและวัฒนธรรมอยู่บ้าง แต่พวกเขาก็ตระหนักเป็นอย่างดีถึงความเชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์จากญี่ปุ่น 

คุณคริษฐ์ ศุภวัฒนกุลจาก SCB 10X กล่าวว่าความหลากหลายภายในทีมนั้นเป็นเรื่องสำคัญ และหากสตาร์ทอัพจากญี่ปุ่นสามารถทำงานภายใต้วัฒนธรรมอันเป็นสากลได้ก็จะเพิ่มโอกาสอีกมาก ในขณะที่ทพ. ฐิติ ชนะภัย จากกลุ่มโรงพยาบาลสินแพทย์ให้ความสนใจกับการปรับตัวให้เข้ากับบริบทและตลาดท้องถิ่น 

องค์กรทั้ง 5 มองถึงความเป็นไปได้และโอกาสในการร่วมมือกับสตาร์ทอัพญี่ปุ่น ดังนี้

ทพ. ฐิติ ชนะภัย ผู้ช่วยกรรมการกลุ่มโรงพยาบาลสินแพทย์

  • การร่วมทุน กำหนดเป้าหมายและมุ่งไปที่ผลประโยชน์ที่สอดคล้องกัน คือรูปแบบการร่วมมือที่ดีที่สุด 
  • สตาร์ทอัพญี่ปุ่นจะต้องทำความเข้าใจกับบริบทท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมสาธารณสุข 
  • เป้าหมายของธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศไทย คือการสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับคนไข้ ในขณะที่องค์กรสามารถประหยัดและรักษาตัวเลขกำไรไว้ได้

คุณจิรการณ์ วงศ์ทรรศี ผู้จัดการและดิจิทัล โค้ช บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) 

  • บ้านปูมุ่งเน้นไปที่โซลูชันด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเก็บข้อมูลและจัดการการปล่อยคาร์บอนของธุรกิจในกลุ่มบ้านปู 
  • มีความสนใจที่จะใช้โซลูชัน Blockchain สำหรับตรวจสอบการปล่อยคาร์บอนและซื้อขาย Carbon Credit 

คุณจิรุตถ์ วัดตูม ผู้จัดการ Strategy and Partnership – SCG Chemicals

  • ความร่วมมือที่ SCG Chemicals กำลังมองหา คือความร่วมมือที่ธุรกิจมีความสนใจร่วมกัน และใช้ประโยชน์จากจุดเด่นของแต่ละธุรกิจเพื่อสร้างความเติบโต
  • สตาร์ทอัพมักมีข้อจำกัดน้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่ และมีไอเดียที่แปลกใหม่ล้ำสมัย 
  • SCG Chemicals มีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพและแยกบริษัทใหม่มาแล้ว หากสตาร์ทอัพเข้ามาร่วมงานกับ SCG ก็สามารถช่วยส่งเสริมและขยายโอกาสให้กับสตาร์ทอัพได้ 

คุณภัทร์ สรรพอาษา ผู้จัดการอาวุโสด้านกลยุทธ์องค์กร บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน)

  • ประเภทของสตาร์ทอัพที่สนใจ คือเทคโนโลยีเกี่ยวกับเกษตรกรรม การจัดการ Supply Chain ระหว่างธุรกิจ นวัตกรรมวัตถุดิบส่วผสมใหม่ พลาสติดชีวภาพ และการนำกลับมาใช้ใหม่แบบ Upcycling 
  • ไทยวาได้จัดตั้ง ไทยวา เวนเจอร์ส โดยมีเป้าหมายลงทุนในสตาร์ทอัพเทคโนโลยีสีเขียวในธุรกิจอาหาร และธุรกิจการเกษตร (แบบ B2B) และยังคงมองหาสตาร์ทอัพที่มีไอเดียน่าสนใจอยู่อย่างต่อเนื่อง 

