[รีวิว] ASUS ExpertBook L1500: Notebook ทำงานรุ่นเริ่มต้น กับพลังประมวลผลจาก AMD Ryzen™ คุ้มค่าในราคาเริ่มต้น 14,990 บาท

ASUS นั้นเริ่มเอาจริงกับการรุกตลาด Commercial Notebook ในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ และล่าสุดทาง ASUS ก็ได้ส่งเครื่อง ASUS ExpertBook L1500 ซึ่งถือเป็น Notebook สำหรับธุรกิจรุ่น Entry มากๆ มาให้เราลองใช้งานกัน ด้วยราคาเริ่มต้นเพียงแค่ 14,990 บาท ที่มาพร้อมกับหน่วยประมวลผล AMD Ryzen™ 3 3250U Mobile Processor, 4GB RAM และ 256GB SSD โดยรองรับการอัปเกรด RAM ได้สูงสุดถึง 32GB และเพิ่ม HDD ในเครื่องเองได้ตามต้องการ

ด้วยราคาเริ่มต้นที่ถือว่าน่าสนใจนี้ หลายๆ คนก็อาจสงสัยว่าสเป็คที่ให้มาในราคาเริ่มต้นนี้จะเพียงพอต่อการใช้งานหรือไม่ ทีมงาน TechTalkThai จะขอพาทุกท่านไปพบกับคำตอบในรีวิวครั้งนี้กันครับ

ASUS ExpertBook L1500: Notebook ทำงานรุ่นเริ่มต้นที่เน้นความคุ้มค่าเป็นหลัก

ASUS ExpertBook L1500 นี้เป็น Commercial Notebook ระดับ Entry ที่ใช้การออกแบบคล้ายคลึงกับ ASUS ExpertBook B1 ซึ่งยังคงมีกลิ่นอายความพรีเมี่ยมและดูดีอยู่ในตัวผลิตภัณฑ์ และมาพร้อมกับ CPU อย่าง AMD Ryzen™ ที่ทำให้ ASUS ExpertBook L1500 นี้มีประสิทธิภาพที่ดีได้ในราคาที่คุ้มค่า

ตัว CPU AMD Ryzen™ 3 3250U Mobile Processor ที่ถูกใช้งานใน ASUS ExpertBook L1500 นี้เป็น CPU รุ่นประหยัดพลังงาน โดยมี CPU 2 Core/4 Thread ที่ความเร็ว 2.6GHz ซึ่งสามารถ Boost ได้เร็วสูงสุดถึง 3.5GHz พร้อม Cache ขนาด 1MB ก็เรียกได้ว่าเพียงพอสำหรับงานประมวลผลในการทำงานเบื้องต้นได้สบายๆ รวมถึงยังมาพร้อมกับ AMD Radeon™ Graphics ที่มีด้วยกัน 3 Core สำหรับประมวลผลด้านกราฟฟิกและ 3D โดยเฉพาะ

Credit: ASUS



สำหรับรุ่นเริ่มต้นของ ASUS ExpertBook L1500 ที่จะจำหน่ายในไทยจะมีสเป็คดังนี้

ASUS ExpertBook L1500CDA-EJ0377

  • Color: Star Black
  • OS: DOS (รองรับการติดตั้ง Windows 10, Windows 11 และ Linux)
  • CPU: AMD Ryzen™ 3 3250U Mobile Processor
  • Integrated GPU: AMD Radeon™ Graphics
  • RAM: 4GB DDR4 on board (สามารถสั่งอัปเกรดตอนผลิตได้สูงสุด 32GB)
  • Storage: 256GB M.2 NVMe™ PCIe® 3.0 SSD + HDD Housing for storage expansion
  • Interface: 1 x USB 2.0 Type-A, 1x USB 3.2 Gen 2 Type-C, 2x USB 3.2 Gen 2 Type-A, 1 x HDMI 1.4, 1x VGA Port (D-Sub), 1x 3.5mm Combo Audio Jack, 1x RJ45 Gigabit Ethernet, 1x DC-in, 1x Micro SD card reader
  • Display: 15.6″ FHD Anti-glare display
  • Wifi: WiFi6
  • ราคา: 14,990.- บาท

