Microsoft Azure by Ingram Micro (Thailand)

[Guest Post] งานแถลงข่าวกลุ่มย่อย ในหัวข้อ “The Culture of Innovation” การสร้างวัฒนธรรมของสตาร์ทอัพ กุญแจสู่การสร้างวัฒนธรรมด้านนวัตกรรม ของ อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย)

วันที่ 28 มิถุนายน 2565 : Amazon เป็นแพลตฟอร์มที่สร้างสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จระดับโลกมากมาย เช่น Netflix, Stripe และ Airbnb ไปจนถึงสตาร์ทอัพในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ไม่ว่าจะเป็น Grab, Tokopedia, Carsome และ Wisesight หนึ่งในเหตุผลที่เราประสบความสำเร็จในการสนับสนุนสตาร์ทอัพ คือเราเองเคยเป็นสตาร์ทอัพมาก่อนและไม่เคยลืมความเป็นมาของบริษัทตั้งแต่ช่วงที่เราเริ่มก่อตั้งแรกๆ

แถลงโดย ปรียา ลักษมี (Priya Lakshmi)
Head of Startup Business, AWS, ASEAN

ที่ Amazon เรามักพูดคำว่า “every day being Day 1” หรือ “ทำทุกวันให้เป็นวันแรกของการเริ่มต้นธุรกิจ” ซึ่งหมายความว่าการสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมยังคงเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด แนวความคิดนี้ทำให้เราเข้าใจลูกค้าสตาร์ทอัพของเรา และทำให้เราสามารถคาดการณ์และตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้อย่างต่อเนื่อง

จะเรียกได้ว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเลาที่พิเศษที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราได้เห็นสตาร์ทอัพเกิดใหม่เพิ่มขึ้นมากมาย และ AWS มองว่านี่เป็นหน้าที่ของเราที่จะช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จ ไม่เพียงแค่ด้วยบริการด้านเทคโนโลยีที่หลากหลายและครอบคลุมเท่านั้น แต่ด้วยคำแนะนำในการสร้างวัฒนธรรมที่ถูกต้อง เพื่อให้แน่ใจว่าสตาร์ทอัพต่าง ๆ กำลังสร้างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและยั่งยืน เรามองว่าวัฒนธรรมที่ช่วยให้ Amazon เติบโตจากวันที่เราเป็นสตาร์ทอัพนั้นเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับสตาร์ทอัพอื่น ๆ ที่เราทำงานด้วยเช่นกัน

Amazon เริ่มต้นในปีค.ศ. 1994 จากการเป็นร้านหนังสือออนไลน์ และมีการเปลี่ยนแปลงและเกิดนวัตกรรมมากมายตั้งแต่นั้นมา อย่างแรกเลย คือเราขยายการขายออนไลน์ไปยังหมวดหมู่อื่น ๆ เช่น ซีดี ดีวีดี จากนั้นมีสินค้ามากมายที่ถูกขายและจัดส่งไปทั่วโลก นอกจากนี้ เรายังเป็นผู้บุกเบิกด้านคลาวด์คอมพิวติ้งในปีค.ศ. 2006 ภายใต้ อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (Amazon Web Services: AWS) และได้เปิดตัวอุปกรณ์อย่าง Kindle และ Echo เราพัฒนาเป็นสตูดิโอผลิตรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์ภายใต้ อเมซอน ไพรม์ (Amazon Prime) และยังมีหน้าร้านของ Amazon Books, Amazon Go และอื่น ๆ

เนื่องจากความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา เราใช้กระบวนการทำงานแบบ “working backwards” ที่เริ่มจากความต้องการของลูกค้าเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ซึ่งแนวคิดการทำงานแบบย้อนกลับโดยมีลูกค้าเป็นที่ตั้งนี้มีบทบาทอย่างมากต่อการสร้างวัฒนธรรมด้านนวัตกรรม วัฒนธรรมนี้ทำให้เรามีกระบวนการคิดแบบสตาร์ทอัพอยู่เสมอ และหมายความว่าเราสามารถรักษาวัฒนธรรมแบบที่สตาร์ทอัพให้คุณค่าไว้ได้

