เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือจากกรมสรรพากรและสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) – ARIP ได้จัดงาน THE THAILAND e-TAX SYMPOSIUM 2019 โดยมีวัตถุประสงค์ในการให้ความรู้และแลกเปลี่ยนทัศนะระหว่างผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ ทีมงาน TechTalkThai มีโอกาสเข้าร่วมงานจึงได้สรุปประเด็นที่น่าสนใจภายในงานมาให้ทุกท่านได้อ่านกันในบทความนี้
แน่นอนว่าพระเอกของงาน THE THAILAND e-TAX SYMPOSIUM 2019 นี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกเสียจากระบบ e-Tax Invoice ที่กรมสรรพากรเพิ่งออกเกณฑ์ปฏิบัติมาให้ได้ใช้กันอย่างเป็นทางการในปี 2560 แต่ก่อนที่เราจะไปพูดถึงสิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมานำเสนอและหารือในงาน THE THAILAND e-TAX SYMPOSIUM 2019 นั้น ขออนุญาตท้าวความสักเล็กน้อยว่า e-Tax Invoice คืออะไร และมีประโยชน์อย่างไรบ้าง
e-Tax Invoice คืออะไร? มีหน้าตาเป็นอย่างไร
สำหรับผู้ที่ทำธุรกิจย่อมจะคุ้นเคยกันดีกับใบกำกับภาษี ใบเสร็จรับเงิน และเอกสารต่างๆซึ่งเกี่ยวข้องกับการเงินและการดำเนินการด้านภาษีของบริษัท ดังนั้นเมื่อพูดถึง e-Tax Invoice ก็อาจจะเข้าใจได้ไม่ยากนักว่าเป็นการจัดทำเอกสารเหล่านี้ให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
ทว่า e-Tax Invoice นั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร? เป็นไฟล์เอกสารธรรมดาที่เราสามารถสร้างขึ้นได้ หรือมีรูปแบบเฉพาะเจาะจงโดยเฉพาะ คำตอบก็คือเอกสารเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นใบกำกับภาษี ใบรับ หรือเอกสารอื่นๆ จะมาในรูปแบบของไฟล์ XML ที่ประกอบไปด้วยข้อมูลตามมาตรฐานที่ทางรัฐบาลได้กำหนดไว้ และที่สำคัญที่สุดนั้นก็คือไฟล์เหล่านี้จะต้องมีลายเซ็นดิจิทัลและ Timestamp กำกับทุกครั้ง เพื่อยืนยันความถูกต้อง ซึ่งลายเซ็นดิจิทัลนี้ก็เป็นข้อความเข้ารหัสที่สามารถนำไปใช้ตรวจสอบผ่าน Public Key ได้ว่ามีการแอบเปลี่ยนแปลงข้อมูลจากต้นฉบับหรือไม่ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการปลอมแปลงและเปลี่ยนเอกสารนั่นเอง

