กระทรวงไอซีที – ซิป้า ร่วมเปิดตัวโครงการส่งเสริมพื้นที่พิเศษสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล จ.ภูเก็ต หรือโครงการ Phuket Smart City ชูศูนย์ Phuket Smart City Innovation Park ( Phuket SCIP ) เพื่อส่งเสริมการลงทุน สนับสนุน Startup ผู้ประกอบการ SMEs และการพัฒนานวัตกรรมในกลุ่มจังหวัดอันดามัน รองรับนักลงทุนในกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ครอบคลุม 8 แผนงาน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล
ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ASEAN Economic Community ( AEC ) และประเทศไทยเป็นหนึ่งประเทศที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะมุ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล Thailand 4.0 โดยการรุกพัฒนาความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ให้มีความพร้อมมากกว่าเดิมทั้งเรื่องการปรับเปลี่ยน แก้ไข ระเบียบ ข้อบังคับอันเป็นการจำกัดโอกาสในการลงทุน ล่าสุดถือเป็นโอกาสอันเหมาะสมโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือกระทรวงไอซีที ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ ( องค์การมหาชน ) หรือซิป้า เปิดตัวโครงการส่งเสริมพื้นที่พิเศษสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล จ.ภูเก็ต หรือโครงการ Phuket Smart City แห่งแรกในประเทศไทย รองรับนักลงทุนในกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ครอบคลุม 8 แผนงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และในโอกาสเดียวกันนี้จัดให้มีการเปิดศูนย์ Phuket Smart City Innovation Park ภายใต้โครงการ Phuket Smart City อีกด้วย เพื่อให้เป็นสถานที่ส่งเสริมพัฒนานวัตกรรม การเรียนรู้เทคโนโลยี การให้คำปรึกษาธุรกิจในพื้นที่เศรษฐกิจดิจิทัลจังหวัดภูเก็ต และในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันนับเป็นการวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานครั้งสำคัญให้กับกลุ่มผู้ประกอบการทางด้านดิจิทัลรุ่นใหม่ หรือ Startup พร้อมก้าวไปสู่ Thailand 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล
ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ กระทรวงไอซีที พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือซิป้า ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเข้าร่วมในพิธีเปิดตัวโครงการส่งเสริมพื้นที่พิเศษสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล ภายใต้แนวคิด Phuket Smart City 2020: Smile Smart and Sustainable Phuket และร่วมเปิดศูนย์ Phuket Smart City Innovation Park โครงการภายใต้ Phuket Smart City การเสวนาพิเศษ ในหัวข้อ “Vision Phuket 2020” ร่วมด้วยหน่วยงานภายนอกที่เข้าร่วมโครงการในฐานะ Strategic Partner ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต | มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ | มหาวิทยาลัยกรุงเทพ | มหาวิทยาลัยศรีปทุม | ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด ( มหาชน ) | บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด ( มหาชน ) | บริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ จำกัด | Autodesk Asia Pte Ltd | บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด ( มหาชน ) | บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด ( มหาชน ) | สำนักงานมูลนิธิ ICDL Asia ประเทศไทย | สมาคมอุตสาหกรรมส่งออกซอฟต์แวร์ไทย | Innodep Inc. และ Gyeonggi Center for Creative Economy & Innovation ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานในส่วนของ Phuket Smart City Innovation Park และร่วมกับ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ ขับเคลื่อน Smart Tourism ระหว่างวันที่ 8 – 9 กันยายน 2559
