Microsoft Azure by Ingram Micro (Thailand)

[IBM Think ASEAN] นโยบาย AI ระดับชาติ การศึกษาคือหัวใจ นักศึกษา IT ต้องพัฒนา AI ให้ใช้งานได้จริง

ในงาน IBM Think ASEAN 2018 ที่กำลังจัดขึ้นอยู่นี้ ทาง IBM ได้เชิญหน่วยงาน Singapore AI และ Temasek Polytechnic มาถ่ายทอดมุมมองที่น่าสนใจของสิงคโปร์ในการพัฒนาทางด้าน AI ในระดับชาติถัดจากนี้ ที่ภาคการศึกษาจะกลายเป็นหัวใจสำคัญเป็นอย่างมาก จนถึงขั้นที่ว่าเหล่านักศึกษาทางด้าน IT ต้องมีประสบการณ์พัฒนา AI จนสำเร็จใช้งานจริงได้มาก่อน ซึ่งทางทีมงาน TechTalkThai เห็นว่าเป็นประเด็นน่าสนใจ จึงขอนำมาสรุปให้ผู้อ่านทุกท่านได้อ่านกันดังนี้ครับ

 

 

เนื้อหาในส่วนนี้เป็นเวทีพูดคุยระหว่าง Laurence Liew ผู้ดำรงตำแหน่ง Director แห่งหน่วยงาน Singapore AI (คนซ้าย), Peter Lam ผู้ดำรงตำแหน่ง Principal and CEO แห่ง Temasek Polytechnic (คนขวา) และ Abraham Thomas ผู้ดำรงตำแหน่ง Managing Director แห่ง IBM Singapore (คนกลาง) ในลักษณะถามตอบ โดยใจความสรุปได้ดังนี้

 

แผนระยะยาวของสิงคโปร์: พยายามพัฒนา AI ด้วยตนเอง และนำมาใช้จริงให้ภาครัฐและธุรกิจให้มากที่สุด

สิงคโปร์มองว่า AI นั้นเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญมาก เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบันที่พัฒนาไปไกลมาก ทั้งในส่วนของเทคโนโลยีการประมวลผล และงานวิจัยด้าน Deep Learning ทำให้ AI สามารถเรียนรู้งานที่มีความละเอียดอ่อนและแม่นยำสูงได้ จนสามารถนำมาใช้ทำงานต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน, เพิ่มความแม่นยำ, ความความผิดพลาด และเพิ่มความเร็วในการทำงานได้เป็นอย่างดี ดังนั้นสิงคโปร์จึงผลักดันเป็นอย่างมากให้ทุกภาคส่วนเริ่มนำ AI มาใช้งานจริงกันในปัจจุบัน

ในแผนการ Smart Nation เพื่อ Transform ประเทศของสิงคโปร์ที่ต้องการจะขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในระดับโลกให้ได้นั้น AI ถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีหลักที่สิงคโปร์จะลงทุนพัฒนาอย่างจริงจังเพื่อให้ทั้งภาครัฐและเอกชนเติบโตไปด้วยกัน และความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชนคือสิ่งที่จะกลายเป็นตัวเร่งสำคัญให้ภาพนี้กลายเป็นจริงขึ้นมาได้

แนวทางหลักๆ ของสิงคโปร์นั้น นอกจากจะผลักดันด้านการวิจัยเทคโนโลยีต่างๆ ด้าน AI แล้ว การนำมาใช้งานจริงก็ถือเป็นอีกสิ่งที่ทางสิงคโปร์ให้ความสำคัญอย่างมากในทุกภาค ไม่ว่าจะเป็นในเชิงภาครัฐหรือเอกชนก็ตาม เพื่อให้เทคโนโลยีเหล่านั้นได้สร้างคุณค่าให้กับสังคมและธุรกิจ รวมถึงสร้างความคุ้นเคยให้กับเหล่าประชาชน ในขณะที่ผู้พัฒนาเทคโนโลยีเองก็จะได้รับ Feedback และนำมาพัฒนาเทคโนโลยีต่อยอดกันด้วย

ตัวอย่างที่อาจจะช่วยให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้นนั้น คือการที่ที่ผ่านมาทาง Singapore AI ได้มีการพัฒนาระบบ Open Source สำหรับการทำ Robotics Process Automation (RPA) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถช่วยธุรกิจต่างๆ ลดต้นทุนได้อย่างมหาศาล และเป็นเทคโนโลยีที่เคยมีราคาสูง ก่อนจะส่งมอบเทคโนโลยีนี้ให้กับ Temasek Polytechnic เพื่อให้นำไปให้บริการต่อภาคธุรกิจต่างๆ ด้วยการปรับแต่งเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับการนำไปใช้งานในแต่ละอุตสาหกรรมในราคาที่คุ้มค่า เป็นต้น

