Microsoft Azure by Ingram Micro (Thailand)

เทรนด์ Data Center Networking ปี 2022 – 2023 จะเป็นยังไง? ทีมงาน TechTalkThai จะมาสรุปให้อ่านกัน

ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ถึงแม้ว่าธุรกิจองค์กรทั่วโลกจะต้องหยุดชะงักกันลงไปจากสถานการณ์โรคระบาด แต่นั่นก็ทำให้โจทย์ทางด้านการใช้งานเทคโนโลยีในภาคธุรกิจมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และในช่วงปลายปี 2022 นี้ที่ทั่วทั้งโลกรวมถึงไทยน่าจะเริ่มคลี่คลายกับสถานการณ์ของโรคระบาดกันแล้ว การลงทุนในภาค Data Center Networking ของเหล่าผู้ให้บริการ Cloud และภาคธุรกิจองค์กรก็กำลังกลับมาแล้วครับ

ด้วยความที่รอบนี้มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ ทางทีมงาน TechTalkThai เราเลยตัดสินใจนำเทรนด์เหล่านี้มาย่อยให้ทุกท่านได้อ่านกันง่ายๆ ดังนี้ครับ

Layer 1 วางแผนการเดินสายใหม่ รองรับความเร็วในอนาคตให้ได้ถึง 800GbE โดยไม่ต้องรื้อระบบ Fiber กันอีก

  1. ในทุกวันนี้ระบบเครือข่ายความเร็ว 10GbE กำลังได้รับความนิยมมากที่สุดในตลาด Data Center แต่อนาคตอีก 10 ปีนับถัดจากนี้ ความเร็วหลักที่ใช้จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นไปเป็น 100GbE, 200GbE, 400GbE และอาจจะสูงถึง 800GbE ได้เร็วกว่าที่คิด จากการเติบโตของปริมาณ Traffic ที่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดในแต่ละปี ที่เกิดขึ้นจากการมาของ Workload ใหม่ๆ อย่าง Container, Data Analytics, AI และ IoT + 5G
  2. เทรนด์หลักในการวางระบบ Data Center Networking ที่ผู้พัฒนาเทคโนโลยีหลายรายเห็นตรงกัน ก็คือการมุ่งเน้นความยั่งยืน โดยคำแนะนำคือการลงทุนในระบบ Fiber Network ภายใน Data Center ให้สามารถอัปเกรดความเร็วจาก 10GbE ไปจนถึง 400/800GbE ได้ล่วงหน้าไปเลย และค่อยๆ เปลี่ยนอุปกรณ์ Network ส่วนอื่นๆ โดยไม่ต้องเดินสายเมื่อต้องการเพิ่มความเร็วของระบบ จะทำให้การลงทุนในระบบ Data Center Networking มีความคุ้มค่าสูงสุดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
  3. ในการอัปเกรดเรื่องความเร็วนี้ นอกจากภาคธุรกิจจะได้ประโยชน์จาก Bandwidth ที่เพิ่มขึ้นแล้ว อัตราส่วนการใช้พลังงานต่อการรับส่งข้อมูลจะลดลงด้วยเช่นกัน ดังนั้นใน Data Center ขนาดใหญ่หรือผู้ให้บริการ Cloud จึงให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางสถานการณ์ด้านพลังงานที่กำลังผันผวนอยู่ในปัจจุบัน
  4. เทรนด์ของการจัดการด้านการเดินสายให้เป็นระบบก็เปลี่ยนไปเช่นกันตามเทรนด์ของ Fiber ที่เปลี่ยนไป โดยผู้ผลิตแต่ละรายก็มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เน้นเรื่องของความง่ายในการจัดสาย, การเปลี่ยนการเดินสาย, การออกแบบตู้ให้มีลักษณะเป็น Modular ให้ปรับแต่งได้ตามความต้องการที่แตกต่างกันไป ไปจนถึงตัวช่วยในการเดินสายและบริหารจัดการดูแลรักษาให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น
  5. อย่างไรก็ดี ถึงทิศทางโดยรวมของผู้ผลิตแต่ละรายจะมุ่งเน้นไปในทางเดียวกัน แต่ในเชิง Best Practice Design & Implementation ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกันไปค่อนข้างมาก ดังนั้นหากในช่วงนี้ธุรกิจใดมีแผนการอัปเกรด Data Center Networking กันยกใหญ่ ก็แนะนำให้ลองคุยกับเจ้าของเทคโนโลยีหลายๆ รายเพื่อศึกษาข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธีการและลองนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกันนะครับ
  6. อีกเรื่องหนึ่งที่อาจจะยังมาไม่ถึงแต่น่าจับตามองก็คือ Photonic Computing ที่ใช้แสงในการประมวลผลโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมาเรามักจะเริ่มเห็นเทคโนโลยีเหล่านี้ในระดับ Port ของอุปกรณ์เครือข่ายกันมาบ้าง แต่ในอนาคตก็อาจจะมีการใช้งานกันมากขึ้นจนมาถึงหน่วยประมวลผลหลักในอุปกรณ์เครือข่ายกันได้ ด้วยเหตุผลด้านการประหยัดพลังงานและความเร็วในการคำนวณที่สูง แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในแง่ของรูปแบบการประมวลผลอยู่บ้าง ดังนั้นตัวนี้ก็ถือว่าน่าจับตามองในระดับเทคโนโลยีที่น่าสนใจ แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะนำมาใช้งานจริงกันได้ในตอนนี้ครับ แต่อีกไม่กี่ปีก็ไม่แน่

