Microsoft Azure by Ingram Micro (Thailand)

13 เทรนด์ Digital Transformation แห่งปี 2023

แม้ว่าปีที่ผ่าน ๆ มา Digital Transformation จะเป็นเทรนด์ยอดฮิตที่หลายองค์กรจำต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่ในปี 2023 นี้ที่โลกดูเหมือนจะรับสถานการณ์ COVID-19 ได้แล้ว ก็ยังคงมีประเด็นอื่น ๆ มากมายที่ทำให้องค์กรจำต้องทรานส์ฟอร์มอย่างต่อเนื่อง 

ตามข้อมูลจาก Statista นั้นได้คาดการณ์ว่าธุรกิจต่าง ๆ ทั่วโลกจะมีการใช้จ่ายในเรื่อง Digital Transformation พุ่งไปถึง 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2026 จากในปี 2022 อยู่ที่ 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเรียกว่าเติบโตขึ้นมากกว่า 2 เท่าภายในเวลา 4 ปีเท่านั้น พูดอีกมุมหนึ่งก็คือ Digital Transformation จะยังคงเป็นเทรนด์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 4 ปี

บทความนี้ คือ 13 เทรนด์การทำ Digital Transformation แห่งปี 2023 ที่เชื่อว่าจะมีผลกระทบกับทุกองค์กรซึ่งแม้ว่าจะเป็นธุรกิจที่ไม่ใช่เชิงเทคนิค ก็ยังจำเป็นต้องเริ่มทรานส์ฟอร์มองค์กรแล้วด้วยเช่นกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เสริมศักยภาพ สร้างความยืดหยุ่น ให้ทันรับกับสถานการณ์โลกที่จะเปลี่ยนแปลงไปอีก และเพื่อยังคงสถานะการแข่งขันในตลาดได้ต่อไป

1. Automation เสริมประสิทธิภาพไปอีกขั้น

เทคโนโลยี Automation คือหนึ่งในสิ่งที่จะใคร ๆ จะมองหามากที่สุดในการทำ Digital Transformation ในปีนี้ ด้วยปัญหาความไม่แน่นอน (Uncertainty) ทั้งหลายที่เกิดขึ้น อาทิ เงินเฟ้อ ราคาพลังงานที่แพงขึ้น ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ จึงทำให้เทคโนโลยี Automation คือสิ่งที่จำเป็นอย่างมากเพื่อช่วยให้องค์กรมีผลิตผล (Productivity) สูงขึ้น ใช้แรงงานมนุษย์น้อยลง รวมทั้งกระบวนงานที่ทำให้กลายเป็นแบบดิจิทัลแล้วนั้นจะเกิดความผิดพลาดน้อยลงอีกด้วย

ตามแบบสำรวจจาก Deloitte ยังชี้ให้เห็นว่า 53% ขององค์กรได้เริ่มพัฒนาระบบ Robotic Process Automation (RPA) แล้ว ส่วน Gartner นั้นทำนายไว้ว่าภายในปี 2024 ระบบ Hyper-automation จะทำให้องค์กรสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลงไปได้สูงถึง 30% และตลาดซอฟต์แวร์ Hyper-automation นั้นจะสูงถึง 860,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย หากองค์กรใดยังไม่ได้พิจารณาในเรื่อง Automation มาก่อน ควรเริ่มพิจารณาได้แล้วว่ามีกระบวนการหรือขั้นตอนใดที่สามารถทดแทนด้วยระบบ Automation ได้บ้าง

Ex. Smart Factory

2. เครื่องมือ Low Code/No Code สนับสนุนแรงงานขาดแคลน

อย่างที่รู้กันว่าปัญหาแรงงานขาดแคลน (Talent Shortage) ยังคงเป็นอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทีมไอทีจำต้องอยู่ภายใต้ความกดดันอย่างมากเมื่อต้องทำเรื่อง Digital Transformation ให้กับองค์กร และหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยทำให้เกิดกระบวนงานอัตโนมัติได้อย่างรวดเร็วนั่นคือเครื่องมือแบบ Low Code/No Code ที่สามารถช่วยสนับสนุนการการพัฒนาระบบอย่างรวดเร็วขึ้น พร้อมกับแก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลนได้อย่างมาก

