บทความนี้ Network World เว็บไซต์ข่าว IT ชื่อดัง ได้รวบรวมงานวิจัยด้านระบบเครือข่ายไร้สายที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ที่คาดว่าจะกลายเป็นนวัตกรรมใหม่ที่จะเปิดโลกวงการ IT ให้กว้างขึ้น ประกอบด้วย RFID Tag ขนาดจิ๋ว มารยาทการใช้อุปกรณ์ Wi-Fi และการชาร์จแบตเตอรี่แบบไร้สาย

1. RFID Tags ขนาดจิ๋ว
ทีมนักวิจัยจาก North Carolina State University ค้นพบวิธีในการผลิต RFID Tags ที่นอกจากจะมีขนาดเล็กลง 25% แล้ว ยังมีราคาถูกกว่า RFID Tags ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันอีกด้วย หัวใจสำคัญของงานวิจัยนี้คือ RFID Tags ดังกล่าวไม่จำเป็นต้องแปลงคลื่นสัญญาณ AC จากตัวอ่านให้กลายเป็น DC เพื่อตอบกลับไปยัง Transmitter
ข้อจำกัดของงานวิจัยนี้คือ ตัวต้นแบบของ RFID Tags นี้ส่งสัญญาณได้สั้นกว่า RFID Tags ปกติ แต่ทางทีมนักวิจัยกำลังพัฒนาและปรับแต่งเพื่อให้สามารถส่งสัญญาณได้ใกล้เคียงกับที่ใช้ในปัจจุบัน งานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนโดย National Science Foundation และ NC State Chancellor’s Innovation Fund
2. มารยาทการใช้อุปกรณ์ Wi-Fi
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนได้ศึกษาค้นคว้าว่าผู้คนจากทั่วโลกจะมีพฤติกรรมการใช้มือถือบนโต๊ะอาหารอย่างไร และพวกเขาเหล่านั้นรู้สึกเช่นไรเมื่อต้องนั่งรับประทานอาหารร่วมกับคนอื่นที่เล่นมือถือ
นักวิจัยเก็บตัวอย่างคนทั้งหมด 1,163 คน อายุระหว่าง 8 ถึง 88 ปี จากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ พบว่า ทัศนคติที่มีต่อพฤติกรรมการใช้มือถือบนโต๊ะอาหารนั้นขึ้นอยู่กับว่าคนเหล่านั้นกำลังทำอะไร และใครที่กำลังนั่งอยู่ด้วยกัน
จากการสำรวจพบว่า การส่งข้อความและรับสายโทรศัพท์เป็นระยะเวลาสั้นๆ นั้น ทำให้รู้สึกอึดอัดน้อยกว่าการส่งรูปถ่ายหรือเล่น Facebook เนื่องจากคนเหล่านั้นจะรู้สึกเหมือนถูกทิ้ง ไม่มีส่วนร่วมกับอีกฝ่าย นอกจากนี้ หลายคนยังเห็นว่า การที่ผู้ใหญ่เล่นมือถือบนโต๊ะอาหารนั้น ยอมรับได้มากกว่าเด็กเล่น เพราะคิดว่าเด็กมักใช้เวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์กับเพื่อนฝูง
หนึ่งในสาเหตุที่การใช้มือถือนั้นไม่เหมาะสมมากกว่าการทำสิ่งอื่น เช่น อ่านหนังสือพิมพ์หรือดูทีวี เนื่องจากมันเป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่าคนๆ นั้นทำอะไรบนโทรศัพท์มือถือ นักวิจัยหลายรายเสนอว่า iPhone และ Android ควรเพิ่มฟีเจอร์ในการหยุดยั้งข้อความไม่ให้โพสต์หรือทวีตออกไปจนกว่าจะรับประทานอาหารเสร็จ
3. การชาร์จแบตเตอรี่แบบไร้สาย
นักวิจัยจาก Universitat Autònoma de Barcelona ทำการวิจัยพัฒนาวัสดุสังเคราะห์ชนิดพิเศษซึ่งช่วยให้สามารถชาร์จแบตโทรศัพท์มือถือแบบไร้สายขณะอยู่ในกระเป๋าได้ โดยไม่จำเป็นต้องหยิบออกมาวางบนแท่นชาร์จแต่อย่างใด
“การหุ้มแผงวงจรทั้ง 2 แผงเข้าด้วยกันด้วยวัสดุสังเคราะห์ชนิดพิเศษ 35 ชั้น จะได้ผลเช่นเดียวกับการนำแผงวงจร 2 แผงมาใกล้กัน เปรียบเสมือนว่าช่องว่างระหว่างพวกมันหายไป” — Jordi Prat หัวหน้าทีมวิจัยระบุ เทคนิคนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรับส่งกระแสไฟฟ้าระหว่างวงจรทั้ง 2 แผง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของเทคนิคการเหนี่ยวนำไฟฟ้าเลยทีเดียว