
การจราจรติดขัด ถือว่าเป็นปัญหาที่ได้รับความสนใจและมีการจัดอันดับเมืองที่มีการจราจรหนาแน่นที่สุดในโลก เป็นการบ่งบอกถึงเมืองที่น่าอยู่อาศัย หรือเมืองที่มาประกอบธุรกิจ และกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยเรานั้น มีการจราจรหนาแน่นที่สุดอยู่ในอันดับที่ 10 ของโลก มีระดับความหนาความแออัดของยานพาหนะ 44% ส่วนอันดับที่ 1 คือ มอสโก, ประเทศรัสเซีย มีระดับความแออัดของยานพาหนะ 54% การจราจรที่เลวร้ายทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ แต่ละประเทศจึงพยายามหาวิธีการแก้ปัญหานี้ให้เบาบางลง แม้แต่ระดับการเมืองยังนำเรื่องการแก้ปัญหาการจารจรมาเป็นหัวข้อในการหาเสียงเลือกตั้งเกือบทุกสมัย แต่ผลลัพธ์กลับสวนทางกัน จึงเริ่มมีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยจัดการปัญหาการจราจรติดขัดร่วมกับระบบสัญญาณไฟจราจร
สถิติการจราจรในปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่มีการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 สูงที่สุด จนส่งผลให้เกือบทุกประเทศทั่วโลกมีการประกาศ Lock Down เมืองสำคัญ ที่มีการกระจุกรวมตัวของประชากรมากที่สุด ทำให้เกิดปรากฏการณ์ถนนโล่งของจราจรที่เคยหนาแน่นอย่างเห็นได้ชัด โดยมีตัวเลขเฉลี่ยลดลงถึง 28% ของช่วงเวลาเร่งด่วน ผลมาจากกลุ่มคนทำงานต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงานอยู่ที่บ้าน Work From Home ทำให้จำนวนรถยนต์บนท้องถนนลดลง แต่หลังประกาศยกเลิกการ Lock Down ทุกอย่างกลับมาสู่สามัญของความแออัดบนท้องถนนเช่นเคย
การจราจรในกรุงเทพมหานคร ที่จัดอยู่อันดับที่ 10 ของโลก เป็นภาพที่ใกล้ตัวคนไทยมากที่สุด มีระดับความหนาแน่นของจราจรที่ติดขัดเฉพาะในช่วงเวลาเช้าอยู่ที่ 65% และในช่วงเวลาเย็นอยู่ที่ 88% และในวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 18.00 – 19.00 น. เป็นวันและเวลาที่มีรถหนาแน่นที่สุด โดยเฉพาะช่วงเวลาเย็นวันศุกร์สิ้นเดือน คำว่า นรกบนท้องถนน ที่คนกรุงเข้าใจกันดี
ในแต่ละเดือน มีประชากรจำนวนมากที่ต้องเสียเวลาอยู่บนท้องถนนมากกว่า 179 ชั่วโมง หรือเท่ากับ 7 วัน 11 ชั่วโมง นับเป็นเวลาร่วมสัปดาห์ที่ต้องสูญเสียไป และไม่สามารถเอาเวลานั้นคืนกลับมาให้เป็นกำไรของชีวิตได้เลย
10 อันดับ เมืองที่มีการจราจรหนาแน่นที่สุดในโลกของปี 2020 (ปีที่มีการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 สูงที่สุด)
1. เมืองมอสโก ประเทศรัสเซีย มีระดับจราจรความแออัด 54%
2. เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย มีระดับจราจรความแออัด 53%
3. เมืองโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย มีระดับจราจรความแออัด 53%
4. เมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ มีระดับจราจรความแออัด 53%
5. เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี มีระดับจราจรความแออัด 51%
6. เมืองบังคาลอร์ ประเทศอินเดีย มีระดับจราจรความแออัด 51%
7. เมืองเคียฟ ประเทศยูเครน มีระดับจราจรความแออัด 51%
8. เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย มีระดับจราจรความแออัด 47%
9. เมืองโนโวซีบีรสค์ ประเทศรัสเซีย มีระดับจราจรความแออัด 45%
10. เมืองกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย มีระดับจราจรความแออัด 44%
ที่มา: The Cities With The Worst Traffic Congestion. https://bit.ly/3stkfIM และ TomTom. Traffic Index 2020. https://bit.ly/2N1fNRf