ด้วยความสามารถของเครื่องมือที่ใช้การเขียนโค้ดที่น้อย (Low Code) หรือไม่ต้องเขียนเลย (No Code) จะทำให้องค์กรสามารถสร้าง “ทีมผสม (Fusion Team)” ที่รวมคนจากฝั่งธุรกิจกับฝั่งเทคโนโลยีมาไว้ในทีมเดียวกันได้มากขึ้น ซึ่งเครื่องมือ Low Code/No Code จะเป็นตัวกระตุ้นให้ทีมนี้สามารถสร้างสรรค์โครงการใหม่ ๆ ขึ้นมาได้เร็วกว่าในอดีตอย่างมาก เพราะการมีคนจากฝั่งธุรกิจที่เข้าใจความต้องการของผู้ที่ใช้งานจริง ๆ โดยตรง และสามารถใช้งานเครื่องมือ Low Code/No Code ได้ด้วยตนเอง จึงทำให้เกิดเป็นโซลูชันที่ใช้งานได้จริงอย่างรวดเร็ว ตรงโจทย์ทางธุรกิจมากขึ้น และถ้าหากจำเป็นต้องใช้ทำอะไรที่ซับซ้อน ทีมเทคนิคก็จะสามารถสนับสนุนได้ทันที 

3. AI/ML ปลดล็อกศักยภาพไปอีกขั้น

วิวัฒนาการของ AI/ML ที่เกิดขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดนั้น กำลังเปลี่ยนโลกของการทำงานไปโดยสิ้นเชิง ตามที่เห็นได้ว่าหลาย ๆ งานในปัจจุบันนั้นสามารถใช้ระบบ AI ทดแทนมนุษย์ได้แบบครบถ้วน เช่น ระบบแนะนำส่วนบุคคล ระบบรู้จำใบหน้า เอกสาร หรือป้ายทะเบียนรถยนต์ แชทบอท หรือว่าระบบวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะทำให้ประสิทธิภาพดีขึ้นแล้ว ยังมีความแม่นยำมากกว่า แถมประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าอีกด้วย ซึ่งปี 2023 นี้ AI/ML ก็จะยังคงเติบโตและสามารถปลดล็อกศักยภาพใหม่ ๆ ไปอีกขั้นให้เห็นกันทั่วโลกอย่างแน่นอน 

ที่สำคัญ การกำเนิด ChatGPT ที่ได้ทำให้โลกเกิดความกังวลมากมายตั้งแต่ปลายที่ผ่านมานั้น ก็ดูเหมือนจะยิ่งปรับภูมิทัศน์การทำงานยุคใหม่ไปอีกขั้น ซึ่งไม่แน่ว่าโลกการทำงานในอนาคต องค์กรต่าง ๆ อาจต้องแข่งขันกันในเรื่องความสามารถในการปรับใช้ AI ต่าง ๆ ที่มีให้บริการทั่วโลก อย่าง ChatGPT, Midjourney หรือ Imagen แทน ซึ่งหากองค์กรใดที่ไม่ได้ใช้งาน AI ใด ๆ เลย ก็อาจจะตกขบวนและออกจากการแข่งขันไปได้อย่างง่ายดาย

4. Composability เสริมความคล่องตัว

แน่นอนว่าความคล่องตัว (Agility) คือสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในสถานการณ์ทุกวันนี้ แต่ทว่าองค์กรส่วนใหญ่จะไม่สามารถสร้าง Agility ขึ้นมาได้เพราะเทคโนโลยีที่ใช้งานยังล้าหลังเกินไป ผนวกกับเรื่องข้อมูลภายในองค์กรที่ยังเป็นไซโล (Silo) อยู่จำนวนมาก จึงทำให้ Mulesoft คาดว่าปี 2023 นี้ หลายองค์กรจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยกลยุทธ์ถอดประกอบได้ (Composable) กันมากขึ้น คือการพัฒนาสิ่ง ๆ ให้สามารถ “ใช้ซ้ำ (Reuse)” เพื่อทำให้ทีมงานสามารถนำไปประยุกต์ (Adapt) ต่อยอดได้ทันกับตามความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 