Layer 2-7 เตรียมรับการมาของ Distributed Services Architecture, SASE และ SSE ก้าวสู่โลก Software-Defined กันอย่างเต็มตัว

  1. สำหรับในส่วนของอุปกรณ์เครือข่าย นอกจากการอัปเกรดอุปกรณ์เป็นรุ่นใหม่ๆ ให้มีความเร็วสูงขึ้นตามเทรนด์แล้ว ก็ยังมีอีกส่วนที่น่าสนใจมากก็คือเรื่องของ Distributed Services Architecture หรือ DSA
  2. แนวคิดของ DSA ก็คือการเสริมชิปประมวลผลเฉพาะทางอย่าง Data Processing Unit หรือ DPU เข้าไปในอุปกรณ์ Network อย่าง Switch และเสริม DPU เข้าไปใน Network Interface Card (NIC) ของ Server หรือ Client โดยตรง แล้วนำ Software ด้าน Network หรือ Network Security ติดตั้งลงไปทำงานเพิ่มบนอุปกรณ์เหล่านั้นโดยตรง
  3. วิธีการนี้จะทำให้เราเอาระบบต่างๆ ที่เคยต้องมีอุปกรณ์แยก, VM แยก หรือ Container แยกใน Network อย่างเช่น Application Delivery Controller (ADC), Firewall, Load Balancer, Encryption, VPN Gateway หรืออื่นๆ มาติดตั้งกระจายตัวบน Switch และ NIC ได้เลย และจัดการกับ Traffic ที่วิ่งผ่านในส่วนนั้นๆ ได้โดยไม่ต้องทำการ Reroute Traffic กันอีก
  4. ข้อดีของแนวทางนี้คือการทำให้ Network ซับซ้อนน้อยลง, เกิดคอขวดน้อยลง, Bandwidth สำหรับงานต่างๆ เพิ่มขยายได้ง่ายตามจำนวนอุปกรณ์ Switch และ Server ในระบบ รวมถึงทำให้หลายๆ องค์กรสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในฝั่ง Network ได้ง่ายขึ้นกว่าในอดีต
  5. ทั้งนี้ DSA ยังถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่มากอยู่ และมีผู้ผลิตอุปกรณ์มาให้ภาคธุรกิจองค์กรยังใช้งานไม่เยอะมากนัก เช่น Pensando ที่ AMD ซื้อกิจการไปแล้ว https://www.amd.com/en/accelerators/pensando ก็ได้ OEM โซลูชันของตนเองให้กับ Aruba CX 10000 Switch เป็นต้น โดยรองรับ Service พื้นฐานอย่าง ADC, Firewall, Encryption และอื่นๆ ได้ในตัว ส่วนผู้พัฒนาโซลูชัน Network / Network Security อื่นๆ เองก็ยังไม่มีเทคโนโลยีของตนเองที่ทำงานบน DSA ได้มากนัก แต่แนวโน้มในอนาคตเชื่อว่าน่าจะออกมาเพิ่มเรื่อยๆ
  6. แต่ถึงแม้จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น โจทย์หลักๆ ที่ธุรกิจองค์กรจะยังต้องเผชิญกันไปอีกระยะใหญ่ก็คือการออกแบบ Hybrid Multicloud Networking ให้เสถียร ยืดหยุ่น ใช้งานง่าย และมั่นคงปลอดภัย ดังนั้นตรงนี้ก็ยังถือเป็นโจทย์สำคัญสำหรับภาพในปัจจุบันอยู่
  7. อีกเทคโนโลยีที่จะมีผลกระทบค่อนข้างมากคือ SASE และ SSE ที่จะเปลี่ยนวิธีการเชื่อมต่อเครือข่ายของพนักงานทั้งในและนอกองค์กรเข้ามาสู่ Data Center และบริการ Cloud ต่างๆ ให้มั่นคงปลอดภัยมากยิ่งขึ้น แต่ก็มีมุมคิดที่เปลี่ยนไปในการยก Network และ Network Security ขึ้นมาบน Cloud หรือการต่อ VPN ตรงมายัง Cloud หรือ Data Center เช่นกัน ก็อาจทำให้การออกแบบ Data Center Networking ในอนาคตต้องคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ด้วย

