Microsoft Azure by Ingram Micro (Thailand)

12 สิ่งที่คนนอกสาย IT ควรเริ่มทำ เพื่อตามโลกของ AI, Big Data, Cloud และ IoT ให้ทัน

การมาของเทคโนโลยีใหม่ๆ ในรอบนี้นั้นได้ถูกทำนายว่าจะทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมกันครั้งที่ 4 หรือ Fourth Industrial Revolution กันเลยทีเดียว ซึ่งในการปฏิวัติอุตสาหกรรมในแต่ละครั้งที่ผ่านมาของโลกนั้นต่างก็ทำให้ธุรกิจและผู้คนต้องปรับตัวกันอย่างรวดเร็วก่อนที่จะตามโลกไม่ทันและอาจต้องปิดกิจการหรือตกงานกันไป ทางทีมงาน TechTalkThai เห็นว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญ จึงได้เขียนบทความขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนในไทยได้อ่านและเตรียมปรับตัวสำหรับอนาคตกันได้ดังนี้ครับ

Credit: ShutterStock.com
Credit: ShutterStock.com

 

0. ยอมรับให้ได้ก่อนว่าการทำงานในอนาคตจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

ทุกๆ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ สิ่งที่ยากมากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือการยอมรับให้ได้ว่าเราต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงแล้ว มีผลสำรวจเคยกล่าวอ้างว่าพบว่าคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำงานของเรา หรืออาจทดแทนการทำงานของเราได้ แต่ในการที่เราไม่เชื่อมันนั้นจริงๆ แล้วตัวเราเองก็ยังไม่ได้มีข้อมูลหรือความรู้ในเชิงเทคโนโลยีที่เพียงพอจะมาวางแผนอนาคตของตัวเราเองได้เลยด้วยซ้ำ

คุณรู้หรือไม่ว่าตอนนี้โลกเรามีเทคโนโลยีและธุรกิจเหล่านี้แล้ว และผลกระทบในอนาคตสำหรับคนที่ทำงานที่เกี่ยวข้องจะเป็นยังไงกันต่อไป?

  • รถยนต์ไร้คนขับ (แล้วคนขับรถแท็กซี่หรือคนขับรถเมล์จะไปทำอะไรต่อ?)
  • รถยนต์พลังไฟฟ้า พร้อมจุดชาร์จไฟด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (แล้วปั๊มน้ำมันจะเป็นอย่างไร?)
  • ธนาคารออนไลน์ที่ไม่มีสาขาแม้แต่แห่งเดียวในโลก (แล้วพนักงานธนาคารจะไปทำอะไร?)
  • Drone ส่งของ (แล้วธุรกิจ Logistics จะต้องปรับตัวอย่างไร?)
  • Smart Building ที่ประหยัดพลังงานไฟฟ้ากว่าเดิมได้ถึง 10% (แล้วอสังหาริมทรัพย์เดิมจะนำ IOT ไปใช้ได้อย่างไร?)
  • แขนกลที่หยิบจับและประกอบสิ่งต่างๆ ได้ พร้อม AI เรียนรู้เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการทำงานได้ตลอด (แล้วพนักงานโรงงานจะทำอะไร?)
  • AI สำหรับตรวจสอบมะเร็งเต้านม (วงการการแพทย์จะเป็นอย่างไรต่อไป?)
  • AI ที่คอยหาช่องโหว่สำหรับระบบ IT โดยอัตโนมัติ (แล้วคนทำ Penetration Tester จะทำอย่างไร?)
  • หุ่นยนต์ต้อนรับแขกและขายสินค้า ที่โต้ตอบได้ด้วยเสียง (แล้วคนขายของจะทำอย่างไร?)
  • ระบบปลูกพืชผักแบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้คน (แล้วเกษตรกรควรไปปลูกอะไร?)
  • เทคโนโลยี 3D Printer ที่สามารถพิมพ์วัตถุขนาดใหญ่ที่มีความแข็งแรงระดับใช้เป็นจรวดได้แล้ว (แล้วธุรกิจการเชื่อมเหล็กและวัสดุต่างๆ จะเป็นอย่างไร?)
  • ระบบ Business Intelligence ที่ผู้บริหารสามารถเรียกข้อมูลที่ต้องการได้ด้วยเสียง (แล้วคนพัฒนาระบบ BI ควรจะทำอย่างไร?)
  • ภาษาอังกฤษและจีนเริ่มมีระบบที่รับการสั่งการด้วยเสียงหรือข้อความและโต้ตอบกลับมาได้แล้ว (แล้วภาษาไทยจะมีหรือไม่? หรือเราต้องไปหัดพูดภาษาอังกฤษให้สำเนียงดีๆ?)

