หลายปีที่ผ่านมากระแสของการทำ Digital Transformation เกิดขึ้นอย่างเข้มข้น ซึ่งองค์กรทุกแห่งตระหนักและพยายามที่จะหาช่องที่ทำให้เรื่องนี้สำเร็จได้จริงมาโดยตลอด แต่ปีก่อนนี้องค์กรถูกท้าทายและกระตุ้นให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างฉับพลัน ด้วยสภาวะการณ์คับขันจากโปรเจ็คที่วางแผนมานานปีกลับเกิดขึ้นเพียงเวลาไม่กี่สัปดาห์ ทั้งนี้ความท้าทายของการเปลี่ยนผ่านไม่ได้จบลงเพียงเท่านั้นเพราะในระยะยาวเทรนด์ของโลกกำลังเข้าสู่ยุคของโอเพ่นซอร์สนั่นเอง
Red Hat ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ Commercial Open Source จึงได้จัดงานสัมมนาครั้งนี้ขึ้น พร้อมกับเชิญวิทยากร 2 ท่าน จากทาง KBTG และ KTBCS ที่ได้เลือกใช้ Red Hat เข้ามาทำ Transformation ในธุรกิจ โดยผู้อ่านจะได้เรียนรู้กรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริงกับทั้งสององค์กรขนาดใหญ่ว่ามีประสบการณ์การ Transformation อะไรบ้างที่ท้าทายและแนวคิดที่น่าสนใจ ไปรับชมพร้อมกันในบทความนี้กันเลยครับ
ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงสัมภาษณ์คุณสุพรรณี อำนาจมงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เร้ดแฮท (ประเทศไทย) ได้มาเล่าให้ฟังว่า ในยุคอดีตนั้นบริษัทส่วนใหญ่มักมีการใช้งานซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อการค้าโดยเฉพาะ ข้อดีคือบริษัทจะได้รับการดูแลหลังการขายจากผู้ให้บริการตลอดระยะสัญญา แต่ข้อเสียคือการที่บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์เป็นมีสิทธิ์อย่างผูกขาด ดังนั้นการตรวจสอบจึงอยู่ในวงจำกัดเพียงแค่กลุ่มนักพัฒนาเท่านั้น นอกจากนี้อาจพ่วงมาด้วยปัญหาเรื่อง Security และยังส่งผลไปถึงเรื่องขาดนวัตกรรมใหม่ๆด้วย
ด้วยเหตุนี้เองจึงได้เกิดแนวคิดของ Open Source ขึ้น ที่เป็นการเปิดโอกาสให้นักพัฒนาและผู้เชี่ยวชาญจากทุกมุมโลก สามารถเข้าแลกเปลี่ยนไอเดีย นำเสนอหนทางวิธีการใหม่ๆเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรม อีกมุมหนึ่งด้วยความที่โค้ดถูกเปิดเผย ดังนั้นจึงสามารถร่วมกันตรวจสอบช่องโหว่หรือความบกพร่องของโค้ดได้อย่างทันท่วงที
หลังจากผ่านยุคของคลาวด์มาระยะหนึ่งแล้ว ในที่สุดองค์กรหลายแห่งต่างตระหนักได้ว่า แนวทางที่เหมาะสมอาจจะไม่ใช่เพียงแค่การขึ้นคลาวด์เท่านั้น เพราะในที่สุดแล้วการใช้งานควบคู่กันระหว่าง On-premise และคลาวด์ หรือที่เรียกว่า Hybrid อาจเป็นแนวทางที่เหมาะสมมากกว่า ทั้งในเรื่องค่าใช้จ่ายและการบริหารจัดการ ซึ่ง Red Hat เองมีความมุ่งมั่นอย่างสูงยิ่งที่จะช่วยเหลือลูกค้าให้สามารถบรรลุทุกความต้องการ ดังนั้นจึงได้นำเสนอแพลตฟอร์ม Open Source ที่ตอบโจทย์ทั้งในเรื่องความสเถียร ความมั่นคงปลอดภัย และบริการหลังการขายให้แก่ทุกองค์กร
เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นของการทำ Transformation ในงานสัมมนาครั้งนี้ Red Hat จึงได้ชวนลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งมีการปรับโฉมธุรกิจมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว มาร่วมถอดบทเรียนให้ทุกท่านได้ฟัง สำหรับพันธมิตร 2 รายได้แก่ คุณตะวัน จิตรถเวช, กรรมการผู้จัดการจาก กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) และนายแพทย์ พลวรรธน์ วิทูรกลชิต, รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน สายงานเทคโนโลยี บมจ.ธนาคารกรุงไทย และ ประธานกรรมการ บริษัท กรุงไทยคอมพิวเตอร์เซอร์วิสเซส จำกัด (KTBCS) ซึ่งดำเนินรายการ โดยคุณสุทธิชัย หยุ่น พิธีกรและนักข่าวมาเป็นพิธีกรรับเชิญครับ ขอเชิญติดตามสาระสำคัญกันได้เลยครับ
วิทยากรทั้ง 2 ท่านเห็นตรงกันถึงข้อดีจากโรคระบาดครั้งนี้ในมุมมองของไอที นั่นคือการช่วยขับเคลื่อนโปรเจ็คที่ล่าช้า ให้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันใด แต่ในด้านการปฏิบัติงานต้องยอมรับว่ามีผลกระทบเช่นกัน ซึ่งทั้งสองจำต้องแบ่งทีมปฎิบัติการเพื่อหมุนเวียนกรณีฉุกเฉิน ลดการเข้าออฟฟิศให้น้อยที่สุด หรือจัดสถานที่ให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถใกล้ชิดกับระบบ โดยมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนอย่างน้อยที่สุด
ในฝั่งของ KTBCS ยันว่าประสิทธิภาพงานของพวกเขาไม่ได้ตกลงแต่อย่างใด และยอมรับนี่อาจจะเป็นภาวะที่อยู่กับเราไปตลอด แต่แสดงความกังวลเรื่องระยะยาวเกี่ยวกับ ‘ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล’ หากเหตุการณ์ยังลากยาวต่อไปหลายปี เช่น ความสัมพันธ์ของลูกน้องและทีมงาน หรือความสัมพันธ์ของลูกค้าและสาขาธนาคารเช่นแต่ก่อนอาจหายไป เพราะในที่สุดแล้วยังอยู่บนพื้นฐานความจริงที่ว่ามนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคม
เช่นเดียวกันในฝั่งของ KBTG ชี้ว่าประสิทธิภาพการปฏิบัติงานดีขึ้นด้วยซ้ำ เพราะมีการนำ Robot หรือเครื่องมือที่สร้างความเป็นอัตโนมัติมาใช้งาน และยิ่งผู้คนเข้าใช้ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลของพวกเขาเท่าไหร่ ระบบจะได้รับข้อมูลที่อาจนำกลับมาพัฒนาประสบการณ์ได้ตรงใจผู้ใช้มากขึ้นในอนาคต (Personalize) และสุดท้ายแล้วจะสามารถเข้าถึงความต้องการของลูกค้าได้ในรายบุคคลกว่านี้ แต่ในมุมคล้ายกันสถานการณ์แพร่ระบาดคงอยู่กับโลกไปอีกนาน ดังนั้น Hybrid วันนี้คงเป็น New normal ในวันข้างหน้าที่ต้องบริหารจัดการให้สอดคล้องกับความต้องการปฏิสัมพันธ์ที่อาจลดลง
ในประเด็นของคำถามว่าในมุมของของธุรกิจ ณ สถานการณ์โควิดเช่นนี้ ธุรกิจในขนาดต่างๆ ควรต้องปรับตัวอย่างไร