ประโยชน์ที่ธุรกิจจะได้รับจาก e-Tax Invoice & e-Receipts
การจัดทำและส่งต่อเอกสารในรูปแบบกระดาษนั้นผิวเผินอาจเป็นขั้นตอนที่ง่ายและธุรกิจต่างทำเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้วการใช้เอกสารในรูปแบบกระดาษนั้นมีปัญหาและข้อจำกัดอยู่มาก โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ธุรกิจนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ การใช้งาน e-Tax Invoice & e-Receipts จึงจะเข้ามาช่วยธุรกิจใน 4 แง่มุม ดังนี้
- ประหยัดงบประมาณและเวลา: การจัดทำ ปรินท์ และส่งใบกำกับภาษีนั้นล้วนแต่มีค่าใช้จ่ายทั้งด้านเงินและเวลา หากเปลี่ยนมาใช้ในรูปแบบดิจิทัลธุรกิจก็จะสามารถประหยัดทรัพยากรตรงนี้ลงได้
- ค้นหาและเชื่อมต่อกับระบบอื่นๆได้: เมื่อทุกอย่างถูกจัดเก็บในรูปแบบดิจิทัล การค้นหา เรียกดูข้อมูล สำรองข้อมูล และนำข้อมูลจากเอกสารไปใช้ในระบบดิจิทัลอื่นๆ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล หรือการทำ Automation ขั้นตอนการทำงาน ก็จะง่ายขึ้น ซึ่งความสามารถในการส่งต่อไปใช้งานนี้สำคัญเป็นอย่างยิ่งในยุค Digital Transformation
- ป้องกันการทุจริต: เพราะเอกสาร e-Tax Invoice & e-Receipts นั้นมีการกำกับด้วยลายเซ็นดิจิทัลทุกครั้ง ธุรกิจจึงหมดห่วงเรื่องการทุจริต เช่น การออกเอกสารซ้ำ หรือการเปลี่ยนแปลงข้อมูลในภายหลัง
- เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม: การเปลี่ยนมาใช้และส่งเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยส่งเสริม Sustainability ซึ่งเป็นหนึ่งประเด็นที่หลายๆองค์กรกำลังโฟกัสอยู่
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า e-Tax Invoice และเอกสารอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆนั้นมีประโยชน์ต่อธุรกิจ และมีแนวโน้มจะมีการใช้งานมากขึ้นในอนาคต โดยในระบบนิเวศของ e-Tax Invoice นี้จะประกอบไปด้วยผู้เกี่ยวข้องที่หลากหลาย ตั้งแต่ ฝ่ายหน่วยงานของรัฐ บริษัทเอกชน ไปจนถึงผู้ที่อยู่ในวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับระบบ เช่น นักบัญชี และผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และวางระบบ งาน THE THAILAND e-TAX SYMPOSIUM 2019 จึงได้ชวนตัวแทนจากแต่ละกลุ่มมาให้ความรู้และพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจไทยก้าวเข้ามาใช้ e-Tax Invoice กันมากขึ้น
บรรยากาศภายในงาน
ภายในงาน THE THAILAND e-TAX SYMPOSIUM 2019 บรรยากาศในช่วงเช้าเริ่มด้วยการขึ้นพูดจากคุณขนิษฐา สหเมธาพัฒน์ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร กรมสรรพากร ที่ได้เล่าเรื่องราวความเป็นมาของแนวคิดและระบบ e-Tax Invoice ตั้งแต่เริ่มจนออกมาเป็นเกณฑ์ที่ธุรกิจนำไปใช้ได้

ต่อด้วยคุณสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ ETDA ที่ออกมาอธิบายถึงบทบาทของ ETDA ในการส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัลไทย ตั้งในการร่วมตั้งเกณฑ์ กำหนดมาตรฐาน และออกนโยบายเพื่อความปลอดภัย

หลังจากได้ฟังมุมมองของภาครัฐจบไปแล้ว งานก็ได้ดำเนินต่อด้วยการเชิญผู้เกี่ยวข้องกับระบบ e-Tax ในองค์กรขนาดใหญ่อย่างธนาคารกรุงเทพ, SCG และ DTAC มาเล่าถึงมุมมองของตัวเองตั้งแต่การเริ่มต้นวางแผนระบบ การร่วมกำหนดมาตรฐาน การประสานงานระหว่างภาคเอกชนและรัฐ ไปจนถึงปัญหาต่างๆที่แต่ละองค์กรต้องเผชิญและวิธีการแก้ไข โดยระหว่างการพูดคุยผู้ร่วมงานก็ได้มีโอกาสส่งทั้งคำถามและข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานต่างๆ ก่อให้เกิดการหารือและไอเดียใหม่ๆ

ปิดท้ายช่วงเช้ากันด้วยการขึ้นพูดจากคุณพิรดา อิงค์ธเนศ Assistant to CEO, บริษัท ดาต้าวัน เอเชีย (ประเทศไทย) ในหัวข้อ “How to leverage e-Tax invoice in the era of digital trade and finance?” ที่เจาะลึกถึงประโยชน์ของ e-Tax Invoice การนำไปใช้งานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ โดยเน้นไปที่การวางรากฐานดิจิทัลให้กับธุรกิจเพื่อเตรียมพร้อมรับมือเทคโนโลยีใหม่ๆที่จะเข้ามาในอนาคต

ช่วงบ่ายประกอบไปด้วยอีก 2 เซสชั่น ได้แก่ Panel Discussion ที่ได้รับเกียรติจากตัวแทนจากกรมสรรพากร สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย และ Flow Account มาพูดคุยกันเกี่ยวกับกลยุทธ์การเปลี่ยนไปใช้งาน e-Tax การวางแผนระบบ ประโยชน์ที่จะได้รับ การปรับตัวที่องค์กรต้องเผชิญ และความเปลี่ยนแปลงในบทบาทหน้าที่ของวิชาชีพ

จบด้วยการบรรยายจากคุณสมศักดิ์ อนันทวัฒน์ ผู้อำนวยการกองมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษี กรมสรรพากร ที่เป็นเซสชั่นความรู้เกี่ยวกับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ลงลึก สร้างความเข้าใจให้ครบภาพเป็นการปิดท้ายงาน