การเปิดศูนย์ Phuket Smart City Innovation Park ที่จังหวัดภูเก็ต นับเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งถึงการเริ่มต้นในการพัฒนา Phuket Smart City โดยมีซิป้าเป็นหน่วยงานหลักที่ให้การสนับสนุนตั้งแต่การจัดตั้งศูนย์ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาการเรียนรู้นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการ Phuket Smart City ทั้งการสนับสนุนการลงทุนด้านดิจิทัล ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ตลอดจนให้คำปรึกษาด้านธุรกิจแก่ Tech Startup และการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ ASEAN Tourism Software Excellence Center, IoT Smart City Lab, BIM Innovation Center เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดธุรกิจแนวสร้างสรรค์ หรือ Creative Entrepreneurs ผ่าน Creative Entrepreneurship Academy เป็นต้น
ในการนี้ซิป้าซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที มีผลการดำเนินงานโครงการ Phuket Smart City จังหวัดภูเก็ตชัดเจน และเป็นไปตามโรดแมปในแผนงานที่วางไว้โดยมุ่งสนองนโยบายของกระทรวงไอซีที และรัฐบาลในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตาม “นโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล” ซึ่งมองว่าจะทำให้ทุกภาคเศรษฐกิจมีความก้าวหน้าและสามารถแข่งขันในโลกสมัยใหม่และก้าวไปสู่ Thailand 4.0 ได้อย่างบูรณาการ
สำหรับ 8 แผนงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ( Digital Thailand ) ของกระทรวงไอซีทีที่เปิดตัวไปก่อนหน้านี้และเกี่ยวข้องกับโครงการ Phuket Smart City โดยตรง ได้แก่
- โครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน
- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์และโครงข่าย ได้แก่ โครงการบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชน
- การสร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย เพื่อการจัดการเรียนการสอนในระบบเปิด ( Thai-MOOC )
- การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในธุรกิจ SMEs
- การพัฒนาบริการดิจิทัลในภาครัฐ ได้แก่ โครงการยกระดับคุณภาพงานบริการภาครัฐเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ซึ่งแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 มิติ คือการปรับกระบวนการดำเนินการภาครัฐ และการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการใช้บริการภาครัฐ
- การพัฒนาทุนมนุษย์สำหรับโลกยุคดิจิทัล ได้แก่ โครงการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อสร้างธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัล ( Tech Startup )
- การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ( Smart City ) ได้แก่ โครงการพัฒนา Phuket Smart City จังหวัดภูเก็ต
- การสนับสนุนการบริหารจัดการโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เช่น การเตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งสนับสนุนการขับเคลื่อนตามนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เป็นต้น
รมว.ไอซีที กล่าวว่า พิธีเปิดโครงการส่งเสริมพื้นที่พิเศษสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล หรือโครงการ Phuket Smart City ณ จังหวัดภูเก็ต และการจัดตั้งศูนย์ Phuket Smart City Innovation Park นับว่าเป็นโครงการที่สามารถขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมการพัฒนา ได้แก่
- โครงการ Certified Digital Workers/investors เพื่อการรับรองและให้สิทธิประโยชน์ Digital Workers และDigital Investors
- โครงการจัดตั้ง Phuket Smart City Innovation Park เพื่อสนับสนุน Super Cluster Digital
- โครงการศึกษาและพัฒนา Ecosystem and Incentive Study and Roadshow เพื่อรวบรวมมาตรการส่งเสริมการพัฒนา
- โครงการพัฒนาระบบ Smart WiFi โดยกิจกรรมทั้งหมดมีส่วนช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้เกิดขึ้นได้ทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และทำให้เกิดการรวมกันของกลุ่ม Digital Workers, Angel Investors/Venture Capital, Technology and Innovation Cooperation หรือ Regional Head Office เป็นต้น