 

AI จะมาทดแทนงานบางประเภท แต่จะไม่ได้ทดแทนคนงาน เพราะโลกนี้ยังมีงานที่คนต้องทำอยู่อีกมาก

หนึ่งในคำถามที่ทางเจ้าหน้าที่ของสิงคโปร์ตอบได้น่าสนใจมาก คือคำถามที่ว่า หากวันหนึ่ง AI เข้ามาแย่งงานคนชนชั้นแรงงานทำแล้ว จะกระทบกับเศรษฐกิจอย่างไร และภาครัฐของสิงคโปร์จะทำอย่างไรกับกรณีนี้ ซึ่งคำตอบนั้นแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน

ในส่วนแรกนั้น AI จะเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ได้เฉพาะบางอย่างเท่านั้น ในขณะที่การทำงานจริงของมนุษย์แต่ละคนนั้นจะต้องม่ีบทบาทรับผิดชอบที่หลากหลายกว่า 1 งานอยู่แล้ว ดังนั้นหากงานย่อยๆ งานใดถูก AI ทดแทนไป มนุษย์เราก็ยังมีงานอื่นให้ต้องทำอยู่อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดสินใจที่มีความสำคัญในธุรกิจ งานเหล่านั้นคงถูก AI ทดแทนได้ยาก ยกเว้นงานประเภทหนึ่งที่อาจมีปัญหาในอนาคตก็คือคนขับรถซึ่งเป็นงานที่มีหน้าที่เดียว และเทคโนโลยีอย่าง Driverless Car น่าจะเข้ามาทดแทนได้อย่างสมบูรณ์ในอนาคต

ส่วนถัดมาก็คือ การมาของเทคโนโลยี AI ในครั้งนี้ก็ถือว่าไม่ได้แตกต่างจากเทคโนโลยีอื่นๆ ก่อนหน้า เช่น แม่บ้านในอดีตที่ต้องใช้ไม้กวาดนั้น พอมีเครื่องดูดฝุ่นมาแม่บ้านก็ยังไม่ตกงาน แถมยังทำงานได้ง่ายขึ้น ทำความสะอาดได้ดีขึ้นด้วย AI ในอนาคตที่ถูกพัฒนาไปจนถึงจุดที่ทุกคนนำไปใช้ได้แล้วก็จะเป็นภาพนี้เช่นกัน

ส่วนสุดท้ายก็คือ งานใหม่ที่จะเกิดขึ้นมาก็คืองานของผู้ที่สามารถนำ AI ไปใช้งานต่อยอดได้ในตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ดังนั้นจริงๆ แล้วคนที่จะตกงานก็คือคนที่ไม่ยอมเรียนรู้การใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการทำงานนั่นเอง ดังนั้นช่วงนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ทุกคนจะได้เริ่มต้นเรียนรู้เทคโนโลยี AI ไปด้วยกัน เพื่อรับมือกับอนาคตที่จะมีเครื่องมือใหม่ๆ ให้ใช้ในการทำงาน

ทางภาครัฐของสิงคโปร์เองนั้นมีความตั้งใจที่จะไม่ทอดทิ้งประชาชนคนใด และมีแผนที่จะอบรมให้ความรู้ทั้งในส่วน AI เชิงเทคนิคสำหรับเหล่าคน IT และผู้ที่สนใจ กับการให้ความรู้ด้านพื้นฐานและการนำ AI ไปใช้สำหรับประชาชนและบุคลากรในอุตสาหกรรมต่างๆ ทุกอาชีพทุกช่วงวัย ซึ่งก็ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่ดีทีเดียว

 

การถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยี, AI และการประยุกต์ใช้ คือบทบาทใหม่ที่สำคัญของภาคการศึกษา

จากเนื้อหาข้างต้นนั้นจะเห็นได้ว่าสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ด้าน AI มากทีเดียว และทางสิงคโปร์ก็แบ่งเนื้อหาด้านการให้ความรู้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจเอาไว้ 2 ส่วนหลักๆ ดังนี้

  • การให้ความรู้ด้านคณิตศาสตร์, สถิติ, การเขียนโปรแกรม, การใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อสร้าง AI สำหรับเหล่าคน IT และคนทำงานในสายต่างๆ ที่สนใจ เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้เชิงลึกในการสร้าง AI ด้านต่างๆ มาใช้งานจริง
  • การให้ความรู้พื้นฐานด้านการทำงานของ AI และการใช้งานเทคโนโลยีหรือระบบ AI ต่างๆ สำหรับบุคคลทั่วไปทุกช่วงอายุ เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับยุคสมัยแห่งอนาคตที่ AI จะมีบทบาทในการทำงานต่างๆ ที่หลากหลายได้ในอนาคต

