Black Hat Asia 2023

AIS กับการปรับองค์กรในยุคดิจิทัล – เปิดรับนวัตกรรม สนับสนุนสตาร์ทอัพภายใน สร้างวัฒนธรรมการเปลี่ยนแปลงใน DNA ของทุกฝ่าย

องค์กรทั้งหลายในปัจจุบันต่างก็ตระหนักดีถึงความสำคัญของการปรับตัวไปตามเทคโนโลยีและความต้องการของผู้บริโภคที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โจทย์ที่พวกเขาต้องตอบให้ได้เพื่อการเข้าร่วมแข่งขันในตลาด ณ ตอนนี้ คือการปรับตัวอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ใช้เทคโนโลยีช่วยสร้างคุณค่าและลดต้นทุน รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจให้ทันสมัย และสอดคล้องกับความเป็นไปมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากสมาชิกภายในองค์กรทุกคนไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ทีมงาน ADPT มีโอกาสได้ร่วมพูดคุยกับ AIS ถึงแนวทางที่พวกเขาได้เริ่มต้นใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองในยุคของ Digital Transformation ตั้งแต่แนวคิด การกำหนดแผนการ การสร้างวัฒนธรรม ไปจนถึงผลงานเป็นรูปธรรมที่สำเร็จออกมา จึงจะขอแชร์ความรู้ให้ทุกท่านได้อ่านเป็นไอเดียในการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อไป 

เทคโนโลยีรอบตัว เลือกโฟกัสให้ถูกและพร้อมเปลี่ยนอยู่เสมอ 

ทุกวันนี้เทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้นมีให้เลือกจนละลานตาอยู่รอบตัวเรา ทุกสิ่งดูสำคัญ น่าสนใจ และสดใหม่น่าใช้งานทั้งสิ้น คำถามก็คือเราจะเลือกโฟกัสกับเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมชิ้นไหนบ้าง จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร 

AIS เองก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่ต้องเผชิญกับความท้าทายนี้ และพวกเขาก็เลือกใช้ขั้นตอนที่เรียกว่า Strategic Exploration ที่เริ่มจากการสอดส่องหาเทรนด์ที่กำลังมาแรงและน่าสนใจในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ก่อนจะค่อยๆ พิจารณาถึง Scenario ในการนำนวัตกรรมเหล่านั้นไปใช้หรือให้บริการว่ามีความเหมาะสม สร้างคุณค่า และมีโอกาสทางธุรกิจมากแค่ไหน จากนั้น AISก็จะสรุปสิ่งที่พวกเขาเลือกและวาดภาพกลยุทธ์ที่ธุรกิจจะก้าวไปได้พร้อมกับนวัตกรรมที่พวกเขาหยิบยกขึ้นมา โดยขั้นตอนเหล่านี้จะเกิดขึ้นซ้ำๆ เป็นประจำทุกปี เพื่อปรับให้โฟกัสและกลยุทธ์ของพวกเขาทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่เสมอ 

Framework ในการสร้างนวัตกรรมภายในองค์กรของ AIS ซึ่งเริ่มจาก Strategic Exploration ก่อนจะพัฒนาไปตามขั้นตอนและโครงการต่างๆด้านขวามือ

เปลี่ยนสมาชิกในองค์กรให้เป็น Innovator

การสร้างองค์กรที่สนับสนุนนวัตกรรมนั้นอาจจะมีวิธีที่หลากหลาย แต่สิ่งหนึ่งที่หลายๆ องค์กรเห็นพ้องต้องกัน คือการสร้างวัฒนธรรมที่พร้อมเปิดรับความคิดใหม่ๆ และเสี่ยงไปกับมัน AIS จึงได้จัดตั้งทีม Novel Engine Execution Team (NEXT) ขึ้นเมื่อช่วงกลางปี 2018เพื่อเป็นหน่วยงานที่ช่วยกระตุ้นการเกิดของนวัตกรรม สร้างวัฒนธรรมการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ และช่วยสนับสนุนโครงการด้านนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นในองค์กรในโครงการต่างๆ