จากการแก้ปัญหาการจราจรได้มีการแชร์ข้อมูลร่วมกันของแต่ละประเทศ เพื่อไม่ให้กระทบช่วงเวลาเร่งด่วนที่ส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจตกต่ำลง และปัญหามลพิษสูง จึงมองหานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด จากแนวคิดนี้ จึงได้มีข้อมูลที่สำคัญจากนักวิจัยในประเทศเยอรมนี พบว่าการติดตั้งสัญญาณไฟจราจรด้วยเทคโนโลยี AI สามารถช่วยลดระยะเวลาของผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ทางแยกต่างๆ ได้ โดยมีแนวคิดในการนำสัญญาณไฟจราจรมาทำงานร่วมกับอุปกรณ์เซ็นเซอร์ ซึ่งจะติดตั้งอยู่บนท้องถนน หรือติดตั้งอยู่ที่สัญญาณไฟจราจร เพื่อตรวจจับพฤติกรรมสถานะของยานพาหนะในบริเวณนั้น โดยใช้หลักการวิธีให้เซ็นเซอร์ทำหน้าที่ตรวจจับความหนาแน่นของรถ และนำข้อมูลมาประมวลผลวิเคราะห์รูปแบบการเปลี่ยนแปลงของสัญญาณไฟจราจรโดยอัตโนมัติด้วยระบบ AI เพื่อจะให้รถไม่มีการจอดนิ่งนานเกินไปจนเกิดจราจรติดยาวเป็นหางว่าว
โครงการ KI4LSA ของประเทศเยอรมนี ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแห่งสหพันธรัฐเยอรมันนี วัตถุประสงค์เพื่อการบรรเทาทุกข์ให้ประชาชนและภาคเศรษฐกิจในรูปแบบของเทคโนโลยี AI ที่สามารถผสมผสานทำงานร่วมกับระบบสัญญาณไฟจราจรที่มีอยู่เดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Fraunhofer Institute for Optronics, System Technologies and Image Exploitation ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่จับมือทำงานร่วมกับ KI4LSA ได้เข้ามาช่วยการเริ่มต้นของโครงการ ด้วยการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ เรดาร์ และกล้องวงจรปิดที่มีความละเอียดสูงที่สี่แยกไฟแดงที่มีความหนาแน่นของยานพาหนะสูงในเมือง Lemgo โดยที่อุปกรณ์เหล่านี้ จะทำหน้าที่บันทึกจำนวนยานพาหนะที่ต้องหยุดรอสัญญาณไฟจราจร เพื่อให้ทราบข้อมูลของระยะเวลาหยุดรอคอยนานเท่าไร และอัตราความเร็วเฉลี่ยที่ยานพาหนะแต่ละคันวิ่งผ่านสี่แยกไฟแดง ข้อมูลนี้จะถูกส่งเข้าสู่ฐานข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์เพื่อทำการเรียนรู้ลักษณะพฤติกรรมของการใช้ยานพาหนะบนแยกไฟแดงนี้ และหลังจากนั้นระบบจะสร้างรูปแบบการทำงานของสัญญาณไฟจราจรต่างๆ ขึ้นมา เพื่อนำมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ว่ารูปแบบใด จะสามารถช่วยลดระยะเวลาในการหยุดรอสัญญาณไฟจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
เมื่อได้รูปแบบการทำงานของสัญญาณไฟจราจรที่เหมาะสมมากที่สุด และได้ทดลองนำรูปแบบที่ดีที่สุดมาให้ระบบ AI เรียนรู้และทำหน้าที่ควบคุมการทำงานไฟจราจรโดยอัตโนมัติ พบว่าสามารถช่วยลดความแออัดของการจราจรได้ 10 – 15% นี่เป็นแค่การจำลองเหตุการณ์จากการเก็บข้อมูลแค่ระยะเวลาสั้นๆ อาจจะต้องใช้ระยะเวลามากกว่านี้ ในเก็บข้อมูลจากเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งไว้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด ซึ่ง Fraunhofer จะต้องเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้ยานพาหนะบนท้องถนน รวมถึงพฤติกรรมการจราจรทางเท้าของคนที่ใช้ทางม้าลายเดินข้ามถนนในแต่ละด้านด้วย ข้อมูลทั้งสองพฤติกรรมนี้ จะทำให้การทำงานของเซ็นเซอร์สามารถทำงานร่วมกับระบบเทคโนโลยี AI ได้อย่างสอดคล้องกับวิถีชีวิตตรงสี่แยกไฟแดงได้อย่างลงตัว
สหภาพยุโรปมีการประเมินว่า จากปัญหาการจราจรติดขัดทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจรวม 100 พันล้านยูโรต่อปี สำรวจจากกลุ่มประเทศสมาชิก และมีความหวังจากการนำสัญญาณไฟจราจรระบบ AI มาใช้ควบคุมการจราจรให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โครงการ KI4PED เป็นทีมแรกในโลกที่ทดสอบการเรียนรู้เชิงลึกสำหรับการควบคุมสัญญาณไฟจราจรภายใต้สภาพการใช้งานจริง ทำให้มองเห็นความเป็นไปได้ในการนำระบบ AI เข้ามาช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในเมืองต่างๆ ทั่วโลกได้
โครงการ “KI4PED” มุ่งเน้นไปที่คนเดินเท้ามากกว่ายานพาหนะ ซึ่งโครงการนี้ มีกำหนดการดำเนินการไปจนถึงสิ้นเดือน กรกฎาคม 2022 จากอดีตจนถึงปัจจุบัน เราเห็นเทคโนโลยี AI มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง ทำให้ในอนาคตข้างหน้า เราอาจจะไม่เห็นภาพการจราจรที่ติดขัดของเมืองกรุงเทพมหานครอีกก็เป็นได้