CDIC 2023

AIS พร้อมนำ 5G เสริมศักยภาพธุรกิจไทย ตอบโจทย์ Edge Computing, IoT, AR/VR, FWA ด้วยความสามารถเฉพาะของ 5G

ในงานสัมมนาออนไลน์ AIS 5G Digital Enterprise of the Future : from Possibility to Reality เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2020 ที่ผ่านมา ทีมผู้บริหารของ AIS Business ได้ออกมาเล่าถึงศักยภาพของเทคโนโลยีโครงข่าย 5G และการนำมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจองค์กรด้วยรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้ภาคธุรกิจไทยได้เห็นภาพและโอกาสใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งทางทีมงาน TechTalkThai ก็มีโอกาสได้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ จึงขอสรุปประเด็นทางเทคโนโลยีและธุรกิจที่น่าสนใจซึ่งจะมาพร้อมกับ 5G ดังนี้ครับ

IoT สำหรับธุรกิจที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น ด้วย Empowered Edge และ Distributed Cloud ร่วมกับ 5G

สำหรับแนวโน้มหลักที่ทุกธุรกิจองค์กรจะต้องพิจารณาในปี 2020 เป็นต้นไปนี้ ก็คือการรองรับ Internet of Things หรือ IoT ให้ได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ด้วยการปรับนำแนวทางของ Empowered Edge และ Distributed Cloud มาใช้งาน โดยมี 5G เป็นระบบเครือข่ายที่เชื่อมต่อสถาปัตยกรรมของระบบ IoT ทั้งหมดเข้าด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ

ก่อนหน้านี้ในระบบของ IoT นั้น เรามักจะคุ้นชินกับการที่อุปกรณ์ IoT ต้องทำงานร่วมกับ Cloud เพื่อให้สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี Cloud เป็นศูนย์รวมจัดเก็บข้อมูลกลางและประมวลผล ในขณะที่อุปกรณ์ IoT นั้นก็ทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลผ่าน Sensor เพื่อส่งต่อไปยัง Cloud และรับคำสั่งต่างๆ จาก Cloud กลับมาทำ หรือบางระบบเองก็อาจลงทุนในอุปกรณ์ IoT ที่มีพลังประมวลผลสูง แต่แลกกับการที่อุปกรณ์เหล่านั้นก็จะมีราคาสูงมากตามไปด้วย

แนวคิดของ Empowered Edge นั้นถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเสริมศักยภาพในการประมวลผลและการจัดการกับข้อมูลที่เกิดขึ้นกับอุปกรณ์ IoT โดยการเพิ่มชั้นของ Edge Data Center หรือ Edge Computing ที่มีพลังประมวลผลสูงขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งมาคั่นกลางระหว่างอุปกรณ์ IoT และ Cloud เพื่อลดปริมาณการรับส่งข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ IoT และ Cloud ที่ไม่จำเป็นทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ รวมถึงเพิ่มความเร็วในการประมวลผลและตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่ถูกตรวจพบโดยอุปกรณ์ IoT นั่นเอง

ในขณะเดียวกัน แนวคิดของ Distributed Cloud ก็ได้เข้ามามีบทบาทในฐานะของการทำให้อุปกรณ์ IoT และ Edge Computing นั้นสามารถเชื่อมต่อไปยังบริการ Cloud ได้อย่างหลากหลาย ไม่ได้จำกัดแค่การเชื่อมต่อไปยังบริการใดบริการหนึ่ง เพื่อให้ธุรกิจองค์กรมีทางเลือกที่หลากหลายยิ่งขึ้น และสามารถเลือกใช้บริการที่ตอบโจทย์ที่สุดกับงานแต่ละชนิดได้