ทั้งนี้ทาง Temasek Polytechnic เองก็มีการปรับหลักสูตรให้นักศึกษาได้เรียนรู้ด้าน AI หลากหลาย ทั้งในหลักสูตรด้าน IT เอง, หลักสูตรด้านวิศวกรรม, หลักสูตรบริหารธุรกิจ และอื่นๆ รวมถึงยังมีคอร์สสั้นพิเศษสำหรับให้ภาคธุรกิจส่งคนมาเรียนด้าน AI เพื่อนำกลับไปใช้ในการทำงานจริง และคอร์สสั้น 18 เดือนเพื่อปูพื้นฐานด้าน AI ให้เข้มแข็งโดยไม่ต้องลงเรียนปริญญา

นอกจากนี้ ในมุมของผู้ให้การศึกษา การนำ AI มาใช้ในการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นก็กลายเป็นสิ่งที่สถาบันการศึกษาต้องเริ่มต้นพัฒนาเทคโนโลยีและนำมาใช้จริงกันมากขึ้น อย่างเช่นทาง Temasek Polytechnic เองก็มีการนำ Chatbot มาใช้ให้บริการข้อมูลต่างๆ แก่นักศึกษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง, เริ่มมีโครงการนำ AI มาวิเคราะห์ว่านักศึกษาคนไหนมีปัญหาด้านการเรียนในแง่มุมใด เพื่อให้ครูอาจารย์สามารถเข้าไปช่วยให้คำแนะนำหรือช่วยสนับสนุนแก้ไขปัญหาได้ เป็นต้น

 

AI = โอกาสของคนที่ขยันและตั้งใจจริง

ส่วนในมุมของผู้เรียนนั้น ศาสตร์ทางด้าน AI นั้นถือเป็นศาสตร์ที่สามารถค้นหาข้อมูลและเรียนรู้พื้นฐานเบื้องต้นด้วยตนเองได้ฟรีๆ บน Internet ดังนั้นในยุคของ AI เองนี้อาจไม่ใช่ยุคที่จะรอให้คนมาป้อนความรู้ให้เท่านั้น แต่เป็นยุคที่คัดสรรผู้ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ค้นหาหลักสูตรต่างๆ มาเรียนรู้ด้วยตนเองกันเสียมากกว่า และคนกลุ่มนี้ที่เป็นคนกลุ่มแรกๆ ซึ่งมีความรู้พื้นฐานด้าน AI ก็จะได้เปรียบคนอื่นๆ ที่ไม่มีความรู้ด้านนี้เป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ดี ด้วยจำนวนคอร์สออนไลน์ด้าน AI ที่มีจำนวนมหาศาลให้เลือกเรียนกันได้ฟรีๆ นี้ ปัญหาจริงๆ ที่เหล่าผู้ที่สนใจเรียนจะเจอก็คือ “จะเลือกเรียนคอร์สไหนดี” และ “จะเริ่มต้นศึกษาเทคโนโลยีไหนดี” มากกว่า ซึ่งแน่นอนว่าหลักการพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์, สถิติ, การเขียนโปรแกรม และแนวคิดในการแก้ไขปัญหานั้นก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเทคโนโลยีนั้นเปลี่ยนเร็ว แต่หลักการพื้นฐานจะเป็นรากฐานในการประยุกต์ได้อีกยาวนาน

 

ต่อไปนักศึกษาด้าน IT ต้องสร้าง AI ที่ใช้งานจริงได้ตั้งแต่ก่อนเรียนจบ

อีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญของ Temasek Polytechnic นั้นมีเป้าว่านักศึกษาด้าน IT ในแต่ละปีที่มีจำนวนกว่า 500 คนนั้นจะต้องเคยสร้าง AI ที่ใช้งานได้จริงในช่วงที่กำลังเรียนอยู่ เพื่อให้บุคลากรกลุ่มนี้กลายเป็นกำลังสำคัญของสิงคโปร์ในอนาคตที่จะไปช่วยภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้จริงหลังจากเรียนจบไป

