หลังจากที่ Webroot ระบบ Endpoint Protection ชื่อดังอัปเดตฐานข้อมูลมัลแวร์ล่าสุดเมื่อวานนี้ ปรากฎเกิดข้อผิดพลาดบางประการ ส่งผลให้ Webroot ตรวจจับแอพพลิเคชันและไฟล์ปกติหลายรายการเป็นมัลแวร์ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์สำคัญของระบบปฏิบัติการ Windows หรือแม้แต่การเล่น Facebook เอง เตือนผู้ใช้เตรียมอัปเดตแพทช์ใหม่เพื่อแก้ปัญหาเร็วๆ นี้
ช่วงประมาณหลังเที่ยงคืนของเมื่อเช้าที่ผ่านมา (ตามเวลาประเทศไทย) Webroot ออกฐานข้อมูลมัลแวร์ใหม่ให้ผู้ใช้ทั่วโลกกว่า 30 ล้านคนได้อัปเดต แต่หลังจากที่เปิดให้ดาวน์โหลดได้เพียง 15 นาที ทาง Webroot ก็รีบปิดการอัปเดต เนื่องจากพบความผิดปกติที่ส่งผลให้การตรวจจับเกิด False Positive ร้ายแรง ไฟล์สำคัญหรือแอพพลิเคชันบนระบบปฏิบัติการ Windows หลายร้อยรายการถูกระบุว่าเป็นมัลแวร์ ส่งผลให้ระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ตามบ้านและบริษัทหลายพันแห่งเกิดปัญหาทันที การอัปเดตที่ผิดพลาดนี้ยังส่งผลให้ Webroot บล็อก Facebook โดยระบุว่าเป็นเว็บไซต์ Phishing อีกด้วย
การอัปเดตฐานข้อมูลมัลแวร์ที่ผิดพลาดนี้ ทำให้โปรแกรมของ Webroot ตรวจจับไฟล์หลายรายการของ Windows รวมไปถึงไฟล์ที่ถูก Sign อย่างถูกต้องเป็นมัลแวร์ประเภท W32.Trojan.Gen หรือก็คือมัลแวร์ทั่วไปบนระบบปฏิบัติการ Windows ซึ่งพฤติกรรมนี้ส่งผลให้ไฟล์สำคัญบนระบบปฏิบัติการ Windows ถูกบล็อกและกักกัน ผลลัพธ์คือระบบปฏิบัติเกิดความไม่เสถียรและทำงานผิดพลาด จนเครื่องหยุดทำงานในที่สุด
หลังจากเหตุดังกล่าว Webroot รีบออกมาประกาศยืนยันว่าทางบริษัทไม่ได้ถูกแฮ็ค หรือมีเหตุให้ลูกค้าตกอยู่ในความเสี่ยงแต่อย่างใด ซอฟต์แวร์ของบริษัทยังคงสามารถตรวจจับและบล็อกภัยคุกคามได้ตามปกติ ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทกำลังสืบหาสาเหตุและออกแพทช์เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
จนถึงตอนนี้ Webroot ได้แก้ปัญหาเรื่องการระบุ Facebook เป็นเว็บ Phishing แล้ว และได้ออก Workaround เพื่อให้ผู้ใช้ได้แก้ไขความผิดปกติชั่วคราวระหว่างรอแพทช์สำหรับแก้ต้นตอของปัญหา อย่างไรก็ตาม Workaround ที่ออกมานี้สำหรับผู้ใช้ตามบ้านเท่านั้น ไม่ใช่สำหรับ Managed Services Provider (MSP)
นอกจากนี้ ผู้ใช้บางคนที่ประสบปัญหาก็ได้โพสต์ในเว็บบอร์ดของ Webroot ว่า ให้ยกเลิกการติดตั้ง Webroot ก่อน จากนั้นนำไฟล์ที่ถูกกักกันจากไดรฟ์ข้อมูลสำรองกลับไปวางแทนที่ และติดตั้งโปรแกรม Webroot ใหม่ ก็ช่วยแก้ปัญหาได้เช่นกัน
ก็หวังว่าทาง Webroot จะออกแพทช์สำหรับแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเร็วๆนี้
ที่มา: http://thehackernews.com/2017/04/webroot-antivirus-windows.html