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ประธานกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือซิป้า กล่าวว่า โครงการ Phuket Smart City และศูนย์ Phuket Smart City Innovation Park นับเป็นการนำเสนอการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในเชิงพื้นที่เป็นการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับเมืองเพื่อให้สามารถบริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคล่องตัว โดยยึดหลักแนวคิดของมาตรฐาน IEEE ( Institute of Electrical and Electronics Engineers ) ใน 6 ด้าน ได้แก่
- Smart Economy คือ เมืองที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ การสร้างนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงการสร้างบริษัทใหม่ ๆ ในยุคดิจิทัล
- Smart Environment คือเมืองที่ประหยัดพลังงาน Green building หรือการลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- Smart Governance คือเมืองที่บริหารจัดการโปร่งใส มีความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพ
- Smart Living คือเมืองที่น่าอยู่ มีความปลอดภัย มีสิ่งอำนวยสะดวกด้านการศึกษา และด้านสุขภาพอนามัย
- Smart Mobility คือเมืองที่สามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้อย่างสะดวกสบาย มีความคล่องตัว และมีความปลอดภัย
- Smart People คือ เมืองที่ให้ความเท่าเทียมกันในสังคม มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส คนสูงอายุ เปิดโอกาสให้คนในเมืองมีส่วนร่วม
โดยจังหวัดภูเก็ต ได้แบ่งการดำเนินการเรื่อง Phuket Smart City ออกเป็น 7 ส่วน คือ Smart Economy, Smart Tourism, Smart Safety, Smart Environment, Smart Healthcare Smart Education และ Smart Governance โดยในปีแรกมุ่งเน้นในเรื่อง Smart Economy, Smart Tourism, Smart Safety และ Smart Environment มุ่งเน้นเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืนและประชาชนมีความสุข โดยตั้งเป้าหมายให้ภูเก็ตเป็น Smart City ในปี 2020 ในภาพ Smile Smart and Sustainable Phuket
ประธานกรรมการบริหารซิป้า กล่าวเพิ่มเติมว่า พิธีเปิดโครงการส่งเสริมพื้นที่พิเศษสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ โครงการ Phuket Smart City ในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยมุ่งให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่แสดงถึงความ Smart ใน 7 ด้าน ประกอบด้วย Smart Business, Smart Tourism, Smart Education, Smart Safety, Smart Environment, Smart Government, Smart Health Care ซึ่งในพิธีเปิดงานมีการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในช่วง Kick Off : Phuket Smart City 2020 และการลงนามความร่วมมือการพัฒนา Phuket Smart City Innovation Park เพื่อสนับสนุน Super Cluster Digital และมีการเปิดตัวศูนย์ความเป็นเลิศซอฟต์แวร์แห่งอาเซียนด้านการท่องเที่ยวในครั้งนี้ด้วย
สำหรับพันธมิตรที่ร่วมจัดตั้งและพัฒนา Phuket Smart City Innovation Park มีหลายหน่วยงานที่เข้ามาร่วมกัน อาทิ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้การสนับสนุนพื้นที่สำหรับการแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการ Phuket Smart City และสนับสนุนพื้นที่สำหรับเป็นศูนย์นวัตกรรมย่อยด้านต่าง ๆ และพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการทางด้านดิจิทัลรุ่นใหม่ และผู้ที่สนใจมาลงทุนในจังหวัดภูเก็ตทางด้านดิจิทัลในราคาประหยัด รวมทั้ง CAT Telecom ให้การสนับสนุนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงภายในศูนย์ Phuket Smart City Innovation Park สนับสนุนการปรับปรุงพื้นที่สำหรับTech Startup แบบ Co-Working Space และศูนย์แสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีของ CAT สนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรและอบรมผู้ประกอบการSMEsไปเป็นผู้ประกอบการเชิงสร้างสรรค์ ( Creative Entrepreneur ) และเข้าถึงระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ขณะที่ภาคเอกชนอื่น ๆ ร่วมขับเคลื่อนผลักดันให้เกิด Creative Entrepreneurship Academy ภายใต้ศูนย์ Innovation Park ร่วมกับซิป้า และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