5G ได้เข้ามามีบทบาทในฐานะของระบบเครือข่ายที่จะเชื่อมผสาน IoT Application เหล่านี้เข้าด้วยกัน ด้วยคุณสมบัติที่สามารถปรับแต่งการทำงานให้รองรับพฤติกรรมได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Low-Latency, Real-Time หรือ Massive Data ก็ตาม อีกทั้งในระบบ 5G เองก็ยังมีแนวคิดที่จะเสริม Edge Computing เข้าไปที่เสาสัญญาณได้ ทำให้การเชื่อมต่อและประมวลผลของ 5G Application นั้นไม่ต้องเกิดขึ้นที่ Cloud เสมอไป แต่สามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นด้วยการประมวลผลที่ระบบ Edge Computing ในเสาสัญญาณโดยตรง

สำหรับตัวอย่างของ Application ที่จะเกิดขึ้นจากการใช้งาน 5G มีดังต่อไปนี้

  • Autopilot (1ms, 50Mbps)
  • Public Safety (20ms, 10Mbps)
  • AR/VR (20ms, 1Gbps)
  • Robot/Automated (1ms, 1-10Mbps)
  • Telemedicine (10ms, 50Mbps)

ในมุมของ AIS Business นั้น การให้บริการ 5G สำหรับภาคธุรกิจเพื่อรองรับ IoT Application นี้ก็มีทางเลือกที่หลากหลาย ทั้งการเลือกใช้เพียงแค่สัญญาณ 5G ที่ปรับแต่งมาสำหรับรองรับพฤติกรรมเฉพาะทางของ Application แต่ละแบบ, การให้บริการ Edge Computing เพิ่มที่เสาสัญญาณ ไปจนถึงการให้บริการการเชื่อมต่อไปยัง Cloud ที่หลากหลายทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อให้ IoT Application เกิดขึ้นได้ดังความต้องการของธุรกิจ โดย AIS นั้นมีสัญญาณ 5G ที่ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วไทย และยังมี Data Center พร้อมให้บริการในประเทศไทยเป็นจำนวนมากที่สุดในประเทศไทยด้วย

ที่ผ่านมา AIS ได้มีการทดสอบเทคโนโลยี 5G และ IoT กับธุรกิจและหน่วยงานในไทยอย่างหลากหลาย เช่น

  • Smart Manufacturing นำวิดีโอจาก CCTV มาทำ Video Analytics ตรวจสอบความปลอดภัยของพนักงานในระหว่างทำงานว่าสวมชุดถูกต้องหรือไม่ และทำการแจ้งเตือนพนักงานคนนั้นๆ หรือปิดเครื่องจักรโดยอัตโนมัติ
  • Smart Retail ใช้อุปกรณ์ Handheld ส่องไปที่ Shelf แล้วใช้ AR เข้ามาช่วยวิเคราะห์หรือแสดงข้อมูลที่เกี่ยวข้อง หรือการใช้ Digital Signage ที่ประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว
  • Smart Healthcare การให้บริการตรวจสุขภาพระยะไกล และ Real-time เพิ่มทางเลือกในการให้บริการทางการแพทย์ได้
  • Smart Port การควบคุมเครื่องจักรในท่าเรือจากทางไกล เพื่อทำงานต่างๆ ได้จากทุกที่ทุกเวลา

ตอบโจทย์การเชื่อมต่อเครือข่ายสำหรับ Mission Critical IoT ด้วย 5G

อีกสิ่งหนึ่งที่ 5G สามารถทำได้แต่ 4G ไม่สามารถทำได้นั้น ก็คือการควบคุมพฤติกรรมและคุณภาพของสัญญาณเครือข่ายได้อย่างละเอียด และแบ่งรูปแบบการให้บริการเครือข่ายได้หลากหลายภายในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งแนวคิดนี้ก็เป็นจริงขึ้นมาได้ด้วยเทคโนโลยี 5G Slicing นั่นเอง