Our Mission: พันธกิจของเรา คือการเป็นบริษัทที่มุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้ามากที่สุดในโลก และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ของลูกค้าของเราทั่วโลกหลายล้านคน ไม่ว่าจะเป็น ผู้บริโภค ผู้ขาย ผู้สร้างเนื้อหา นักพัฒนา องค์กร และอื่น ๆ เราทำงานร่วมกับลูกค้าทุกขนาด ตั้งแต่สตาร์ทอัพไปจนถึงธุรกิจขนาดกลางไปจนถึงองค์กรระดับโลกที่ใหญ่ที่สุด ในทุกอุตสาหกรรมและทุกกลุ่มตลาด ทั้งภาครัฐและเอกชน ลูกค้าแต่ละรายมีความต้องการและโอกาสที่แตกต่างกัน เราต้องการคิดค้นโซลูชั่นใหม่ ๆ เพื่อทำให้ประสบการณ์ของลูกค้าที่หลากหลายเหล่านี้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น ดีขึ้น และคุ้มค่ามากขึ้น

จาก Amazon.com สู่ Amazon Web Services

เมื่อบริษัทโตขึ้น และผลิตภัณฑ์ที่เราขายมีมากขึ้น เราไม่หยุดถามตัวเองว่ามีอะไรอีกที่เราสามารถสร้างได้ที่จะช่วยลูกค้าได้มากขึ้น? หลังจากกว่าทศวรรษของการสร้างและใช้งานเว็บแอปพลิเคชันที่ปรับขนาดการใช้งานได้สูงมาก ทำให้เราได้พัฒนาความสามารถหลักในการดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีขนาดใหญ่และศูนย์ข้อมูล ในปีค.ศ. 2006 เราจึงเริ่มภารกิจที่ขยายกว้างออกไปในการให้บริการลูกค้ากลุ่มใหม่ ที่เป็นนักพัฒนาและธุรกิจต่าง ๆ ดังนั้น Amazon Web Services Cloud จึงถือกำเนิดขึ้นเป็นแพลตฟอร์มเทคโนโลยี ที่ลูกค้าสามารถใช้เพื่อสร้างแอปพลิเคชันที่ซับซ้อนและปรับขนาดได้ตามต้องการและ AWS ได้พัฒนาบริการต่าง ๆ บนระบบคลาวด์นับแต่นั้นมาโดยตลอด จนมีมากกว่า 200 บริการในปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นของนวัตกรรม: เริ่มต้นที่ลูกค้าและทำงานย้อนกลับโดยเริ่มต้นที่ลูกค้า (start with the customer and work backwards)

เราเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจลูกค้าของเราอย่างลึกซึ้ง เข้าใจสิ่งที่จำเป็นต่อลูกค้า หรือสิ่งที่ลูกค้าต้องการ จุดไหนที่ลูกค้ามีความไม่พอใจหรือต้องการการแก้ไข ไม่ใช่แค่ความสนิทสนมและถามถึงสิ่งที่พวกเขาต้องการ แต่ต้องเข้าใจสถานการณ์และบริบทของลูกค้าอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้เราสามารถคิดแทนลูกค้าได้ การทำงานย้อนกลับที่เริ่มต้นจากความต้องการของลูกค้า ช่วยให้เราคิดค้นวิธีที่จะทำให้ลูกค้าประหลาดใจและพึงพอใจ

เราเตรียมความพร้อมเพื่อนวัตกรรมอย่างไร?

ที่ AWS มีกระบวนการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นทุกวันโดยอาศัยวิธีการ 4 ส่วน ประกอบด้วย วัฒนธรรม (Culture), องค์กร (Organization), สถาปัตยกรรม (Architecture) และวิธีการ (Mechanisms)