ธุรกิจจะเริ่มต้นใช้ e-Tax Invoice ได้อย่างไร มีความท้าทายอะไรต้องคำนึงถึงบ้าง?
เมื่อทราบว่า e-Tax Invoice คืออะไร และจะได้ประโยชน์อะไรจากระบบนี้แล้ว หนึ่งคำถามที่ตามมาคือธุรกิจจะเริ่มต้นใช้งานใบกำกับภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างไรได้บ้าง วิธีที่ตรงไปตรงมาที่สุดก็คือการพัฒนาโซลูชันสำหรับจัดทำเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเชื่อมต่อกับระบบของกรมสรรพากรโดยตรง หรือการใช้บริการประทับลายเซ็นดิจิทัลและ Timestamp ลงบนเอกสารผ่านอีเมล์ที่กรมสรรพากรและ ETDA จัดเตรียมไว้ให้ใช้กันฟรีๆ สำหรับธุรกิจที่ขนาดไม่ใหญ่นัก
ในขณะเดียวกัน อีกหนทางในการเริ่มต้นกับ e-Tax Invoice ที่ทีมงาน TechTalkThai เห็นว่าน่าสนใจและสะดวก คือการใช้โซลูชันที่ Vendor เจ้าต่างๆได้พัฒนาเชื่อมต่อกับระบบของรัฐไว้เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโซลูชันต่างหาก หรือโซลูชันที่อยู่ในระบบ ERP
โซลูชัน e-Tax พร้อมใช้งานทันที
DataOne เป็นหนึ่งในเวนเดอร์ที่ได้พัฒนาโซลูชันที่เชื่อมต่อกับระบบจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร ทำให้ธุรกิจสามารถออกใบกำกับภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอกนิกส์ในองค์กรได้โดยง่าย เพียงกรอกข้อมูลในฟอร์ม ระบบจะเริ่มจัดทำเอกสาร และส่งเอกสารซึ่งเป็นผลลัพธ์ไปลงลายเซ็นกำกับในระบบกลางของกรมสรรพากร ซึ่ง DataOne พร้อมให้บริการทั้งแบบ On-premise, บนคลาวด์แบบ Subscription, และการเข้าไปพัฒนาระบบเพิ่มเติมจากระบบเดิมที่บริษัทมีอยู่

ทางทีมงาน TechTalkThai ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณพิรดา อิงค์ธเนศ Assistant to CEO ซึ่งได้ให้ความเห็นว่าแม้ในตอนนี้ e-Tax Invoice จะยังมีการใช้งานไม่มากนักเมื่อเทียบกับเอกสารกระดาษแบบเก่า แต่จากแนวโน้มแล้วบริษัทขนาดใหญ่จะเริ่มเปลี่ยนมาใช้ e-Tax Invoice กันมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งความเปลี่ยนแปลงก็จะมาถึงธุรกิจทุกขนาดโดยปริยาย และหากไม่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ก็อาจเสียโอกาสทางการค้าและต้องแบกต้นทุนแฝงในการจัดทำและจัดเก็บเอกสารกระดาษไปเรื่อยๆ ในขณะที่การแข่งขันในซอฟต์แวร์ e-Tax จะช่วยให้ต้นทุนการจัดทำเอกสารแบบอิเล็กทรอนิกส์นั้นถูกลงอย่างต่อเนื่อง
คุณพิรดามองว่าประโยชน์ของ e-Tax Invoice ประการที่สำคัญที่สุดการเพิ่มประสิทธิภาพในการออกใบกำกับภาษี เพราะแม้จะเป็นขั้นตอนที่ธุรกิจทำกันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่การดำเนินการแบบ Full Loop นั้นมีความยุ่งยากและความด้อยประสิทธิภาพอยู่มาก รวมทั้งข้อมูลในการดำเนินการทั้งหมดไม่สามารถจัดเก็บและนำมาใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีดิจิทัลได้ ซึ่งคุณพิรดาไม่ได้มองแค่การดำเนินการในองค์กรอย่างเดียวเท่านั้น แต่มองไปถึงข้อมูลที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ภายใน Supply Chain ด้วย
ใช้ ERP ที่มีระบบ e-Tax Invoice ในตัว
อีกหนึ่งวิธีที่ง่ายที่จะช่วยให้องค์กรออกใบกำกับภาษีดิจิทัลได้อย่าง Seamless คือการเลือกใช้ระบบ ERP ที่รองรับการจัดทำและส่งเอกสารรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในงาน THE THAILAND e-TAX SYMPOSIUM 2019 หนึ่งในนั้นคือ ArgoERP – ERP ครบวงจรสัญชาติไต้หวันที่มุ่งเน้นให้บริการธุรกิจขนาดกลางขึ้นไปในทุกๆ อุตสาหกรรม โดย ArgoERP นั้น ต้องนับว่าเป็น ERP เจ้าแรกๆ ที่พัฒนาระบบเชื่อมต่อ e-Tax มาให้บริการ