การเริ่มต้นยอมรับก่อนว่าเรากำลังจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือธุรกิจของเราให้ได้ก่อนนั้นถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญมาก จากนั้นการมีวินัยเพื่อที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือเปลี่ยนแปลงการทำงานรูปแบบเดิมๆ ให้ได้นั้นจึงจะเป็นก้าวถัดมา

 

1. เรียนรู้ภาษาต่างประเทศให้ดี

เป็นข้อกำหนดข้อแรกเลยครับสำหรับการเตรียมตัวรับกับสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะมาในอนาคตอย่างรวดเร็วนี้ การมีความรู้ภาษาต่างประเทศนั้นจะช่วยให้เราสามารถเข้าถึงเนื้อหาจากประเทศต่างๆ ที่พัฒนาเทคโนโลยีก้าวล้ำไปแล้วยิ่งกว่าเราได้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องรอให้ใครมาแปลหรือสรุปให้เราอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเนื้อหาที่มีความเฉพาะทางสูงเช่น กรณีศึกษาการนำ AI ไปใช้ในอุตสาหกรรมหรือการผลิตบางอย่าง, การค้นพบสิ่งใหม่ๆ และอื่นๆ อีกมากมาย

สำหรับภาษาที่แนะนำในตอนนี้ก็หนีไม่พ้นภาษาอังกฤษแน่ๆ ภาษาหนึ่ง ส่วนจีนเองนั้นก็เป็นภาษาที่ค่อนข้างน่าสนใจแต่ยังคงหาเนื้อหาต่างๆ ทางด้านเทคโนโลยีได้ค่อนข้างยากในเวลานี้

 

2. เริ่มศึกษาเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำงานให้มากขึ้น

หลังจากนี้เทคโนโลยีจะยิ่งเข้ามามีบทบาทในชีวิตและการทำงานของเรามากขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอน และถ้าหากเวลานี้คุณยังใช้เครื่องมือที่มีอยู่ในการทำงานได้ไม่คล่องล่ะก็การฝึกให้คุ้นเคยกับเทคโนโลยีใกล้ตัวให้มากขึ้นก่อนก็ถือเป็นก้าวแรกที่ควรทำ

นอกจากนั้นการฝึกมุมมองในการหาเทคโนโลยีที่ดีขึ้นเพื่อนำมาปรับใช้กับงานที่ทำอยู่ประจำเรื่อยๆ นั้นก็เป็นก้าวถัดไปที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการหา Software มาปรับใช้กับการทำงานที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น, การลองหา Plugin เสริมสำหรับช่วยในการทำงาน, การสอบถามและพูดคุยกับเพื่อนร่วมวงการในบริษัทอื่นๆ ว่าใช้ Software อะไรทำงานกันบ้าง และลองนำมาปรับใช้ดู

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นภาพได้ชัดมากก็คือ การลองหัดใช้โปรแกรมประชุมอย่าง Skype หรือ Cisco WebEx ในการประชุมทางไกลระหว่างเพื่อนร่วมทีม เพื่อประหยัดเวลาที่ต้องใช้ในการเดินทาง, ประหยัดการจองห้องประชุม, นำเสนอข้อมูล Presentation และไฟล์ต่างๆ ได้ผ่านหน้าจอ, ส่งไฟล์ต่างๆ หากันได้ง่าย, พิมพ์แชทคำถามกันเอาไว้ได้ ถึงแม้ความเป็นทางการในการประชุมจะไม่เท่ากับการเจอหน้ากันจริงๆ แต่การประหยัดเวลาเดินทางโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ ได้หลายชั่วโมงนั้นก็ถือว่าคุ้มค่ามาก โดยไม่ต้องนับค่าน้ำมันหรือเวลาที่ต้องเสียไปในการหาที่จอดรถด้วยซ้ำ

การลองเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานพื้่นฐานเหล่านี้ดูนั้นอาจทำให้พนักงานแต่ละคนในองค์กรสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้นโดยแทบไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มเลยด้วยซ้ำ และในมุมของตัวเราเองหรือพนักงานในองค์กร การได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องก็จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานอย่างแน่นอนไม่ว่าจะยังคงทำงานที่เดิมหรือย้ายไปทำงานที่ใหม่ก็ตาม

 

3. เริ่มศึกษาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่ธุรกิจของตนทำอยู่ให้มากขึ้น

การติดตามข่าวสารหรือค้นหาใน Google ดูว่าในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเดียวกันนี้เริ่มมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ อะไรมาใช้ในการทำงานบ้างแล้วก็ถือเป็นเรื่องที่ควรทำ เพราะในบางอุตสาหกรรมอาจมีการนำ AI มาเริ่มใช้งาน, บางอุตสาหกรรมนำข้อดีของระบบ Cloud มาใช้ในการประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มขยายสาขาขององค์กรอย่างรวดเร็ว, บางธุรกิจเริ่มใช้หุ่นยนต์ในสายการผลิตหรือแม้แต่ออกมาให้บริการลูกค้า, บางธุรกิจเริ่มมีการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ หรือบางธุรกิจอาจค้นพบเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยลดต้นทุนหรือสร้างโอกาสใหม่ๆ ได้ ซึ่งแต่ละธุรกิจก็มีรูปแบบการนำเทคโนโลยีมาใช้ที่แตกต่างกันไป การติดตามข่าวสารพวกนี้จะทำให้เรามองเห็นภาพรวมในการทำงานและในอุตสาหกรรมที่มากขึ้น และทำให้เรามองในภาพรวมและระยะยาวได้ดีขึ้น รวมถึงยังให้เราสามารถวางแผนได้ว่าควรจะศึกษาเทคโนโลยีอะไรต่อไปบ้างได้อีกด้วย

เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ควรค้นหานี้ไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะที่เป็น IT หรือ Software เท่านั้น แต่เทคโนโลยีในที่นี้ครอบคลุมในทุกๆ แง่มุมทั้งเรื่องวัสดุ, พลังงาน, กระบวนการ, สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ที่เกี่ยวกับงานของเราด้วยที่เราควรจะทำการศึกษาและติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง และการคิดเผื่อถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นรอบตัวเราทุกๆ ครั้งที่ได้รู้จักกับเทคโนโลยีใหม่ๆ นั้นก็เป็นนิสัยที่ดีทีเดียว

 

4. หัดทำการวิเคราะห์ข้อมูลบ้าง

มีการทำนายกันว่าต่อไปการวิเคราะห์ข้อมูลนั้นจะกลายเป็นงานของทุกๆ คนในองค์กร โดยภาคธุรกิจต่างๆ นั้นจะทำการรวบรวมข้อมูลทั้งภายในและภายนอกองค์กรเอาไว้เป็น Big Data Storage เพื่อให้พนักงานภายในองค์กรแต่ละแผนกนั้นสามารถเข้าถึงข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตน และทำการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นได้ด้วยตัวเอง แนวโน้มนี้ค่อยๆ เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว และในไทยเองก็ควรจะเริ่มมีการเตรียมตัวกันเบื้องต้นด้วยการฝึกแนวคิดในการวิเคราะห์ข้อมูลกันเอาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ

การฝึกวิเคราะห์ข้อมูลนั้นไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากอะไรที่ซับซ้อนหรือข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ก็ได้ แค่ข้อมูลที่เราได้พบหรือได้สัมผัสในแต่ละวันนั้นก็สามารถนำมาวิเคราะห์และสร้างประโยชน์ต่างๆ ให้มากขึ้นได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเก็บสถิติงานต่างๆ ของสิ่งที่ทำในแต่ละวันมาลองวิเคราะห์ดูว่าควรจะปรับปรุงการทำงานอย่างไร, การดึงสถิติผู้เข้าชมจาก Facebook Fan Page หรือ Google Analytics มาใช้วิเคราะห์ว่าควรจะทำอย่างไรให้ผู้ชมมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น, การนำข้อมูลยอดขายของเซลส์มาใช้วิเคราะห์ว่าเดือนไหนควรทำงาน ควรหยุดงาน หรือควรจัดงานสัมมนา และอื่นๆ อีกมากมายตามแต่ว่าใครจะได้ทำงานเกี่ยวกับข้อมูลอะไร

สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลนั้นก็อาจเป็นเครื่องมือใกล้ตัวที่สุดอย่าง Microsoft Excel ที่จริงๆ แล้วก็มีความสามารถต่างๆ อยู่มากเพียงพอสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดเล็กเบื้องต้นอยู่แล้ว และก็เป็นเครื่องมือที่เชื่อว่าทุกๆ คนคงมีติดเครื่องเอาไว้ แต่น้อยคนนักที่จะใช้มันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ประเด็นสำคัญคือ “การหัดวิเคราะห์ข้อมูล” นั้นคือสิ่งที่เราทุกคนควรจะต้องฝึกฝนอยู่เสมอ ให้กระบวนการการคิดมีความเป็นวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มากขึ้น ในขณะที่การหาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลกับธุรกิจให้ได้นั้นก็จะเป็นอีกความสามารถที่สำคัญในอนาคต

 

5. ทำความเข้าใจกับการเขียนโปรแกรมเบื้องต้น

ต่อไปนั้นการเขียนโปรแกรมจะได้เข้าไปมีบทบาทในส่วนหนึ่งของงานทุกคนอย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าแต่ละคนนั้นก็อาจต้องเขียนโปรแกรมในระดับที่มีความซับซ้อนต่างกันไม่มากก็น้อยตามแต่เนื้องาน บางงานการเขียนโปรแกรมแค่ 2-3 บรรทัดก็สามารถลดงานที่ต้องทำซ้ำๆ เป็นประจำให้ง่ายลงได้กว่าเดิม บางงานอาจต้องเขียนโปรแกรมซับซ้อนกว่านั้น โดยนอกจากการเขียนโปรแกรมจะเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ข้อมูลในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว การทำความเข้าใจกับพื้นฐานของการเขียนโปรแกรมนั้น ก็จะทำให้เราเห็นภาพของการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ได้หลากหลายมากยิ่งขึ้นไปด้วยในตัว

การทำความเข้าใจกับการเขียนโปรแกรมเบื้องต้นนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่

  • การทำความเข้าใจกับแนวคิด Computational Thinking เพื่อให้เข้าใจก่อนว่าระบบ Computer ต่างๆ ในทุกวันนี้มีวิธีการทำงานและการประมวลผลอย่างไร เพื่อเป็นพื้นฐานต่อยอดในการศึกษาภาษาต่างๆ ในการเขียนโปรแกรมในอนาคตเองได้
  • การทดลองหัดเขียนโปรแกรมด้วยภาษาต่างๆ เพื่อให้เห็นภาพการทำงานจริง และใช้เป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อยอดทางด้านนี้ด้วยตัวเองได้ในอนาคต

คนที่เขียนโปรแกรมเพื่อให้ทำงานทดแทนตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและประหยัดเวลาได้นั้น เมื่อเทียบกับคนที่เขียนโปรแกรมไม่ได้ ประสิทธิภาพในการทำงานจะต่างกันหลายเท่าเลยทีเดียว

 

6. หัดรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์ IT ที่ตนเองใช้งานอยู่ให้เป็น

เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ทุกๆ คนในวันนี้ควรจะทำกันให้เป็น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าใจพื้นฐานเบื้องต้นว่าอะไรคือ Virus, อะไรคือ Malware, อะไรคือ Ransomware และการโจมตีหรือการ Hack ต่างๆ นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไรในมุมกว้าง รวมถึงการปกป้องตัวเองให้ปลอดภัยจากสิ่งเหล่านี้ให้ได้มากที่สุดนั้นควรทำอย่างไร ทั้งในเชิงพฤติกรรมและการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะการโจมตีในทุกวันนี้นั้นมีความรุนแรงสูงยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอย่างมาก งานหรือข้อมูลอันทรงคุณค่าขององค์กรอาจถูกขโมยหรือถูกทำลายได้ในชั่วพริบตาหากมีความปลอดภัยที่ไม่เพียงพอ (เคยมีบริษัทที่ถูกขโมยข้อมูลจนต้องล้มละลายมาแล้ววในอดีต) และเหล่าคนทำงานภายในองค์กรอย่างเราๆ นี่เองที่เป็นช่องที่เหล่า Hacker ใช้ในการโจมตีมากที่สุดกันในปัจจุบัน