นอกจากนี้ Gartner ยังได้คาดการณ์ไว้ด้วยว่า ภายในปี 2023 องค์กรใหญ่ ๆ กว่า 60% จะมีการใส่กลยุทธ์การเป็น “Composable Enterprise” เพิ่มเป็นอีกเป้าหมายขององค์กร เนื่องจากองค์กรที่ใช้กลยุทธ์ Composable จะสามารถเร่งความเร็วในการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ออกมาให้ผู้ใช้งานได้สูงถึง 80% เลยทีเดียว นี่จึงเป็นอีกเทรนด์ที่จะทำให้หลาย ๆ องค์กรทั่วโลกสามารถทรานส์ฟอร์มได้สำเร็จในปีนี้

5. Total Experience (TX) ประสบการณ์ทั้งฝั่งผู้บริโภคและพนักงาน

ก่อนหน้านี้องค์กรส่วนใหญ่มักจะมุ่งเน้นในเรื่องการปรับปรุงประสบการณ์ผู้บริโภค (Customer Experience : CX) เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตและสร้างความจงรักภักดี (Loyalty) ต่อแบรนด์ หากแต่หลังจากนี้ องค์กรจะเริ่มกลับมาสนใจในประสบการณ์ของพนักงาน (Employee Experience : EX) กันมากขึ้น เพราะสิ่งนี้คืออีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญของความสำเร็จองค์กรในอนาคต และทั้งสองส่วนนี้รวมกันเรียกว่า Total Experience (TX)

เรื่องนี้ Mulesoft ได้คาดการณ์ว่าในปี 2023 นี้ จะมีองค์กรชั้นนำจำนวนมากเริ่มพิจารณาเรื่อง Total Experience มากขึ้น เพื่อปรับปรุงเส้นทาง (Journey) ในการเป็นลูกค้าหรือว่าพนักงานให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นทั้งพนักงานและผู้บริโภคในเวลาเดียวกันนั้นจะยิ่งทำให้เกิดประสบการณ์ร่วมที่เหนือไปอีกขั้น และนอกจากจะทำให้ประสบการณ์ของพนักงานดีขึ้นแล้ว ยังเสริมให้องค์กรมีมูลค่าทางธุรกิจมากขึ้นอีกด้วย แถมยังเป็นการนำเอาเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วจากฝั่งลูกค้ามาใช้ซ้ำในฝั่งพนักงานในทำนองเดียวกันได้เลย ดังนั้น ทุกองค์กรสามารถทำได้ทันที ซึ่ง Gartner คาดการณ์ว่าภายในปี 2024 องค์กรที่มุ่งเน้นเรื่อง TX จะเหนือกว่าคู่แข่งในเรื่องความพึงพอใจทั้ง CX และ EX ถึง 25% 

6. Automated Data Intelligence ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลอย่างแท้จริง

ที่ผ่านมาจะเห็นว่าแทบทุกองค์กรกำลังพยายามขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven) กันทั้งสิ้น แต่ทว่าข้อมูลที่ถือว่าเป็นสินทรัพย์อันมีค่านี่เองนั้นกลับยังคงถูกจัดเก็บไว้เป็นไซโล (Silo) เสียส่วนใหญ่ จะเรียกใช้ก็มักจะเกิดความติดขัดอะไรมากมายภายในองค์กรอยู่เสมอ แต่ Mulesoft ได้ชี้ว่าหลาย ๆ องค์กรจะแก้ปัญหานี้ด้วยวิธีการ Composable เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกันได้ง่ายขึ้น ซึ่งเมื่อดำเนินการได้สำเร็จจะทำให้เกิด “Data Fabric” ที่ข้อมูลจะเชื่อมโยงกันได้ทุกแพลตฟอร์มและกับผู้ใช้งานในภาคธุรกิจ เหมือนผ้าที่ถักร้อยไว้ด้วยกัน