5G เป็นมาตรฐานที่ถูกร่างขึ้นมาร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมกับตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้การนำ 5G ไปใช้งานในธุรกิจแต่ละอุตสาหกรรมนั้นเกิดขึ้นได้ตรงตามความต้องการมากที่สุด ดังนั้นในการร่างมาตรฐานนี้จึงต้องตอบรับต่อโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย และทำให้ 5G สามารถรองรับพฤติกรรมของการใช้งานเครือข่ายได้หลากหลายรูปแบบ โดยหลักแล้วคุณสมบัติที่ถูกเพิ่มเข้ามาใน 5G เพื่อตอบโจทย์นี้จึงมีดังนี้

  • eMBB (Enhanced Mobile Broadband) มีความเร็วที่สูงยิ่งขึ้น โดยในเชิงทฤษฎีนั้น 5G จะมีความเร็วที่สูงกว่า 4G ได้ถึง 20 เท่า ทำให้สามารถรองรับ Application ที่ต้องการ Bandwidth สูงได้เป็นอย่างดี
  • mMTC (Massive Machine Type Communications) สามารถรองรับอุปกรณ์ได้มากขึ้น โดยในเชิงทฤษฎีนั้น 5G จะรองรับอุปกรณ์ที่มาเชื่อมต่อได้มากกว่า 4G ถึง 10 เท่า หรือประมาณ 1 ล้านอุปกรณ์ต่อ 1 ตารางกิโลเมตร ตอบโจทย์การนำไปใช้รองรับอุปกรณ์ IoT ใน Smart City หรือ Smart Manufacturing ได้อย่างเหมาะสม
  • URLLC (Ultra-Reliable & Low Latency Communications) สามารถลด Latency ของการรับส่งข้อมูลลงได้ โดยในเชิงทฤษฎีนั้น 5G จะมี Latency ที่ต่ำกว่า 4G ได้ถึง 30 เท่า ลดจาก 30ms เหลือเพียงต่ำกว่า 1ms รองรับ Application ที่มีความละเอียดอ่อนต่อ Latency ได้ดีขึ้น

ทั้ง 3 คุณสมบัตินี้สามารถถูกนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับกรณีการใช้งานที่แตกต่างกันได้ และด้วยแนวคิดของการทำ Network Slicing ก็ทำให้สัญญาณ 5G สามารถสร้างระบบโครงข่ายไร้สายที่รองรับการให้บริการหลากหลายรูปแบบภายในพื้นที่เดียวกันได้ และสามารถรับประกันคุณภาพของการเชื่อมต่อในระดับที่แตกต่างกันได้ จึงสามารถให้บริการโครงข่ายสำหรับการใช้งานทั่วไป, การเชื่อมต่อสำหรับธุรกิจ และการใช้งาน IoT แต่ละรูปแบบพร้อมๆ กันได้นั่นเอง

ทีมผู้บริหารของ AIS Business มองว่าใน Industry 4.0 นั้นจะถูกขับเคลื่อนโดยแนวคิด Cyberphysical และ IoT ร่วมกัน โดยมี 5G เป็นระบบโครงข่ายที่เชื่อมต่อเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าด้วยกัน โดยธุรกิจองค์กรนั้นก็มีทางเลือกในการวางระบบโครงข่ายสำหรับ IoT ได้ทั้งในรูปแบบของ Cellular IoT และ Network IoT เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างกันไป และที่ผ่านมา AIS ก็ได้มีตัวอย่างการใช้งาน 5G สำหรับธุรกิจไทยมาบ้างแล้ว

หนึ่งตัวอย่างคือความร่วมมือระหว่าง AIS, SCG, PSU นำ 5G แบบ Low Latency ไปใช้บังคับรถ Forklift โดยคนขับอยู่ที่กทม. และคลังสินค้าอยู่ที่สระบุรี ทำให้ทำงานได้แบบ Real-time เสมือนอยู่หน้างานจริง ในการทดสอบนี้สามารถเริ่มต้นทำได้อย่างรวดเร็วเพราะมีประสบการณ์จริงมาก่อน โดยมีการติดตั้ง 5G CPE ที่โรงงานของ SCG โดยตรง