การรู้จักแนวคิดเบื้องต้นและป้องกันตัวเองจากการโจมตีเหล่านี้ได้นั้น นอกจากจะส่งผลดีต่อการทำงานแล้ว ยังจะส่งผลดีต่อการใช้ชีวิตส่วนตัวอีกด้วย เพราะสุดท้ายแล้ว IT นั้นก็ได้กลายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา เราเริ่มสั่งซื้อสินค้าออนไลน์, จ่ายเงินค่าบริการต่างๆ ผ่าน Smartphone และเก็บข้อมูลสำคัญของเราเอาไว้ในอุปกรณ์เหล่านี้ การปกป้องข้อมูลสำคัญเหล่านี้เอาไว้ให้ได้นั้นก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการใช้ชีวิตประจำวันลงไปไม่มากก็น้อย

สิ่งหนึ่งที่ทุกคนควรเริ่มหัดทำกันตั้งแต่เนิ่นๆ เลยก็คือ การหัด Update และ Patch อุปกรณ์และ Software ที่ใช้งานในชีวิตประจำวันให้มีความปลอดภัยสูงสุด ไม่ว่าจะเป็น Smartphone, Tablet, Router, CCTV Camera และอื่นๆ อีกมากมาย ใครที่ทำไม่เป็นก็ลองให้ผู้เชี่ยวชาญ IT ที่รู้จักช่วยสอนทำเป็นก้าวแรกให้ดูก่อนก็ได้ และต้องทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้อย่างเป็นประจำให้ติดเป็นนิสัย เพื่อให้ชีวิตของเรามีความมั่นคงปลอดภัยอยู่ตลอดนั่นเอง

 

7. ดูแนวโน้มว่าในอุตสาหกรรมหรืองานที่ทำอยู่นั้น AI จะเข้ามามีบทบาทอย่างไร

ความตื่นกลัวว่า AI จะมาแย่งงานของมนุษย์นั่้นมีมาเป็นระลอกๆ เมื่อมีบริษัทที่พัฒนา AI เข้ามาทำงานแทนในส่วนต่างๆ ได้ แต่ในความเป็นจริงนั้น AI มีการนำไปใช้งานที่หลากหลายกว่าที่เป็นข่าวอยู่เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการนำมาใช้ให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การตรวจหามะเร็ง, การนำมาใช้เรียนรู้และค้นหาองค์ความรู้ใหม่ๆ จาก Big Data เพื่อใช้ในการวางกลยุทธ์ขององค์กร, การนำมาใช้เป็นผู้ช่วยเพื่อแนะนำให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น, การนำไปผสานในผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างคุณค่าหรือบริการใหม่ๆ ให้กับลูกค้าอย่างเช่นรถยนต์ไร้คนขับ, การตรวจสอบหาพฤติกรรมทุจริตทางการเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย ท้ายที่สุดแล้วการนำ AI มาใช้ในภาคธุรกิจก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกเสียไปจากว่าต้องการจะปล่อยให้ธุรกิจนั้นๆ แข่งขันไม่ได้และต้องยุติกิจการในยุคสมัยที่มีการแข่งขันทางเทคโนโลยีนี้

การศึกษาดูว่าในอุตสาหกรรมของเราและใกล้เคียงนั้นเริ่มมีการนำ AI มาใช้ทำอะไรกันบ้างนั้น จะช่วยให้องค์กรสามารถวางกลยุทธ์หรือทดสอบเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ดีขึ้น และนำ AI มาใช้ในส่วนที่มีความสำคัญสูงสำหรับธุรกิจองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงอาจได้แนวคิดในการนำ AI มาสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ได้อีกด้วย

 

