CDIC 2023

สรุป VMware VCF Webinar: vSAN 7.0 – Modernize Your Infrastructure for the Cloud

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า Hybrid Cloud นั้นคือแนวโน้มหลักทางด้าน IT Infrastructure สำหรับธุรกิจองค์กร และสำหรับผู้ที่ใช้งาน VMware หัวใจสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ระบบ IT ก้าวสู่การเป็น Hybrid Cloud ได้นั้นก็คือ VMware vSAN นั่นเอง

4 ขั้นตอนในการก้าวสู่ Hybrid Cloud ในวิสัยทัศน์ของ VMware

VMware ได้แนะนำแนวทางในการก้าวสู่การทำ Hybrid Cloud สำหรับธุรกิจองค์กรเเอาไว้ 4 ขั้นตอน ดังนี้

  1. Server Virtualization เริ่มต้นจากการเปลี่ยน Workload ในองค์กรให้เป็น VM ก่อน เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลรักษา การย้ายระบบ และการต่อยอดในอนาคต
  2. Modernize with Hyper-Converged Infrastructure เริ่มนำ HCI เข้ามาใช้เพื่อให้สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดด้านการเพิ่มขยายทรัพยากรที่เชื่องช้าอย่างในอดีต และเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับระบบโดยสามารถดูแลรักษาและอัปเกรดได้ง่าย
  3. Consume as a Service เปลี่ยนรูปแบบการลงทุนจาก CapEx เป็น OpEx ด้วย Private Cloud เพื่อให้เกิดความคล่องตัวด้านการลงทุนและเพิ่มขยายด้านระบบ IT
  4. Build a True Hybrid-Cloud เพิ่มความยืดหยุ่นในการเลือกใช้ทรัพยากรทางด้าน IT มากขึ้นด้วยการนำ Public Cloud มาผสานเข้ากับ Private Cloud

VMware นั้นสามารถตอบโจทย์เหล่นี้ได้ด้วย VMware Cloud Foundation ซึ่งผสานรวมทั้งระบบ HCI, Automation และ Network & Security เข้าไว้ เพื่อให้ธุรกิจองค์กรสามารถสร้างระบบ IT Infrastructure ทั้งภายใน Data Center ขององค์กร, Private Cloud และ Public Cloud เป็นไปได้ด้วยประสบการณ์เดียวกันทั้งหมด และสามารถย้ายระบบระหว่างกันได้อย่างอิสระ

ในวิสัยทัศน์ของ VMware ไม่ว่าธุรกิจองค์กรจะเลือกใช้ระบบ HCI หรือต้องการก้าวไปสู่ปลายทางของการทำ Hybrid Cloud ก็ตาม VMware vSAN ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะขาดไปไม่ได้เลย ในฐานะของ Software-Defined Storage ที่เป็นรากฐานสำคัญทั้งสำหรับระบบ Private Cloud, Public Cloud และ Hybrid Cloud ของ VMware

สำหรับแนวโน้มของธุรกิจองค์กรทั่วโลกนั้น VMware vSAN ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่เติบโตรวดเร็วเป็นอันดับสองของ VMware เลยทีเดียว เป็นรองจาก VMware ESX หรือ vSphere ที่เราคุ้นเคยกันดีเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันก็มีธุรกิจองค์กรทั่วโลกมากกว่า 20,000 แห่งแล้วที่ใช้ VMware vSAN และหากอ้างอิงจากรายงานของ IDC ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2020 ที่ผ่านมานี้ VMware vSAN ก็มีส่วนแบ่งในตลาด HCI แล้วถึง 42.4% นับเป็นอันดับหนึ่งของตลาดเลยทีเดียว ส่วนทางด้าน Gartner นั้นก็ยกให้ VMware อยู่ในกลุ่มของ Leader และมีคะแนนด้าน Completeness of Vision สูงที่สุดในตลาด

เริ่มต้นใช้ VMware vSAN ในองค์กร

ในการใช้งาน VMware vSAN นั้นต้องมี Physical Server ที่ติดตั้ง VMware vSphere อย่างน้อย 3 เครื่องเพื่อเริ่มต้นสร้าง Cluster โดย VMware vSAN จะใช้ Local Disk ของ Server แต่ละเครื่องในการทำงาน โดย VMware vSAN นี้จะทำงานอยู่ในระดับ Kernel ของ VMware vSphere ทำให้ใช้ทรัพยากรน้อยมาก และเริ่มต้นนำพื้นที่จัดเก็บข้อมูลบน Physical Server แต่ละเครื่องมาสร้าง vSAN Datastore ร่วมกัน ทำให้นำพื้นที่จัดเก็บข้อมูลที่มีอยู่มารวมกันและทำงานทดแทนกันได้หากมีข้อมูลส่วนใดเสียหายไป