จะเห็นได้ว่าตัวสเป็คเครื่องที่ให้มานี้ CPU กับ SSD นี้ถือว่าเพียงพอต่อการทำงานได้แน่ๆ แล้ว แต่ RAM 4GB เองก็ทำให้น่าสงสัยไม่น้อยว่าประสบการณ์การใช้งานจริงจะเป็นอย่างไร แต่ก็เชื่อว่าน่าจะพอใช้ทำงานได้อย่างไม่มีปัญหา เพราะปกติหาก RAM เต็ม สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ SSD จะถูกนำมาใช้เป็นพื้นที่สำรอง ซึ่งถ้าหาก SSD เร็วอยู่แล้ว ก็จะทำให้เครื่องใช้งานต่อได้โดยไม่ต้องรอนานมากนัก

Credit: ASUS



อย่างไรก็ดี ใน ASUS ExpertBook L1500 รุ่นนี้ก็เปิดให้ผู้ซื้อสามารถทำการเลือกอัปเกรด RAM ได้ตามต้องการสูงสุดถึง 32GB ดังนั้นโดยทั่วไปแล้วหากเป็นงานที่ไม่ต้องใช้ CPU หนักมากนัก ก็สามารถใช้ ASUS ExpertBook L1500 ได้สบายๆ และเลือกขนาดของ RAM ตามที่ต้องการตั้งแต่ตอนสั่งซื้อได้เลย* (หมายเหตุ: สำหรับการสั่งซื้อแบบ CTO เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทกำหนด)

อีกจุดที่น่าสนใจคือหน้าจอที่ให้มาในขนาดถึง 15.6 นิ้วซึ่งถือว่าใหญ่มาก เรียกได้ว่าเพียงพอต่อการใช้งานได้อย่างสบายๆ โดยไม่ต้องพึ่งพาจอเสริม โดยส่วนอื่นๆ เองก็ให้มาพร้อมต่อการใช้งาน ทั้งพอร์ตต่างๆ ที่ครบ, การเชื่อมต่อ Wi-Fi 6, การรองรับสาย LAN และอื่นๆ ทำให้พร้อมใช้ทำงาน, พร้อมประชุมงานได้ทันที แต่ก็แลกมากับการที่ตัวเครื่องขนาดใหญ่ มีน้ำหนัก 1.75 กิโลกรัม เรียกได้ว่ายังพอพกพาได้อยู่แต่อาจจะไม่เบาเท่ากับรุ่นจอ 14 นิ้วเท่านั้น

Credit: ASUS



เช่นเดียวกับ ASUS ExpertBook รุ่นอื่นๆ ASUS ExpertBook L1500 นี้ก็มาพร้อมกับมาตรฐาน MIL-STD 810H ซึ่งเป็นมาตรฐานว่าอุปกรณ์มีความทนทานสูงระดับใช้ทางการทหารได้ ทนทานต่อการกระแทก, การสั่นสะเทือน และสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย เหมาะกับการใช้งานได้ในทุกสถานการณ์ และยังมาพร้อมกับความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัย ทั้ง Fingerprint Sensor และ TPM 2.0

อย่างไรก็ดี ตัวเครื่องรุ่นเริ่มต้นนี้มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ DOS เท่านั้น แต่ก็รองรับการติดตั้ง Windows 10, Windows 11, Red Hat Enterprise Linux และ Ubuntu ได้ ทำให้มีอิสระในการเลือกใช้ Software ในเครื่องหลากหลายทีเดียว

Credit: ASUS



สำหรับรุ่นที่ใกล้เคียงกัน ก็คือ ASUS ExpertBook L1400 ที่มีสเป็คเหมือนกันทุกประการ ยกเว้นขนาดหน้าจอที่ 14 นิ้วและน้ำหนักที่เบากว่าเท่านั้น