  1. วัฒนธรรม (Culture) – องค์ประกอบแรกคือวัฒนธรรม ที่มุ่งมั่นในการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า จ้างผู้สร้าง และสนับสนุนพนักงานด้วย leadership principle หรือหลักการชี้นำในการปฏิบัติทั้ง 16 ข้อที่ถูกสร้างขึ้นมาให้ใช้ในทุกกระบวนการทำงาน ซึ่งมีความสำคัญในการช่วยให้เราประสบความสำเร็จ และเราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์สำหรับองค์กรอื่น ๆ ที่กำลังเดินทางสู่ความสำเร็จ ดังนั้นเราจึงส่งเสริมหลักการและวัฒนธรรมของเรา โดยหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจและช่วยให้ลูกค้าสตาร์ทอัพของเราสร้างวัฒนธรรมด้านนวัตกรรมของตนเองได้

Leadership principle ของเราเริ่มต้นด้วยความมุ่งมั่นในการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า หลักการชี้นำในการปฏิบัติของเราไม่ได้มีไว้เพื่อสร้างความสามัคคี แต่มีไว้เพื่อใช้ร่วมกันในการช่วยให้ตัดสินใจได้เร็วขึ้นอย่างมีคุณภาพ ทำหน้าที่เป็นแนวทางเพื่อช่วยให้เราจัดลำดับความสำคัญในเวลาที่ต้องตัดสินใจ ช่วยจัดกรอบการสนทนาที่ตัดสินใจได้ยากและซับซ้อน และทำให้เรามองปัญหาจากหลาย ๆ มุม

เรายังมีปรัชญาที่ว่าทุกคนในบริษัทเป็นผู้นำในภารกิจของเรา และส่วนหนึ่งของผู้นำคือการใช้หลักการเหล่านี้ในทุก ๆ วัน เพื่อช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้นในการสนับสนุนลูกค้า ซึ่งรวมไปถึงการว่าจ้างและการสัมภาษณ์ผู้สมัคร ใช้กำหนดกรอบความคิดเห็นที่เราให้ซึ่งกันและกันในฐานะเพื่อนร่วมงาน และในการสนทนาเพื่อการเติบโตและการพัฒนาระหว่างหัวหน้างานและทีมงาน

  1. องค์กร (Organization) – ทีมขนาดเล็กที่มีอำนาจและเป็นเจ้าของสิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นมา เสาหลักข้อที่สองในการขับเคลื่อนนวัตกรรมคือองค์กร เราบริหารธุรกิจเพื่อความรวดเร็วและคล่องตัวอย่างไร? Amazon รับพนักงานที่เป็นนักสร้างสรรและให้พวกเขาได้สร้าง นี่อาจเป็นหนึ่งในความแตกต่างที่ใหญ่ที่สุดระหว่างสตาร์ทอัพและบริษัทแบบดั้งเดิม และเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างรวดเร็ว

สิ่งแรกคือการมองหาคนที่เหมาะสม ที่เป็นนักสร้าง ผู้ที่ชื่นชอบการประดิษฐ์ ผู้ที่ต้องการสร้างอนาคต ผู้ที่ชอบศึกษาประสบการณ์ของลูกค้าในมุมต่าง ๆ พนักที่เข้าใจว่าเมื่อออกผลิตภัณฑ์สู่ตลาดนั้นเป็นแค่จุดเริ่มต้น ไม่ใช่เส้นชัย และองค์กรจำเป็นต้องบริหารนักสร้างเหล่านี้เพื่อให้พวกเขาสามารถสร้างได้อย่างแท้จริง ส่งเสริมให้พวกเขาคิดแทนลูกค้า เรายังจัดโครงสร้างทีมโดยอาศัยทฤษฎี “ทีมพิซซ่า 2 ถาด” ซึ่งโดยทั่วไปหมายถึงเป็นทีมที่สามารถทานพิซซ่าได้ 2 ถาดพอดี เพื่อความว่องไวและคล่องตัว ส่งเสริมความเป็นเจ้าของและความเป็นอิสระ เมื่อมีคนจำนวนมากเกินไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ความก้าวหน้าก็อาจหยุดชะงักลงได้

ทีมพิซซ่า 2 ถาดควรมีบุคลากรที่เหมาะสม เช่น วิศวกรรม การทดสอบ การจัดการผลิตภัณฑ์และโปรแกรม เพื่อให้ทีมสามารถบริหารจัดการผลิตภัณฑ์หรือบริการที่พวกเขาสร้างขึ้นได้ สามารถปรับปรุงบริการได้อย่างต่อเนื่อง และสร้างสรรค์นวัตกรรมในเชิงรุกสำหรับลูกค้า