ข้อดีของการใช้ VMware vSAN นี้ก็คือทำให้ธุรกิจองค์กรมีอิสระในการเลือกใช้ Server Hardware ได้มากขึ้น ไม่ต้องยึดติดกับ Storage Appliance จากผู้ผลิตรายใดรายหนึ่งเป็นพิเศษ และสามารถเพิ่มขยายระบบได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ยังคงมีการเสริมความมั่นคงทนทานให้กับการจัดเก็บข้อมูลภายในระบบด้วย โดยการบริหารจัดการนั้นก็สามารถทำจากศูนย์กลางผ่าน VMware vCenter ได้โดยตรงเลย รวมถึงยังสามารถติดตามประสิทธิภาพการทำงานและวางแผนลงทุนเพิ่มเติมด้านความจุได้ ไม่ต้องมีระบบบริหารจัดการแยกเพิ่มเติมออกไปอีก

สำหรับการเพิ่มขยายพื้นที่จัดเก็บข้อมูลและประสิทธิภาพของการเข้าถึงข้อมูล VMware vSAN นี้รองรับทั้งการทำ Scale-Up และ Scale-Out ทำให้ธุรกิจองค์กรมีทางเลือกในการลงทุนได้ตามโจทย์ที่ต้องการ

VMware vSAN นั้นมีเบื้องหลังการทำงานในรูปแบบ Object-based อยู่แล้วในตัว โดยสามารถกำหนดให้ข้อมูลแต่ละชุดที่ถูกมองเสมือนเป็น Object นี้ทำงานด้วยพฤติกรรมที่แตกต่างกันได้ เช่น กำหนด VM Storage Policy ให้มีระดับความทนทานให้เป็น RAID ในรูปแบบที่ต้องการ, กำหนดเรื่งอของการทำ Deduplication, Compression, Encryption, Performance Service และอื่นๆ ได้ เป็นต้น ทำให้เราสามารถออกแบบระบบ Storage ภายใน VMware vSAN เพื่อให้บริการแต่ละ Application ให้แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมในการใช้งานจริงได้ และการเปลี่ยนแปลงการตั้งค่าเหล่านี้ก็สามารถทำได้อย่างง่ายดาย โดยแนวทางที่ VMware แนะนำนั้นก็คือการทำ Storage Policy-based Management เพื่อให้ในอนาคตหากมีการสร้าง VM หรือต้องการรองรับ Workload รูปแบบต่างๆ ก็สามารถทำได้อย่างสะดวก

นอกจากนี้ VMware ยังมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า vVols ซึ่งเป็นการจัดการข้อมูลบน SAN Storage ได้ในรูปแบบเดียวกับการใช้ vSAN ทำให้สามารถนำหลักการของ Storage Policy-based Management มาใช้กับ SAN Storage ค่ายต่างๆ ที่รองรับการใช้ vVols ได้ด้วย

อีกความสามารถที่น่าสนใจก็คือการทำ Rack Awareness ที่ทำให้ผู้ดูแลระบบสามารถออกแบบได้ว่าจะนำข้อมูลส่วนใดวางไว้ที่ Rack ไหนและสำรองเอาไว้ที่ Rack อื่นอย่างไร ทำให้ช่วยลดความเสี่ยงในกรณีที่เกิด Failure ระดับ Rack และทำให้ข้อมูลหรือระบบหยุดทำงานทั้งหมดได้ ส่วนการทำ Redundant ข้ามสาขาด้วย Stretch Cluster ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ต้องมี Witness อยู่ในสาขาที่สาม ทำให้ธุรกิจองค์กรมีทางเลือกในการทำ Disaster Recovery Site ในราคาที่คุ้มค่ากว่าการลงทุนในระบบ SAN Storage รุ่นใหญ่ได้ อีกทั้งยังมี vSphere Replication สำหรับสำรองข้อมูลไปยังสาขาที่ 3 และเสริมด้วย VMware Site Recovery Manager เพื่อทำ DR อย่างเต็มตัวเพิ่มเติมได้

การออกแบบอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจก็คือการทำ Remote Office / Branch Office หรือ ROBO ซึ่ง VMware vSAN ก็มี ROBO License ที่ทำให้สามารถติดตั้ง vSAN ด้วย 2 Node ที่สาขาได้ โดยแต่ละสาขาสามารถใช้ได้ไม่เกิน 25VM และต้องมี vSAN Witness ในสาขาหลักขององค์กร เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการลงทุนระบบในสาขาด้วยงบประมาณที่จำกัด

สำหรับการติดตั้งระบบในครั้งแรก VMware จะมี VMware vSAN Easy Install ให้เพื่อช่วยให้สามารถติดตั้ง VMware vSAN แบบ 3 Node ได้ง่ายๆ โดยที่ยังไม่ต้องมี vCenter มาก่อน แต่ถ้าหากมีการใช้ vCenter อยู่แล้ว ก็สามารถสั่งเปิดใช้งาน vSAN ด้วย Cluster Quickstart ใน vCenter ได้เลย

ในการดูแลรักษา VMware มี Skyline Health คอยช่วยตรวจสอบการทำงานของ vSAN ทั้งหมดให้ว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ และหากมีสิ่งที่ผิดปกติ ระบบก็จะมีคำแนะนำว่าควรจะต้องแก้ไขปัญหาอย่างไร