เครื่องนี้มาพร้อมกับการรับประกันจาก ASUS Exclusive Care ที่ครอบคลุม 3 Year Onsite Service บริการตรวจซ่อมฟรีถึง ที่ 3 ปี, 3 Year Global Warranty ครอบคลุมการรับประกัน 3 ปี (57 ประเทศ) และ 1 Year Perfect Warranty เพิ่มการรับประกันอุบัติเหตุให้ใน 1 ปีแรก

ผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ASUS ExpertBook L1400 สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/2XpLs4C และสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ASUS ExpertBook L1500 ได้ที่ https://www.asus.com/th/Laptops/For-Work/ExpertBook/ExpertBook-L1-L1500/

 

แกะกล่อง ทดลองใช้งานจริง

การแกะกล่องเครื่องนี้ก็ยังคงเป็นไปตามสไตล์ของ ASUS ExpertBook รุ่นอื่นๆ ที่ตัวหีบห่อจะเน้นการใช้กระดาษหรือวัสดุอื่นๆ ที่รีไซเคิลได้ เพื่อลดขยะที่จะเกิดขึ้นในระบบนิเวศของเรา

สัมผัสแรกของตัวเครื่องนั้นก็คือขนาดที่ใหญ่ 15.6 นิ้วซึ่งมาพร้อมกับน้ำหนัก 1.75 กิโลกรัม ซึ่งก็ถือว่าหนักไม่น้อยแต่ก็ทำให้ตกใจเหมือนกันกับเครื่องราคาไม่ถึง 15,000 บาทมีขนาดใหญ่ถึงขนาดนี้

วัสดุที่ใช้ในการประกอบเครื่องมีความหลากหลายทั้งตัวภายนอกและตรงแป้นพิมพ์ การพิมพ์และการใช้เมาส์ถือว่าให้สัมผัสที่ดีไม่มีปัญหาอะไร พิมพ์งานหรือลากเมาส์ได้แม่นยำ รวมถึงเครื่องรุ่นขนาด 15.6 นิ้วที่ได้มาทดสอบนี้ก็มีแป้นพิมพ์ตัวเลขให้พร้อมใช้งานได้เลยครับ

เมื่อลองเปิดเครื่องมาใช้งานก็ถือว่ายังประทับใจอยู่ เพราะด้วย RAM ขนาดแค่ 4GB ก็กังวลเล็กน้อยว่าเครื่องจะช้ามั้ย แต่การบูทเครื่องจนถึงหน้า Log In ก็รวดเร็วดี ซึ่งก็เป็นผลพวงของการที่มี CPU และ SSD ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอนั่นเอง โดยทาง ASUS ได้ทำการลง Windows 10 เอาไว้ให้เราได้ทดลองใช้งานกันในรีวิวครั้งนี้

ในการใช้งานทั่วๆ ไปเชิง Hardware ไม่มีปัญหาใดๆ เลย สามารถทำงานได้ปกติ หน้าจอขนาด 15.6 นิ้วทำให้สบายตาตอนทดสอบมากพอสมควร แต่การที่มี RAM เพียงแค่ 4GB นี้ก็ทำให้มีประสบการณ์ที่ต่างจากเครื่องก่อนๆ ที่เคยรีวิวซึ่งมักจะมี RAM ตั้งแต่ 8GB – 16GB อย่างสังเกตได้ชัด คือถึงแม้การใช้งานแอปต่างๆ จะทำได้โดยไม่มีปัญหาการ Crash ใดๆ ไม่ว่าจะเป็น Browser, Cloud, Office หรืออื่นๆ ที่เป็นระบบสำหรับใช้ทำงานทั่วไป แต่ RAM ก็มักจะเต็ม 100% เมื่อใช้งาน Application เกินกว่า 1-2 ตัวพร้อมๆ กัน