โดยภาพรวมของบรรยากาศในพิธีเปิดโครงการ Phuket Smart City และศูนย์ Phuket Smart City Innovation Park ณ จังหวัดภูเก็ต ได้รับความสนใจทั้งคนในพื้นที่ และหน่วยงานผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ให้เกียรติเข้าร่วมปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ภูเก็ตจะได้อะไรจากการเป็น Smart City” ครั้งนี้อีกด้วย
รายละเอียดกิจกรรมโครงการสำคัญ ๆ
- การจัดตั้ง Innovation Park ภายใต้โครงการ Smart City ภูเก็ต
สถานที่ตั้ง: ศูนย์ Innovation Park สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ ( องค์การมหาชน ) จังหวัดภูเก็ต
วัตถุประสงค์
- เพื่อเป็นสถานที่ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม และการเรียนรู้ ในเทคโนโลยี Smart City จังหวัดภูเก็ต
- เพื่อเป็นสถานที่ส่งเสริมการลงทุน ให้คำปรึกษาทางธุรกิจ ในด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในจังหวัดภูเก็ต และในกลุ่มจังหวัดอันดามัน
- เพื่อเป็นสถานที่ส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ทางด้านเทคโนโลยี ( Technology Startup ) ในจังหวัดภูเก็ต และในกลุ่มจังหวัดอันดามัน
- เพื่อเป็นสถานที่เรียนรู้ทางด้านนวัตกรรมดิจิทัล สำหรับ SMEs และบุคคลทั่วไปเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการเชิงสร้างสรรค์ ( Creative Entrepreneur )
ซิป้า ให้การสนับสนุนและรับผิดชอบ ดังต่อไปนี้
- จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา Smart City ภายใต้ Innovation Park
- จัดตั้งศูนย์ประสานงานการลงทุนทางด้านดิจิทัล ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ แก่ Tech Startup
- จัดตั้งศูนย์ Innovation Park เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนา และเรียนรู้นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Smart City
- ASEAN Tourism Software Excellence Center
- IoT Smart City Lab
- BIM Innovation Center
รวมทั้งสนับสนุนการสร้างกลุ่มสังคมในการเรียนรู้นวัตกรรมภายใต้ศูนย์ เพื่อพัฒนาตามแผนการพัฒนาภูเก็ต Smart City
- ร่วมขับเคลื่อนผลักดันให้เกิด Creative Entrepreneurship Academy ภายใต้ศูนย์Innovation Park ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
นอกจากนี้ ยังมีพันธิตรร่วมจัดตั้งและพัฒนา Innovation Park หลายหน่วยงาน อาทิ
- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ตกลงให้การสนับสนุนและรับผิดชอบดังต่อไปนี้
1.1 สนับสนุนพื้นที่สำหรับแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับภูเก็ต Smart City เพื่อจัดตั้ง Innovation Park ของอาคารศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตภูเก็ต บริเวณโถงชั้น 1 โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
1.2 สนับสนุนพื้นที่สำหรับเป็นศูนย์นวัตกรรมย่อยด้านต่าง ๆ และพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการทางด้านดิจิทัลรุ่นใหม่ และผู้ที่สนใจมาลงทุนในจังหวัดภูเก็ตทางด้านดิิจิทัลในราคาประหยัด
1.3 ร่วมขับเคลื่อนผลักดันให้เกิด Creative Entrepreneurship Academy ภายใต้ศูนย์Innovation Park ร่วมกับซิป้า
- CAT ตกลงให้การสนับสนุนและรับผิดชอบดังต่อไปนี้
2.1 สนับสนุนอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงภายในศูนย์ Innovation Park
2.2 สนับสนุนการปรับปรุงพื้นที่สำหรับ Tech Startup แบบ Co-Working Space และศูนย์แสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีของ CAT