ทั้งสองท่านชี้ว่าในมุมของธุรกิจขนาดใหญ่มีข้อได้เปรียบกว่าธุรกิจขนาดเล็กนั่นก็คือเงินลงทุน ซึ่งสุดท้ายจะไปจบลงด้วยคำถามว่าจะใช้เม็ดเงินน้อยที่สุดเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุดได้อย่างไร เรื่อง Security มักไม่ได้มีนัยแตกต่างกันอย่างชัดเจนเพราะไม่ว่าอย่างไร หากเป็นไปได้เครื่องมือของบริษัทใหญ่หรือเล็กก็ไม่ต่างกันนัก ดังนั้นธุรกิจขนาดเล็กน่าจะเหมาะสมกับคลาวด์มากกว่า เพราะมีการใช้งานไม่มากและทางเลือกในเทคโนโลยีที่ครบสมบูรณ์ อีกทางหนึ่งที่บริษัทควรนำไปพิจารณานั่นก็คือการเลือกใช้ซอฟต์แวร์ Open Source เช่น Red Hat เป็นต้น ขอเพียงต้องปรับแนวคิดจากการทำงานแบบเชิงรับ จากที่คอยอาศัยความช่วยเหลือจากพาร์ทเนอร์ ก็ต้องเคลื่อนตัวมากขึ้น เพื่อเข้าไปศึกษาความรู้ที่เข้าถึงได้ทั่วไป
ภาวะเช่นนี้แต่ละธุรกิจต้องตีโจทย์ให้ออกว่า ส่วนไหนของธุรกิจจำเป็นต้องทำ Transformation ที่จะช่วยสร้างความได้เปรียบแก่ตนได้ อีกมุมหนึ่งแนวคิดเรื่อง Agile ที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางอาจไม่เหมาะกับบางบริษัทก็ได้ โดยนายแพทย์พลวรรธน์ชี้ว่า Agile นั้นประกอบด้วยส่วนประกอบหลายส่วน ซึ่งพอจับมารวมกันแล้ว อาจจะแพงเกินงบประมาณที่ตั้งไว้สำหรับองค์กรขนาดเล็ก แต่ก็แนะว่าองค์กรขนาดเล็กที่มีงบประมาณจำกัด ควรหาทางเลือกที่พิสูจน์ความสำเร็จหรือล้มเหลวได้เร็วจะเหมาะสมที่สุด
มุมของธุรกิจธนาคารเองปัจจุบันนี้ธุรกิจธนาคารก็คือบริการ (Services) ในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมี IT เป็นเครื่องมือหรือช่องทางในการนำส่งบริการให้ถึงมือลูกค้านั่นเอง โดยโจทย์นี้แตกต่างกันไปในแต่ละธุรกิจที่ต้องกลับไปขบคิดกันให้ได้ว่า ธุรกิจของท่านมีมุมมองระหว่างธุรกิจกับไอทีร่วมกันอย่างไร ถึงจะฝ่าฝันวิกฤตครั้งนี้ไปได้
ประเด็นคำถามถึงท้าทายที่สุดจากประสบการณ์การทำ Digital transformation ของทั้งสองท่าน สรุปได้ว่า
- Forecast – ต้องประเมินให้ได้ว่า วิธีการ เทคโนโลยี และกลยุทธ์ใดที่สามารถสร้างประโยชน์สูงสุดและใช้เงินลงทุนให้น้อยที่สุด ซึ่ง Red Hat มักเป็นตัวเลือกที่ดีเสมอสำหรับริเริ่มแก้ไขปัญหานี้
- Cloud – แม้ทั้งสองจะมี Data Center เป็นของตัวเองก็จริง แต่การใช้งานคลาวด์บางงาน ยังเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในบางสถานการณ์เช่น งานที่จำต้องขึ้นในระยะเวลากระชั้นชิด หรือมีการใช้ทรัพยากรสูงอย่างงาน Analytics ต่างๆ สุดท้ายแล้วคลาวด์เป็นทางเลือกที่ดีที่ทำให้ทีมงานเหลือเวลาที่จะนำไปใช้ในเหตุการณ์อื่นที่จำเป็นมากกว่า
- Innovation – อีกมุมหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการนำเทคโนโลยีใหม่มาประยุกต์ใช้ โดยหลักๆคือจะนำข้อมูลมาใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ความท้าทายสุดท้ายของการ Transformation ที่ไม่ใช่แค่ 2 ธนาคารยักษ์จะประสบปัญหา แต่เชื่อว่าหลายท่านคงจะเผชิญความท้าทายเดียวกันนั่นก็คือ ‘คน’
ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าแรงงานภาคไอทีนั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ซึ่งทาง KTBG เองได้ใช้นโยบายที่จะคัดเลือกทีมงาน จากผู้เรียนจบใหม่ในภาคอุดมศึกษาเข้ามาฝึกฝนงานให้สามารถปฏิบัติงานได้ โดยมีการจัดกิจกรรมเพื่อแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และนวัตกรรม เพื่อสร้างแรงดึงดูดแก่ผู้สนใจเป็นระยะๆ ประกอบกับยังเปิดกว้างให้เห็นได้ว่า ที่ KBTG พนักงานสามารถเลือกเติบโตได้ตามต้องการไม่ว่าจะเป็นสายบริหาร หรือสายงานเฉพาะทางก็ตาม
KTBCS เล็งเห็นถึงความสำคัญของพนักงานใหม่เช่นกัน แต่เชื่อว่าระยะเวลาเพื่อเตรียมคนให้พร้อมใช้งานนั้น ไม่ง่ายเลยและคงขาดทุนมากกว่าหากไม่สามารถรั้งคนเก่าไว้ได้ ด้วยเหตุนี้เองสิ่งที่ KTBCS ทำก็คือการปรับวัฒนธรรมให้ทุกคนกล้าที่จะรายงาน แสดงความคิด โดยไม่ชี้โทษความผิดกัน (no blame) เพราะอันที่จริงแล้วเครื่องมือทางไอทีต่างเป็นเครื่องมือเชิงลบ ด้วยการจับผิดและรายงาน หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นแล้วทีมงานกล้าที่จะรายงานโดยไม่ต้องกลัวความผิด ความสามัคคีในหมู่ผู้ปฏิบัติงานถึงจะเกิดขึ้นได้
สรุปแล้วจากการแบ่งปันประสบการณ์ครั้งนี้ คงเป็นข้อคิดให้ใครหลายๆคนตระหนักหรือจุดประกายได้ว่า องค์กรของท่านควรจะเริ่มต้นปฏิวัติการทำงานอย่างไร ลำดับแรกคงต้องตีโจทย์ธุรกิจของท่านให้แตกฉานเสียก่อนว่า ส่วนใดคือหัวใจสำคัญที่จะนำระบบไอทีเข้าไปจัดการ และยิ่งภาวะที่งบประมาณอาจจะถูกจำกัดในอนาคตจากภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ยิ่งต้องทำการจัดลำดับความสำคัญให้สอดคล้องกันไป
ลำดับถัดมาเมื่อตัดสินใจหาจุดเริ่มได้แล้ว กลยุทธ์หรือการลงทุนใดที่เหมาะสมคุ้มค่าก็คือตัวเลือกสำคัญ ประกอบกับต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วย เช่น ในกรณีของธนาคารทุกวันนี้มีการปรับมุมมองของการใช้งาน Data Center จากเดิมที่เป็น Active-Standby (DC-DR) กลายเป็น Active-Active (DC-DC) ไปเสียแล้ว โดยเปลี่ยนแนวคิดจากการซื้อมาสำรองเป็นใช้งานพร้อมๆกัน และมีข้อจำกัดที่ครึ่งหนึ่งแทน ซึ่งเป็นไปได้หากมีการจัดการดีเพียงพออาจจะใช้งานได้ถึง 60% หรือมากกว่า เช่นกันในส่วนของแอปพลิเคชันก็ต้องคล่องตัวเพียงพอ ครอบคลุมได้ทั้งจาก On-premise และคลาวด์ โดย Red Hat เองก็เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถรองรับสิ่งเหล่านั้นได้ไม่ว่าท่านจะสนใจการใช้งานในรูปแบบของ Hybrid หรือ Multi-cloud
สุดท้ายนี้ Digital Transformation อาจจะเกิดขึ้นแล้วกับหลายองค์กร แต่จะไม่มีวันจบลงเพราะนวัตกรรมของวันวาน อาจไม่ได้ผลกับธุรกิจในวันพรุ่งนี้ แต่นี่คือการเดินทางอันไร้ที่สิ้นสุดที่ทุกองค์กรจะต้องเรียนรู้ให้เท่าทันนวัตกรรมที่เกิดขึ้นใหม่อยู่ทุกวันครับ
สนใจติดต่อทีมงานจาก Red Hat ประเทศไทยได้ที่ rchemae@redhat.com (สามารถส่ง Email ภาษาไทยได้)