เราทราบดีว่าเหตุการถูกแฮ็กส่งผลกระทบต่อองค์กรอย่างแน่นอนไม่มากก็น้อย ในฝั่ง Vendor เองเมื่อมีช่องโหว่ใหม่ถูกเปิดเผยก็กระทบต่อราคาหุ้นที่ซื้อขายกันอยู่เช่นกัน แต่มีใครเคยสงสัยไหมว่าความเกี่ยวพันเหล่านั้นจริงๆแล้วมีผลมากน้อยแค่ไหนกันแน่ ที่งาน Black Hat Asia 2021 คุณ Alejandro Hernández จาก IOActive ซึ่งได้หยิกยกประเด็นนี้มาพูดถึง พร้อมกับผลวิเคราะห์จากเหตุการณ์ในอดีตมาเล่าให้ฟังกันครับ

คุณ Alejandro มีการกล่าวถึงหุ้นของ Vendor มากมายเช่น
- เหตุการณ์พบช่องโหว่ Meltdown ใน Intel ทำหุ้นตกไป 3.3%
- ช่องโหว่ Eavesdrop ในแอปพลิเคชัน Zoom
- TSMC ถูกไวรัสเล่นงานระบบต้องหยุดการผลิตไปหลายวัน
- Equifax ถูกแฮ็กข้อมูลรั่วไหลหุ้นร่วงไป 34%
- FireEye หุ้นร่วงไป 13% หลังประกาสถูกโจมตีเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
- SolarWinds ต้นเหตุของ Supply Chain Attack ในหน่วยงานรัฐแม้กระทั่ง Microsoft และ FireEye ซึ่งหุ้นร่วงไป 40% ในขณะที่ยังไม่กลับมาถึงจุดเดิมเลย

ยังมีอีกหลายบริษัทที่ถูกกล่าวถึงในครั้งนี้ โดยไอเดียปัญหาที่เกิดขึ้นสามารถจำแนกเป็นประเภทต่างๆได้คือ การค้นพบช่องโหว่ Incident(ถูกแฮ็ก ข้อมูลรั่วไหล) ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล คดีความมั่นคงระดับชาติ (Supermicro หรือ SolarWinds) และข่าวลือที่ไม่เป็นความจริง (เช่น ลืมว่า Cisco จะซื้อ FireEye) อย่างไรก็ดียังมีคำถามอีกหลายข้อที่ถูกนำมาพิจารณา
- ปัญหาแต่ละประเภทมีความรุนแรงแตกต่างกันหรือไม่
- แต่ละกลุ่มธุรกิจได้รับผลกระทบแตกต่างกันหรือไม่ เช่น Healthcare และ Finance
- เมื่อบริษัทลูก หรือ Supply Chain ถูกโจมตีส่งผลต่อหุ้นบริษัทคู่ค้า หรือบริษัทแม่หรือไม่
- ราคาหุ้นจะกลับมาสู่จุดเดิมเมื่อใด
สุดท้ายแล้วจะผลวิเคราะห์ของ Alejandro สามารถสรุปได้ดังนี้
- เวลามีข่าวพบช่องโหว่นั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อหุ้นของบริษัทมากอย่างที่คิด โดยเฉลี่ยแล้วหุ้นจะลดลงไปไม่เกิด 4% เท่านั้น ซึ่งใช้เวลากลับมาไม่เกิน 1 เดือนเป็นอย่างมาก และกว่า 40% ของเหตุการณ์ที่ศึกษาไม่มีผลต่อราคาหุ้นเลยด้วยซ้ำ
- ในกรณีของ Incident นั้นโดยเฉลี่ยส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นมากกว่า 5% ซึ่งกว่า 63% สามารถกลับมาได้ภายใน 1 เดือน แม้จะกระทบถึงข้อมูลบัตรเครดิตหรือ PII ก็ตาม
- การที่ Supply Chain หรือบริษัทในเครือถูกโจมตีนั้นบริษัทแม่หรือคู่ค้าจะได้รับผลกระทบไปด้วย เช่น เหตุการณ์ของ TSMC ก็สะเทือนไปถึงราคาหุ้นของ Apple และ AMD อีกเหตุการณ์พบช่องโหว่ WhatsApp ที่มี Spyware นำไปใช้ก็ส่งผลกับราคาหุ้นของ Facebook ด้วยเช่นกัน
- ปัญหาด้าน Cybersecurity ที่กระทบถึงความมั่นคงระดับชาติและการเมืองเช่น Supermicro และ Cambridge Analytica ส่งผลกระต่อต่อราคาหุ้นมากกว่า 15%
- กรณีของข้อมูลรั่วไหลส่งผลกระทบกับธุรกิจกลุ่มไฟแนนซ์มากที่สุด ยิ่งถ้าเป็นเรื่องบัตรเครดิต หรือข้อมูลการเงิน แต่ที่น่าตกใจคือเหตุการณ์เหล่านี้กลับมีผลกระทบต่อราคาหุ้นของ Healthcare น้อยที่สุด
- โดยรวมและกล่าวได้ว่ากว่า 50% ของเหตุการณ์ทุกรูปแบบด้าน Cybersecurity ส่งผลต่อราคาหุ้นไม่เกิน 1 เดือน เพื่อกลับมาสู่จุดเดิมได้ และเกือบทั้งหมดไม่เกิน 1 ปี แต่มีกรณีของ Equifax และ GPN ที่ใช้เวลานานกว่านั้น รวมถึง SolarWinds ที่ขณะนี้ยังไม่กลับมาเป็นปกติ
- เหตุการณ์ด้าน Cybersecurity ในอดีตก่อนปี 2015 เช่น Sony Picture, JP Morgan และ Home Depot นั้นแทบไม่กระทบต่อราคาหุ้นมากเท่าไรนัก สันนิษฐานว่า ณ เวลานั้นเรื่องของ Cybersecurity และ Data Breach ยังไม่เป็นที่จับจ้องและกระทบกับสังคมมากเหมือนทุกวันนี้
แน่นอนว่าเหตุการณ์ด้าน Cybersecurity ได้ส่งผลร้ายต่อบริษัทให้มูลค่าร่วงลงไป พร้อมๆกับความน่าเชื่อถือ แต่อีกสิ่งหนึ่งก็คือบริษัทคู่แข่งยังได้อานิสงฆ์ไปด้วย อันที่จริงแล้วเหตุการณ์เหล่านี้ก็สร้างรายได้แก่พวกนักขายระยะสั้น หรือคนที่รู้ข่าววงใน (กรณีของ Equifax ผู้บริหารระดับสูงเอาข้อมูลมาสร้างผลประโยชน์ให้ตัวเอง ก่อนบริษัทประกาศเหตุด้วย) ซึ่งเมื่อรู้เช่นนี้แล้ว Alejandro ได้แนะนำผู้ลงทุนให้ปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุร้ายต่อบริษัทที่เราสนใจดังนี้
- ทำใจเย็นๆ ดูทีท่าก่อนว่าเกิดเหตุหรือมีข่าวอะไร
- ติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น
- พิจารณาตั้งรายการจุดหยุดความเสียหาย แต่ก็อย่างที่ผลศึกษาชี้ว่าสุดท้ายแล้ว ราคาหุ้นส่วนใหญ่ก็จะกลับมาฟื้นตัวได้ภายใน 1 เดือนหรือ 1 ปีเป็นอย่างมาก มีกรณีน้อยมากที่ใช้เวลานานกว่านั้น