สำหรับAIS แล้ว พวกเขาคิดว่านวัตกรรมและการปรับตัวนั้นสอดคล้องกับแนวความคิดของการสร้างธุรกิจ (New Business) ใหม่จึงวางแผนการสร้างแนวคิดแบบเจ้าของกิจการหรือStart up เพิ่มขึ้นในองค์กร โดยแบ่งภารกิจออกเป็นสามส่วน 1. การเสาะหาความคิดและผู้ประกอบการจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเอกชน หรือแวดวงวิชาการ 2. การ Recruit พนักงานที่มีลักษณะ เจ้าของกิจการจากสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วโลก และ 3. การสร้างเจ้าของกิจการและ Innovator จากสมาชิกภายในองค์กรเอง

โดยหนึ่งในการสร้างนวัตกรจากสมาชิกภายในองค์กร AIS ได้จัดตั้งโครงการที่ชื่อว่า InnoJump Bootcamp ที่เปิดโอกาสให้สมาชิกในองค์กรส่งไอเดียการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาสิ่งต่างๆ รอบตัว และหากไอเดียที่ได้รับนั้นน่าสนใจ มีตลาดรองรับ ก็จะสนับสนุนให้เริ่มพัฒนาไอเดียนั้นขึ้นมาเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการจริงในขั้น InnoJump Experience Lab โดยมีงบประมาณและทรัพยากรไว้อำนวยความสะดวกพนักงาน และหากทดลองแล้วว่านวัตกรรมที่สร้างมานั้นตอบโจทย์ผู้ใช้งาน สามารถเติบโต สร้างรายได้ และพึ่งพาตัวเองได้จนถึงจุดหนึ่ง AIS ก็จะผลักดันให้โครงการดังกล่าวเข้ามาเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ของ AIS ที่พร้อมให้บริการผู้คนทั่วประเทศ 

School Van Clever เผยโฉมโปรเจกต์แรกจาก InnoJump 

School Van Clever นับเป็นโปรเจกต์แรกสุดของโครงการ InnoJump ที่มีจุดเริ่มต้นจากคำถามที่ว่า “หากได้เป็น CEO 24 ชั่วโมง คุณจะทำอะไร?” ไอเดียนี้ค่อยๆ เติบโตขึ้นด้วยการรวบรวมทีมงานที่เป็นพนักงาน AIS จากหลายจังหวัดในภาคใต้ ก่อนจะเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นด้วยการสนับสนุนด้านทรัพยากรและการวางแผนร่วมกับหลายฝ่ายในองค์กร

นวัตกรรมของ School Van Clever คือระบบเฝ้าระวังให้กับนักเรียนที่โดยสารรถตู้ไปและกลับจากโรงเรียน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์สลดใจอย่างการที่เด็กติดอยู่ในรถตู้จนเสียชีวิตอีก ทีมงานออกไอเดียที่เรียบง่ายและได้ผลในการติดตั้งกล้องและเซ็นเซอร์ เพื่อตรวจสอบภาพภายในรถ ความเคลื่อนไหว ตำแหน่ง และความเร็วในการเคลื่อนที่ของรถ โดยที่ผู้ปกครองและอาจารย์สามารถเข้ามาตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชันได้แบบ Real-time โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรถดับเครื่อง หากเซ็นเซอร์สามารถจับความเคลื่อนไหวภายในรถได้ ก็จะแจ้งเตือนไปยังคนขับทันทีอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเข้ามาตรวจสอบในตัวรถ

แอปพลิเคชัน School Van Clever ที่ผู้ปกครองสามารถเข้ามาตรวจสอบการโดยสารรถรับส่งของบุตรหลานได้
หน้าตา Prototype ของกล่องเซ็นเซอร์ที่จะนำไปติดในรถตู้รับส่งนักเรียน