นอกจากนี้ ถ้าองค์กรมีการลงทุนในระบบวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Real Time เพิ่มเติมใน Data Fabric แล้ว จะยิ่งเสริมทำให้องค์กรสามารถดำเนินการตัดสินใจได้อย่างอัตโนมัติ (Automate Decision-Making) และสามารถใช้งานข้อมูลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งทั้งสองสิ่งจะทำให้กลายเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลได้อย่างแท้จริง

7. Cybersecurity ที่เชื่อมโยงหลาย Layer มากขึ้น

เรื่อง Cybersecurity คือสิ่งที่คู่กันกับ Digital Transformation อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเนื่องจากองค์กรมีการลงทุนในสถาปัตยกรรมแบบกระจาย (Distributed Architecture) และเทคโนโลยีที่ขอบ (Edge Technology) กันมากขึ้น จึงส่งผลให้ปีนี้คาดว่าจะเกิดความเสี่ยงในเรื่องความมั่นคงปลอดภัย (Security) มากขึ้นกว่าเดิมอีก ดังนั้น องค์กรควรต้องปรับใช้แนวทางการสร้าง “Cybersecurity Mesh” หรือสถาปัตยกรรมแบบ Composable ที่เชื่อมโยงบริการ Security ให้มีความหลากหลายและซ้อนกันไว้หลาย ๆ ชั้นกระจายไว้ในทุก ๆ จุด

ในเรื่องนี้ Gartner กล่าวว่าภายในปี 2024 องค์กรที่ได้ปรับใช้สถาปัตยกรรม Cybersecurity Mesh นั้นจะสามารถลดผลกระทบด้านการเงินจากเหตุการณ์โจมตี Security ลงไปได้โดยเฉลี่ยถึง 90% เลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ดี การจะทำให้วิธีการนี้ได้สำเร็จ ก็อาจจำเป็นต้องมีระบบการบริหารสักตัวที่สามารถจัดการทุก Connection, API หรือพวก Component ต่าง ๆ อย่าง Automation Bot ที่ใช้งาน ได้จากหน้าจอ Administration ในที่เดียว เพื่อทำให้เห็นภาพรวมของทุกส่วนขององค์กร แล้วบริหารจัดการความเสี่ยงในทุก ๆ Attack Surface ที่อาจเหตุโจมตีขึ้นได้อย่างครอบคลุม

https://o.aolcdn.com/images/dims?quality=85&image_uri=https%3A%2F%2Fs.yimg.com%2Fos%2Fcreatr-images%2F2020-04%2F64396da0-78f4-11ea-afff-833061cb28e1&client=amp-blogside-v2&signature=0d230e4b613954dcba74674423e4014cfefaeb47

8. Hybrid Workforce อยู่ที่ไหนก็ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 เกิดขึ้นและอาจจะกำลังผ่านพ้นไป ได้ทำให้แนวทางการทำงานในยุคใหม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวรก็ว่าได้ ซึ่งตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมานั้นได้พิสูจน์ให้เห็นส่วนหนึ่งแล้วว่าพนักงานหลาย ๆ ตำแหน่งสามารถทำงานจาก “ที่ไหนก็ได้” ได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน นั่นแปลว่าหลาย ๆ องค์กร อาจไม่จำเป็นต้องให้พนักงานเข้ามาที่ออฟฟิศพร้อม ๆ กันทั้งหมดก็เป็นได้ 

สิ่งนี้เรียกว่า “Hybrid Workforce” ที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ องค์กรจะเริ่มเกิดทีมทำงานที่ผสมผสานพนักงานจากหลายที่หลายแห่ง หลาย Time Zone ที่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเป็นจะต้องพึ่งพาเครื่องมือนวัตกรรมใหม่ ๆ อาทิ เครื่องมือประชุมทางไกล Collaboration Tool และอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนให้ทีมงาน Hybrid Workforce ให้ทำงานได้เหมือนกับช่วงยุคก่อนที่ COVID-19 จะแพร่ระบาดเกิดขึ้น 