ในท้ายที่สุด ทีมพิซซ่า 2 ถาดไม่ใช่เรื่องของขนาด แต่เป็นการผลักดันความเป็นเจ้าของและความเป็นอิสระของทีม ช่วยให้ทีมเหล่านั้นทำงานได้อย่างรวดเร็ว ทดลองแต่เนิ่น ๆ และบ่อยครั้ง และนำการเรียนรู้ไปใช้อย่างรวดเร็ว สิ่งนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดความล้มเหลวเพราะการเรียนรู้เกิดขึ้นเร็วกว่าและมีความเสี่ยงน้อยกว่า เมื่อเทียบกับการที่อาจเกิดความล้มเหลวในอนาคต

เมื่อคุณเข้าเว็บไซต์ Amazon.com บริการหรือฟีเจอร์ต่าง ๆ มากกว่า 250 รายการจะถูกใช้งาน ซึ่งแต่ละบริการมีทีมที่เป็นเจ้าของดูแลตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์

ที่ AWS เรามีบริการคลาวด์ที่พร้อมให้บริการมากกว่า 200 รายการ เรามั่นใจว่าแต่ละบริการมีทั้งทรัพยากรด้านบุคลากรที่จำเป็นสำหรับการขยายและมีอิสระที่จะเติบโตอย่างสอดคล้องไปกับความต้องการของลูกค้า ด้วยการใช้ทีมขนาดเล็กที่มุ่งเน้นที่ผลลัพธ์เดียว ทีมเหล่านี้สนับสนุนแนวคิดในการพัฒนาแบบลีนและสตาร์ทอัพเพื่อสร้างสิ่งใหม่ ๆ ด้วยความเร็ว

อย่างไรแล้ว ทฤษฎีทีมพิซซ่า 2 ถาดไม่ได้รับประกันความสำเร็จ และนวัตกรรมไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยปราศจากความล้มเหลว อย่างที่ เจฟฟ์ เบโซส์ กล่าวไว้ในจดหมายผู้ถือหุ้นประจำปี 2015 ของเขาว่า “ความล้มเหลวและการสร้างสรรค์เป็นฝาแฝดที่แยกกันไม่ได้ ในการสร้าง คุณต้องทดลอง และถ้าคุณรู้ล่วงหน้าว่าจะได้ผล มันก็ไม่ใช่การทดลอง”

ความล้มเหลวเป็นส่วนสำคัญของนวัตกรรม และองค์กรควรมีโครงสร้างและวัฒนธรรมที่ไม่เพียงแค่ยอมรับความล้มเหลวเท่านั้น แต่คาดหวังว่ามันจะเกิดขึ้นหากต้องการสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่ Amazon เราพบกับความล้มเหลวมากมาย และเราไม่กลัวที่จะยอมรับมัน

เรียนรู้จากความล้มเหลว

เราล้มเหลวในธุรกิจด้านประมูลถึง 2 ครั้ง! เราเปิดตัว Amazon Auctions ในปีค.ศ. 1999 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาเราเปิดตัว zShops โดยมีค่าธรรมเนียมเล็กน้อย สำหรับผู้ใช้ที่ต้องการสร้างร้านค้าเสมือนจริงบน Amazon เพื่อขายผลิตภัณฑ์ของตน และความคิดนั้นก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน แต่เราไม่ได้ทิ้งไอเดียนั้นไป และยังคงยึดมั่นในวิสัยทัศน์แต่ยืดหยุ่นในรายละเอียด เราเชื่อมั่นในคุณค่าระยะยาวว่าแนวคิดนี้จะขับเคลื่อนทั้งลูกค้าและผู้ขาย และให้ความยืดหยุ่นในการนำไปใช้ โดยทำซ้ำตามสิ่งที่เราเรียนรู้ในแต่ละครั้ง

องค์กรต้องมีวัฒนธรรมที่ถ้าพนักงานทำงานบางอย่างล้มเหลว พวกเขาจะไม่ถูกลงโทษจากความล้มเหลวนั้น