หลังการทดลองนำไปใช้ พบว่าระบบ School Van Clever สร้างความประทับใจให้กับครู ผู้ปกครอง และคนขับรถตู้โดยสารได้เป็นอย่างดี ช่วยขจัดความกังวลต่อความปลอดภัยของนักเรียนของทุกฝ่าย นอกจากนี้ ระบบยังได้รับความสนใจจากผู้ให้บริการรถตู้โดยสารประจำทางที่ต้องการตรวจสอบพฤติกรรมของคนขับรถ ซึ่งก็ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งตลาดที่ทางทีมกำลังพิจารณาที่จะขยับขยายไปสู่ 

ปัจจุบัน School Van กำลังเริ่มทดสอบระบบกับรถรับส่งนักเรียนชั้นอนุบาลและประถมในภาคใต้ ซึ่งในช่วงแรกจะเน้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชสุราษฎร์ธานี และในเมืองหาดใหญ่ โดยภายในปีนี้พวกเขาตั้งเป้าหมายว่าจะติดตั้งระบบดังกล่าวในรถรับส่งให้ได้ทั้งสิ้น250คัน 

เมื่อมีแผนการและตลาดที่ชัดเจน AIS ก็ได้สนับสนุนการเติบโตของ School Van Clever ไปอีกขั้น ด้วยการเปลี่ยนตำแหน่งหัวหน้าทีม School Van Clever จากเดิมที่เป็นวิศวกรเข้ามาดูแลโปรเจกต์นี้อย่างเต็มตัวในฐานะ Headรวมไปถึงการเตรียมตั้ง Business Unit แยกออกมาโดยเฉพาะในลักษณะของ Internal VC เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจของ School Van Clever ให้ก้าวไปข้างหน้า และบรรลุเป้าหมายในการเข้ามาเป็นอีกหนึ่งบริการของ AISในที่สุด 

เราได้เรียนรู้อะไรจากการสร้างนวัตกรรมของ AIS?

หลังจากที่ได้ฟังเรื่องราวของ AIS ในครั้งนี้แล้ว ทีมงาน ADPT เห็นว่ามีประเด็นที่น่าสนใจที่ผู้อ่านอาจนำไปปรับใช้กับองค์กรของตัวเองได้ จึงขอสรุปมาสั้นๆ ณ ที่นี้ 

1. ตั้ง Scopeที่ดี 

การสร้างนวัตกรรมนั้นเป็นเรื่องที่ดีอย่างไม่ต้องสงสัย ทว่าสำหรับธุรกิจในระยะยาวแล้วนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นมาจะต้องช่วยสร้างคุณค่าและส่งเสริมการดำเนินการของธุรกิจได้เป็นอย่างดี AIS เริ่มต้นด้วยการเปิดกว้างต่อไอเดียที่หลากหลายทุกประเภทเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ จากนั้นจึงค่อยๆพิจารณาถึงความเป็นไปได้ทางการตลาด การดำเนินการ คุณค่าที่โครงการจะสร้าง และเป้าหมายที่องค์กรมีอยู่แล้วจึงคัดเลือกไอเดียมาบ่มเพาะต่อในโครงการ Innojump 

การทำเช่นนี้ช่วยให้พวกเขาได้ไอเดียที่สดใหม่ไม่ติดกรอบอยู่เสมอ และในขณะเดียวกันขั้นตอนการคัดเลือกก็ช่วยให้พวกเขาไม่หลุดไปจากเป้าหมายที่มีอยู่

2. จริงจังกับนวัตกรรม 

จากกรณีของ School Van และโปรเจกต์อื่นๆ ที่กำลังจะตามมา เราจะเห็นได้ว่า AIS นั้นมีขั้นตอนการเปลี่ยนจากไอเดียในจินตนาการเป็นธุรกิจในโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างเป็นระบบ พวกเขามีการสนับสนุนเชิงโครงสร้างต่างๆ มีการวางแผนการเงินและการตลาด มีเป้าหมาย และมีความตั้งใจในการเปลี่ยนนวัตกรรมให้เป็นธุรกิจอย่างแท้จริง 