คุณคริษฐ์ ศุภวัฒนกุล VC Senior Associate (Portfolio Growth Manager) – SCB10X

  • SCB 10X ให้ความสนใจกับสตาร์ทอัพที่สนใจร่วมมือกับธนาคารแบบดั้งเดิมในหัวข้อของการจัดการสินทรัพย์ดิจิทัลและบล็อกเชน 
  • 10X ยังเปิดกว้างต่อนวัตกรรม FinTech และเทคโนโลยีเกี่ยวกับการเงินแบบไม่มีคนกลางด้วย 

ความร่วมมือทางดิจิทัลคืออนาคต

บริบทของโลกในปัจจุบันได้กระตุ้นให้ธุรกิจต้องปรับตัวตามสถานการณ์อย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกจากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เพิ่มความคล่องตัวแล้ว ความเร็วของธุรกิจยังสามารถได้มาจากการสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆที่ธุรกิจยังไม่มีมาก่อน เงื่อนไขของความเร็วเช่นนี้ทำให้ความร่วมมือเป็นหนึ่งกุญแจความสำเร็จของธุรกิจ ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ตาม

ความร่วมมือระหว่างองค์กรขนาดใหญ่และสตาร์ทอัพเป็นหนึ่งรูปแบบของความร่วมมือที่ได้รับความสนใจจากธุรกิจจำนวนมาก เนื่องจากองค์กรในสองประเภทนี้มีจุดแข็งที่สามารถส่งเสริมกันได้อย่างลงตัว ทรัพยากรและความเคยชินกับตลาดที่มากกว่าขององค์กรขนาดใหญ่ และนวัตกรรมและความคิดนอกกรอบจากสตาร์ทอัพ จะช่วยเร่งการเติบโตและประสิทธิภาพในการดำเนินการให้กับธุรกิจ

ในส่วนของสตาร์ทอัพจากประเทศญี่ปุ่นเองก็เป็นหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่น่าจับตามอง แม้ในปัจจุบันจะยังมีข้อจำกัดด้านการสื่อสารและวัฒนธรรมอยู่บ้าง แต่เหล่าสตาร์ทอัพจากญี่ปุ่นนั้นมีโซลูชันเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ต่อธุรกิจ อีกทั้งยังมีความมุ่งมั่นและความสนใจที่จะร่วมงานกับธุรกิจต่างชาติ รวมไปถึงโครงการจากภาคส่วนต่างๆที่คอยสนับสนุนการร่วมมือกับธุรกิจต่างชาติด้วย

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หากผู้อ่านทานใดสนใจที่จะพูดคุยเพิ่มเติมเกี่ยวกับโอกาสทางธุรกิจ หรือสอบถามในประเด็นใดเกี่ยวกับสตาร์ทอัพจากประเทศญี่ปุ่น ก็สามารถติดต่อเข้ามาได้ทางอีเมล nmiyata@gmail.com

อ่านข้อมูลเกี่ยวกับการสำรวจนี้อย่างละเอียดได้ที่  https://www.jrit-ichi.com/cutting/2022/03/02/851/ 

Check Also

สรุปข่าวเด่น Enterprise IT ประจำสัปดาห์ [17 – 21 มี.ค.2025]

สัปดาห์ที่มีงานใหญ่อย่าง NVIDIA GTC 2025 ที่ทำให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมไอทีที่ยังคงเดินหน้าไปในยุค Agentic AI อย่างต่อเนื่อง หากแต่มีสิ่งที่น่าจับตามองอย่างมาก คือ Humanoid Robot และ Quantum Computing …

NVIDIA เตรียมเปิดศูนย์ปฏิบัติการ Quantum Computing ตอกย้ำ Quantum อาจไม่นานอย่างที่คิด

จากงาน NVIDIA GTC 2025 อีกหนึ่งสิ่งที่ตอกย้ำการมาถึงของ Quantum Computing ในเร็ว ๆ นี้ คือการประกาศของ CEO แห่ง NVIDIA ที่จะเปิดตัวศูนย์ปฏิบัติการ …