อีกตัวอย่างคือ AIS ร่วมมืกับท่าเรือแหลมฉบังในการทำ Smart Logistics ใช้ 5G ควบคุมเครนในการเคลื่อนย้าย Container ทำให้สามารถใช้คนเพียงแค่ 7 คนควบคุมเครน 60 ชุดในท่าเรือได้จากระยะไกล ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังมีระบบ CCTV ผ่าน 5G ด้วย พร้อมทั้งมี 5G Cell Site และ 5G CPE ติดตั้งอยู่ภายในท่าเรือ

จากตัวอย่างเหล่านี้ จะเห็นได้ว่า 5G ถือเป็น Paradigm ใหม่ของระบบโครงข่ายและการทำธุรกิจเลย

ส่งมอบประสบการณ์ใหม่แก่ลูกค้า ด้วยเทคโนโลยี AI และ VR ผ่าน 5G

อีกหนึ่งแนวโน้มสำคัญที่ทีมผู้บริหารของ AIS Business มองไว้ ก็คือการส่งมอบประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้าของธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรมในอนาคตด้วย AI และ Virtual Reality หรือ VR โดยมี 5G เป็นระบบเครือข่ายที่ตอบสนองได้ทันท่วงที และรองรับ Bandwidth ปริมาณมหาศาลที่ Application เหล่านี้ต้องการได้ โดยในแนวโน้มระดับโลกนั้นก็ระบุว่าตลาดของ AR/VR จะเป็นตลาดใหญ่ที่เติบโตอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป

สิ่งที่ AIS Business แนะนำนั้นก็คือภาคธุรกิจไทยควรเริ่มจากการนำ AI และ 5G มาใช้เพื่อปรับปรุงสินค้า, บริการ และประสบการณ์ของลูกค้าตั้งแต่วันนี้ รวมถึงเตรียมศึกษาเทคโนโลยี AR/VR เพื่อหาแนวทางนำมาปรับใช้สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ในอนาคต เพื่อที่ว่าทันทีที่เทคโนโลยีพร้อมแล้ว ธุรกิจก็จะได้ก้าวไปต่อได้ทันทีตามแนวโน้มที่เกิดขึ้น โดย Edge Computing เองก็จะเข้ามามีบทบาทต่อ AR/VR ในฐานะของตัวช่วยเพื่อลด Latency ในการสื่อสารและการประมวลผล โดยที่ผ่านมา AIS เองก็ได้มีโครงการด้านระบบ AR/VR ในไทยมาบ้างแล้ว

ตัวอย่างแรกคือ AIS ได้มีส่วนในการนำ AR/VR ไปใช้ในการท่องเที่ยว โดยร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สร้างประสบการณ์ใหม่ในการท่องเที่ยวผ่านระบบ VR ให้คนสามารถเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วไทยได้ผ่านกล้อง 360 องศา พัฒนาเป็น Application เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวอยากมาเที่ยวไทยมากขึ้น

อีกตัวอย่างนั้นก็คือการใช้งานภายใน AIS เอง ที่มีการสร้าง VR Tour สำหรับ CSL Data Center ทำให้ลูกค้าสามารถเข้าเยี่ยมชม Data Center ผ่าน VR ได้โดยไม่ต้องเดินทางไปยังสถานที่จริง และเห็น Facility ต่างๆ ที่มีให้ภายใน Data Center ได้เลย ซึ่งระหว่างการเดินชมภายใน VR นั้น ก็จะมีข้อมูลแสดงเพิ่มมาในแต่ละส่วน และมีเสียงนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องในส่วนต่างๆ ให้ด้วย