  1. สถาปัตยกรรม (Architecture) – โครงสร้างและเครื่องมือทางเทคนิคที่รองรับการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เรามองหาคนที่กระตือรือร้นที่อยากจะตื่นนอนทุกวันเพื่อแก้ปัญหาของลูกค้าและช่วยสร้างอนาคต เราต้องมอบแพลตฟอร์มสถาปัตยกรรมและชุดเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพให้แก่พวกเขาเพื่อกำจัดข้อจำกัดต่าง ๆ ซึ่งเราเรียนรู้วิธีการเหล่านี้จากการเดินทางทางสถาปัตยกรรมของเราเอง ความคล่องตัวไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากลูกค้ากำลังสร้างผลิตภัณฑ์บนแพลตฟอร์มเดิมที่ไม่ตอบสนองและมีข้อจำกัด

สถาปัตยกรรมทางเทคนิคของเรา มุ่งเน้นเพื่อการเร่งความเร็วของนวัตกรรม ดังนี้

  • ช่วยให้ทำการทดลองได้ทันที
  • ลดค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดความล้มเหลว
  • สามารถปรับขนาดการใช้งานและทำซ้ำได้ย่างรวดเร็ว

ในระบบคลาวด์ ลูกค้าสามารถจัดเตรียมเซิร์ฟเวอร์หลายพันเครื่องได้ภายในเวลาไม่กี่นาที วันนี้ใน AWS Cloud เรามีบริการมากกว่า 200 รายการที่ลูกค้าสามารถใช้งานร่วมกันได้ตามความต้องการ ซึ่งลูกค้าได้รับตั้งแต่เรื่องแนวคิดไปสู่การนำไปใช้ได้เร็วขึ้น เราสร้างแพลตฟอร์มที่มีความยืดหยุ่นที่จำเป็นสำหรับ Amazon ในสร้างนวัตกรรมอย่างรวดเร็ว ซึ่งเราเห็นว่าบริษัทอื่น ๆ สามารถนำสถาปัตยกรรมของเราไปใช้เพื่อให้ได้ผลลัพธ์แบบเดียวกันได้ และแนวทางนี้ได้เปลี่ยนองค์กรของเราโดยสิ้นเชิง โดยส่งผลต่อจำนวนครั้งที่พนักงานใช้ไปในการคิดค้นนวัตกรรม เพียงเพราะพวกเขามีความมั่นใจว่าไอเดียที่เกิดขึ้นจะมีโอกาสได้ทดลองว่ามันจะได้ผลหรือไม่ สิ่งนี้ทำให้คนในบริษัทที่มีแนวคิดใหม่ ๆ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จากคนเพียงไม่กี่คนกลายเป็นทุกคน

  1. วิธีการ (Mechanism) – พฤติกรรมที่ถูกปลูกฝังที่เอื้อต่อการคิดเชิงนวัตกรรม วิธีการสำหรับ Amazon มีความหมายเฉพาะเจาะจงมาก เป็นกระบวนการที่สมบูรณ์ (complete process) ที่เสริมสร้างและปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอ เราสร้างเครื่องมือ (เช่น ชิ้นส่วนของซอฟต์แวร์หรือกระบวนการ) ขับเคลื่อนการนำเครื่องมือนั้นไปใช้ และตรวจสอบผลลัพธ์เพื่อดูว่าเป็นไปตามที่เราตั้งใจไว้หรือไม่ จากนั้นเราจะทำซ้ำและปรับปรุงเครื่องมือนั้นอย่างต่อเนื่อง

Working backward หรือกระบวนการทำงานแบบย้อนกลับโดยการตั้งต้นที่ลูกค้า: วิธีการของการสร้างนวัตกรรม ใช้เพื่อให้เกิดความชัดเจน ไม่ใช่เพื่อบันทึกสิ่งที่ได้ตัดสินใจทำไปแล้ว

