วันนี้ทางทีมงาน TechTalkThai มีโอกาสได้เข้าร่วมงานแถลงข่าวของ IBM Thailand เกี่ยวกับการนำ Internet of Things (IoT) มาใช้พัฒนาให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 อย่างเต็มตัว และมีประเด็นต่างๆ น่าสนใจค่อนข้างมาก จึงขอสรุปให้ทุกท่านได้อ่านกันดังนี้

สถานการณ์ IoT ทั่วโลก และการเติบโตในไทยที่คาดว่าจะสูงถึง 1,600%
IBM ได้เผยข้อมูลว่า Internet of Things (IoT) กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงมากมายให้แก่โลก ธุรกิจ และชีวิตผู้คน ปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อทั่วโลกราว 13,000 ล้านชิ้น และคาดว่าภายในปีนี้จะก่อให้เกิดข้อมูลปริมาณมากถึง 6,000 เอ็กซะไบท์ โดยไอดีซีคาดการณ์ว่า IoT จะสร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจโลกสูงถึง 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2019
แม้การก้าวเข้าสู่ยุค Industry 4.0 ของอุตสาหกรรมโลก จะยิ่งตอกย้ำความสำคัญของ IoT ที่มีต่อระบบการผลิตต่างๆ และส่งสัญญาณให้องค์กรต้องเริ่มปรับตัว แต่ผลการศึกษากลับชี้ว่าความสามารถขององค์กรในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลมหาศาลเหล่านี้ กลายเป็นความท้าทายสำคัญของ IoT เพราะปัจจุบันยังมีการนำข้อมูลจากอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันมาใช้ประโยชน์เพียงร้อยละ 12
ด้วยเหตุนี้ ในปี 2015 ที่ผ่านมา ทาง IBM ได้ตั้งกลุ่มธุรกิจ Watson IoT เพื่อนำเทคโนโลยีค็อกนิทิฟคอมพิวติ้งเข้าเป็นกุญแจถอดรหัสข้อมูล IoT จำนวนมหาศาล ให้องค์กรและอุตสาหกรรมสามารถใช้ประโยชน์จากมุมมองเชิงลึกในการต่อยอดธุรกิจ โดยปัจจุบันได้มีการนำ Watson IoT เข้าเสริมศักยภาพองค์กรทั่วโลกแล้วในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ การดูแลสุขภาพ ค้าปลีกและลอจิสติกส์ การเกษตร การเงิน ยานยนต์และการขนส่ง ปิโตรเคมี การค้นคว้าวิจัย เป็นต้น ซึ่งตอนนี้ทาง IBM ก็ได้เปิด IBM Watson IoT Headquarter ตั้งอยู่ที่เมือง Munich ประเทศเยอรมัน โดยมีพนักงานเกินกว่า 1,000 คน และเปิดพื้นที่ให้มีลูกค้าองค์กรต่างๆ มาทำวิจัยร่วมกันได้เลย
ในไทยเองนั้นตลาด IoT ถือเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจมาก และอาจมีการเติบโตได้มากถึง 1,600% และอาจมีมูลค่าสูงถึง 973.3 ล้านเหรียญหรือราวๆ 34,000 ล้านบาทได้ภายในปี 2020 จากการคาดการณ์ของ Frost & Sullivan
ธุรกิจเริ่มก้าวเข้าสู่การทำ Digital Transformation ด้วย IoT, Cognitive Computing และ Blockchain
ทุกวันนี้เรามักได้ยินว่าธุรกิจต่างๆ จะต้องทำ Digital Transformation เพื่อความอยู่รอด โดยก่อนหน้านี้ธุรกิจทั่วโลกได้ย้ายการทำธุรกิจและธุรกรรมต่างๆ ขึ้นไปยัง Web และ Digital เป็นขั้นแรก และในปัจจุบันนี้เรากำลังเข้าสู่ก้าวสุดท้ายของการทำ Digitization คือการนำโลก Physical ทั้งใบผูกเข้ากับโลกของ Digital นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าตามห้างสรรพสินค้า, อาคาร, ผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ
อันที่จริงแล้ว IoT นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ทาง IBM เคยเล่าถึงเรื่องราวของ IoT มาตั้งแต่การทำแคมเปญ Smarter Planet แล้ว และตอนนี้ก็ได้เวลาที่ทุกๆ ธุรกิจทั่วโลกจะเริ่มนำ IoT ไปใช้กันได้จริงเพราะราคาของอุปกรณ์ IoT นั้นลดลงมาเป็นอย่างมาก ซึ่งด้วยเหตุนี้ก็ทำให้ปัจจุบัน IBM มีลูกค้าที่นำผลิตภัณฑ์ IoT ไปใช้งานในองค์กรแล้วมากถึง 6,000 องค์กรทั่วโลก ครอบคลุมในทุกอุตสาหกรรม และพบว่ามี 3 Use Case หลักๆ ได้แก่
1. Operational Performance
ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานภายในองค์กรให้มีต้นทุนที่ถูกลง จากการใช้ Sensor ในการติดตามข้อมูลการทำงานของอุปกรณ์และกระบวนการต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ ที่จะทำให้องค์กรได้รับข้อมูลมากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน และติดตามข้อมูลต่างๆ ได้ละเอียดยิ่งขึ้นกว่าที่เคยทำได้ในอดีต
Schaeffleh ทำการปรับปรุงกระบวนการการผลิตด้วยการใช้ Sensor และ IoT เพื่อติดตามข้อมูลเชิงลึกของการออกแบบ Hardware ต่างๆ จากการทดสอบใช้งานและการติดตามข้อมูลที่ลูกค้าใช้งานอยู่จริง และนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องจนได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดออกมา และสร้างยานพาหนะที่มีคุณลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นและเหมาะสมกับการใช้งานในรูปแบบต่างๆ กันได้
Aerialtronics ใช้ Drone ที่เชื่อมต่อกับ IBM Watson IoT และทำการวิเคราะห์ข้อมูลภาพจากวิดีโอเพื่อใช้บินไปตามแท่นขุดเจาะน้ำมันหรือพื้นที่ต่างๆ เป็นการสำรวจสถานที่และตรวจสอบความปลอดภัยของสถานที่ทำงานได้ทันที
2. Brand and Customer Experience
ในอีกมุมหนึ่ง การนำ Sensor IoT ไปติดตั้งบนผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในมือของลูกค้าเองก็สามารถทำให้ธุรกิจสามารถติดตามประสบการณ์ของลูกค้าที่มีในการใช้งานได้ และนำข้อมูลเหล่านั้นไปสร้างผลิตภัณฑ์หรือนำเสนอบริการใหม่ๆ ที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมได้ รวมถึงการตรวจสอบปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ล่วงหน้าและทำการแจ้งลูกค้าเพื่อเปลี่ยนสินค้าให้ก่อน หรือแม้แต่การนำข้อมูลมาใช้ในการทำ Up Sell หรือ Cross Sell ก็ได้เช่นกัน โดยองค์กรที่นำแนวคิดนี้ไปใช้จริงแล้วก็คือ Whirlpool
Local Motors ได้นำเทคโนโลยี 3D Printing มาสร้างรถยนต์ Olli ที่ผสานเทคโนโลยี IoT และ Cognitive Computing ลงไปในรถยนต์ ทำให้กลายเป็นรถยนต์อัจฉริยะไร้คนขับที่สามารถพาผู้โดยสารไปยังที่หมายได้และสื่อสารกับผู้โดยสารได้ด้วยระหว่างทาง