Hyperscale Data Center / Supercomputer เปิดรับสถาปัตยกรรม Network ใหม่ พลิกวิธีคิดของโลกระบบเครือข่าย

  1. ในกลุ่มของระบบ Data Center ขนาดใหญ่อย่าง Hyperscale Data Center / Supercomputer ก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะการมาของ DSA และ DPU เองก็มีส่วนเข้ามาช่วยเร่งความเร็วในการรับส่งข้อมูลหรือประมวลผลได้ในหลายรูปแบบ ดังนั้นในอนาคตโซลูชันระบบ DSA สำหรับตลาดนี้โดยเฉพาะก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ
  2. ในขณะเดียวกัน ระบบ Data Center ขนาดใหญ่เหล่านี้ก็เห็นปัญหาเดียวกันคือปริมาณ Traffic ที่ Workload ต่างๆ ต้องการใช้สูงขึ้นเรื่อยๆ จน Network ไม่สามารถโตตามได้ทัน
  3. ด้วยเหตุนี้ จึงมีความพยายามในการคิดค้นวิธีการใหม่ๆ เพิ่มขึ้น โดยในชั้นของ Software หรือ Protocol ก็อาจจะต้องมีการปรับไปใช้วิธีการใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์กว่า Protocol ดั้งเดิม อย่างเช่น Google ที่ลองใช้ Layer 2 Protocol อื่นมาแทน MAC ทำให้ระบบเครือข่ายใน Data Center ที่ใช้ DSA ทำงานได้เร็วขึ้น เป็นต้น
  4. นอกจากนี้ก็ยังมีแนวคิดใหม่ๆ อย่างเช่น Switchless Network Architecture (SNA) ที่ตัด Switch ออกไปจากระบบเครือข่ายของ Data Center ขนาดใหญ่นี้เลย โดยเชื่อม Network ระหว่าง Server เข้าด้วยกันเองแบบ Mesh ด้วยการใช้ Network Interface Card ที่มีความฉลาดและประสิทธิภาพระดับ NIC ในการเชื่อมต่อโดยตรงกันแทน ทำให้สามารถลดจำนวน Hop และ Latency ในการรับส่งข้อมูลกันได้ ในขณะที่ได้ Redundancy ที่สูงมาก และกระจาย Traffic แบบ Parallel ได้จริง รวมถึงยังลดค่าใช้จ่ายในการเดินสายภายในระบบลงอีกด้วย มีผู้ผลิตที่เริ่มพัฒนาโซลูชันลักษณะนี้คือ Rockport Networks https://rockportnetworks.com/