สำหรับระบบที่มีขนาดใหญ่มากๆ และต้องการความง่ายในการบริหารจัดการอย่างสูงสุด VMware ก็มี vSphere Lifecycle Manager (vLCM) เพื่อบริหารจัดการ Hypervisor, Driver และ Firmware ของระบบได้จากศูนย์กลาง

ส่วนการสนับสนุนหลังการขาย ทาง VMware ก็มี vSAN Support Insight ให้เพื่อให้ทีมสนับสนุนหลังการขายของ VMware มีข้อมูลในการช่วยตรวจสอบปัญหาได้แบบ Proactive เพิ่มคุณภาพในการให้บริการให้ดียิ่งขึ้นได้

ในกรณีที่ธุรกิจองค์กรต้องการเปลี่ยน Data Center ให้สามารถบริหารจัดการแบบอัตโนมัติและทำงานได้แบบ Data-Driven ทาง VMware ก็มี vRealize Automation, vRealize Operations และ vRealize Log Insight ที่สามารถทำงานร่วมกับ VMware vSAN ได้ผ่านทาง API เพื่อเสริมการทำงานให้เป็นอัตโนมัติแบบครบวงจรได้

ต่อยอดสู่การรองรับ Cloud-Native Application ด้วย VMware vSAN

ด้วยสถาปัตยกรรมใหม่เพื่อรองรับ Cloud-Native Application นั้น เทคโนโลยีอย่าง Container และ Kubernetes ได้กลายเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจองค์กรต้องใช้งานกันทุกวันเพื่อรองรับการพัฒนา Software ขนาดใหญ่ได้อย่างต่อเนื่องรวดเร็ว และแน่นอนว่าเทคโนโลยี Storage เองก็ต้องปรับตัวเพื่อตอบรับต่อความต้องการทางเทคนิคของ Container ให้ได้ด้วยเช่นกัน

VMware vSAN นั้นสามารถทำงานร่วมกับ Kubernetes ได้เป็นอย่างดี และสามารถให้บริการในสิ่งที่เรียกว่า Persistent Volume หรือพื้นที่จัดเก็บข้อมูลที่จะไม่สูญหายไปตามการใช้งาน Container ที่เป็นแบบ Stateless ทำให้ธุรกิจองค์กรสามารถใช้งาน Container ในแบบ Stateful เพื่อรองรับ Enterprise Application ที่ต้องการในโลกยุค Hybrid Cloud และ Multi-Cloud ได้ โดยสามารถเชื่อมต่อให้บริการข้อมูลได้ทั้งในรูปแบบของ Block และ File ซึ่งสามารถทำงานร่วมกับ Kubernetes ได้แบบอัตโนมัติผ่าน API ทำให้ VMware vSAN สามารถรองรับ Workload ที่เป็น VM และ Container ได้พร้อมๆ กัน

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจนั้นก็คือการที่ VMware vSAN จะนำข้อมูลจากฝั่งของ Kubernetes มาผูกเข้ากับแต่ละ Volume ด้วย ทำให้ผู้ดูแลระบบ IT ทราบได้ทันทีว่าแต่ละ Volume ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยอัตโนมัติผ่าน Kubernetes นี้ ถูกใช้งานในระบบใดของฝั่งนักพัฒนา Software และทำให้การทำงานร่วมกันเป็นไปได้อย่างราบรื่น

รับชม Webinar ย้อนหลัง

ผู้ที่สนใจสามารถรับชม Webinar ย้อนหลังพร้อม Demo ฉบับเต็มได้ที่ https://VMware.zoom.us/rec/share/4ZRXFKP66GpIGqPxuGvQC64cPbnkT6a81yIa_adYmEivIHQjbFHZzdfHjMdpnync


About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

Line ประเทศไทย เผย 3 Roadmap สู่ปี 2027 พร้อมเปิดตัว Line Stickers Premium แบบจ่ายรายเดือน

ที่งาน Line Conference Thailand 2023 วันนี้ ทีมงาน Line ประเทศไทยได้ออกมาอัปเดตสิ่งที่น่าสนใจหลายเรื่อง ทั้งการเปิดเผยถึงวิสัยทัศน์ครั้งแรกของ Line ประเทศไทย ตลอดจน Roadmap สำหรับทิศทางการดำเนินงานในอนาคต …

LINE ประเทศไทย จัดงาน LINE Conference Thailand 2023 ชูเทคโนโลยี Hyper-localized ยกระดับชีวิต ธุรกิจ และนักพัฒนา ก้าวสู่การเป็น “แพลตฟอร์มเปิดเพื่อคนไทย” [Guest Post]

ครั้งแรกของ LINE ประเทศไทย กับงานสัมมนาด้านเทคโนโลยีครั้งใหญ่ LINE Conference Thailand 2023 หรือ #LCT23 พร้อมประกาศวิสัยทัศน์ ทิศทาง และกลยุทธ์ก้าวต่อไปในการพัฒนาและดำเนินการด้านเทคโนโลยีใหม่แห่งปี สู่การเป็น “แพลตฟอร์มเปิดเพื่อคนไทย” …