ส่วนในแง่มุมของการนำ AI มาใช้ร่วมกับ 5G นั้นก็มีหลากหลายเช่นกัน ทั้งการออกแบบระบบ Digital Signage ที่จะมีความชาญฉลาดมากยิ่งขึ้นในอนาคตด้วยการเชื่อมต่อไปยังระบบประมวลผลของ AI และ Machine Learning (ML) บน Edge Computing หรือ Cloud ไปจนถึงการติดตั้งกล้องภายใน Digital Signage และทำการส่งภาพจากกล้องเหล่านั้นไปประมวลผล AI/ML ได้อย่างรวดเร็ว กลายเป็นสื่อรูปแบบใหม่ที่สามารถตอบสนองได้ และทรงพลังสำหรับการนำไปใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ

อีกตัวอย่างที่ AIS ได้นำเสนอนั้นก้คือการนำ 5G มาใช้กับหุ่นยนต์เพื่อทำงานในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างอัตโนมัติ ด้วยคุณสมบัติของ 5G ที่มีทั้งความเสถียรมั่นใจในคุณภาพการเชื่อมต่อได้, การตอบสนองที่รวดเร็ว และการรองรับ Bandwidth ปริมาณมากได้ ทำให้สามารถรองรับ Application บนหุ่นยนต์ได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งการตรวจการ, การสื่อสารระยะไกล หรือการทำงานโดยอัตโนมัติหรือควบคุมจากระยะไกลได้ เช่น การพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับฉีดยาฆ่าเชื้อเพื่อทำความสะอาดพื้นที่โดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ลงไปเสี่ยง เป็นต้น

เชื่อมต่อเครือข่ายสำหรับธุรกิจได้อย่างไร้อุปสรรค ด้วย 5G FWA

ในงานสัมมนาครั้งนี้ปิดท้ายด้วยการนำเสนอเทคโนโลยี 5G Fixed Wireless Access หรือ 5G FWA นั่นเอง ซึ่งถึงแม้ FWA จะไม่ใช่เรื่องใหม่ และที่ผ่านมา AIS ก็ให้บริการ FWA มาตั้งแต่ยุค 4G มาอยู่แล้ว แต่การมาของ 5G นี้ ก็ทำให้ FWA ถูกยกระดับขึ้นไปอีกขั้น และสามารถเข้ามาเติมเต็มเครือข่าย แบบมีสาย (Wireline) ได้เลย ด้วยคุณสมบัติของ 5G ในการรองรับพฤติกรรมการใช้งานได้หลากหลาย และการทำ Network Slicing เพื่อการรับประกันคุณภาพของการเชื่อมต่อได้นั่นเอง

นอกจากนี้ ด้วยการที่ AIS ได้ประมูลคลื่นสัญญาณมาเพื่อให้เพียงพอต่อการนำมาใช้งานด้วยประสิทธิภาพสูงสุดตามหลักการของ 5G Super Block ทำให้ AIS สามารถให้บริการ 5G ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และการกำหนด Network Slicing ให้เหมาะสมกับการใช้งานได้ การออกแบบ FWA สำหรับภาคธุรกิจนั้นจึงเป็นไปได้อย่างยืดหยุ่นและคุ้มค่า รวมถึงยังมีเทคโนโลยีเสริมอื่นๆ อีกมากมายที่จะมาช่วยให้การบริการเครือข่ายดี

FWA จะทำให้การเชื่อมต่อ Internet สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่เดินสายได้ยาก เพียงแค่นำอุปกรณ์ 5G CPE ไปวาง และเชื่อมต่อสาย LAN ได้เลย รวมถึงยังใช้เป็นการเชื่อมต่อสำรองทดแทนกับ Internet แบบมีสายได้ รวมถึงหากต้องการการเชื่อมต่อเครือข่ายชั่วคราว เช่น งานคอนเสิร์ต, งานอีเวนต์ และ Road Show ก็สามารถใช้ 5G FWA ได้เช่นกัน โดย AIS จะใช้ eMBB ทำให้มีความเร็วสูง และแบ่ง Network Slicing เพื่อคุม Quality of Service และ Quality of Speed ให้กับ FWA ได้