วิธีการที่โดดเด่นที่ต้องขับเคลื่อนความคิดและการสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรมที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลางอย่างสม่ำเสมอ คือกระบวนการทำงานย้อนกลับหลัง เราใช้วิธีนี้เพื่อให้แน่ใจว่าเรากำลังสร้างสิ่งที่ถูกต้องให้กับลูกค้าและเรามุ่งเน้นอยู่กับลูกค้าตั้งแต่เริ่มแนวคิดต่าง ๆ ดังนั้นทุกผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ถูกพัฒนาขึ้นใน Amazon และไปสู่ลูกค้าจะใช้กระบวนการทำงานย้อนกลับหลังเสมอ

คำถามเกี่ยวกับลูกค้า – กระบวนการเริ่มต้นด้วย 5 คำถามเกี่ยวกับลูกค้า เราสอนชาวอเมซอนให้ตกผลึกคำถามเหล่านี้เวลาที่เริ่มแนวคิดใหม่ ๆ ใครคือลูกค้า? ปัญหาหรือโอกาสของลูกค้าคืออะไร? ความคิดของคุณทำให้ลูกค้าได้ประโยชน์อย่างเห็นได้ชัดหรือไม่? คุณรู้ได้อย่างไรว่าลูกค้าต้องการอะไร? และประสบการณ์ของลูกค้าเป็นอย่างไร?

ที่ AWS มากกว่า 90% ของฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่เราพัฒนาขึ้นนั้น มาจากความคิดเห็นและความต้องการของลูกค้าโดยตรง อีก 10% มาจากการทำงานใกล้ชิดกับลูกค้ามากพอที่เราสามารถคิดแทนลูกค้าได้ เมื่อลูกค้าไม่สามารถระบุความต้องการเหล่านั้นได้เอง

นวัตกรรมในการทำงานที่ Amazon

มาทำความรู้จักกับ Amazon flywheel หรือกงล้อการทำงานของ Amazon

ที่ Amazon คุณจะเห็นหน่วยธุรกิจต่าง ๆ มากมาย สิ่งเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งเราคิดว่าสามารถหาวิธีตอบสนองความต้องการที่ดีกว่าที่มีอยู่แล้วในตลาด นั่นคือเหตุผลที่เราลงทุนในรูปแบบธุรกิจที่หลากหลาย ตั้งแต่การสตรีมเนื้อหา ไปจนถึงการขายปลีกแบบมีหน้าร้าน การพัฒนาและจำหน่ายอุปกรณ์ที่ขับเคลื่อนด้วย Machine Learning ขั้นสูง

การมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง นั่นคือกลยุทธ์การเติบโตของเรา – เรามองเรื่องการเติบโตและนวัตกรรมด้วยวิสัยทัศน์ระยะยาว ดังนั้น เราไม่ได้คิดแค่ว่าลูกค้ากำลังทำอะไรอยู่ตอนนี้ แต่มองถึงสิ่งที่ลูกค้าจะทำต่อไปในอนาคต และเราสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่ยั่งยืนที่จะคงอยู่ตลอดไป เราพบการเติบโตที่เกิดจากความต้องการที่ยั่งยืนเหล่านี้ และใช้มันเพื่อขับเคลื่อนวงจรที่ยั่งยืนและถาวรที่เรียกว่า Amazon flywheel

ธุรกิจ Amazon.com มุ่งเน้นที่ความต้องการของลูกค้าที่ยั่งยืน โดยมีราคาต่ำ มีตัวเลือกที่มากกว่า และมีความสะดวกสบาย ลูกค้าจะไม่มาหาเราและพูดว่า “เราหวังว่าราคาจะสูงขึ้น” หรือ “ฉันต้องการทางเลือกและความสะดวกสบายน้อยลง” ดังนั้น เราจึงมุ่งเน้นที่การส่งมอบบริการที่ตอบสนองความต้องการที่ยั่งยืนเหล่านี้อย่างต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนการเติบโต หากเรามุ่งเน้นที่การปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า เราจะสามารถดึงดูดการเข้าชมจากลูกค้ามากขึ้น หากเราสามารถขับเคลื่อนการเข้าชมได้มากขึ้น เราก็จะมีผู้ขายบนแพลตฟอร์มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มตัวเลือกสินค้าสำหรับลูกค้าได้ นอกจากนี้ยังสร้างการเติบโตและขยายขนาด ซึ่งช่วยให้เราลดต้นทุนให้ต่ำลง ราคาและตัวเลือกสินค้าที่ดีขึ้น ช่วยให้ประสบการณ์ของลูกค้าดียิ่งขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะทำให้มีการเข้าชมมากขึ้น และ Amazon flywheel ก็จะหมุนไป