Jefferson University Hospital ได้นำระบบ Cognitive Computing ไปผสานเข้ากับลำโพงและไมโครโฟน เพื่อทำหน้าที่แทนเจ้าหน้าที่ต้อนรับและพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยสามารถสอบถามข้อมูลหรือร้องขอสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง
3. Business Transformation
ใช้ในการเปลี่ยนธุรกิจให้กลายเป็น Digital ด้วยนวัตกรรมต่างๆ จนอาจกลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่หรือ Business Model แบบใหม่ขึ้นมา
Kone ใช้ IoT ในการเรียนรู้พฤติกรรมการใช้ลิฟต์, บันไดเลื่อน, ประตู, ที่กั้นเปิด/ปิดในอาคารต่างๆ และส่งข้อมูลให้กับระบบ Cognitive Computing เพื่อช่วยปรับปรุงอัลกอริธึมของลิฟต์ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ช่วยประหยัดทั้งพลังงานและเสริมความเร็วในการโดยสารไปพร้อมๆ กัน รวมถึงยังสามารถทำการพูดคุยกับลิฟต์ได้ อีกทั้งยังติดตามได้อีกด้วยว่าลิฟต์ใดกำลังมีปัญหาอยู่บ้าง และทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ล่วงหน้า
Car2go ของ Daimler เป็นรถยนต์แบบ Sharing Economy ทำให้ทุกคนสามารถใช้งานรถยนต์ของ Daimler ได้ในเมืองต่างๆ โดยไม่ต้องซื้อรถยนต์ไปใช้เอง และรถยนต์นั้นๆ ก็จะคิดค่าบริการตามพฤติกรรมการขับขี่ของเราที่จับได้จาก IoT Sensor
Whirlpool มีระบบเครื่องซักผ้าอัจฉริยะที่สามารถช่วยปรับปรุงการอบผ้าให้เหมาะสมกับประเภทของผ้าและปริมาณผ้าที่อบให้เหมาะสม รวมถึงมีการตรวจสอบด้วยว่ามีอุปกรณ์ใดๆ ในเครื่องที่ควรจะต้องเปลี่ยนเมื่อไหร่บ้างโดยอัตโนมัติ
นอกจากนี้ IBM ยังมีการนำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาใช้เสริมกับ IoT ได้ทันที ด้วยการนำ Watson IoT Platform มารวบรวมข้อมูลจาก Sensor ต่างๆ และส่งต่อไปยัง Blockchain ที่ใช้เก็บข้อมูล, Smart Contract หรืออื่นๆ และผสานเข้าเป็นหนึ่งใน Workflow ของการทำธุรกิจ เป็นภาพที่ครบถ้วนสำหรับธุรกิจแห่งอนาคต ซึ่งธุรกิจหนึ่งที่นำแนวคิดนี้ไปใช้แล้วก็คือ Walmart ที่นำไปติดตามสินค้าอาหารสดว่าจะมาจากแหล่งไหน, จะหมดอายุเมื่อไหร่ และหากเกิดปัญหาใดๆ ขึ้นนั้นก็จะสามารถติดตามย้อนหลังได้ทั้งหมดทันที
IBM Watson IoT Platform พร้อมรองรับการทำ IoT ได้แล้วสำหรับธุรกิจในประเทศไทย
ผลิตภัณฑ์ IoT ของ IBM นั้นคือ Watson IoT Platform ที่มีทั้ง Connection, Information Management, Analytics (Cognitive), Risk Management และใช้ได้บน Cloud อย่าง IBM Bluemix ทันที โดยทั้งหมดนี้ IBM ได้ทำการรักษาความปลอดภัยของระบบเอาไว้เป็นอย่างดี ซึ่งความปลอดภัยสำหรับ IoT ที่ IBM ช่วยเสริมให้นั้นมีด้วยกัน 3 ระดับ ได้แก่ Device and Data Protection, Proactive Threat Intelligence และ Cognitive Risk Management อย่างครบถ้วน
สำหรับผู้ที่สนใจและกำลังมีแนวคิดว่าอยากจะทำระบบ IoT สำหรับใช้งานภายในธุรกิจองค์กร สามารถลองติดต่อทีมงาน IBM ประเทศไทยเพื่อขอคำปรึกษาและทดสอบระบบต่างๆ ได้ทันทีครับ