เมื่อองค์กรแสดงออกว่าพวกเขาให้คุณค่ากับไอเดียใหม่ๆ และมีความตั้งใจจริงในการสร้างธุรกิจจากนวัตกรรมที่เปิดรับจากทุกคน สมาชิกในองค์กรก็ย่อมรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง และมีความกระตือรือร้นในการสร้างนวัตกรรมมากขึ้น สิ่งที่จะตามมาคือวัฒนธรรมในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และความกล้าเผชิญหน้ากับความเสี่ยง ซึ่งมีความสำคัญมากในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต 

3. โครงสร้างที่สนับสนุนนวัตกรรม

การเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากโครงสร้างที่สนับสนุนการเกิดและเติบโตของนวัตกรรม AIS มีการจัดตั้งงบประมาณและทรัพยากรที่รองรับการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือการเปิดโอกาสและสร้างพื้นที่ให้พนักงานได้คิดค้นและร่วมมือกัน ตั้งแต่การตั้งโครงการเปิดรับไอเดีย การจัดเทรนนิ่งให้ความรู้ การเปิดรับการสร้างนวัตกรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงาน และการจัดโครงสร้างองค์กรให้ง่ายต่อความร่วมมือ การให้แรงจูงใจอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ รวมไปถึงการมีโครงสร้างองค์กรที่ยืดหยุ่นเพียงพอในการจัดตั้ง Business Unit และตำแหน่งงานสำหรับทีมนวัตกรรมแต่ละโปรเจกต์ 
การสร้างนวัตกรรมนั้นต้องการทั้งเวลา เงินทุน และการวางแผนที่รอบคอบ และดูเหมือนว่า AIS จะเตรียมความพร้อมในจุดนี้ได้เป็นอย่างดี


หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดของธุรกิจในปัจจุบัน คือการเปลี่ยนแปลงให้องค์กรสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสิ่งนี้นั้นไม่ใช่เพียงการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ หรือการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงให้ทั้งองค์กรเตรียมพร้อมที่จะเสี่ยง ล้มเหลว เปลี่ยน ประสบความสำเร็จ และวนกลับไปเปลี่ยนแปลงอีก เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเพื่อความเป็นต่อในการแข่งขัน 

การเคลื่อนไหวเช่นนี้ต้องอาศัยทั้งวิสัยทัศน์​ของธุรกิจ การจัดการการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ และความร่วมมือจากสมาชิกภายในองค์กรทั้งหมด จึงจะสำเร็จขึ้นมาเป็นองค์กรที่อยู่รอดและทันยุคอยู่เสมอ เป็นงานที่ใหญ่ และต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบให้สอดคล้องกับธรรมชาติขององค์กรที่เป็นอยู่ ทางทีมงาน ADPT หวังว่า เมื่อท่านได้อ่านเรื่องราวของ AIS ในวันนี้แล้วจะได้แนวคิดกลับไปประยุกต์ใช้บ้างไม่มากก็น้อย


Check Also

Salesforce เปิดตัว Einstein GPT

พลังของเทคโนโลยี OpenAI กับ CRM ด้วย Einstein GPT ลูกค้าของ Salesforce สามารถเชื่อมต่อข้อมูลนั้นกับโมเดล AI ขั้นสูงของ OpenAI ได้ทันที  

พบ ‘HinataBot’ บอทเน็ตที่อาจสร้างการโจมตี DDoS ขนาด 3.3 Tbps ได้

พบมัลแวร์บอตเน็ตใหม่ HinataBot มุ่งเป้าโจมตี Realtek SDK, Huawei Router และ Hadoop YARN Server เพื่อรวมการโจมตีที่อาจสร้าง Distributed Denial of …