ทุกการลงทุนที่เราทำเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ไม่เพียงแต่ช่วยตอบสนองความต้องการในปัจจุบัน แต่ยังช่วยให้มั่นใจว่าเรากำลังคิดถึงความต้องการในอนาคตของลูกค้า และบางครั้งนำไปสู่การสร้างธุรกิจใหม่ ๆ และนี่คือสิ่งที่ช่วยให้เราสามารถลดราคาให้กับลูกค้าถึง 115 ครั้ง นับตั้งแต่เปิดตัว AWS ในปีค.ศ. 2006

 

คุณพงศ์ระพี เจนจรัตน์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท Wisesight ผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดียอันดับหนึ่งในประเทศไทย เล่าถึงการเติบโตของบริษัทฯ ว่าเราก่อตั้งขึ้นในปี 2011 ปัจจุบันมีพนักงาน 210 คน เรามีวัฒนธรรมที่เหมือนกับ Amazon ในเรื่องของ customer obsession ที่เราฟังลูกค้าเพื่อที่จะทำความเข้าใจ และคิดอยู่เสมอว่าอะไรที่จะสามารถช่วยลูกค้าได้มากขึ้น และมองหาวิธีการสนับสนุนลูกค้าในด้านต่าง ๆ เราเริ่มต้นด้วยการเป็นเอเจนซี่โฆษณา ซึ่งเราใช้เทคโนโลยีในการสร้างแพลตฟอร์มที่ทำ digital marketing ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งเสียงตอบรับจากลูกค้าในตอนนั้น คืออยากให้ Wisesight เป็นผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูล ที่คอยให้ข้อมูลแก่ลูกค้าและเอเจนซี่เพื่อนำไปวางกลยุทธ์ด้านการตลาด

เราให้ความสำคัญกับการหาคนที่ใช่มาทำงานร่วมกันในทีม โดยในอดีตเรามักจะหาคนที่เข้ากับทีมได้เข้ามาร่วมงาน สุดท้ายทีมเราเต็มไปด้วยคนที่มีลักษณะเดียวกันทั้งหมด และไม่มีความแตกต่างทั้งในเรื่องของไอเดียหรือมุมมอง ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าเราต้องมีความหลากหลายของบุคลากรเพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ 

นอกจากนี้ Wisesight ยังได้นำวัฒนธรรมของ Amazon ในเรื่องของทฤษฎีพิซซ่า 2 ถาด และแนวคิดว่า “every day being Day 1” หรือ “ทำทุกวันให้เป็นวันแรกของการเริ่มต้นธุรกิจ” มาปรับใช้ในองค์กร

สำหรับทฤษฎีพิซซ่า 2 ถาด ในช่วงโควิดที่เราทำงานกันจากที่บ้าน การทำงานร่วมกันทีมละ 3-6 คนทางออนไลน์ยังรู้สึกว่ามีจำนวนมากเกินไป ทำให้เราปรับและเลือกเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องและสำคัญต่องานนั้น ๆ เข้าประชุม มีการระบุวัตถุประสงค์การประชุมล่วงหน้าให้ชัดเจน เช่น เพื่อให้ข้อมูล หรือเพื่อปรึกษาหารือ เป็นต้น รวมถึงระบุเวลาการประชุมให้สั้นเท่าที่จำเป็น

สำหรับแนวคิด every day being Day 1 นั้นสำคัญมาก เราต้องไม่ลืมจุดเริ่มต้นของเรา หรือวันแรกที่เราเริ่มสร้างและพยายามเติบโต ไม่หลงลืมไปกับความสำเร็จในปัจจุบัน เราต้องไม่หยุดเรียนรู้ว่าลูกค้าจะต้องการอะไรในอนาคต พรุ่งนี้จะมีปัญหาอะไร หรือจะมีอะไรใหม่เกิดขึ้นใหม่ในโลกอยู่เสมอ