9. Cloud Migration จะมีมากขึ้น

อีกสิ่งหนึ่งที่คู่กับการทำ Digital Transformation นั่นคือเทคโนโลยี Cloud ซึ่งจะเห็นว่าองค์กรธุรกิจเริ่มทยอยหันมาใช้งาน Cloud กันมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะสิ่งนี้ได้พิสูจน์ให้หลาย ๆ แห่งเห็นแล้วว่าสามารถลดค่าใช้จ่าย เสริมประสิทธิภาพการทำงาน รวมทั้งลดปัญหาการบำรุงรักษาที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง หรือเรื่องการจ้างพนักงานเพื่อมาดูแลระบบหลังบ้านของตัวเอง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การใช้ Cloud เจ้าเดียวหรือที่เดียวนั้นก็เริ่มจะไม่เพียงพอในการให้บริการได้อย่างมีเสถียรภาพ จนทำให้เกิดการใช้งานแบบ Hybrid Cloud อันเป็นเทรนด์มาก่อนหน้านี้ และในปี 2023 จะเริ่มเห็นการปรับใช้สถาปัตยกรรม Multi Cloud มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อทำให้บริการมีความเสถียรภาพสูง ลดความเสี่ยงต่าง  ๆ รวมทั้งเวลา Downtime ได้ หากแต่การปรับใช้ Cloud กันมากขึ้นก็ทำให้มีช่องโหว่ในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งสิ่งนี้เองคือส่วนที่ทั้งผู้ใช้งานและผู้ให้บริการทั้งหลายต้องคิดคำนึงถึงไปด้วยพร้อม ๆ กัน

10. Everything as a Service (XaaS) ทุกอย่างเป็นบริการได้หมด

เช่นเดียวกับเรื่อง Total Experience ในมุมของบริการหรือ Service ต่าง ๆ ก็จะเห็นได้ชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าทุกอย่างสามารถให้บริการผ่าน Cloud ได้ทั้งหมด ซึ่งนั่นแปลว่าโลกกำลังจะเริ่มกลายเป็น Everything-as-a-Service (XaaS) ที่ไม่ว่าจะเป็นบริการหรือแอปพลิเคชันอะไร ก็จะกลายเป็นบริการที่เข้าถึงได้ง่าย เริ่มใช้งานได้อย่างรวดเร็วแทบจะทันที 

ปีนี้และถัด ๆ ไป จะได้เห็นบริการที่จะมาในรูปแบบลักษณะ Subscription มากขึ้น แทนที่จะเป็นการจ่ายเงินเพื่อซื้อ License แทน ด้วยข้อดีที่ทำให้ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวนมากโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อย่างเช่นเครื่อง Server รวมถึงค่าบำรุงรักษา รวมทั้งเรื่องความเร็วที่ผู้ใช้สามารถเริ่มต้นใช้งานได้แทบจะทันที จึงทำให้ผู้ใช้งานเลือกที่จะไปใช้บริการ as-a-Service มากกว่า และนั่นคือสิ่งที่ทำให้ผู้ให้บริการต้องปรับตัว จนกลายเป็น Everything-as-a-Service นั่นเอง

Shot of a programmer connecting to a user interface while working in an office at night

11. Blockchain จะมีการลงทุนมากยิ่งขึ้น

แม้ว่าตลาด Cryptocurrency จะดำดิ่งไปในช่วงปีที่ผ่านมา แต่เทคโนโลยี Blockchain นั้นคือส่วนแกน (Core) ที่ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นว่าหลาย ๆ องค์กรและอุตสาหกรรมยังคงนำเอาเทคโนโลยีไปปรับใช้กันมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี มีบางอุตสาหกรรมที่ได้พิสูจน์แล้วว่า Blockchain ไม่ได้อาจช่วยแก้ไขปัญหาได้ทุกสิ่ง 

ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบัน Blockchain ก็ยังคงถือว่าเป็นเทคโนโลยีเกิดใหม่ (Emerging Technology) และยังคงมีโอกาสที่จะดิสรัป (Disrupt) เทคโนโลยีดั้งเดิมได้ ซึ่งปีนี้คงจะได้เห็นการลงทุนพัฒนาในเทคโนโลยี Blockchain อย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าจะยังคงจะได้เห็น Blockchain ใหม่ ๆ กับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ออกมา ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่าวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นจะสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ และเทคโนโลยีกับอุตสาหกรรมกำลังจะขับเคลื่อนไปในทิศทางใดต่อไป

