งานด้านการศึกษาเชิงจิตวิทยามนุษย์นั้นถือเป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในยุคของ AI ในยามนี้ และ DeepMind หนึ่งในบริษัททางด้าน AI ของ Google ที่เคยสร้างผลงานชื่อดังอย่าง AlphaGo ก็ได้ออกมาประกาศเปิด Open Source ให้กับโครงการ Psychlab เพื่อให้การทดลองและศึกษาด้านจิตวิทยามนุษย์นั้นสามารถถูกนำมาประยุกต์ใช้ต่อเนื่องกับงานทางด้าน AI ได้อย่างง่ายดาย
โครงการ DeepMind Psychlab นี้เป็น Platform ที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก DeepMind Lab โดยระบบนี้ถูกสร้างขึ้นมาด้วยแนวคิดว่าการศึกษาว่ามนุษย์นั้นจะตัดสินใจในสิ่งใดๆ ก็ตาม จะต้องอาศัยหลายปัจจัย รวมไปจนถึงการตอบสนองจากสมองหรือจิตใต้สำนึกในส่วนที่ยังไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลจนอธิบายได้ชัดเจน และปัจจุบันมนุษย์เราก็ยังไม่ทราบถึงศักยภาพของสมองกันอย่างแท้จริง Psychlab จึงถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้การศึกษาประเด็นต่างๆ เหล่านี้เป็นไปได้ง่ายขึ้น และสามารถนำผลการศึกษาออกมาให้ AI ทำการเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมของมนุษย์ได้อย่างสมจริงยิ่งขึ้นด้วย เพื่อให้การศึกษาและการทำ AI สำหรับช่วยเลือกสินค้านั้นเป็นไปได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น และนำไปประยุกต์ใช้กับงานอื่นๆ ได้อีกมากมาย
ภายใน DeepMind Psychlab นี้จะมีชุดการทดสอบด้านจิตวิทยามนุษย์ที่จะให้ผู้เข้าทดสอบนั้นได้ทำการทดลองต่างๆ ในโลกเสมือนของ DeepMind Lab ซึ่งเปิดให้ผู้ทดสอบสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุต่างๆ ในจอคอมพิวเตอร์ได้ผ่านทาง Mouse เพื่อทำตามคำสั่งต่างๆ ที่ปรากฎ และบันทึกผลการทดสอบเอาไว้ ก่อนจะให้ AI มาทำการเลียนแบบพฤติกรรมได้ โดยชุดของการทดสอบที่มีให้ใน DeepMind Psychlab นั้นมีดังนี้
- Visual Search การค้นหาสิ่งของด้วยสายตา
- Continuous Recognition การทดสอบความจำในการจดจำรายการสิ่งของต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
- Arbitrary Visuomotor Mapping การทดสอบการจดจำการจับคู่สิ่งของต่างๆ หรือความสัมพันธ์เชื่อมโยง
- Change Detection การทดสอบการตรวจจับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
- Visual Acuity and Contrast Sensitivity ทดสอบการมองในแง่ของการตอบสนองต่อความคมชัดและ Contrast ของภาพ
- Glass Pattern Detection ทดสอบด้านการรับรู้ภาพรวมของวัตถุจำนวนมากในแบบ Glass Pattern
- Random Dot Motion Discrimination ทดสอบการรับรู้การเคลื่อนไหว
- Multiple Object Tracking ทดสอบการติดตามวัตถุในช่วงเวลาหนึ่งๆ
ด้านล่างนี้เป็นตัวอย่างของการทดสอบด้าน Visual Search ครับ
อย่างไรก็ดี ทีม DeepMind ได้ออกมาระบุว่า Artificial Agent ที่สร้างจากระบบนี้ยังไม่สามารถทำการตอบสนองได้ด้วยการใช้เวลาที่เทียบเท่ากับมนุษย์ โดยไม่ว่าในการทดสอบจริงมนุษย์จะใช้เวลาเท่าไหร่ในการทดลอง Artificial Agent ก็จะใช้เวลาเท่ากันทั้งหมด เนื่องจากระบบนั้นมีพฤติกรรมการเรียนรู้แบบ Parallel Attention เป็นหลัก ยังไม่สามารถทำ Serial Attention แบบมนุษย์ได้ ซึ่งทาง DeepMind ก็มีแผนที่จะปรับปรุงระบบต่อไปให้สามารถเรียนรู้และตอบสนองได้อย่างสมจริงยิ่งขึ้น

ผู้ที่สนใจสามารถศึกษา Paper ได้ที่ https://arxiv.org/abs/1801.08116 และสามารถเข้าถึง Source Code ของโครงการได้ที่ https://github.com/deepmind/lab/tree/master/game_scripts/levels/contributed/psychlab ครับ