เวลา RAM เต็ม 100% สิ่งที่ระบบจะทำนั้นก็คือการหยุดการทำงานของ Application ที่ไม่ได้ใช้งานอยู่ชั่วคราว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือในขณะที่ทดสอบใช้ Microsoft Edge ซึ่งเป็น Web Browser ที่ติดมาในตัวเครื่อง ถ้าหากเปิดแท็บจำนวนมากๆ แท็บแรกๆ ที่เคยเปิดเอาไว้จะถูกหยุดการทำงานชั่วคราว และเมื่อกลับไปเปิดแท็บแรกๆ ที่ทดสอบใหม่ Browser ก็จะทำการโหลดหน้าเว็บใหม่ ทำให้เราต้องรอเล็กน้อยก่อนจะใช้งานต่อได้ ต่างจากเครื่องที่มี RAM เยอะๆ ที่เวลาเราเปิดแท็บเก่าที่เคยเปิดค้างไว้ก็สามารถใช้งานต่อได้เลย เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ทีมงาน TechTalkThai ยังได้ทดสอบอีก Scenario ที่ธุรกิจองค์กรจะต้องทำกันอยู่แล้ว ก็คือการลง Antivirus Software เพิ่มเติมเข้าไปในระหว่างใช้งานควบคู่ไปกับ Microsoft Defender เพื่อปกป้องเครื่องจากภัยคุกคามต่างๆ ที่อาจเป็นอันตรายได้ โดยตัวที่ทีมงาน TechTalkThai ใช้ทดสอบนี้จะเป็นรุ่นที่ใช้เทคโนโลยี Deep Learning เป็นหลักในการทำงาน ซึ่งก็จะใช้ทรัพยากรน้อยกว่า Antivirus ที่เป็น Signature-based เล็กน้อย และลองโหลด Malware มาให้ระบบเหล่านี้ได้ทำงานดู

โดยผลลัพธ์ก็น่าประทับใจดีเพราะตัวเครื่องก็ยังใช้งานได้ปกติแม้เราจะเพิ่ม Antivirus เข้ามาอีกระบบคู่กับ Microsoft Defender ก็ตาม โดยในช่วงที่ทำการ Full Scan เครื่องนั้น CPU ก็ถูกใช้งานสูงสุดแค่ประมาณ 10% เท่านั้น ส่วนในการใช้งานหลัง Full Scan จบแล้ว CPU ก็แทบจะไม่ถูกใช้เลย ตรงนี้มักจะเป็นเพราะ Antivirus ส่วนใหญ่จะใช้ CPU ในการวิเคราะห์ไฟล์ต่างๆ และใช้ประสิทธิภาพของ Disk ในการดึงไฟล์มาอ่านให้ได้เร็วๆ เป็นส่วนใหญ่ แต่หากใช้โซลูชันอื่นๆ ก็อาจส่งผลที่ต่างกันออกไปได้ครับ

สำหรับ CPU และ GPU ในตัวเครื่องนั้นก็ไม่ได้มีปัญหา ตัวเครื่องสามารถเปิดคลิปความละเอียด 4K ได้สบายๆ โดยยังเหลือพลังประมวลผลในเครื่องทำงานอย่างอื่นพร้อมๆ กันได้อยู่ แต่โดยทั่วไปคนเราถ้าเปิดคลิป 4K อยู่แล้วก็มักจะนั่งดูคลิปมากกว่าที่จะเปิด App มาทำอย่างอื่นคู่ไปด้วยอยู่แล้วครับ

อย่างไรก็ดี ความสามารถอย่าง AI Noise-Canceling จะไม่สามารถเปิดใช้ในเครื่องรุ่นเล็กสุดนี้ได้นะครับ