เมื่อนำ 5G FWA มารวมกับระบบโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตของ AIS ซึ่งมีแบนด์วิธเกตเวย์ภายในประเทศ (NIX) 2.9 Tbps และระหว่างประเทศ 1.2 Tbps ทำให้บริการ 5G FWA ของ AIS สามารถตอบโจทย์การนำไปใช้งานจริงของธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

AIS Business ได้จำแนกบริการทางด้าน 5G FWA Business Network ออกเป็น 4 กลุ่มหลักๆ ดังนี้

  • 5G FWA – Broadband สำหรับใช้เป็นอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์แบบไร้สายบน 5G
  • 5G FWA – Corporate Internet ใช้เป็นอินเทอร์เน็ตที่มี SLA / QoS ในระดับองค์กร
  • 5G FWA – MPLS สำหรับทำ Virtual Private Link เพื่อส่งข้อมูลสำคัญขององค์กร
  • 5G FWA – SD-WAN & Wi-Fi สำหรับเชื่อมต่อสาขาต่างๆ ขององค์กรบน SDWAN และให้บริการ Internet Access ผ่าน WiFi ได้ด้วย

สำหรับธุรกิจองค์กรที่สนใจบริการ AIS 5G หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://business.ais.co.th/5g/ หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ AIS Business ที่ดูแลองค์กรของท่านหรือ AIS CORPORTE CALL CENTER 1149

เกี่ยวกับ AIS Business:

AIS Business ผู้นำการให้บริการโซลูชันด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศแก่ลูกค้าองค์กรมามากกว่า 29 ปี ได้รับความไว้วางใจจากทั้งบริษัทเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคการศึกษา ในการเลือกใช้โซลูชันต่างๆ ได้แก่ Enterprise Mobility, Business Network, Business Cloud, IoT/ M2M, ICT, Cyber Security รวมถึงบริการทางด้านดิจิตอลอื่นๆ เช่น Digital Marketing, Digital Payment เป็นต้น และด้วยความหลากหลายของบริการและคุณภาพการให้บริการหลังการขายของ AIS จึงทำให้ลูกค้าองค์กรสามารถก้าวเข้าสู่การแข่งขันในยุคดิจิตอลได้อย่างมั่นใจ


About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

[โปรพิเศษรอบ Early Bird] คอร์สเรียน ‘Threat Hunting’ จาก Sosecure เรียนออนไลน์ เน้นลงมือจริง 3 วันเต็ม

การต่อกรกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นฝ่ายตั้งรับเท่านั้น และหากทำได้ดีเราก็สามารถลงมือตอบสนองก่อนเกิดเหตุได้เช่นกัน ยิ่งทำได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี ซึ่งทีม Threat Hunting มีบทบาทอย่างมากในการทำงานร่วมกับระบบ SoC ซึ่งสามารถใช้ข้อมูลภัยคุกคามจากทั่วทุกมุมโลกมาช่วยตรวจจับการโจมตีที่เกิดขึ้นได้  คำถามคือแล้วในงานเหล่านี้ควรมีทักษะเกี่ยวข้องในด้านไหนบ้าง Sosecure ขอชวนผู้สนใจในสายงานด้าน Cybersecurity ที่ต้องการรู้ลึก ทำได้จริง …

[โปรพิเศษรอบ Early Bird] คอร์สเรียน ‘Cybersecurity Analyst’ จาก Sosecure เรียนออนไลน์ เน้นลงมือจริง 3 วันเต็ม

อาชีพด้าน Cybersecurity กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดอีกมากมาย หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มองหาช่องทางใหม่ๆในสายอาชีพด้าน Cybersecurity หรือปฏิบัติงานอยู่แล้ว แต่อยากยกระดับตัวเองมากขึ้น วันนี้เราขอแนะนำคอร์สเรียนออนไลน์ ‘Cybersecurity Analyst’ โดย Sosecure ผู้เชี่ยวชาญแถวหน้าของเมืองไทย โปรโมชันพิเศษรอบ Early …