จากการพูดคุยกับทีมงาน ArgoERP พวกเขามองว่าในอนาคตอันใกล้ ระบบ e-Tax Invoice จะกลายมาเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ธุรกิจจะมองหาในระบบ ERP เพราะการมีโซลูชัน e-Tax นั้นหมายถึงความสามารถในการนำข้อมูลจาก ERP มาแปลงเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และการนำเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แปลงกลับเป็นข้อมูลได้โดยทันที ซึ่งธุรกิจในปัจจุบันเราทราบกันอยู่แล้วว่าการมีข้อมูลที่ละเอียดหลากหลายขึ้นนั้นอาจหมายถึงประสิทธิภาพในการดำเนินการที่เพิ่มขึ้นได้
นอกจากนี้ การที่ ERP มีการเชื่อมต่อกับระบบ e-Tax ของรัฐบาล จะช่วยเสริมความมั่นใจของธุรกิจว่าเวนเดอร์มีความพร้อมที่จะพัฒนาและปรับตัวให้เป็นไปตามระบบนิเวศการทำธุรกิจของประเทศนั้นๆ โดยเชื่อว่าในอนาคต เราจะได้เห็น ERP ที่มีระบบ e-Tax Invoice มาพร้อมกันมากขึ้นอย่างแน่นอน
e-Tax Invoice แนะนำ แต่ยังไม่บังคับ
ในการขึ้นบรรยาย คุณสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ ETDA ได้แสดงความคิดเห็นที่สรุปสถานการณ์ของ e-Tax Invoice ได้เป็นอย่างดีว่าปัจจุบันนั้น e-Tax Invoice เปรียบเสมือน Soft Law ที่ยังไม่มีการบังคับใช้กับธุรกิจ แต่มีความพร้อม อนุญาตให้ใช้งานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีเกณฑ์ในการจัดทำและใช้งานอย่างชัดเจน
ด้านการสนับสนุนให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลาย ผู้เชี่ยวชาญในงาน THE THAILAND e-TAX SYMPOSIUM 2019 หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าในเวลานี้คงจะเป็นรูปแบบของการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจผ่านความสะดวกและโครงการอื่นๆทางอ้อมไปก่อน และเมื่อมีธุรกิจเริ่มเข้ามาเชื่อมต่อมากขึ้น บริษัทคู่ค้าของธุรกิจเหล่านั้นก็ย่อมต้องปรับตัวเข้ามาใช้งาน ซึ่งจะส่งผลดีกับทั้งธุรกิจ รัฐบาล และประชาชนคนทั่วไป
ในอนาคต กรมสรรพากรและ ETDA ยังคงมีโครงการดิจิทัลอื่นๆ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน เพื่อมุ่งสู่ Thailand 4.0 และร่วมสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลกไปพร้อมๆ กับการช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศดีขึ้นอีกด้วย
เกี่ยวกับ ARIP
บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทผู้ให้บริการคอนเทนต์เกี่ยวกับธุรกิจ การตลาด ไอที IT (Information Technology) และ ไอชีที ICT (Consumer Electronics) ที่มีประสบการณ์ทำงานยาวนานมามากกว่า 20 ปี เจ้าของนิตยสารที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดีอย่าง COMTODAY, ELEADER, และ Business+ พวกเขาเป็นผู้จัดงาน Commart ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในงานแสดงสินค้าไอซีทีที่ใหญ่ที่สุดในไทย ตลอดถึงการจัดงานนิทรรศการและสัมมนาต่างๆ เช่นงาน THE THAILAND e-TAX SYMPOSIUM 2019 ในครั้งนี้
ปัจจุบันธุรกิจของ ARIP แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ธุรกิจสิ่งพิมพ์และคอนเทนต์ ธุรกิจจัดงานนิทรรศการ งานแสดงสินค้า และกิจกรรมทางการตลาดครบวงจร และธุรกิจสื่อดิจิทัลและสื่ออื่นๆ โดยพร้อมช่วยธุรกิจสื่อสารกับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านธุรกิจ ไอที และไอซีที
หากท่านใดสนใจศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับ ARIP เพิ่มเติม สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ https://www.aripplc.com/ หรือติดต่อกับทีมงาน ARIP โดยตรงที่ โทร. +66(0) 2642-3400 ต่อ 2501 และอีเมล์ suwisaw@arip.co.th