8. ดูแนวโน้มว่าในอุตสาหกรรมหรืองานที่ทำอยู่นั้น IoT จะเข้ามามีบทบาทอย่างไร

เช่นเดียวกับ AI ที่จะมาเปลี่ยนโฉมการทำธุรกิจไปอย่างสิ้นเชิง Internet of Things (IoT) เองนี้ก็จะมีบทบาทมากไม่แพ้กับ AI ในอนาคต โดยการเพิ่มความสามารถในการเชื่อมต่อและรับส่งข้อมูลหรือประมวลผลให้กับอุปกรณ์, สถานที่, สินค้า, บริการ และกระบวนการต่างๆ นั้นจะช่วยให้องค์กรมีข้อมูลในการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น, เปลี่ยนการทำงานบางอย่างให้กลายเป็นอัตโนมัติได้มากขึ้นและใช้คนน้อยลง, สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือแนวคิดใหม่ๆ ทั้งในเชิงผลิตภัณฑ์ บริการ และการเงินได้ดีขึ้น และอื่นๆ อีกมากมาย

IoT นั้นเป็นคำที่กว้างมาก การค้นหาว่าในอุตสาหกรรมของเรามีการนำ IoT มาใช้ทำอะไรบ้างทั้งในเชิงของการสร้างสิ่งใหม่ๆ และปรับปรุงสิ่ืงเก่าๆ ให้ดีขึ้นนั้นจะเป็นแนวทางที่ดีในการเริ่มต้นว่าเราควรไปต่อในทิศทางไหน และจะได้เริ่มทดลองโครงการ IoT ขนาดเล็กเพื่อทำการศึกษาได้อย่างทันท่วงที

 

9. ดูแนวโน้มว่าในอุตสาหกรรมหรืองานที่ทำอยู่นั้น หุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทอย่างไร

หลายๆ คนยังมีความสับสนระหว่าง AI และหุ่นยนต์กันอยู่บ้าง และชอบอ้างอิงถึงภาพยนตร์ซีรีส์ Terminator ทุกครั้งที่มีข่าวว่าเทคโนโลยีสองด้านนี้ถูกพัฒนาและกลัวว่ามันจะยึดครองโลก ในความเป็นจริงนั้นหลายๆ ธุรกิจได้เริ่มนำสองเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานกันมากขึ้นเรื่อยๆ และสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่ของแรงงาน, การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในการผลิตได้อย่างรวดเร็ว, ความทนทานในการทำงาน และความคุ้มค่าในระยะยาว เรียกได้ว่าในอนาคตเมื่อเปรียบเทียบธุรกิจที่ใช้หุ่นยนต์กับธุรกิจที่ไม่ใช้หุ่นยนต์นั้น ก็จะสามารถเทียบเคียงในอดีตกับธุรกิจที่ใช้เครื่องจักรกับใช้แรงงานคนได้เลยทีเดียวก็เป็นได้

หุ่นยนต์นั้นจะถูกนำมาใช้ในรูปแบบที่มีความหลากหลายสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในระยะเริ่มต้นนั้นเราอาจเห็นข่าวทางด้านหุ่นยนต์ในสายการผลิตที่ค่อนข้างมาก แต่ถัดจากนั้นไปเราจะเริ่มเห็นข่าวเรื่องการนำหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการการทำงานส่วนอื่นๆ ขององค์กกรกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเฝ้าหน้าร้านและต้อนรับลูกค้าอย่างที่ SoftBank กำลังทำ, เทคโนโลยี Drone ที่เริ่มมีการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมกันอย่างจริงจัง, การนำหุ่นยนต์มาใช้ในเชิงการตลาดและการโฆษณา, การสร้างหุ่นยนต์เป็นผู้ช่วยในการขับเครื่องบิน และอื่นๆ อีกมากมาย

สิ่งที่ควรเริ่มศึกษาก็คือ ความเป็นไปได้ในการนำหุ่นยนต์มาใช้ในธุรกิจที่เราทำอยู่ว่ามีแง่มุมไหนบ้าง และหากผสานหุ่นยนต์เหล่านั้นเข้ากับเทคโนโลยีอย่าง AI และ Big Data แล้ว งานอะไรบ้างที่จะเปลี่ยนไป เพื่อให้เราสามารถวางแผนในอนาคตได้ถูกทางว่าควรจะต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม หรือย้ายตัวเองออกไปทำงานในสายไหนแทน

 

10. ค้นหาว่าปัจจุบันมีบริการ Cloud อะไรที่เกี่ยวข้องกับงานที่ตนทำบ้าง และทดลองใช้งานดู