Campus Data Center วางระบบใหม่ รองรับ PoE มากขึ้นในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

  1. กลับมาพูดถึงเรื่อง Campus Data Center กันบ้าง นอกจากประเด็นของความเร็วที่ควรจะต้องรองรับ Wi-Fi 6, 6E, 7 และมาตรฐานถัดๆ ไปให้ได้แล้ว ประเด็นเรื่อง PoE กำลังกลายเป็นวาระใหญ่มาก
  2. สาเหตุที่ PoE กลายเป็นวาระใหญ่ ก็เกิดจากการที่อุปกรณ์ IoT ที่ต้องใช้ในภาคธุรกิจนั้นมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ก็มักใช้การจ่ายไฟจาก PoE เพื่อให้ได้ความเสถียรทั้งในเชิงของการรับส่งข้อมูลและการจ่ายพลังงาน
  3. ด้วยเหตุนี้ ระบบเครือข่ายจึงต้องรองรับอุปกรณ์ PoE มากขึ้น ซึ่งถึงแม้บางส่วนจะกระจายไปตาม Aggregate หรือ Access Switch แต่ก็จะมีบางระบบที่ทุกอย่างต้องเชื่อมต่อกลับมาใน Data Center โดยตรงอยู่ดี เพื่อให้ได้ความเสถียรสูง ลดความเสี่ยงเรื่องไฟดับ และลดต้นทุนด้านการลงทุนในภาพรวมลง
  4. อีกจุดที่สำคัญนอกจากอุปกรณ์ Network ที่ต้องรองรับ PoE มากขึ้นแล้ว การเดินสาย LAN โดยคำนึงถึงการใช้ PoE อย่างหนาแน่นก็จำเป็นเช่นกัน เพราะเดิมทีในแต่ละจุดปลายทางเราอาจมีอุปกรณ์ที่ใช้ PoE เพียงแค่ 1-2 ชุด แต่ในอนาคตอุปกรณ์ที่ใช้ PoE อาจมากขึ้นกว่าเดิม 2-10 เท่า ถ้าเดินไม่ดีก็อาจเกิดความร้อนสะสมสูงอย่างคาดไม่ถึง และอาจเกิดอันตรายต่อทรัพย์สินและชีวิตได้หากไม่ได้ออกแบบระบบมาให้ดี

Edge Data Center วางระบบ Data Center Networking ขนาดเล็กแบบกระจายตัว ด้วยเทคโนโลยีใหม่

  1. ด้วยการมาของ 5G, IoT และ AI ก็ทำให้ Edge Computing กลายเป็นสิ่งที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้น และนำไปประยุกต์ใช้กับภาคธุรกิจได้หลากหลาย แน่นอนว่าการออกแบบ Network สำหรับส่วนนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องคิดให้ดี
  2. ส่วนแรกคือการวาง Network ภายใน Edge นั้นๆ ที่จะมีข้อจำกัดเรื่องต้นทุน, ขนาดของอุปกรณ์ที่มักจะเล็ก, ความทนทานของอุปกรณ์ที่ต้องสูงเป็นพิเศษ ในขณะที่การให้บริการด้าน Network นั้นต้องครบเครื่องไม่แพ้การวางระบบเครือข่ายสำหรับสาขาขององค์กรเลย คือต้องมีทั้ง Network, Security, Management และ Automation ทั้งหมด โดยอาจต้องมีการเชื่อมต่อทั้งสำหรับ Server ขนาดเล็ก ไปจนถึงอุปกรณ์ IoT ทำให้มี Workload ที่ต้องคิดเผื่อหลากหลายขึ้น
  3. ส่วนถัดมาคือการเลือกว่าจะใช้ Edge อย่างไร จะติดตั้งในพื้นที่หน้างานเองเลยโดยตรง หรือจะเช่าใช้บริการ Edge Computing ที่ฝังตัวอยู่ในโครงข่ายของผู้ให้บริการ 5G
  4. ส่วนสุดท้ายก็คือการเชื่อมต่อ Edge เข้าไปยัง Cloud และ Data Center ของเรา ว่าจะใช้วิธีการไหนอย่างไร ถ้าวาง Edge เองส่วนใหญ่พระเอกก็มักจะเป็น 5G ในระดับ Commercial แต่ถ้าเช่าใช้ Edge Computing แทนก็อาจจะเหลือแค่การทำ Tunnel หรือ VPN เท่านั้น