Source: ShutterStock.com

12. กำเนิด Customer Data Platform จำนวนมาก

Customer Data Platform (CDP) นั้นเป็นเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงแอปพลิเคชันและฐานข้อมูลต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกันเพื่อทำให้องค์กรมีข้อมูลสำหรับวิเคราะห์ลูกค้าแต่ละคน เพื่อสร้างความเข้าใจลูกค้าแต่ละแห่งให้กับองค์กรได้มากที่สุด และสร้างโอกาสให้กับธุรกิจในการทำการตลาดหรือขายสินค้าในอนาคตได้อย่างตรงจุด และเป็นส่วนบุคคลที่มากยิ่งขึ้น

ดังนั้น ปีนี้จะเห็นหลาย ๆ องค์กรเร่งพัฒนา CDP กันมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอนเพราะโลก Cookieless World นั้นก็กำลังใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ ส่งผลให้ข้อมูลลูกค้าที่องค์กรจัดเก็บเองจึงจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ในการทำธุรกิจในอนาคตต่อไป

13. Sustainability คือทุกสิ่งที่ต้องคำนึง

วินาทีนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารระดับสูงหรือพนักงานทั่วไปก็ตาม จำเป็นต้องพิจารณาในเรื่องของความยั่งยืน (Sustainability) ที่จะมีผลกระทบกับสภาพแวดล้อมธรรมชาติกันทั้งสิ้น เพราะแม้ว่าก่อนหน้านี้ผู้บริหารทั้งหลายจะออกมาพูดในเรื่องความยั่งยืนกันอย่างหนัก แต่ก็ยังไม่พอที่จะทำให้ปัญหาเรื่องสภาพภูมิอากาศหายไปจากโลกใบนี้ได้ในอนาคต

หลังจากนี้ องค์กรที่จะสามารถสร้างความแตกต่างทางธุรกิจในอนาคตได้นั้นจะต้องเป็นกลุ่มองค์กรมุ่งเน้นเรื่อง Sustainability ที่สามารถลดหรือไร้การปล่อยมลพิษต่าง ๆ ออกมาสู่โลกใบนี้ได้สำเร็จ ซึ่งจะเห็นภาพนี้ชัดขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคตอันใกล้ โดย Mulesoft ชี้ว่าในปี 2023 นี้องค์กรจะแสวงหาแนวทางในการขับเคลื่อนเรื่อง Sustainability ในการดำเนินงานต่าง ๆ ผ่านการใช้กลยุทธ์ Composable กันมากขึ้น เพื่อปลดล็อกการเชื่อมโยงข้อมูลและแอปพลิเคชันต่าง ๆ พร้อมกับปรับใช้ Automation และ Analytics เพื่อค้นหาข้อมูลเชิงลึก (Insight) ที่จะทำให้การทำธุรกิจมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนไปพร้อม ๆ กัน ซึ่ง ณ ตอนนี้ ผู้นำองค์กรบางส่วนก็ได้เริ่มนำเอาเรื่อง Sustainabiltiy เข้าไปอยู่ในหัวใจของธุรกิจแล้วและคาดว่าจะมีงบประมาณมาลงทุนในเรื่องนี้ราว 10-20% ในอีก 3 ปีข้างหน้า

References

About chatchai

Tech Writer แห่ง TechTalk Thai ที่สนใจในทุกนวัตกรรมและเทคโนโลยี

Check Also

Imperva ออกรายงาน The State of API Security ประจำปี 2024

Imperva ผู้ให้บริการชั้นนำด้าน Web, API และ Data Security ออกรายงาน The State of API Security ประจำปี 2024 …

ปลดล็อกศักยภาพธุรกิจของคุณด้วย Microsoft Azure – ลุ้นรับสิทธิโปรโมชันดีๆ จาก Ingram Micro

ในยุคดิจิทัลที่การแข่งขันรุนแรง ธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องปรับตัวและหาทางเพิ่มประสิทธิภาพอยู่เสมอ แต่ก็พบว่ามีปัญหาต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้นกับระบบ IT Infrastructure ในองค์กร ตัวอย่างเช่น