สรุปง่ายๆ คือเครื่องรุ่นเล็กสุดนี้เหมาะมากๆ สำหรับธุรกิจที่มองหา Commercial Notebook ราคาไม่แพงสำหรับใช้งานเฉพาะทางหรือทำงานเบื้องต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การป้อนข้อมูล, การใช้ระบบ POS, การเชื่อมต่อ VDI, การใช้เรียนและประชุมงาน หรือการใช้บริการ Cloud เป็นหลัก รวมถึงต้องการซื้อ Bulk License ของ Microsoft มาติดตั้งใช้งานเองเพราะตัวเครื่องยังไม่ได้แถม Windows มาให้ ส่วนการใช้งานที่นอกเหนือมากกว่านี้ก็สามารถอัปเกรด RAM เพื่อให้ระบบสามารถทำงานแบบ Multitasking ได้ดีขึ้นได้เช่นกัน

สรุปข้อดีข้อเสีย

ข้อดี

  • ตัวเครื่องให้สัมผัสที่ดีดูมีราคา
  • จอใหญ่ 15.6 นิ้ว สามารถใช้งานเป็นจอหลักได้เลยโดยไม่ต้องซื้อจอเสริม
  • อัปเกรด RAM ได้ ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้เครื่องรุ่นนี้รองรับการใช้งานได้หลากหลายขึ้นเป็นอย่างมาก
  • มี HDD Kit สำหรับติดตั้ง HDD เพิ่มได้ด้วยตนเอง
  • มีพอร์ตต่างๆ ให้ครบ ใช้งานได้โดยไม่ต้องซื้อ USB Hub เพิ่ม
  • มีปุ่มเลื่อนปิดกล้องได้ในระดับ Hardware

ข้อเสีย

  • RAM เริ่มต้นขนาด 4GB ทำให้สามารถทำงานได้จำกัด เหมาะกับเฉพาะการใช้งานแบบ Single Task เป็นหลัก เช่น ใช้เป็นระบบ POS ประจำร้าน, ใช้ทำงานบน Browser หรือใช้จัดการเอกสารด้วย Software บนเครื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ตรงนี้ก็ไม่ได้ทำให้เครื่องช้ามากเพราะส่วนอื่นๆ ยังถือว่าค่อนข้างเร็ว อีกทั้งยังสามารถอัปเกรดเพิ่มได้หากต้องการ
  • รุ่นเล็กสุดนี้ใช้ AI Noise-Canceling ที่ถือเป็นความสามารถเด่นของ ASUS ExpertBook ไม่ได้ ถ้าหากอยากใช้ก็ต้องอัปเกรดเครื่องให้สูงกว่ารุ่นนี้

ติดต่อทีมงาน ASUS ประเทศไทย

สำหรับผู้ที่สนใจสินค้าของ ASUS และต้องการข้อมูลรายละเอียดต่างๆ สามารถเข้าไปเยี่ยมชมรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ https://www.asus.com/th/business/

About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

Cloudflare เผยสถิติอินเทอร์เน็ตโลกปี 2024: ทราฟฟิกเพิ่มขึ้น 17.2%, Google ยังครองแชมป์, สหรัฐฯ ผลิตบอทมากที่สุด

Cloudflare เผยรายงานสถิติการใช้งานอินเทอร์เน็ตประจำปี 2024 พบว่าทราฟฟิกทั่วโลกเพิ่มขึ้น 17.2% Google ยังคงเป็นบริการที่มีผู้เข้าชมมากที่สุด และสหรัฐอเมริกาเป็นแหล่งกำเนิดทราฟฟิกบอทกว่า 1 ใน 3 ของโลก

ซอฟต์แวร์ Productivity เพื่อการศึกษากำลังเปลี่ยนไป: ถึงเวลาที่โรงเรียนต้องปรับตัว

ในปี 2022 Google ได้ยุติการให้บริการพื้นที่เก็บข้อมูลไม่จำกัดฟรีสำหรับสถาบันการศึกษา และ Microsoft ได้ปรับปรุงข้อเสนอด้านการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้สถาบันการศึกษาต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ เช่น ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและฟังก์ชันการทำงานที่ลดลง การพัฒนาดังกล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการนำระบบที่มีความเสถียร สามารถขยายได้ และควบคุมได้มาใช้