Google ได้ทำการตีพิมพ์งานวิจัยด้าน AI ในวารสาร Nature ถึงแนวทางการนำ Deep Learning มาใช้ทำนายว่าผู้ป่วยจะเสียชีวิตเมื่อใดจากข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถทำการจัดลำดับความฉุกเฉินในการรักษาผู้ป่วยแต่ละคนได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลงได้

ตัวอย่างหนึ่งคือกรณีของสตรีรายหนึ่งที่เป็นมะเร็งเต้านมได้ไปที่โรงพยาบาล และระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลนั้นก็ระบุว่าเธอมีโอกาสเสียชีวิตที่ 9.3% ในอีกไม่กี่วัน ในขณะที่ AI ของ Google ซึ่งทำการวิเคราะห์ข้อมูลจาก 175,639 Data Point นั้นกลับชี้ว่าเธอมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 19.9% และไม่กี่วันถัดจากนั้นเธอก็เสียชีวิตจริงๆ
การรู้ล่วงหน้าได้ถึงอัตราการเสียชีวิตและช่วงเวลาที่จะเสียชีวิตของผู้ป่วยนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาซึ่งความกลัวแก่ผู้ป่วย แต่ข้อมูลตรงนี้จะมีความสำคัญมากในการที่ทีมแพทย์จะได้จัดลำดับการรักษาแบบฉุกเฉินหรือเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยได้ดีขึ้น
ในเชิงการวิเคราะห์ข้อมูลด้านการแพทย์นั้น ปัญหาส่วนใหญ่ที่เหล่าผู้พัฒนาเทคโนโลยีต้องเผชิญก็คือการจัดการกับข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์ได้ง่ายขึ้น ซึ่ง Google เองก็กำลังพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถทำความเข้าใจข้อมูลเหล่านี้เองได้โดยไม่ต้องให้ Data Engineer ลงไปจัดการกับข้อมูลเอง เร่งความเร็วในการนำข้อมูลมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การอ่านข้อมูลจากระเบียนประวัติผู้ป่วยที่เป็นไฟล์ PDF หรือเอกสารที่ทำการสแกนมา เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยีนี้เองก็ทำให้ระบบสามารถนำข้อมูลจำนวนมากขึ้นมาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อให้เกิดความแม่นยำได้มากขึ้นไปด้วยอีกทาง
สำหรับแผนในอนาคตนั้น Google ตั้งใจที่จะพัฒนา AI เพื่อให้นำไปใช้งานในระดับคลินิกได้ และทำให้การวินิจฉัยผู้ป่วยเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น ช่วยลดภาระและปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในแต่ละพื้นที่ลง
เอกสารงานวิจัยฉบับนี้ถูกเผยแพร่อยู่ที่ https://www.nature.com/articles/s41746-018-0029-1
ที่มา: https://finance.yahoo.com/news/google-training-machines-predict-patient-090019365.html