เกี่ยวกับโปรแกรม AWS Activate

  • โปรแกรม AWS Activate ได้สนับสนุนลูกค้าสตาร์ทอัพหลายแสนราย ด้วย AWS credits การสนับสนุนด้านเทคนิค และการฝึกอบรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา
  • ในช่วงสองปีที่ผ่านมา AWS ได้สนับสนุนสตาร์ทอัพตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นด้วย AWS credits ที่มีมูลค่ากว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถสร้างและเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ด้วยโปรแกรมนี้สตาร์ทอัพสามารถใช้บริการระบบคลาวด์ที่ปรับขนาดได้ มีความเสถียร และปลอดภัย เช่น การประมวลผล พื้นที่จัดเก็บ ฐานข้อมูล การวิเคราะห์ Internet of Things แมชชีนเลิร์นนิง และอื่น ๆ อีกมากมายจาก AWS เพื่อปรับขนาดธุรกิจของตน
  • เรามี Activate Console ซึ่งออกแบบมาเพื่อสนับสนุนผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพในทุกขั้นตอนของเส้นทางเดินทางของสตาร์ทอัพ ตั้งแต่แนวคิดการเริ่มต้นธุรกิจ ไปจนถึงการสร้าง MVP เพื่อหาลูกค้ารายแรก และเพื่อการขยายธุรกิจบน AWS และอื่น ๆ Activate Console ให้คำแนะนำหัวข้อการฝึกอบรมที่เหมาะสมแก่ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพในหัวข้อต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายและตรงกับความสนใจ ตามการใช้งาน AWS และข้อมูล AWS credits และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากการใช้งาน
  • เมื่อไม่นานมานี้ AWS ได้เปิดตัว “Build On AWS” ซึ่งเป็นชุดโครงสร้างพื้นฐานและเทมเพลตที่พร้อมใช้งานจริงและสถาปัตยกรรมอ้างอิง ที่ครอบคลุมโซลูชันที่หลากหลายซึ่งรวบรวมไว้โดยเฉพาะสำหรับสตาร์ทอัพ โดยได้ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนให้สตาร์ทอัพสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นได้ในเวลาไม่กี่นาที โซลูชันเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญของ AWS ซึ่งได้ยึดตามแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของ AWS การเปิดตัว Build on AWS ได้ลดความซับซ้อนของหลายขั้นตอนในช่วงเริ่มต้นในการใช้โครงสร้างพื้นฐานที่ปรับขนาดได้ มีความเสถียร ปลอดภัย และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ปรับให้เหมาะสมกับสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมต่าง ๆ หรือการใช้งาน

About Pawarit Sornin

- จบการศึกษา ปริญญาตรี สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต - เคยทำงานด้าน Business Development / Project Manager / Product Sales ดูแลผลิตภัณฑ์ด้าน Wireless Networking และ Mobility Enterprise ในประเทศ - ปัจจุบันเป็นนักเขียน Full-time ที่ TechTalkThai

Check Also

Cisco ปิดดีลเข้าซื้อ Splunk มูลค่า 1 ล้านล้านบาท

หลังจากผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจนได้รับอนุมัติเรียบร้อย ล่าสุดทาง Cisco ได้ประกาศถึงความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการของ Splunk ที่มูลค่า 28,000 ล้านเหรียญหรือราวๆ 1 ล้านล้านบาทอย่างเป็นทางการแล้ว

NVIDIA เปิดตัว NIM Microservices และ Cloud Endpoints ใหม่ ช่วยองค์กรพัฒนา Generative AI ใช้งานได้สะดวกขึ้น

NVIDIA เปิดตัว API และเครื่องมือใหม่สำหรับการพัฒนาและใช้งาน Generative AI ในงานสัมมนา NVIDIA GTC 2024 ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาและนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้งานสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนการจัดเตรียมข้อมูล ปรับแต่งโมเดล ไปจนถึงการรักษาความปลอดภัยด้วย Guardrails