Network Management เริ่มใช้ AIOps ด้วยโซลูชันที่จับต้องได้มากขึ้น พร้อมทำ Automation มากขึ้นในทุกระดับ

  1. เรื่องที่ผู้ผลิตโซลูชัน Network ทุกรายเน้นกันก็คือเรื่องของการใช้งาน AIOps ที่จะช่วยให้ชีวิตของ Network Engineer ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยก่อนหน้านี้โซลูชันเหล่านี้อาจมีราคาที่ค่อนข้างสูง แต่แนวโน้มหลังจากนี้ก็คือราคาของโซลูชันเหล่านี้จะค่อยๆ ลดลงจนจับต้องได้มากขึ้น หรือบางรายก็อาจปรับปรุงระบบของตนเองจนสามารถนำมาวางเป็น VM ในองค์กรเราได้เลย ไม่ต้องใช้ GPU หรือหน่วยประมวลผลพลังสูงอย่างในอดีตกันแล้ว
  2. อีกเครื่องมือที่น่าสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือการทำ Automation ที่ในอดีตผู้ดูแลระบบอาจต้องพัฒนา Script ต่างๆ ขึ้นมาเอง แต่ทุกวันนี้และในอนาคต ตัวช่วยใหม่ๆ อย่าง Plugin, Connector หรือแม้แต่ UI สำเร็จรูปก็จะทำให้การทำ Automation สะดวกมากขึ้นกว่าเดิม
  3. ดังนั้นในช่วงนี้ถ้า Network Engineer ท่านใดมีเวลาและกำลังมองหาเครื่องมือใหม่ๆ แต่ก่อนหน้านี้อาจจะยังติดเรื่องงบประมาณ หรือไม่อยากเขียนโค้ดเอง ก็ลองพิจารณา 2 ตัวนี้ได้แล้วครับ ถึงจังหวะแล้ว

About nattakon

จบการศึกษา ปริญญาตรีและโท สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ KMITL เคยทำงานด้าน Engineer/Presale ดูแลผลิตภัณฑ์ด้าน Network Security และ Public Cloud ในประเทศ ปัจจุบันเป็นนักเขียน Full-time ที่ TechTalkThai

Check Also

Google Cloud เผยผลการทดลองสู่การนำ Gen AI ไปใช้งานจริงในปีนี้ [PR]

การก้าวตามเทคโนโลยีใหม่อย่าง Generative AI ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายและน่ากลัว ไม่มีใครรู้เลยว่าบริษัทที่ใช้แนวทาง “รอดูไปก่อน” จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังในขณะที่ระบบดิจิทัลเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเริ่มต้นของโควิด-19 และตอนนี้เราก็กำลังอยู่ในอีกหนึ่งช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่สำคัญอีกครั้งของการปรับตัวกับการเข้ามาถึงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี Generative AI

ผสาน Automation และ Intelligence เข้าไปยังความสามารถของงานด้านการผลิต โดย Infor

การนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้งานในธุรกิจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และแต่ละอุตสาหกรรมก็มีความท้าทายเฉพาะตัวที่ต้องเผชิญหน้า ในอุตสาหกรรมการผลิตเองก็เช่นกันที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ความต้องการของลูกค้า Supply Chain และอื่นๆ