2.3 สนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรและอบรมผู้ประกอบการ SMEs ไปเป็นผู้ประกอบการเชิงสร้างสรรค์ ( Creative Entrepreneur ) และเข้าถึงระบบเศรษฐกิจดิจิทัล
- ภาคเอกชนอื่น ๆ ร่วมขับเคลื่อนผลักดันให้เกิด Creative Entrepreneurship Academy ภายใต้ศูนย์ Innovation Park ร่วมกับซิป้า และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- โครงการระเบียนสุขภาพอิเล็ทรอนิกส์ส่วนบุคคล หรือ Personal Health Record ( PHR ) โดยโรงพยาบาลกรุงเทพ ภูเก็ต เป็นโรงพยาบาลต้นแบบแห่งภาคใต้ แห่งแรกที่ใช้ระบบ PHR เพื่อให้เกิดการใช้งานในระดับจังหวัด
โดยระบบข้อมูลส่วนบุคคล หรือระบบ PHR นี้ เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสถานพยาบาลและโรงพยาบาลกับหน่วยงานที่เกี่ยวกับสาธารณสุขของประชาชนในแต่ละจังหวัด อาทิ ข้อมูลทั่วไป ประวัติการรักษาที่ผ่านมา การแพ้ยา รวมถึงนำเข้าข้อมูลการดูแลสุขภาพของแต่ละบุคคล การออกกำลังกาย ผลการตรวจร่างกาย ช่วยให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพตนเองระหว่างรอการพบแพทย์ครั้งหน้า และเปรียบเทียบและปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์ได้ด้วย สามารถบริหารข้อมูลสุขภาพของตัวเองและครอบครัวอย่างเป็นระบบ สามารถติดตามและบริหารนัดพบแพทย์ได้ เป็นต้น
โดยข้อมูลถูกออกแบบให้รวบรวมไว้ใน PHR Data Center ของแต่ละจังหวัด ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลาโดยการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ Tablet หรืออุปกรณ์ Smart Devices ถือเป็นต้นแบบของการพัฒนาแพลตฟอร์มระบบสารสนเทศด้านสุขภาพที่มีการสร้างมาตรฐานโครงสร้างข้อมูล ที่สามารถส่งต่อให้บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์นำไปต่อยอดและขยายผลในอนาคตต่อไป เพราะมีฟังก์ชันได้หลากหลายตามขอบเขตการใช้งาน เช่น Software Platform, Open Technology, Database Management System, คลังข้อมูล, Big Data Analytics, Intelligent Search, Visualization, Cloud System, และ Machine Learning และการพัฒนาเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ Wearable Devices ในอนาคต
การพัฒนาระบบ PHR เริ่มต้นการพัฒนาโดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากทางซิป้า และรับความร่วมมือกจากจังหวัดนครนายก โดยสาธารณสุขจังหวัดนครนายก พัฒนาออกมาเป็นระบบต้นแบบและทดลองนำร่องใช้งานจริงใน 4 อำเภอ
ของจังหวัดนครนายก ครอบคลุมโรงพยาบาลนครนายก โรงพยาบาลชุมชน 3 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 56 แห่ง ทั้งนี้ก่อนการใช้งานประชาชนลงต้องทะเบียนเข้าใช้งานระบบกับนักจัดการสุขภาพของหน่วยบริการในพื้นที่รับผิดชอบ
โครงการพัฒนาระบบ Smart Wi-Fi มีจุดประสงค์
- เพื่อพัฒนาโครงข่ายการสื่อสารที่ทั่วถึง รวดเร็ว และมีความสเถียรในจังหวัดภูเก็ต
- เพื่อให้นักท่องเที่ยว ประชาชนในจังหวัดภูเก็ตมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย ปัญหาต่าง ๆ ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างทันท่วงที และมีการตรวจสอบสภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเล อากาศ และปัญหาดินถล่ม ( Land Slide ) รวมถึงสามารถต่อยอดการบริการนักท่องเที่ยวในเชิงธุรกิจได้อีกด้วย สามารถดึงดูดการลงทุน และนักท่องเที่ยวแบบมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมดิจิทัลของภูมิภาค
โครงการ Smart Wi-Fi ในจังหวัดภูเก็ตมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องภายใต้การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมโดยเชิญชวนให้ผู้ประกอบการในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม อาทิ โครงการต้นแบบพัฒนา Wi-Fi ภายใต้จังหวัดภูเก็ต ซึ่งล่าสุดผู้ประกอบการในเขตพื้นที่โอลด์ทาวน์เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 25 ราย และผู้ประกอบการในเขตพื้นที่ป่าตอง จำนวน 25 ราย