ทุกวันนี้บริการ Cloud นั้นมีให้เลือกใช้งานกันได้อย่างหลากหลายและแทบจะครอบคลุมในทุกๆ สายงานในปัจจุบันแล้ว การเปิดหูเปิดตาดูว่าในปัจจุบันมีบริการ Cloud อะไรที่เกี่ยวข้องกับสายงานของเราหรือสามารถนำมาใช้ปรับปรุงการทำงานของเราได้บ้างก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะการทดลองหรือทดสอบการใช้งานบริการ Cloud นั้นมักจะทำได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว รวมถึงหากทดลองใช้งานแล้วมีประโยชน์จริง ก็สามารถเช่าใช้บริการนี้ได้อย่างง่ายดายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับตัวเราเองและพนักงานคนอื่นๆ ในองค์กรได้

ที่ต้องแนะนำข้อนี้เพราะบริการ Cloud ใหม่ๆ นั้นเกิดขึ้นทุกวัน และในมุมของคนทำงานนั้นก็หมายถึงว่าเรามีเครื่องทุ่นแรงใหม่ๆ ให้เลือกใช้กันมากขึ้นทุกวัน การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของเราและพนักงานในองค์กรให้สูงขึ้นทุกวันนั้นก็จะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรด้วยเช่นกัน

 

11. ออกไปพูดคุยกับผู้คนสาย IT และธุรกิจรอบตัวให้มากขึ้น

ไม่เพียงแต่การติดตามข่าวสาระและทำการค้นคว้าหรือเรียนรู้ส่วนตัวเพิ่มเติม การออกไปพูดคุยกับคนสาย IT และธุรกิจหรือออกไปทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ นั้นก็จะทำให้มุมมองของเรากว้างขึ้นด้วยเช่นกัน และจะทำให้เราประเมินความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้งานได้แม่นยำมากขึ้น อีกทั้งหากในอนาคตต้องมีการเปิดธุรกิจใหม่ๆ หรือสร้างทีมงานใหม่ๆ เพิ่มขึ้นนั้น ความต้องการในเหล่าคน IT ที่มีความรู้ความสามารถ หรือคนสายธุรกิจที่เข้าใจด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างดีก็จะเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน

 

12. วางแผนชีวิตตัวเองและองค์กรที่ทำงานอยู่ เตรียมตัวเองและพนักงานในองค์กรให้พร้อม

เมื่อมีข้อมูลพร้อม, ความสามารถพร้อม และ Connection พร้อมแล้ว การวางแผนสำหรับตัวเอง หรือวางกลยุทธ์สำหรับองค์กรก็จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และทำให้เราสามารถตัดสินใจได้ว่าจะเลือกลงทุนหรือใช้เวลาไปกับการพัฒนาความสามารถหรือเทคโนโลยีอะไรก่อน หรือจะเลือกทำอะไรด้วยเทคโนโลยีไหนนั่นเอง

 

สุดท้ายนี้ทางทีมงาน TechTalkThai ก็จะพยายามนำเสนอข่าวสารในลักษณะนี้ให้มากขึ้นต่อไปเรื่อยๆ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ

About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

Google Cloud เผยผลการทดลองสู่การนำ Gen AI ไปใช้งานจริงในปีนี้ [PR]

การก้าวตามเทคโนโลยีใหม่อย่าง Generative AI ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายและน่ากลัว ไม่มีใครรู้เลยว่าบริษัทที่ใช้แนวทาง “รอดูไปก่อน” จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังในขณะที่ระบบดิจิทัลเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเริ่มต้นของโควิด-19 และตอนนี้เราก็กำลังอยู่ในอีกหนึ่งช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่สำคัญอีกครั้งของการปรับตัวกับการเข้ามาถึงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี Generative AI

ผสาน Automation และ Intelligence เข้าไปยังความสามารถของงานด้านการผลิต โดย Infor

การนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้งานในธุรกิจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และแต่ละอุตสาหกรรมก็มีความท้าทายเฉพาะตัวที่ต้องเผชิญหน้า ในอุตสาหกรรมการผลิตเองก็เช่นกันที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ความต้องการของลูกค้า Supply Chain และอื่นๆ