เทคโนโลยี Hyperconverged Integrated Systems (HCIS) เป็นเทคโนโลยีที่ควบรวมระหว่างฮาร์ดแวร์ Compute, Network และ Storage มีการนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายเป็นอย่างมากในหลายองค์กร ซึ่ง Gartner ได้เผย ความเข้าใจผิดส่วนใหญ่จำนวน 7 ข้อเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ เพื่อให้ผู้ดูแลระบบหรือผู้ที่กำลังตัดสินใจเพื่อจัดซื้อเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในองค์กรของตนเองได้ทราบและตระหนักถึง
ความเข้าใจผิดข้อแรก – ระบบทั้งหมดเป็นไปตามมาตรฐานสากลและเป็นมาตรฐานเปิด
ผู้ดูแลระบบควรตั้งคำถามว่ามาตรฐานที่ทาง Vendor กล่าวอ้างเป็นจริงหรือไม่? ระบบที่กำลังมองหานั้นสามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบเดิมที่มีอยู่หรือระบบอื่นๆได้มากน้อยเพียงใด? เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานสากลทางด้าน Software-defined ที่แท้จริง จึงควรตรวจสอบว่าเทคโนโลยี HCIS ที่จะนำมาใช้นั้นใครเป็นผู้พัฒนา การดูแลหลังการขาย รวมถึงฟีเจอร์ใหม่ๆที่จะเพิ่มเติมขึ้นมานั้นใครเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อให้มีความมั่นใจว่าระบบที่จะนำมาใช้นั้นสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องในอนาคตอย่างน้อย 3 ถึง 5 ปี
ความเข้าใจผิดข้อที่ 2 – ระบบ HCIS ทุกรายถูกออกแบบมาสำหรับใช้งานกับแอพพลิเคชันประเภท Mission-Critical เหมือนๆกัน
จริงอยู่ที่ HCIS ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานกับระบบ Virtualization และรองรับการทำงานแบบ High-availability มากที่สุด อย่างไรก็ตาม Vendor แต่ละรายก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป เช่น บางรายสามารถ Scale ได้แค่ 8 Node แต่บางรายสามารถ Scale ได้อย่างไม่จำกัด ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่า Vendor รายที่ Scale ได้น้อยจะไม่ดี เพียงแต่ผู้ที่กำลังตัดสินใจนั้นควรลงไปดูรายละเอียดในแต่ละ Use Case ของ Vendor แต่ละรายให้มากที่สุด เพื่อให้เข้าใจความแตกต่างในแต่ละโซลูชัน และจะทำให้สามารถเลือกโซลูชันที่เหมาะสมกับองค์กรของตนเองในท้ายที่สุด
ความเข้าใจผิดข้อที่ 3 – ระบบ HCIS เป็นการลงทุนที่ถูกที่สุด
เมื่อเปรียบเทียบการลงทุนในระบบ HCIS กับ Traditional Infrastruture แบบเดิม (Server + Storage) จะเห็นได้ว่า ระบบ HCIS ใช้เงินในการลงทุนน้อย สามารถเริ่มต้นได้ง่าย แล้วค่อย Scale ระบบให้ใหญ่ขึ้นได้ในอนาคต อย่างไรก็ตามเมื่อมีการใช้งานอย่างจริงจัง จำเป็นต้องมีการจัดซื้อ Node เพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ ทำให้ต้องใช้เงินในการลงทุนค่อนข้างสูงตามไปด้วย ผู้ที่ตัดสินใจจึงควรคำนวณจำนวนเงินลงทุนที่จำเป็นต้องใช้ในระยะยาวอย่างถี่ถ้วน ทั้งค่าอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์, ค่า Support รวมถึงการต่อประกันของอุปกรณ์ในอนาคต
ความเข้าใจผิดข้อที่ 4 – Use Case หลักของระบบ HCIS คือ Virtual Desktop Infrastructure (VDI)
ที่ผ่านมา VDI นั้นเป็น Use Case หลักเมื่อพูดถึงการใช้งานระบบ HCIS เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ได้จริง แต่ในปัจจุบันระบบงานอื่นๆ สามารถทำงานอยู่บน HCIS ได้แทบทั้งหมดแล้ว เนื่องจาก HCIS ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ, Scale ได้ง่าย มีระบบ Data Protection ในตัว และช่วยลดความซับซ้อนในการติดตั้งอุปกรณ์ลงไปได้ ดังนั้นผู้ที่กำลังจะเริ่มใช้งาน HCIS ควรคำนึงถึงโอกาสในการขยายระบบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างน้อย 3 ปี เพื่อตอบโจทย์ความคล่องตัวในการทำงานอื่นๆ เช่น DevOps, Containers, Bimodal Applications และ Consumer-based Services
ความเข้าใจผิดข้อที่ 5 – HCIS จะทำให้ Traditional Storage Arrays ตายไป
ระบบ HCIS มีโอกาสที่จะเข้ามาแทนที่ในระบบจัดเก็บข้อมูลขนาดเล็กหรือขนาดกลางเท่านั้น แต่ในแอพพลิเคชันประเภท Mission-critical ขนาดใหญ่ๆนั้น ต้องการระบบจัดเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้ HCIS ไม่สามารถตอบโจทย์ได้เท่าที่ควร ทำให้ Traditional Storage Arrays ทั้งประเภท Hybrid หรือ All-Flash ยังคงถูกเลือกใช้งานในระบบเหล่านี้อยู่
ความเข้าใจผิดข้อที่ 6 – HCIS จะกำจัด Silo ที่มีอยู่ใน Data Center ออกไป
ระบบ HCIS ส่วนใหญ่ ไม่สามารถทำงานร่วมกับ Infrastructure เดิมที่มีอยู่ได้ ทำให้ผู้ดูแลระบบส่วนใหญ่ต้องสร้าง Silo ของระบบ HCIS ขึ้นมา และการดูแลระบบ HCIS นั้นต้องใช้ความทักษะและความเชี่ยวชาญที่สูงขึ้น ซึ่งอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ความรับผิดชอบในทางที่แตกต่างออกไปจากเดิม ดังนั้นก่อนเลือกใช้งานเทคโนโลยีนี้ ควรกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละทีมให้ชัดเจน
ความเข้าใจผิดข้อที่ 7 – ขั้นตอนการคัดเลือกโซลูชันจาก Vendor แต่ละราย จะยังคงเหมือนเดิม
ขั้นตอนในการคัดเลือกโซลูชันเพื่อนำมาใช้งานในองค์กรควรเปลี่ยนไป อย่างน้อยผู้ที่มีหน้าที่ตัดสินใจควรคำนึงถึงวิสัยทัศและทิศทางของบริษัทที่กำลังมองอยู่ ว่าได้เข้ามามีส่วนร่วมในเทคโนโลยี HCIS บ้างหรือไม่ หรือเทคโนโลยีที่บริษัทนั้นกำลังมุ่งไป มีแนวโน้มเติบโตมากน้อยเพียงใด เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากการเลือก Vendor ในยุคที่เทคโนโลยีกำลังเติบโตไปอย่างรวดเร็ว