เมื่อธุรกิจการทำเหมืองต้องก้าวเข้าสู่การทำ Digital Reinvention การจับมือกับ Cisco จึงถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมาก
Barrick Gold Corporation ธุรกิจเหมืองแร่ขนาดใหญ่ที่เน้นการทำเหมืองทองคำเป็นหลัก ได้ประกาศจับมือกับ Cisco ในฐานะ Partner สำหรับการทำ Digital Reinvention เพื่อสร้างโซลูชันเหมืองแร่อัจฉริยะสำหรับใช้งานในธุรกิจของ Barrick ด้วยการนำเทคโนโลยีทางด้าน Networking, Internet of Things (IoT) และ Big Data Analytics เข้าไปใช้ในการขุดแร่ทั้งหมด
แนวทางของเหมืองแร่อัจฉริยะนี้คือการเริ่มปรับปรุงเหมือง Cortez ใน Nevada ด้วยการนำเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งระบบเครือข่าย, Sensor, ระบบวิเคราะห์ข้อมูล, การปรับปรุงเครื่องจักรให้สามารถทำงานได้โดยอัตโนมัติ, การพัฒนาอัลกอริธึมใหม่ๆ เพื่อช่วยในการตัดสินใจสำหรับกระบวนการในการทำธุรกิจและการจัดการความรู้เชิงโลหะวิทยา เพื่อให้ขั้นตอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในเหมืองแร่นั้นสามารถดำเนินไปได้ด้วยเครื่องจักรที่ทำงานได้อัตโนมัติ, ใช้คนงานน้อยลง และมีข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นแบบ Real-time สำหรับใช้ในการตัดสินใจของเครื่องจักรและมนุษย์เป็นหลัก รวมถึงมีการส่งข้อมูลจากเหมืองนี้กลับไปยังสาขาหลักของ Barrick เพื่อการตัดสินใจในเชิงธุรกิจและติดตามประเด็นต่างๆ ในการทำงานได้จากศูนย์กลาง
แนวทางนี้จะทำให้ในภาพรวมแล้วประสิทธิภาพการขุดแร่สูงขึ้น, การจัดการทรัพยากรต่างๆ ที่จำเป็นต่อการทำเหมืองแร่อย่างเช่น การจัดการน้ำ, การจัดการพลังงาน และการขนส่งเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพดีขึ้นด้วยการทำ Predictive Analytics, มีการใช้พนักงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้อยลง, มีต้นทุนการจ้างพนักงานที่ต่ำลง และยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลงอีกด้วยในเวลาเดียวกัน รวมถึงการทำธุรกิจก็จะมีความโปร่งใสต่อนักลงทุนมากขึ้น เพราะสามารถติดตามข้อมูลการทำงานได้ทุกขั้นตอนอย่างแท้จริง
หลังจากที่เหมืองแร่อัจฉริยะต้นแบบที่ Nevada นี้ถูกพัฒนาจนแล้วเสร็จ ทาง Barrick เองก็จะค่อยๆ ปรับปรุงเหมืองแร่ที่เหลือและโครงการลงทุนใหม่ๆ ให้กลายเป็นเหมืองแร่อัจฉริยะด้ววยเช่นกัน เพื่อให้ปลายทางนั้น Barrick จะสามารถติดตามข้อมูลการขุดเจาะและผลผลิตในแต่ละเหมืองแร่ได้แบบ Real-time จากศูนย์กลาง พร้อมๆ ไปกับการค่อยๆ เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้ตอบรับต่อยุคของ Digital ไปพร้อมๆ กัน
ความเห็นส่วนตัวของทีมงาน TechTalkThai นั้นคือ ส่วนหนึ่งที่ Cisco เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับ Barrick นั้น เพราะการออกแบบระบบเครือข่ายสำหรับเหมืองแร่นั้นถือเป็นงานที่น่าจะมีความยากและมีลักษณะเฉพาะตัวสูง ไม่ว่าจะเป็นสภาวะแวดล้อมภายในเหมืองที่แตกต่างจากสภาวะแวดล้อมแบบอื่นๆ รวมถึงข้อจำกัดในการใช้สัญญาณเครือข่ายไร้สายที่มีโอกาสเกิดการสะท้อนของสัญญาณสูง การที่ได้ Cisco เข้าไปเป็น Partner ในครั้งนี้ก็ถือเป็นการเลือกในเชิงเทคโนโลยีที่ดูจะเหมาะสมดีทีเดียวนั่นเองครับ
ที่มา: https://newsroom.cisco.com/press-release-content?type=webcontent&articleId=1789153