การส่งเสริมให้นักศึกษามีโอกาสได้สร้าง AI ด้วยตัวเองตั้งแต่เริ่มจนจบในระหว่างเรียนนี้ สถาบันการศึกษาเองก็ต้องมีการสนับสนุนที่พร้อม ไม่ว่าจะเป็นการมีข้อมูลสำหรับใช้ในการสร้าง AI, การมีกรอบคร่าวๆ ให้นักศึกษาได้ลองตีโจทย์และสร้าง AI ขึ้นมาตอบโจทย์นั้นๆ ไปจนถึงการมีทรัพยากรด้านการประมวลผลที่พร้อม เพื่อให้นักศึกษาได้ทดลองพัฒนา AI ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญก็คือการที่ให้เหล่านักศึกษาได้มีโอกาสในการศึกษา Open Source Software ทางด้าน Machine Learning และ Deep Learning ไปจนถึงมีโอกาสได้นำมาใช้งานจริงในการพัฒนา และมีส่วนร่วมในชุมชน Open Source ต่างๆ ให้มากขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากจะมีข้อดีด้านการที่ทำให้นักศึกษาได้คลุกคลีเชิงลึกกับเทคโนโลยีเหล่านี้แล้ว การได้มีส่วนร่วมในวัฒนธรรมการสร้างนวัตกรรมและแบ่งปันนี้ก็ถือว่าจะมีประโยชน์ทั้งกับตัวนักศึกษาเองและกับสิงคโปร์ด้วยเช่นกัน

 

IBM ลงนาม MOU กับ Singapore AI และ Temasek Polytechnic ผลักดันเทคโนโลยี AI ทั้งในภาครัฐและภาคการศึกษา

ในเวทีพูดคุยนี้ก็จบลงด้วยการที่เหล่าผู้บริหารจากทั้ง IBM, Singapore AI และ Temasek Polytechnic ได้ลงนามใน MOU ร่วมกันดังนี้

IBM ทำ MOU กับ Temasek Polytechnic

  1. อบรมเจ้าหน้าที่และนักเรียนด้วยหลักสูตรและเทคโนโลยี AI จาก IBM
  2. สร้าง Solution ร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาในวงการการศึกษาหลายประเด็น เช่น การค้นหานักศึกษาที่มีปัญหาด้านการเรียน, การแนะนำคอร์สและหลักสูตร, การช่วยนักศึกษาหางานที่เหมาะสม และอื่นๆ โดยให้ทางสถาบันทดลองใช้งานจริง
  3. ให้บริการด้านความรู้และเทคโนโลยีเกี่ยวกับ AI เพื่อให้ภาคธุรกิจของสิงคโปร์ปรับตัวและนำไปใช้งานได้อย่างรวดเร็วที่สุด

IBM ทำ MOU กับ AI Singapore

  1. ทำ R&D ร่วมกันในเทคโนโลยี IBM POWER และ AI เพื่อให้การเชื่อมต่อกับ GPU ผ่าน CAPI เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และส่งผลให้การปะมวลผลด้าน AI มีความเร็วสูงขึ้นนั่นเอง เพราะในระยะยาวหาก AI จะกลายเป็นศูนย์กลางของภาครัฐและภาคธุรกิจแล้ว ระบบ IT Infrastructure ที่เหมาะสมก็ถือเป็นอีกสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน
  2. ทาง AI Singapore สามารถเข้าถึง Material ด้านเทคนิคของ IBM POWER ได้ ทำให้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และปรับแต่งเทคโนโลยีเหล่านี้ให้เหมาะสมกับการนำไปใช้งานได้
  3. Robotics Process Automation (RPA) นำมาใช้ในการจัดการงาน Routine บนระบบคอมพิวเตอร์ และเป็นเทคโนโลยีที่มี ROI รวดเร็วมาก ที่ผ่านมา AI Singapore จ้างวิศวกรมาทำโครงการนี้ 1 ปีและเปิด Open Source พร้อมทั้งให้ Temasek Polytechnic นำไปใช้งาน ทำให้เหล่าธุรกิจ SME เองก็สามารถนำเทคโนโลยีนี้ซึ่งเดิมทีเคยมีราคาสูงไปใช้งานได้ โดยทางสถาบันก็จะมีบริการช่วยปรับแต่งให้ RPA สามารถทำงานได้เหมาะสมต่อความต้องการของแต่ละ SME ที่แตกต่างกันไป

About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

Google Cloud เผยผลการทดลองสู่การนำ Gen AI ไปใช้งานจริงในปีนี้ [PR]

การก้าวตามเทคโนโลยีใหม่อย่าง Generative AI ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายและน่ากลัว ไม่มีใครรู้เลยว่าบริษัทที่ใช้แนวทาง “รอดูไปก่อน” จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังในขณะที่ระบบดิจิทัลเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเริ่มต้นของโควิด-19 และตอนนี้เราก็กำลังอยู่ในอีกหนึ่งช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่สำคัญอีกครั้งของการปรับตัวกับการเข้ามาถึงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี Generative AI

ผสาน Automation และ Intelligence เข้าไปยังความสามารถของงานด้านการผลิต โดย Infor

การนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้งานในธุรกิจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และแต่ละอุตสาหกรรมก็มีความท้าทายเฉพาะตัวที่ต้องเผชิญหน้า ในอุตสาหกรรมการผลิตเองก็เช่นกันที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ความต้องการของลูกค้า Supply Chain และอื่นๆ